Posted: 13 Dec 2018 01:04 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-13 16:04


13 ธ.ค. 2561 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดเผยว่าได้นำองค์กรสมาชิกเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามแนวทางแก้ไขปัญหากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในรัฐวิสาหกิจหลังพบว่ามีปัญหาขาดทุนเมื่อเทียบกับกองทุนบำเหน็จเดิม ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นว่าการขาดทุนเป็นปัญหาของการบริหารก็ต้องปรับปรุง และแนวทางที่ สรส.เสนอยังไม่มีความเหมาะสม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีการระบุว่าให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมก่อนแล้วหารือกัน แต่กลับพบว่ากระทรวงการคลังมีการตั้งคณะทำงานเพียงฝ่ายเดียวแล้วนำเสนอความเห็นต่อ ครม.ดังกล่าว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา สรส. ได้ออกคำแถลงเรื่อง 'การปกป้องสิทธิผู้ได้รับผลกระทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและการสร้างหลักประกันที่ยั่งยืน' โดยระบุว่าภายหลังจากที่รัฐได้ตราพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 และหลังจากนั้นทางกระทรวงการคลังก็ได้เชิญชวน ชี้นำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมาและให้พนักงานเข้าสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งทำให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเข้าใจว่าที่สุดแล้วผลประโยชน์ตอบแทนจะสูงกว่าสิ่งที่ตนเองได้รับอยู่ในเวลานั้นอย่างมาก แต่กาลเวลาเปลี่ยนไปจนถึงปัจจุบันการบริหารจัดการกองทุนที่หลากหลายซึ่งหมายถึงสถาบันการเงินที่หลากหลายที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาบริหารจัดการกองทุนแต่ละแห่งซึ่งสำรวจข้อมูลในภาพรวมทั้งหมดแล้วสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับจากกองทุนกลับน้อยกว่าสิทธิประโยชน์เดิม (กองทุนบำเหน็จ) และเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกแล้วจะทำให้พนักงานจะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการบริหารจัดการกองทุนเพราะเกือบทุกแห่งไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงและเงินก้อนดังกล่าวเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่จะเก็บไว้ใช้ในยามบั้นปลายชีวิตเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ครอบครัว ลูกหลาน และที่สำคัญเป็นการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขเป็นหน้าที่ของรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 55 มาตรา 71)

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)ได้รับทราบผลกระทบดังกล่าวประกอบกับองค์กรสมาชิกจำนวน 44 แห่ง รวมทั้งพนักงานที่ออกจากกองทุน อดีตพนักงานที่เกษียณอายุ และระดับผู้บริหารได้ร้องเรียนมายัง สรส.ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน ซึ่ง สรส.ก้ได้พยายามดำเนินการเรื่อยมาตามกระบวนการของกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓ รวมทั้งได้เข้าพบแถลงความเป็นจริง ผลกระทบและแนวโน้มผลกระทบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากรัฐบาลก่อนหน้านี้และรัฐบาลปัจจุบัน แต่ทั้งหมดมิได้เห็นความสำคัญความเดือดร้อนของพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่ประการใดจนปรากฏเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 ซึ่งก็ได้ปฏิเสธกระบวนการทางกฎหมายซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีตามสัญญาในระดับสากล และไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงในปัจจุบันแล้วแนวโน้มในอนาคตที่ สรส.ได้เสนอไป ดังนั้นเพื่อที่จะแสดงจุดยืนความต้องการ ของ สรส.องค์กรสมาชิกและผู้ได้รับผลกระทบ และแถลงให้เพื่อนพ้องรัฐวิสาหกิจและพี่น้องสื่อมวลชนได้ทราบทั่วกัน จึงยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐบาล ดังต่อไปนี้คือ

1.​ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจกลับไปสู่ระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิมเช่นเดียวกับข้าราชการ การมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นความสมัครใจและทางเลือก ดังที่รัฐบาลตราพระราชบัญญัติการกลับไปสู่ระบบบำนาญ พ.ศ.2557 2.​ให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ออกจากกองทุนระหว่างการทำงานหรือเกษียณอายุต้องได้รับเงินไม่น้อยกว่ากองทุนบำเหน็จโดยให้กองทุนประกันความเสี่ยงเป็นผู้ชดเชย 3.​ให้ปรับเพิ่มอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนขององค์การหรือนายจ้างในอัตราสูงสุดเพื่อจะได้เป็นหลักประกันเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ 4.​อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดที่จะต้องประชุมหารือกันจึงขอให้มีการตั้งคณะทำงานระหว่างผู้แทนรัฐบาล กระทรวงการคลัง กับ ผู้แทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินก้อนสุดท้ายหากปล่อยให้พนักงานต้องแบกรับความเสี่ยงจนต้องได้รับผลกระทบดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกแล้วจะได้รับผลกระทบมากว่าปัจจุบัน จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วนต่อไป และขอให้องค์กรสมาชิก พนักงานและผู้ได้รับผลกระทบติตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่ง สรส.จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด จึงขอให้องค์กรสมาชิกและผู้ได้รับผลกระทบต้องรวมพลังสามัคคีกันให้เป็นปึกแผ่นและฟังสัญญาณมาตรการขับเคลื่อนจาก สรส.ต่อไป

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.