Posted: 29 Nov 2018 07:09 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-29 22:09



เปิด ร่าง พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ หลัง สนช. มติรับหลักการวาระแรกวันนี้ มาเพื่อแทนที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พบกองทัพตบเท้าเข้าคุมนโยบายทั้ง รมว. - ปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตัวสถาบันฯ ใหม่ยังคงสามารถกู้เงิน ร่วมทุน ถือหุ้นด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยไม่ต้องส่งรายได้กลับคลัง

29 พ.ย. 2561 วันนี้ สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดย สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า สนช.มติรับหลักการด้วยคะแนน 143 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 17 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน และมีกรอบการทำงาน 60 วัน

สำหรับ เหตุผลของร่างฯ คือรัฐควรจัดตั้งหน่วยงานรัฐด้านการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่ดำเนินการด้านการศึกษาวิจัย ผลิต และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบ ซึ่งในหน่วยงานรัฐปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับภารกิจข้างต้น

หากร่างฯ นี้ผ่านและมีการใช้บังคับ ตามมาตรา 49 ในบทเฉพาะกาล จะทำให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ที่ตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2551 ถูกยกเลิกการดำเนินการ และโอนเอากิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ รวมทั้งงบประมาณของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ที่มีอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. ใช้บังคับ ตกเป็นของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ตามร่างฯ ใหม่

ร่างฯ ชุดใหม่มีการตั้งหน่วยงานด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศอีกสองหน่วยได้แก่คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มาครอบ สทป. เอาไว้ โดยบทบาทของกองทัพนั้นมีปรากฎในร่างฯ มากกว่าตัว พ.ร.ก. สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2551 ที่มีเพียงปลัดกระทรวงกลาโหม เสนาธิการทหาร เสนาธิการทหารบก สนาธิการทหารเรือ และสนาธิการทหารอากาศ เป็นกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนห้าคนในคณกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

แต่ร่างฯ ใหม่นั้นมีการให้รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารอากาศเข้ามาเป็นกรรมการของคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศด้วย

เนื้อหาคร่าวๆ เรื่องโครงสร้าง อำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานตามร่างฯ มีดังต่อไปนี้ (อ่านร่างฯ ตัวเต็มที่นี่ http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext84/84089_0001.PDF )

คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย เป้าหมายการดำเนินการด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมบทบาทการดำเนินกิจการของเอกชน ให้ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงกลาโหมเพื่อเสนอ ครม. กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินการของคณะกรรมการและสถาบัน ออกระเบียบเกี่ยวกับลักษณะ ประเภทยุทโธปกรณ์ เกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการผลิตและขายยุทโธปกรณ์

คณะกรรมการนโยบายฯ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน ได้แก่ปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

นอกจากนั้นยังจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินหกคน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านการทหาร เทคโนโลยีป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศหรือการวิจัย การพัฒนาและนวัตกรรม หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน

คณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วปของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป. หรือ DTI) ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศกำหนด

คณะกรรมการสถาบันฯ มีประธานกรรมการที่ ครม. แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กรรมการโดยตำแหน่งห้าคน ได้แก่ เสนาธิการทหาร เสนาธิการทหารบก เสนาธิการทหารเรือ เสนาธิการทหารอากาศ และผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนที่ ครม. แต่งตั้งจากผู้ที่ไม่เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่ผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

ในส่วนของ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ตามร่างฯ ใหม่มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการ มีหน้าที่ดังนี้
ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่อง
ส่งเสริม สนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานอื่นของรัฐและภาคเอกชน
ส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรม ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ และพัฒนาบุคลากร
ประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศกับหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
เป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศแก่กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานรัฐ

อำนาจตามมาตรา 23 โดยหลักเกณฑ์ ครม. ให้ สทป. สามารถกู้ยืมเงิน และจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคล และการเข้าร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกับบุคลหรือนิติบุคคลใดเพื่ดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด โดยความเห็นชอบของ ครม.

สทป. จะได้รับงบสนับสนุนจากเงินอุดหนุนของรัฐที่ได้รับเป็นรายปี เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทนต่างๆ หรือรายได้อื่นที่เกิดจากการดำเนินการของ สทป. ทั้งนี้ รายได้ของ สทป. ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือสมควร ก็อาจนำรายได้ส่งเข้าคลังได้ในจำนวนที่เห็นสมควร

ในกรณีที่คณะกรรมการนโยบายฯ เห็นว่ายุทโธปกรณ์ที่สถาบันได้ศึกษาวิจัย หรือร่วมศึกษาวิจัยแล้วมีความจำเป็นต้องผลิต ก็ให้หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมผลิต หากเป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการสงคราม ให้ สทป. ร่วมกับเอกชนหรือนิติบุคคล หรือก่อตั้งนิติบุคคลเพื่อทำการผลิตและจำหน่าย โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยการขายทำได้เฉพาะขายให้กับหน่วยงานรัฐ หากมีส่วนที่ขายแล้วเหลือ ก็สามารถขายให้ประเทศที่ร่วมปฏิบัติการซ้อมรบที่ไทยเข้าร่วม โดยขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.