Posted: 30 Nov 2018 02:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-30 17:23


กาญจนพงค์ รินสินธุ์ รายงาน

วงเสวนาแนะโยนโจทย์ความเหลื่อมล้ำแก่ฝ่ายการเมือง ชี้งบประมาณต้องลงให้ถูกจุด การกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ย้ำสิทธิและความเท่าเทียมของแรงงานจำเป็นต้องมี พร้อมชี้ปมปัญหาความเหลื่อมล้ำยังอยู่ได้มีการผูกขาดทางการเมืองเศรษฐกิจ รวมทั้งขาดกลไกในการจัดแบ่งทรัพยากร

29 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัด Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต: วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” ครั้งที่ 1: การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. จักรชัย โฉมทองดี จากองค์กร Oxfam และ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำแต่ละด้าน

วิทยากรคนแรกในงาน รศ.ดร.ดวงมณี กล่าวถึงประเด็นสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ เริ่มจากในเชิงรายได้ ดวงมณี แสดงข้อมูลให้เห็นว่าเมื่อเทียบค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ระหว่างปี 2531 คือ 0.487 กับปี 2558 คือ 0.445 จะเห็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำในรอบเกือบ 30 ปีของไทยไม่เปลี่ยนไปเท่าไหร่นัก ในด้านความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของภูมิภาคต่างๆ ภาคกลางเป็นพื้นที่ซึ่งคนมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุด ในขณะที่บริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ซึ่งคนมีรายได้เฉลี่ยต่ำที่สุดและเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำสูงสุด ในขณะที่ถ้าไม่นับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคอีสานก็จะเป็นภาคที่รายได้เฉลี่ยต่ำสุด ดวงมณีได้ให้เหตุผลว่าที่แต่ละภาคมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เพราะได้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจไม่เท่ากันจากความแตกต่างด้านโครงสร้างเศรษฐกิจและทรัพยากร รวมถึงฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวในแต่ละภูมิภาค

ด้านความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินซึ่งหมายถึงบ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เมื่อดูจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคจะเห็นได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำมากกว่าในด้านรายได้ จากข้อมูลในปี 49-52 พบว่าครัวเรือน 20% ถือครองทรัพย์สินมีมูลค่ามากกว่า 50% ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด ในขณะที่ครัวเรือนอีก 80% ถือครองทรัพย์สินมีมูลค่ารวมกันน้อย 50% ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการกระจุกตัวของการถือครองทรัพย์สินอย่างชัดเจน ในแง่ทรัพย์สินสุทธิก็ไม่ต่างกัน ในปี 2561 ทรัพย์สินของคนรวย 50 ลำดับแรกของประเทศไทยรวมกันคิดเป็น 35.58% ของ GDP

ด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดวงมณีได้แสดงให้เห็นว่า ในปี 59 อัตราการเข้าเรียนในแต่ละระดับชั้นมีความแตกต่างกัน โดยการเข้าเรียนในระดับชั้นม. ปลายมีอัตราการเข้าเรียนที่น้อยกว่าระดับชั้นอื่นๆ ในแง่ของพื้นที่เองก็มีความเหลื่อมล้ำโดยจะเห็นได้จากการเข้าเรียนปริญญาตรีในกรุงเทพนั้นจะมีอัตราสูงกว่าที่อื่นๆ ในขณะที่กลุ่มซึ่งมาจากครอบครัวซึ่งมีรายจ่ายสูงก็ยิ่งมีโอกาสในการเข้าเรียนมากขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับกลุ่มรายจ่ายต่ำ ในแง่ของความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพของการศึกษา ดวงมณีกล่าวว่า ช่องว่างด้านทักษะวิทยาศาสตร์ระหว่างคนรวยกับคนจน และระหว่างคนเมืองกับคนชนบท ก็ยิ่งห่างกันมากขึ้น ในด้านการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาไปในแต่ละจังหวัด พบว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีในแง่ที่งบประมาณด้านการศึกษาไม่กระจุกแต่จังหวัดที่เศรษฐกิจดี อย่างไรก็ตาม งบประมาณการศึกษาที่มีให้จังหวัดซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับต่ำก็ยังไม่ได้มีจำนวนมากที่สุด งบประมาณส่วนใหญ่จะกระจุกที่จังหวัดซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง

ในแง่ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ยังคงมีปัญหาแพทย์กระจุกตัวในกรุงเทพ ปัญหาสัดส่วนประชากรต่อแพทย์ที่เหลื่อมล้ำกันในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพในการให้บริการ ในด้านการคุ้มครองทางสังคม ก็ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบที่ประกันสังคมไม่ครอบคลุมและรายได้เฉลี่ยต่ำ แต่สำหรับกรณีเบี้ยผู้สูงอายุและเบี้ยคนพิการก็เป็นไปในลักษณะที่ถูกทาง ส่วนด้านความเป็นธรรม แม้รายงานความเป็นธรรมโลกจะให้คะแนนไทยสูงในแง่ของความปลอดภัย แต่ไทยก็ยังมีปัญหาด้านการสอบสวนและการเลือกปฏิบัติ รวมถึงปัญหาการดำเนินกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง

สำหรับความเหลื่อมล้ำในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัญหาหลักของไทยตอนนี้คือมีการลดหย่อนภาษีจนรัฐสูญเสียรายได้ และมีระบบการเก็บภาษีที่แยกส่วนซึ่งก่อให้เกิดการเก็บภาษีที่ไม่เท่าเทียมกันแม้จะมีรายได้เท่ากัน นอกจากนี้ดวงมณียังชี้ให้เห็นว่า รายได้ที่มาจากจากทรัพย์สินหรือรายได้จากตลาดหลักทรัพย์ก็มักจะหลุดรอดจากการเก็บภาษีได้ ในแง่ของการลดหย่อน LTF เธอได้แสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริงนั้น กลุ่มคนที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนใหญ่คือกลุ่มคนที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว แสดงให้เห็นถึงการกระจุกของการลดหย่อนในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง

ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินโดยดูจากการถือครองสิทธิในที่ดินแบบโฉนด ดวงมณีกล่าวว่า คน 10% ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด ถือครองที่ดินไป 60% จากที่ดินทั้งหมด และในแง่ขนาดการถือครองนั้น 50% ของผู้ถือครอง ถือครองไม่เกินหนึ่งไร่ 22% ถือครอง 1-5 ไร่ และอีก28% ถือครองมากกว่า 5 ไร่ ในด้านการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินนั้นสูงขึ้น 7%ต่อปี นอกจากนี้ยังมีปัญหาผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ของรัฐอย่างป่าสงวน เขตอุทยาน ที่ราชพัสดุ และที่สาธารณะ

แนวทางลดความเหลื่อมล้ำ

สำหรับแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำ ดวงมณี เสนอว่า จำเป็นต้องมีมาตรการด้านรายจ่ายที่มีประสิทธิภาพต่อสวัสดิการสังคม รัฐต้องรู้ว่าคนจนอยู่ไหน และมีฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อการจัดสรรงบให้ถูกจุด อาจต้องมีจัดงบให้กับโรงเรียนลักษณะพิเศษเพื่อความเท่าเทียมด้านคุณภาพการศึกษา ด้านประกันสังคมควรหาทางทำให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาควรแก้ไขจุดอ่อนเพื่อจัดการกับการเลี่ยงภาษี และขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเงินได้แบบไหนก็ควรให้เสียในอัตราเดียวกันด้วยการเก็บภาษีแบบบูรณาการ เรื่องการกระจายอำนาจก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ องค์กรส่วนถิ่นควรเพิ่มทั้งอำนาจทางการเมืองและการคลังเพื่อสะดวกในการดูแลปัญหาของท้องถิ่น รวมทั้งควรมีการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน

ย้ำพรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับอำนาจต่อรองของแรงงาน ค่าแรง และความเท่าทียม

ขณะที่ จักรชัย กล่าวถึงในประเด็นความเหลื่อมล้ำโดยอิงกับรายงานสองฉบับคือ Reward Work, Not Wealth และ The Committment to Reduce Inequality Index 2018 เขากล่าวถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำของส่วนแบ่งด้านเศรษฐกิจ นับแต่ปี 1980-2016 คนรวยที่สุด 1% จะได้ผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ 27% ส่วนกลุ่มคนที่จนที่สุดได้แค่ 12% ถ้าจะลดความยากจนด้วยอัตรานี้ ต้องอาศัยเวลา 123-209 ปี ถึงจะแก้ไขความยากจนได้ แสดงให้เห็นว่านโยบายที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ไม่สามารถแก้ไขความยากจนได้ เพราะโลกไม่มีทรัพยากรพอ ข้อมูลล่าสุดเสนอว่า 82% ของความมั่งคั่งเข้าสู่คนเพียง 1% ในขณะที่คนครึ่งโลกไม่มีอะไรใหม่

หนึ่งในสามของความมั่งคั่งมาจากการได้รับมรดก อีกหนึ่งในสามของความมั่งคั่งมาจากธุรกิจแบบผูกขาด แสดงให้เห็นว่าสองในสามของความมั่งคั่งไม่ได้มาจากงานหนัก แบบสอบถามจาก oxfam คนส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า พวกเขาไม่เชื่อว่าการทำงานหนักจะเปลี่ยนแปลงฐานะได้ เพียงแค่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้วันๆ การเพิ่มขึ้นของผลผลิตจากแรงงานไม่ได้ส่งผลมากมายอะไรนักต่อค่าจ้างที่แรงงานจะได้รับ

ปัญหาแรงงานหญิงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชาย และปัญหาค่าจ้างของผู้บริหารสูงกว่าค่าจ้างของลูกจ้างทั่วไปหลายร้อยเท่า ด้านส่วนแบ่งของความมั่งคั่งของคนที่รวยที่สุด 1% ก็มีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้น เหตุการณ์นี้คือการลดลงของอำนาจการต่อรองของคนชั้นล่าง และการเพิ่มขึ้นของการควบคุมทางเศรษฐกิจ

ในคำถามที่ว่า แต่ละประเทศมีแนวทางลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร รายงานที่จักรชัยอ้างอิงได้แบ่งแนวทางเป็นด้านมาตรการรายจ่ายเพื่อสวัสดิการ โดยประเทศไทยติดอันดับ 74 จาก 157 ประเทศ เรื่องของรายจ่ายภาคการศึกษาและสาธารณสุขดึงไทยขึ้นไปที่อันดับ 56 ของโลก ในขณะที่เรื่องของการเก็บภาษีอยู่ที่ 82 และสิ่งที่ดึงให้อันดับไทยตกที่สุดคือ อันดับ 112 ในด้านสิทธิและการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งถ้าไทยอยากก้าวหน้าต่อไปในด้านการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ไม่ควรมองข้ามตัวเลขนี้

ในด้านส่วนแบ่งรายได้ของผู้ผลิตอาหาร จักรชัยกล่าวว่า เงิน 100 บาทเข้าสู่ซุปเปอร์มาเก็ต ไปที่เกษตรกร 13% อยู่ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต 30% และสำหรับผู้คนที่ผลิตอาหารในไทย พวกเขาเองก็ยังไม่มีความมั่นคงทางอาหารเลยด้วยซ้ำ จักรชัยกล่าวว่า ในแง่ของการเก็บภาษีต่างๆ นั้นเราพูดกันมาเยอะแล้ว ปัญหาต่อมาที่เขาจะชวนคุยคือ รัฐจะเอาภาษีเหล่านั้นไปใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร สำหรับเขา สิ่งที่อยากจะสื่อสารไปถึงพรรคการเมืองคือ ส่วนที่ประเทศไทยทำได้ดีอยู่แล้วคือด้านการศึกษาและสาธารณสุข พรรคการเมืองควรมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าเชื่อว่าการประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้คนไม่ใส่ใจสุขภาพแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ด้านการศึกษาก็ดีเพียงแต่ปัญหาคือคุณภาพการศึกษา การเรียนการสอนยังขาดทักษะที่เหมาะกับปัจจุบันซึ่งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำยังคงดำเนินต่อไป

ในเรื่องของแรงงาน พรรคการเมืองไทยต้องให้ความสำคัญกับอำนาจต่อรองของแรงงาน ค่าแรง และความเท่าทียมของค่าจ้างระหว่างหญิงชาย และนอกจากคนที่ถือบัตรประชาชนไทย ยังต้องให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งตอนนี้อยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงมากเพราะจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการยอมรับจากนานชาติ

“ความมั่งคั่งและความเหลื่อมล้ำจะต้องเป็นเรื่องที่สังคมพูดได้เป็นปกติ” จักรชัย กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า รัฐบาลก็สามารถผลักดันมาตรการการดูแลสิทธิมนุษยชนของลูกจ้างในระบบด้วย UN Guiding Principle on Business and Human Right ซึ่งมีหลายบริษัททำแล้ว ค่าความกระโดดระหว่างผลตอบแทนของผู้บริหารกับผลตอบแทนของคนในองค์กรไม่ควรต่างกันเกิน 20 เท่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าคน 80% จะมีอำนาจต่อรองหรือมีกลไกในการคุยกันได้รึเปล่า ซึ่งจักรชัยเสนอต่อว่า ระบบทางการเมืองและพื้นที่ทางสังคมจะต้องเปิดกว้างและคุ้มครองการพูดคุยถกเถียงกันมากขึ้น จักรชัยได้ยกคำกล่าวของผู้พิพากษาศาลสูงคนหนึ่งของสหรัฐว่า “ประเทศสามารถเป็นประชาธิปไตย หรือสามารถเป็นประเทศที่ความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอย่างสุดขั้ว แต่เราไม่สามารถเป็นสองอย่างในเวลาเดียวกัน”
4 ปมทำให้ความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่ได้

รศ.ดร.นวลน้อย ตั้งคำถามว่าอะไรทำให้ความเหลื่อมล้ายังดำรงอยู่ได้ เรื่องสำคัญที่เธอกล่าวถึงคือความเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากในด้านอำนาจทางการเมือง อำนาจทางการเมืองสัมพันธ์กับการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งจะเห็นตัวอย่างในช่วงประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ทำให้ทรัพยากรถูกนำไปพัฒนาพื้นที่ต่างๆ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนอย่างการเกิดเมือง แต่เมื่อมีรัฐประหาร ทรัพยากรก็เริ่มถูกแจกแจงตัดสินใจจากส่วนกลางอีก ซึ่งนี่คือปมที่หนึ่ง

ปมต่อมาคือการที่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจและการผูกขาดเศรษฐกิจไทยไม่เปลี่ยนไปเลย เมื่อเราไม่ได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยที่มีการผูกขาด เราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ และการผูกขาดก็เป็นรูปแบบที่มหาเศรษฐีพึ่งพิงรัฐ

ปมที่สามคือ ปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับคนที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรในการสร้างรายได้ ปัญหาที่ตามมาอีกคือการเข้าถึงทรัพยากรของคนกลุ่มนี้ถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการรายใหญ่

ปมที่สี่คือ ในขณะที่มีการสืบทอดมรดกกัน ด้านพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยก็มีการส่งต่อฐานะรายได้น้อยไปสู่ลูกได้เช่นกัน “พ่อแม่จน ลูกก็กลายเป็นคนจนตามไปด้วย” เพราะไม่มีกลไกที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่ของฐานะ ซึ่งกลไกดังกล่าวคือการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งจะเป็นกลไกให้คนที่ไม่ว่าจะมาจากพ่อแม่จนขนาดไหนก็สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ดี มีสุขภาพที่ดี จัดการชีวิตตัวเองได้

งบประมาณด้านการศึกษาของไทยเมื่อเทียบ GDP ถือว่าไม่น้อย “เราโตในเชิงปริมาณ แต่ไม่โตในเชิงคุณภาพเลย” คุณภาพด้านการศึกษายังกระจุกตัวอยู่ในเมือง แต่ในชนบทยังไม่มีโอกาสที่จะทำให้คนทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดี ซึ่งปัญหาที่ซ้ำร้ายคือ โลกกำลังพัฒนา โลกกำลังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในขณะที่ไทยยังแก้ปัญหาการศึกษาไม่ตก ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาการตกงาน สถานศึกษาจะปรับตัวให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานได้อย่างไรก็ถือเป็นโจทย์หนัก
การแพทย์-การพนัน

ในส่วนเรื่องของการแพทย์ นวลน้อย เสนอว่า เรามาถูกทางแล้ว คำถามต่อมาคือเรื่องการคุ้มครอง จะดูแลเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาจนกว่าเขาจะเข้าโรงเรียนอย่างไร 600 บาทพอไหม? ในหลายประเทศ เมื่อครอบครัวมีลูก ผู้หญิงจะอยู่บ้านเลี้ยงลูก แต่ในไทยทั้งหญิงชายเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งคู่ ปัญหาคือใครจะเลี้ยงลูก การดูแลเด็กเล็กจำเป็นต้องคิดทั้งระบบเพื่อที่จะให้เด็กคนนั้นซึ่งไม่ว่าจะมาจากฐานะอะไรมีโอกาสเปลี่ยนชีวิต

สำหรับประเด็นการพนันนั้น นวลน้อย กล่าวว่า คนไทยไม่ได้คิดจะเปลี่ยนฐานะด้วยตัวเองแต่พึ่งสลากกินแบ่งรัฐบาล มูลค่าที่ได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าคนไม่ได้มีความหวังในตลาดแรงงานว่าจะเปลี่ยนชีวิต ในขณะที่สลากกินแบ่งกลับถูกมองว่าเปลี่ยนชีวิตได้ ซึ่งนวลน้อยได้ถามว่า “เราจะอยู่กันแบบนี้เหรอ”

การแก้ปัญหาคนจนจะต้องระบุให้ได้เลยว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เพราะการจดทะเบียนเป็นครั้งๆ ก็ไม่ได้ทำให้คนที่จนจริงๆ เข้าสู่ระบบ การแก้ปัญหาจริงๆ คือการที่หาทางว่าจะให้คนจนมีอาชีพที่มั่นคงอย่างไร จะพัฒนาศักยภาพของพวกเขาอย่างไร

การกระจายอำนาจ ลดผูกขาดทางเศรษฐกิจ ที่ดินและปฏิรูประบบภาษี

ในประเด็นที่ว่าด้วยทางออก อำนาจทางการเมืองถือเป็นประเด็นที่สำคัญ โดย นวลน้อย ถามไปยังบรรดานักการเมืองว่าจะจัดการเรื่องการกระจายอำนาจกันอย่างไร เพราะรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้สนใจในประเด็นนี้เลย การรวมศูนย์ไว้ที่รัฐนั้นเมื่อมีความเสียหาย จะเป็นความเสียหายที่มีขนาดใหญ่ ในขณะที่การกระจายอำนาจจะการันตีว่าทรัพยากรจะไปถึงประชาชนได้ ถ้าอยากแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ต้องยืนหยัดในการกระจายอำนาจ

เรื่องการผูกขาดทางเศรษฐกิจยังคงต้องช่วยกันหาวิธีแก้กันต่อไป ในหลายสังคม เศรษฐกิจถูกผูกขาดโดยนวัตกรรม อย่างน้อยเมื่อเวลาผ่านไปก็ยังต้องแข่งขันกันใหม่ แต่การผูกขาดในไทยเกิดจากกฎเกณฑ์ของรัฐซึ่งไม่สร้างอะไรเลย นอกจากทรัพย์สินที่ไหลไปสู่การผูกขาด

เรื่องที่ดินเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้เยอะ เพราะภายใต้บริบทที่สังคมถูกรุมด้วยนวัตกรรมใหม่ คนที่ยังต้องพึ่งพิงทรัพยากรที่ดีจะอยู่ยังไง เพราะส่วนใหญ่ก็อายุเยอะแล้ว ถ้าเขาเข้าไม่ถึงจะเกิดวิกฤติ ถ้าคนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม อะไรก็เกิดขึ้นได้ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรรายย่อยมีความมั่นคง มีที่ดินทำกิน ซึ่งการจัดสรรที่ดินก็ควรคำนึงถึงคุณภาพของที่ดินอีกเช่นกันว่าเพาะปลูกได้จริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็จะนำไปสู่การขายที่ดินทิ้งอีก ตัวเลขดัชนีการพัฒนามนุษย์เผยให้เห็นว่าไทยมีปัญหาด้านการศึกษา ในขณะที่ด้านสาธารณสุขนั้นดีอยู่แล้ว

สำหรับการปฏิรูประบบภาษีนั้น นวลน้อย ชี้ว่า ต้องดูทั้งหมด แม้จะมีรูปแบบการเก็บภาษีหลายรูปแบบ แต่ก็มีช่องโหว่มากมายให้เลี่ยงการเสียภาษี ก็เลยกลายเป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมาปรับปรุงกันใหม่ให้ฐานภาษีมันกว้างขึ้น เพราะยังมีกลุ่มคนมั่งคั่งอีกหลายรายที่อาจไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดซึ่งยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการเก็บภาษี ซึ่งปัญหานี้ก็เป็นอีกประเด็นที่นวลน้อยฝากไว้แก่ฝ่ายพรรคการเมือง

ดร.ธร ปีติดล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรุปโจทย์สำคัญจากทางวิทยากรให้ฝ่ายพรรคการเมืองว่า ในเรื่องสวัสดิการ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มีไม่มี แต่ปัญหาคือมันยังมีความเหลื่อมล้ำในตัวมันอยู่ ทำอย่างไรให้คุณภาพเท่ากัน ทำอย่างไรให้ครอบคลุม ในแง่ของภาษีก็ต้องดูว่ามันจำทำอะไรได้ ส่วนการกระจายอำนาจก็ควรมองว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้รวมจัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ร่วมกับทางคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




สำหรับ กาญจนพงค์ รินสินธุ์ ผู้รายงานเสวนา ปัจจุบันฝึกงานกับประชาไท เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากหลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.