Posted: 27 Nov 2018 06:52 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-27 21:52
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำผู้เสียหายจากการปล่อยสินเชื่อโครงการรถสามล้อสาธารณะและรถเมล์กว่า 150 ราย ทวงถามความคืบหน้ากับออมสิน กรณีเคยร้องสอบความโปร่งใสของการปล่อยสินเชื่อของผู้จัดการสาขาสยามพารากอน และสาขาเยาวราช เหตุมีพฤติกรรมนำเอกสารสินเชื่อให้ผู้เสียหายลงนามโดยไม่ชี้แจงรายละเอียด ไม่ส่งมอบคู่ฉบับสัญญาฯและเงินกู้ให้ผู้กู้โดยตรง ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ พร้อมขอให้ถอนฟ้องคดีผู้เสียหายทั้งหมดทันที
27 พ.ย.2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ (สะพานควาย) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำกลุ่มผู้เสียหายจากการปล่อยสินเชื่อโครงการรถสามล้อสาธารณะ และรถเมล์กว่า 150 ราย เดินทางไปทวงถามความคืบหน้ากับ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กรณีเคยทำหนังสือเรียกร้องให้ตรวจสอบความโปร่งใสของการปล่อยสินเชื่อของผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาสยามพารากอน และสาขาเยาวราช เหตุมีพฤติกรรมนำเอกสารสินเชื่อให้ผู้เสียหายลงนามโดยไม่ชี้แจงรายละเอียด ไม่ส่งมอบคู่ฉบับสัญญาฯและเงินกู้ให้ผู้กู้โดยตรง ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ พร้อมขอให้ถอนฟ้องคดีผู้เสียหายทั้งหมดทันที
สำหรับการเดินทางเข้าร้องเรียนในวันนี้ นำโดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ วันทอง ศรีจันทร์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากโครงการสินเชื่อสามล้อเอื้ออาทร พร้อมผู้เสียหายกว่า 150 คน ซึ่งรวมผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อหรือซ่อมแซมรถเมล์ เดินทางไปทวงถามความคืบหน้า เรื่อง ขอให้พิจารณาถอนฟ้องและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีรถยนต์สามล้อสาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการออมสิน สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ซึ่งธนาคารออมสินได้ตอบกลับอีเมล์แจ้งว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ปัจจุบันผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่เป็นรูปธรรมจากธนาคารฯ
โดยในวันนี้ กลุ่มผู้เสียหายได้เรียกร้องให้ธนาคารออมสิน ถอนฟ้องคดีผู้เสียหายทุกรายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกัน กรณีที่ยื่นฟ้องไปแล้ว จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษา ก็ขอให้งดการบังคับคดีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและความโปร่งใสในโครงการสินเชื่อดังกล่าวให้ชัดแจ้ง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเรียกร้องให้ธนาคารออมสินตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาสยามพารากอน และสาขาเยาวราช รวมถึงพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากการกระทำ ได้แก่ การให้ผู้เสียหายลงนามในสัญญากู้เงินโดยไม่อธิบายและปกปิดรายละเอียดของสัญญา รวมถึงไม่ส่งมอบคู่ฉบับสัญญาฯให้กับผู้กู้ และไม่ส่งมอบเงินกู้ให้กับผู้กู้โดยตรง แต่กลับส่งให้ สหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด (ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาเงินกู้) โดยผู้กู้มาทราบหลังจากที่โดนฟ้องคดีแล้ว
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือไม่ ซึ่งหากมีความผิดก็ขอให้ธนาคารออมสินมีมาตรการลงโทษพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทุกรายโดยทันที เนื่องจากโครงการสินเชื่อดังกล่าว เป็นโครงการของรัฐที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อหรือซ่อมแซมรถเมล์ร่วมบริการสาย 1, 17, 39 และ 75 กว่า 30 ราย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และยังมีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนเพิ่มตลอด
สำหรับข้อเสนอจากกลุ่มผู้เสียหาย 4 ข้อ ดังนี้
ขอให้ธนาคารฯ ถอนฟ้องผู้เสียหายทุกรายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารฯ จากสาขาสยามพารากอนและสาขาเยาวราช ในลักษณะเดียวกัน กรณีที่ยื่นฟ้องไปแล้ว จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษา ก็ให้งดการบังคับคดี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
ขอให้ธนาคารฯ ตรวจสอบสัญญาว่าทำไมผู้เสียหายจึงมีการทำสัญญา 2 ฉบับ จากเงินกู้ก้อนเดียวกัน
จนทำให้เป็นหนี้เงินกู้ 2 สัญญา
ขอให้ธนาคารฯ ชี้แจงวิธีการแก้ปัญหากรณีผู้เสียหายไม่ได้รับสัญญากู้ยืมเงิน และไม่ได้รับเงินกู้เต็มจำนวนตามสัญญา
ขอให้ธนาคารฯ ชี้แจงเรื่องการบังคับให้ทำประกันอุบัติเหตุ เนื่องจาก ตัวแทนสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด อ้างว่าเงินกู้ตามยอดที่ธนาคารฯ ฟ้องคดี มีค่าเบี้ยประกันรวมอยู่ด้วย[full-post]
แสดงความคิดเห็น