Posted: 03 Dec 2018 06:24 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-12-03 21:24

สุรพศ ทวีศักดิ์

ผมคิดว่าประเด็นการยืนยัน “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” เป็นประเด็นปัญหาทางหลักการที่สำคัญมาก ควรมีการถกเถียงเท่าที่จะทำได้ จึงพูดเรื่องนี้ทางเฟสบุ๊คบ่อย (จนเพื่อนบางคนอาจรำคาญ) มีบางคนเข้ามาแย้งและหายไป บางคนก็เข้ามาทีหลัง จำได้ว่ามีคนหนึ่งถามผมนานมาแล้วว่า “คุณเอาอะไรมามั่นใจว่าไม่มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ผมคิดว่าผมก็ถามกลับได้พอๆ กันว่า “คุณเอาอะไรมามั่นใจว่ามีสิทธิสนับสนุนเผด็จการ”

เหตุผลที่ถามได้เท่ากันก็เพราะว่า เราต่างตีความ “สิทธิ” จากแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) ฝ่ายที่ยืนยันประชาธิปไตย (ไม่ใช่นักปรัชญาเสรีนิยมทุกคนจะยืนยันประชาธิปไตย) และการตีความหรือการเสนอความคิดใดๆ ของเราก็ “อาจผิดได้” เท่าๆ กัน (ความคิดที่ว่ามีความจริงที่ “ไม่อาจผิดได้” มักเป็นเรื่องศรัทธาแบบศาสนา) มันจึงอยู่ที่ว่าข้อเสนอของใครชัดเจนมากกว่า หรือ “ไม่ขัดแย้งในตัวเอง” มากกว่า มีเหตุผลสนับสนุนที่ “สมเหตุสมผล” มากกว่า และใครเสนอข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) ได้รอบด้าน เป็นเหตุเป็นผล ปิดช่องโหว่ต่างๆ ของความคิดที่ตนเองเสนอได้รัดกุมมากกว่า

เพื่อนบางคนที่เข้ามาเถียงยืนยันว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิตามธรรมชาติ” อยู่แล้ว และสิทธิตามธรรมชาติคือ “สิทธิที่เราจะทำอะไรก็ได้ไม่ว่าผิดหรือถูก” ดังนั้น เราจึงมีสิทธิสนับสนุนเผด็จการ เขายังบอกอีกว่าสิทธิตามธรรมชาติเป็นความเข้าใจของเขาเอง เขาไม่ได้ศึกษาแนวคิดปรัชญาคนไหนทั้งนั้น ถ้านักปรัชญาพวกนั้นคิดได้ เขาก็คิดได้เหมือนกัน

บางคนบอกว่า “การสนับสนุนเผด็จการเป็นธรรมชาติของมนุษย์พอๆ กับการหายใจ” หลังจากแย้งประเด็นนี้แล้วผมถามต่อว่า “คุณมีสิทธิสนับสนุนโจรปล้นเพื่อนบ้านคุณหรือไม่?” เขาตอบว่า ถ้ามีโจรปล้นเพื่อนบ้านแล้วใครบางคนแหกปากว่า “ปล้นมันเลยๆ” เราจะทำอะไรกับเขาหรือ

นั่นคือบางเหตุผลที่ผู้ยืนยัน “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” เถียงผม ผู้อ่านบางท่านอาจคิดว่าไม่รู้จะยกอะไรที่ไม่ใช่หลักวิชาการมาทำไม แต่ผมคิดว่าข้อถกเถียงดังกล่าวน่าบันทึกไว้เป็นข้อมูล และผมก็ไม่ได้ระบุชื่อในที่นี้ แต่ในเฟสผมเปิดเป็นสาธารณะ การแสดงความเห็นดังที่ผมยกมาจึงเป็นสาธารณะอยู่แล้ว

ประเด็นของผมคือ เวลาใครก็ตามยืนยันว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” คุณก็ควรเสนอคอนเซ็ปต์หรือไอเดียของมันออกมาให้ชัดเจนว่ามันคืออะไร มีเหตุผลสนับสนุนอย่างไร และสามารถอภิปรายข้อโต้แย้งต่างๆ ให้เห็นได้ว่า การยืนยันสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” มันจำเป็นและคุณสามารถตอบคำถามและหักล้างข้อโต้แย้งต่างๆ ที่มีต่อสิทธิสนับสนุนเผด็จการที่คุณเสนออย่างไรบ้าง ซึ่งผมขอตั้งคำถามและเสนอข้อโต้แย้งต่างๆ ต่อสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ไว้ดังนี้

ประเด็นแรกสุดเลย ดังที่ผมพูดแต่แรกว่า เราต่างตีความ “สิทธิ” จากแนวคิดปรัชญาเสรีนิยมฝ่ายที่ยืนยันประชาธิปไตย ดังนั้น เราควรเริ่มจากการพิจารณาจากความคิดเรื่อง “สิทธิตามธรรมชาติ” (natural rights) ของจอห์น ล็อค น่าจะเหมาะที่สุด เวลาที่ล็อคพูดถึงสิทธิตามธรรมชาติ เขาพูดถึงสิทธิตามธรรมชาติในสองบริบทคือ “สิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์เลือกทำอะไรก็ได้ในสังคมก่อนสังคมการเมือง” หรือสังคมตามสภาวะธรรมชาติที่ยังไม่มีระบบการปกครอง กับ “สิทธิตามธรรมชาติที่ปัจเจกบุคคลจะเลือกทำอะไรก็ได้ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น” ซึ่งหมายถึง “สิทธิตามธรรมชาติที่กลายมาเป็นสัญญาประชาคมในสังคมการเมือง” หรือสังคมที่มีระบบการปกครอง

ทีนี้เราควรเข้าใจว่า ที่ล็อคเสนอสิ่งที่เขาเรียกว่า “สิทธิตามธรรมชาติ” ไม่ใช่การเสนอ “ข้อเท็จจริง” คือไม่ใช่การยืนยันว่าเขาได้สำรวจพบข้อเท็จจริงว่า มีสังคมตามสภาวะธรรมชาติหรือสังคมก่อนสังคมการเมืองอยู่จริง และในสังคมเช่นนั้นมนุษย์ทุกคนมีสิทธิตามธรรมชาติที่จะทำอะไรก็ได้จริง แต่สังคมตามสภาวะธรรมชาติเป็นเพียง “สมมติฐานตั้งต้น” (postulate) รองรับกรอบคิด (concept) หรือแนวคิด (idea) เกี่ยวกับสิ่งที่เขาเสนอว่า “สิทธิตามธรรมชาติ” เท่านั้น และสิทธิตามธรรมชาติที่เขาเสนอเพื่อเป็น “สัญญาประชาคม” (social contract) ของสังคมการเมืองที่มีรัฐบาลมาจากความยินยอมของประชาชน (รัฐบาลประชาธิปไตย) คือ “สิทธิตามธรรมชาติที่พรากไปไม่ได้” หรือถูกละเมิดไม่ได้ อันได้แก่ สิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน อิสรภาพ ความปลอดภัย (ในคำประกาศอิสรภาพอเมริกาแปลงเป็น “การแสวงหาความสุข”) และเขายังเสนอว่า “ประชาชนมีสิทธิล้มล้างรัฐบาลเผด็จการที่ทำลายหลักสิทธิตามธรรมชาติดังกล่าวได้” (ซึ่งหลักสิทธิตามธรรมชาติของล็อคและหลักการล้มล้างรัฐบาลเผด็จการมีอยู่ในคำประกาศอิสรภาพอเมริกา)

นอกจากนักปรัชญาเสรีนิยมที่ยืนยันประชาธิปไตยจะยืนยันสิทธิล้มล้างเผด็จการที่ทำลายสิทธิและเสรีภาพ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือองอย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ยังเสนอกระทั่งว่า “การต่อต้านกฎหมายที่อยุติธรรมเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมของประชาชน” (ส่วนตัว ผมไม่ทราบว่ามีนักคิดเสรีนิยมที่ยืนยันประชาธิปไตย เสนอคอนเซ็ปต์หรือไอเดีย “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ไว้หรือไม่ อาจมีก็ได้ แต่ผมไม่ได้อ่าน ถ้ามีผู้รู้ช่วยบอก จะขอบคุณมาก)

ส่วนแนวคิด “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” ที่เสนอโดยจอห์น สจ๊วต มิลล์ คือการเสนอหลักการว่า รัฐและสังคมจะใช้อำนาจแทรกแซงเสรีภาพของปัจเจกบุคคลได้ก็ต่อเมื่อเขาทำอันตรายต่อคนอื่นหรือละเมิดเสรีภาพคนอื่นเท่านั้น ส่วนการกระทำใดๆ ที่กระทบต่อตัวเขาเองเท่านั้น เขามีเสรีภาพที่จะกระทำได้แม้แต่สิ่งที่เกิดผลร้ายกับตัวเอง เช่น (ถ้าจะพูดตามคำของเพื่อบางคนที่ผมยกมาข้างต้น) เขาจะหายใจหรือจะเลือกกลั้นหายใจจนตายก็ได้ แต่การกระทำที่กระทบต่อเสรีภาพ(และสิทธิ)คนอื่น ไม่อาจ “ทำอะไรก็ได้” แบบที่ทำกับตัวเอง

เช่น คุณเห็นโจรกำลังปล้นเพื่อนบ้าน เอาปืนจี้หัว กวาดทรัพย์สินเพื่อนบ้านต่อหน้าต่อตา คุณจะอ้างสิทธิในการสนับสนุนการปล้น ด้วยการตระโกน “ปล้นมันเลยๆ” หรือสนับสนุนด้วยวิธีการใดๆ ย่อมไม่ได้ เพราะมัน “ผิด” หรือขัดหลักสิทธิและเสรีภาพ

พูดตามหลักการใช้เสรีภาพตามความคิดมิลล์ ถ้าคุณโพสต์ในเฟซบุ๊คว่า “นาย ก.มันโพสต์ข้อความหมิ่น X อยากเห็นคนไปรุมกระทืบมันจริงๆ” การโพสต์เช่นนี้ไม่ได้ขัดหลักเสรีภาพ แต่ถ้าคุณเห็นฝูงชนกำลังล้อมบ้านนาย ก.เพื่อที่จะเอาตัวนาย ก.มารุมกระทืบ แล้วคุณถือโทรโข่งไปพูดปลุกเร้าให้ฝูงชนกระทืบนาย ก.โดยอ้าง “สิทธิสนับสนุน” เท่านั้น คุณไม่ได้กระทืบเอง การอ้างสิทธิของคุณย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะคุณกำลังสนับสนุนการทำอันตรายต่อคนอื่นที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งหน้า

อย่างไรก็ตาม ในการเสนอหลักเสรีภาพของปัจเจกบุคคล มิลล์ยืนยันชัดเจนว่า “หลักเสรีภาพไม่ได้เรียกร้องว่าปัจเจกบุคคลควรมีเสรีภาพเพื่อที่จะไม่มีเสรีภาพ” เช่น ปัจเจกบุคคลไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกขายตัวเองเป็นทาส เพราะผลลัพธ์คือการสิ้นสุดการมีเสรีภาพ

คำถามสำคัญคือ ตามหลักสิทธิตามธรรมชาติของล็อค เรามีสิทธิสนับสนุนเผด็จการที่ปล้นสิทธิหรือไม่ ถ้าผลของมันคือการสิ้นสุดการมีสิทธิของประชาชนทุกคน? และตามหลักเสรีภาพของมิลล์ เรามีเสรีภาพสนับสนุนเผด็จการที่ปล้นเสรีภาพหรือไม่ ถ้าผลของมันคือการสิ้นสุดการมีเสรีภาพของประชาชนทุกคน?

หรือถามอีกว่า การยืนยัน “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” หมายถึงการยืนยันอะไร? คือการยืนยันว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการเป็นสิ่งที่ละเมิดมิได้” พร้อมๆ กับยืนยันว่า “เรามีสิทธิสนับสนุนเผด็จการปล้นสิทธิของประชาชน” เช่นนั้นหรือ มันเหมือนกับคุณกำลังพูดว่า “วงกลมเป็นทั้งวงกลมและสามเหลี่ยมในเวลาเดียวกัน” หรือกำลังพูดว่า “สิทธิเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้และละเมิดได้ในเวลาเดียวกัน” ในทางตรรกวิทยาการพูดเช่นนี้ย่อมไม่สมเหตุสมผล (invalid) หรือตรรกะวิบัติ

เพื่อนบางคนที่เข้ามาเถียงในเฟสบุ๊ค อาจรำคาญคำถามผมหรือเปล่าไม่ทราบ เขาถึงพูดซ้ำๆ ว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการมันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของทุกคนอยู่แล้ว ทำไมเรื่องง่ายๆ คุณไม่เข้าใจ” แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ “เรื่องง่ายๆ” เลยครับ มันมีประเด็น “ซับซ้อน” ต้องอภิปรายข้อโต้แย้งต่างๆ อีกมาก

เช่นถามว่า สิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” มันคือสิทธิแบบเดียวกันและครอบคลุมวิธีการทุกอย่างแบบเดียวกับการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่? สิทธิสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตย หมายถึงเรา “เลือกได้” ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน และมีวิธีการแสดงออกหลากหลายเช่น ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำประชาพิจารณ์ ลงประชามติ เข้าชื่อถอดถอน หรือพูด เขียน และแสดงออกใดๆ ที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่นภายใต้หลักการ “คนเท่ากัน” และบนกติกาที่ “เสรีและเป็นธรรม”

ถ้าหากสิทธิและวิธีการสนับสนุนเผด็จการเป็นแบบเดียวกันทุกอย่างกับสิทธิและวิธีการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตย สิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ก็ย่อมถือเป็น “สิทธิ” ได้ แต่คำถามคือ ถ้าสิทธิและวิธีการสนับสนุนเผด็จการเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดกับสิทธิและวิธีการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตย ก็แสดงว่ารัฐบาลเผด็จการกับรัฐบาลประชาธิปไตยก็ “ไม่ต่างกัน” สิ แต่ความจริงมัน “ต่างกันอย่างสิ้นเชิง” และเราก็พบข้อเท็จจริงของการสนับสนุนเผด็จการที่เกิดขึ้นในบ้านเราว่ามันมี “วิธีการที่ต่างจากวิธีการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตย” ชัดเจน

ตัวอย่างเช่น “วิธีการสนับสนุนเผด็จการแบบสุเทพ” ทำได้ตั้งแต่ชุมนุมขวางเลือกตั้ง (มีการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ยึดหีบบัตรเลือกตั้ง ล็อกคอคนที่เข้ามาใช้สิทธิเลือกตั้ง ฯลฯ) และน่าจะมี “วิธีการที่ไม่เปิดเผย” ที่เราไม่ทราบอยู่ด้วย จนกระทั่งส่งผลให้เกิดสิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” และมีการตั้งพรรคการเมืองที่มีพลังดูดอดีต ส.ส.เหนือพรรคอื่นๆ ที่พร้อมจะลงเลือกตั้งภายใต้กติกาของเผด็จการที่พวกเขาสนับสนุน ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นกติกาที่ “เสรีและเป็นธรรม” ตามหลักสากล

ถามว่าสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” คือสิทธิที่ครอบคลุมถึง “วิธีการแบบสุเทพ” ดังกล่าว(เป็นต้น)หรือไม่ ถ้าครอบคลุมถึงมันเป็น “สิทธิ” บนหลักการ “คนเท่ากัน” และบนกติกาที่ “เสรีและเป็นธรรม” อย่างไร ถ้าไม่ครอบคลุมถึง แล้วสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” มันคืออะไรแน่ และมันเป็น “สิทธิ” ได้อย่างไร อธิบายคอนเซ็ปต์หรือไอเดียของมันออกมาได้ไหมว่ามันต่างจากสิทธิ(ทางการเมือง)ในการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างไร

ประเด็นสุดท้ายคือ ปัญหาการประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ในบริบทสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองบ้านเราที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ และฝ่ายต้านเผด็จการ เราประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียกว่าสิทธิสนับสนุนเผด็จการด้วยการตั้งคำถามต่อการวิจารณ์ ด่า เกรียนการสนับสนุนเผด็จการเพื่อยืนยันว่าเราต้อง “เคารพสิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ของฝ่ายสนับสนุนเผด็จการเช่นนั้นหรือ? ด้วยการแย้งว่าสิทธิและเสรีภาพแบบเสรีนิยมก็ไม่ควรสงวนไว้ใช้เฉพาะฝ่ายเสรีนิยมเท่านั้น ราวกับว่าคำวิจารณ์ ด่า เกรียนการสนับสนุนเผด็จการมันมีอำนาจไปปิดปากหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนสนับสนุนเผด็จการได้

เพื่อนบางคนที่เข้ามาเถียงผมทางเฟสบุ๊คถึงขนาดพูดว่า การปฏิเสธสิทธิสนับสนุนเผด็จการคือ “การไม่เคารพความเป็นมนุษย์” ราวกับว่าการปฏิเสธของผมมันทำให้ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ “ไม่มีที่ยืน” บนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ แต่ความเป็นจริงที่เราต่างเห็นมาตั้งแต่หลัง 2475 จนปัจจุบัน มีไหมครับที่ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการติดคุก เข้าป่า ไปตายในป่า ตายในต่างประเทศ มีเพียงเถ้ากระดูกที่ได้กลับบ้านเกิด มีไหมครับทุกวันนี้ที่ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการยังอยู่ในคุก และลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศโดยไม่รู้ชะตากรรมของตนว่าจะได้กลับบ้านเกิดเมื่อไร

เห็นด้วยแน่นอนครับว่า เราควรเคารพความเป็นมนุษย์ของฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ และการเสนอมุมมองด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยามาทำความเข้าใจฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ ว่าเขามีความเชื่อ เงื่อนไข ปัจจัยต่างๆ อะไรบ้าง ที่ทำให้เขาสนับสนุนเผด็จการ แต่โดยหลักการเดียวกันเราก็ยิ่งต้องทำความเข้าใจและเคารพความเป็นคนของฝ่ายที่ถูกกระทำจากอำนาจเผด็จการไม่ใช่หรือ ไม่ใช่เราจะทนอยู่กับความเคยชิน เฉยชากับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพฝ่ายต้านเผด็จการเสมือนว่ามันเป็น “กรรมของสัตว์โลก” ตามคำสอนศาสนาที่เราจำกันยิ่งกว่าขึ้นใจ

ขอจบด้วยคำถามต้นบทความว่า ถ้าถามผมว่า คุณเอาอะไรมั่นใจขนาดนั้นว่า “ไม่มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ผมก็ขอถามกลับด้วยคำถามแบบเดียวกันว่า คุณเอาอะไรมามั่นใจขนาดนั้นว่า “มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการ” และคุณจะตอบประเด็นต่างๆ ที่อภิปรายมาอย่างไร

ทั้งนี้ผมเชื่อว่า ประโยชน์ของการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาหลักการสาธารณะ คือการที่เรามีโอกาสได้เข้าใจความคิดที่ชัดเจนกว่า มีเหตุผลหนักแน่นกว่า และมันช่วยให้เรามีโอกาสพัฒนาความคิดของตัวเอง และแสวงหาข้อตกลงที่มีเหตุผลมากขึ้นในการอยู่ร่วมกันในวิถีชีวิตทางสังคมและการเมือง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.