ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

Posted: 17 Dec 2018 07:59 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-12-17 22:59


กกต. มีมติพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบมีชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมือง และโลโก้พรรค เตรียมแถลงข่าวพรุ่งนี้ ส่วนเลขาธิการ กกต. แถลงมีผู้ผ่านการคัดเลือก ส.ว.ระดับอำเภอ 5,899 คน ระบุยังไม่พบการฮั้วลงคะแนน เผยเวลานี้ยังไม่มีองค์ระหว่างประเทศติดต่อเข้ามาขอสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

17 ธ.ค. 2561 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ในการประชุม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันนี้ ที่ประะชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกบัตรเลือกตั้งเป็นรูปแบบสมบูรณ์ มีหมายเลขผู้สมัคร ชื่อ และ โลโก้ของพรรคการเมือง แยกเป็นเฉพาะของแต่ละเขตทั้ง 350 เขต-หน่วยเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ก่อนที่ที่ประชุม กกต. จะมีมติดังกล่าว ได้มีการพิจารณาข้อเสนอของสำนักงานฯ ที่มีการเสนอแนวทางการจัดพิมพ์บัตร 2 รูปแบบ คือ แบบสมบูรณ์มีหมายเลขผู้สมัคร ชื่อ และโลโก้พรรค กับแบบมีหมายเลขผู้สมัครเพียงอย่างเดียว โดยมีการพูดถึงข้อดี ข้อเสีย ปัญหาอุปสรรคในการจัดพิมพ์ และการส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งทั้ง 350 เขต และหน่วยเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่ง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. จะการแถลงรายละเอียดที่ชัดเจนในวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.)

ด้านสำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าว “สรุปผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับอำเภอ ทั่วประเทศ” ว่า จำนวนผู้สมัครรับสมัครเลือกเป็น ส.ว. ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครป็น ส.ว. รวมทั้งสิ้น 7,056 คน แยกเป็นสมัครด้วยตนเอง จำนวน 6,551 คน สมัครด้วยตนเองพร้อมหนังสือแนะนำชื่อจากองค์กร จำนวน 505 คน โดยมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอทั้งสิ้น 5,899 คน เป็นเพศชาย 4,389 คน และเพศหญิง 1,510 คน สมัครด้วยตนเอง (ผู้สมัครอิสระ) 5,410 คน สมัครด้วยตนเองพร้อมหนังสือแนะนำชื่อจากองค์กร 489 คน ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการเลือกในระดับอำเภอจะต้องไปรับเอกสารที่สำนักงานเขต และที่ว่าการอำเภอที่ตนเองสมัครในวันที่ 18 ธ.ค. เพื่อนำไปใช้ในการเลือกในระดับจังหวัด ซึ่ง กกต.กำหนดไว้ว่าจะเลือกในวันที่ 22 ธ.ค. นี้

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลหลังได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่พบว่า มีหลายจังหวัดที่ผู้สมัครหลายคนมารายงานตัวเกินกว่าเวลาที่ระเบียบกำหนด คือ เวลา 08.00-09.00 น. ซึ่งผู้สมัครที่มารายงานตัวช้าเพียง 1 นาที จะถูกตัดสิทธิ์ไปโดยปริยาย ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเลือกต่อไปได้ จึงขอเตือนไปยังผู้สมัครในการเลือกระดับจังหวัดให้รักษาเวลาในการรายงานตัว โดยเฉพาะในวันที่ 27 ธ.ค.ซึ่งเป็นการเลือกระดับประเทศ เป็นวันทำการปกติ การจราจรหนาแน่น ต้องเผื่อเวลาในการรายงานตัว ส่วนบางจังหวัด พบว่าผู้สมัครไม่มารายงานตัว เพราะเข้าใจว่ามีผู้สมัครไม่ถึง 3 คนจะไม่มีการเลือกในระดับอำเภอและผ่านไปคัดเลือกในระดับจังหวัดได้เลย นั้นจะถือว่าผู้สมัครสละสิทธิ์ ทั้งนี้หากผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิ์กรณีมารายงานตัวช้า สามารถใช้สิทธิ์ทางศาลในการร้องคัดค้านได้ แต่การตัดสิทธิ์นั้นเป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนด

เลขาธิการ กกต. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือ การเขียนหมายเลขที่บัตรเลือก ส.ว.ให้กรอกหมายเลขเป็นเลขอาราบิกเท่านั้น และมีช่องกรอกหมายเลข 2 ช่อง ซึ่งหากผู้สมัครกรอกหมายเลขเดียวกัน 2 ช่อง จะทำให้เป็นบัตรเสีย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานเรื่องการเลือกผู้สมัครที่เข้าข่ายเป็นการฮั้วกัน

สำหรับการลงคะแนนเลือก ส.ว.ในระดับจังหวัด กรณีสมัครด้วยตนเองมี 72 จังหวัดที่ผู้สมัครต้องเลือกกันเอง เนื่องจากมีผู้สมัครได้รับเลือกเกิน 4 คน ยกเว้น 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ พังงา ระนอง ชุมพร และสมุทรสาคร ส่วนผู้สมัครพร้อมหนังสือแนะนำจากองค์กร มี 8 จังหวัดต้องเลือกกันเอง เพราะมีผู้สมัครเกิน 4 คน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด และน่าน ทำให้มีผู้สมัครประเภทแนะนำจากองค์กรที่ไม่ต้องเลือกกันเอง 69 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน กกต. ตั้งประมาณการข้อมูลผู้สมัครที่จะมาลงคะแนนเลือก ส.ว.ในระดับประเทศ จำนวน 2,778 คน ประกอบด้วย สมัครด้วยตัวเอง 2,323 คน และสมัครด้วยตนเองพร้อมหนังสือแนะนำชื่อจากองค์กร 455 คน ซึ่งจะดำเนินการเลือก ส.ว.ในวันที่ 27 ธ.ค. นี้ ที่ Hall 2 เมืองทองธานี เพื่อให้ได้ผู้สมัครเป็น ส.ว.จำนวน 200 คน แล้วเสนอบัญชีรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คนต่อไป

เลขาธิการ กกต. ยังกล่าวถึงการให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีองค์กรระหว่างประเทศติดต่อเข้ามา และหากมีองค์กรระหว่างประเทศติดต่อเข้ามา จะต้องพิจารณาก่อน แต่โดยแนวทางปฏิบัติ กกต.จะมีการประสานเชิญ กกต. จากต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนสังเกตการณ์อยู่แล้ว เพื่อความโปร่งใส และให้ตรวจสอบว่ามีปัญหาขัดข้องในทางปฏิบัติบัติหรือไม่ ที่ผ่านมา เคยมีการแลกเปลี่ยนดูงานการเลือกตั้งของต่างประเทศ เช่น กกต.เกาหลีใต้ได้เชิญ กกต.ไปดูการจัดการเลือกตั้ง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.