Posted: 03 Dec 2018 07:41 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-12-03 22:41
นักเตะชาวบาห์เรนจากสโมสรในออสเตรเลียถูกจับกุมตัวเพราะมีหมายแดงจากตำรวจสากลติดตัว เนื่องจากมีคดีทำลายทรัพย์สินที่ประเทศต้นทาง แต่เรื่องราวซับซ้อนขึ้นเพราะเขาคือผู้ลี้ภัยที่ถูกรับรองโดยรัฐบาลแดนจิงโจ้แล้ว หลังหนีตะวันออกกลางเมื่อถูกจับกุมตัว ทรมานและดำเนินคดีที่เขาอ้างว่าไม่ได้ก่อ องค์กรสิทธิมนุษยชนห่วงละเมิดหลักไม่ผลักดันคนกลับไปเผชิญอันตราย
3 ธ.ค. 2561 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทำการควบคุมตัวฮาคีม อัล อาไรบี ชายชาวบาห์เรนอายุ 25 ปี นักฟุตบอลสโมสรปาสโก เวล เอฟซี แห่งลีกประเทศออสเตรเลีย โดยการจับกุมเกิดขึ้นเมื่อเขาเดินทางจากนครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกล่าวว่า การควบคุมตัวเกิดขึ้นหลังพบว่าฮาคีมมีหมายจับข้อหาทำลายทรัพย์สินในประเทศบาห์เรน
อย่างไรก็ดี ข้อหาการทำลายทรัพย์สินที่ได้ยังไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่องราว เนื่องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรได้ออกมาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม สถาบันบาห์เรนเพื่อสิทธิและประชาธิปไตย (BIRD) ออกแถลงการณ์ว่า ฮาคีมเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลออสเตรเลียแล้ว หลังเขาถูกทางการบาห์เรนจับกุมตัวและทรมานในปี 2555 เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล หลังจากนั้นเขาก็ออกมาพูดเรื่องการถูกทรมานอย่างเปิดเผย
“เขาผูกผ้าปิดตาผม...เขาจับตัวผมเอาไว้แน่นมากๆ และหนึ่งคนในนั้นเริ่มจะตีที่ขาผมแบบแรงมากแล้วพูดว่า ‘แกจะไม่ได้เล่นฟุตบอลอีก พวกเราจะทำลายอนาคตแก’” แถลงการณ์อ้างคำพูดของฮาคีม นักฟุตบอลอาชีพคนนี้ยังเป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ชีค ซัลมาน อัล คาลิฟา โดยเฉพาะในช่วงที่ซัลมานลงสมัครตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า)
ในเดือน ม.ค. ปี 2557 ทางการบาห์เรนสั่งจำคุกฮาคีมเป็นเวลา 10 ปีในความผิดฐานสร้างความเสียหายแก่สถานีตำรวจ ซึ่งเจ้าตัวก็ยืนกรานปฏิเสธ โดยอ้างว่าเหตุเกิดขึ้นขณะที่เขาแข่งฟุตบอลซึ่งถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ฮาคีมได้ลี้ภัยออกมาอยู่ที่ออสเตรเลียเมื่อเดือน พ.ค. 2557 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากออสเตรเลียในปี 2560 และได้วีซ่าที่สามารถอยู่ออสเตรเลียได้แบบไม่หมดอายุ ทั้งยังสามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้ ยกเว้นแต่ไปยังประเทศบาห์เรนที่เขาหนีมา จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฮาคีมแจ้งกับสำนักข่าวเดอะการ์เดียน ออสเตรเลียว่าเขาถูกจับกุมเนื่องจาก “หมายแดง (Red Notice)” ภายใต้องค์การตำรวจสากล (INTERPOL)
การถูกจับตัวโดยหมายจับของตำรวจนานาชาติถูกตั้งคำถามโดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ เนื่องจากหมายแดงของ INTERPOL ไม่สามารถใช้กับผู้ที่ได้รับการยืนยันสถานะเป็นผู้ลี้ภัย โดยฟิล โรเบิร์ตสัน รักษาการผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวเมื่อ 1 ธ.ค. ว่า “ไม่มีเงื่อนไขใดที่เขาจะถูกส่งกลับไปยังบาห์เรน”
วันนี้ (3 ธ.ค.) แหล่งข่าวจากองค์กรด้านการปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัยระบุว่า ปัจจุบันฮาคีมยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู และถูกศาลสั่งฝากขังเป็นเวลา 12 วัน โดยในวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ของสถานทูตบาห์เรนประจำประเทศไทยทวีตว่า “สถานทูต (บาห์เรน) ระบุว่าผู้ต้องสงสัยเป็นที่ต้องการตัวที่สถานทูตรับรู้ เขา (สถานทูต) เพิ่มเติมด้วยว่ากำลังติดตามเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในเรื่องนี้”
The Embassy states that the suspect is wanted for security cases which the Embassy is aware of. It adds that it is following up with the relevant security authorities in this regard.
— Bahrain Embassy - Thailand (@BahrainEmbTH) December 1, 2018
แถลงการณ์จาก BIRD กล่าวว่า การส่งตัวผู้ลี้ภัยที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วกลับไปยังที่ๆ พวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ถูกทรมาน หรือการถูกปฏิบัติอย่างไม่ดีเป็นการละเมิดข้อบังคับของไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซายิด อาเหม็ด อัลวาดาอี ผอ. ของ BIRD ระบุว่า “ถ้าฮาคีมถูกส่งตัวกลับบาห์เรน เขามีความเสี่ยงสูงที่จะเจอการทรมานและการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การนำตัวเขากลับจะเป็นการผลักดันไปเชิญอันตราย (Refoulment) และเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน องค์การสหประชาชาติและทางการออสเตรเลียต้องต่อสู้เพื่อป้องกันผลอันร้ายแรงนี้”
เว็บไซต์ INTERPOL ให้ความหมายของ “หมาย” ไว้ว่า เป็นคำร้องในระดับนานาชาติ เพื่อขอความร่วมมือหรือแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศสมาชิก ซึ่งมี 194 ประเทศรวมทั้งไทย ให้มีการแบ่งปันข้อมูลทางอาชญากรรม หมายถูกออกโดยเลขาธิการของ INTERPOL จากการร้องขอจากสำนักงานกลางแห่งชาติขององค์การตำรวจสากลในแต่ละประเทศ โดยหมายจะถูกตีพิมพ์เป็นภาษาทางการขององค์กรได้แก่อราบิค อังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปน
บุคคลที่ถูกหมายแดงคือคนที่เป็นที่ต้องการตัวโดยศาล มีโทษตามหมายจับหรือคำพิพากษาของศาลอยู่ หน้าที่ของ INTERPOL คือการช่วยเหลือตำรวจในชาติต่างๆในการระบุตัวตนและตำแหน่งเพื่อนำไปสู่การจับกุม การส่งตัวกลับหรือมาตรการอื่นๆ ตามกฎหมาย
หมายของ INTERPOL ยังสามารถใช้โดยยูเอ็น คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศ หรือศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อตามหาตัวบุคคลที่กระทำอาชญากรรมประเภทฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม หรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในกรณีของผู้ลี้ภัย หมายแดงของ INTERPOL ไม่สามารถนำมาใช้กับผู้ลี้ภัยที่มีสถานะต่อไปนี้ (อ้างอิง fairtrials.org)
ผู้ที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว
การร้องขอหมายมาจากประเทศที่ผู้ลี้ภัยกลัวจะได้รับการกลั่นแกล้ง
แสดงความคิดเห็น