รวต รุทมนี ประธานสหพันธ์แรงงานก่อสร้างของประเทศกัมพูชาา (CCTUF) ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย
Posted: 13 Dec 2018 02:16 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-13 17:16
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยต้องรับผิดชอบ กรณีส่งตัว รวต รุทมนี นักสหภาพแรงงานให้ทางการกัมพูชา ชี้เสี่ยงต่อภัยประหัตประหารและไม่ได้ดำเนินการผ่านขั้นตอนตาม กม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
13 ธ.ค.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ ทางการไทยต้องรับผิดชอบ กรณีส่งตัว รวต รุทมนี (Rath Rott Mony)ให้ทางการกัมพูชา ซึ่งเสี่ยงต่อภัยประหัตประหาร โดยแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับทราบข่าวจากทนายความที่ติดตามเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ รวต รุทมนี ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยซึ่งเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงานและด้านสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชาว่าทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ส่งตัว รวต ให้แก่ทางการกัมพูชาไปเมื่อเวลาประมาณเที่ยงของวันที่ 12 ธ.ค. 2561 และได้รับคำยืนยันจากหน่วยงานระหว่างประเทศว่า รวตได้ถูกส่งตัวถึงประเทศกัมพูชาแล้วในเวลาประมาณ 16.30 น. ขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม เพราะทางการไทยและกัมพูชาไม่ได้เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวของ รวต และเขาอาจต้องตกอยู่ในภาวะที่เสียงต่อการทรมาน หรือเผชิญกับภัยประหัตประหารจากทางการกัมพูชา
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า การส่งกลับ รวต ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการผ่านขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ซึ่งต้องดำเนินการโดยกระทรวงต่างประเทศและสำนักงานอัยการสูงสุด โดยร้องขอต่อศาลเพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกลับอ้างว่าเขาเป็นบุคคลที่มีหมายจับต่างประเทศไม่สามารถเข้าประเทศไทย จึงต้องผลักดันกลับ ทั้ง ๆที่ รวตได้เข้ามาในราชอาณาจักรและอยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมายมาระยะหนึ่งแล้ว
เมื่อ รวต ถูกจับในวันที่ 7 ธ.ค. ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค. ทนายความอาสาที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่รวตได้ทำหนังสือขอเข้าพบแต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธไม่ให้พบกับ รวต เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ขณะที่ รวต ยังอยู่ในการควบคุมตัวของทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สวนพลู
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่าการส่งกลับบุคคลที่เสี่ยงต่อการถูกทรมาน บังคับให้สูญหาย รวมทั้งถูกดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม อย่างเช่นกรณี รวต เป็นการส่งกลับโดยไม่ผ่านขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน นอกจากขัดต่อกฎหมายไทยเองแล้ว ยังขัดต่อกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ห้ามส่งบุคคลกลับออกไปหากว่าบุคคลนั้นอาจต้องเผชิญกับอันตรายหรือภัยประหัตประหาร (nonrefoulment) และขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์กรสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550
- ไทยส่งนักกิจกรรมกัมพูชากลับไปดำเนินคดีแล้ว นักสิทธิฯ ชี้ ยุค คสช. มีบ่อย-เยอะ
- แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องไทยปล่อยตัวนักกิจกรรมสหภาพแรงงานกัมพูชา-ไม่ส่งกลับ
- ส่งตัว 'แซม โสกา' กลับกัมพูชา สะท้อนสถานะผู้ลี้ภัยที่อ่อนแอและความสัมพันธ์รัฐที่ชื่นมื่น
- ฝากขังแข้งบาห์เรนลี้ภัย 60 วัน ไม่ให้ประกันตัว กต. ระบุ ถูกส่งกลับต้นทางได้
เกี่ยวกับ รวต รุทมนี นั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า เขาเป็นประธานสหพันธ์แรงงานก่อสร้างของประเทศกัมพูชาา (CCTUF) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลก และต่อมาทำหน้าที่เป็นล่ามและผู้ประสานงานให้กับสื่อมวลชนต่างประเทศ โดยได้ผลิตสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ร่วมกับสำนักข่าวต่างประเทศ ต่อมามีข่าวว่าทางการกัมพูชากล่าวหาทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ รวต เข้าเมืองไทยมาเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2561 ด้วยมีหนังสือเดินทางและวีซ่าถูกต้องเป็นการเข้าเมืองถูกกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 เนื่องจากการกดดันทางการเมืองต่อนักกิจกรรมแรงงานในประเทศกัมพูชาอย่างหนัก รวต ได้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนและขณะนี้อยู่ในขึ้นตอนการพิจารณาเข้าข่ายเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่จะได้รับการคุ้มครองจากประชาคมระหว่างประเทศและจาก UNHCR
เมื่อสำนักงาน UHCHR ได้รับข้อมูลว่าผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วถูกจับกุม เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา จึงได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับ รวต ที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สวนพูล ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่านายรวต รุทมณีอยู่ในการคุ้มครองของ UNHCR ในวันที่ 12 ธ.ค. วันเดียวกับที่ รวต ถูกส่งกลับโดยทางฮอลิคอปเตอร์เจ้าหน้าที่ของสำนักงานองค์การสหประชาชาติได้ติดต่อขอเข้าพบและทราบว่า รวต ถูกส่งกลับไปแล้ว
แสดงความคิดเห็น