Posted: 30 Nov 2018 05:53 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-30 20:53
เครือข่ายกลุ่มหลากหลายทางเพศอภิปรายร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต เปิดร่างฯฉบับอัมพวาโมเดลครบถ้วนกว่าตั้งแต่คำนิยาม ชี้ ร่างฯนี้กีดกันกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ระบุต้องบรรจุสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมและการรับบุตรบุญธรรม นักกฎหมายกล่าว ร่างฯนี้ทำให้ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองคนที่รักได้ ด้านฝั่งผู้ร่าง พ.ร.บ. กล่าว ถ้าศึกษาแล้วไม่มีผลกระทบกับเด็กก็ให้สิทธิรับบุตรบุญธรรมได้
30 พ.ย. 2561 วานนี้ (29 พ.ย.) เนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายกลุ่มหลากหลายทางเพศ ประเทศไทย (LGBTI and Non-binary) ร่วมจัดงานรำลึก 10 ปี วันหลากหลายทางเพศขึ้น โดยใช้หัวข้อในการจัดงานว่า “สิทธิและความเสมอภาคในการก่อตั้งครอบครัวที่หลากหลาย” โดยมีกิจกรรมทั้งเวทีอภิปราย เพื่อสิทธิและความเสมอภาคในการก่อตั้งครอบครัวที่หลากหลาย ช่วงเช้า เปิดเวทีเพื่อนำเสนอให้สังคมเห็นทั้ง ทางเลือกในการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กำลังเสนอผ่านกรมคุ้มครองสิทธิ โดยมี นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้แทนของกรมสิทธิและเสรีภาพ กิตตินันท์ ธรมธัช สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ร่วมเสวนา
กิตตินันท์ ธรมธัช: พ.ร.บ. คู่ชีวิต ต้องบรรจุสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมและการรับบุตรบุญธรรม
กิตตินันท์ ธรมธัช สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับอัมพวาโมเดล มีทั้งหมด 98 มาตรา ซึ่งเป็นร่างแรกของกรมคุ้มครองสิทธิ แต่ถูกตัดออกไปเหลือ 70 มาตราในร่าง พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เจนีวา ซึ่งข้อตกลงหนึ่งในนั้นคือไทยตกลงว่าจะไปทบทวนเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องการสมรส แต่ในที่สุดเราพบว่าเราไม่ต้องการเพียงทบทวนเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เราอยากได้กฎหมายเกี่ยวกับคู่ชีวิตที่เท่ากับหรือดีกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บกพร่องอยู่ด้วย
กิตตินันท์ระบุว่า เรื่องหลักๆ ที่มองว่าต้องมีใน พ.ร.บ. คู่ชีวิต คือ 1.) สิทธิในการได้รับสวัสดิการทั้งภาครัฐและเอกชนที่มอบให้กับคู่สมรส 2.) สิทธิเรื่องการรับบุตรบุญธรรม โดยกิตตินันท์กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือทำไมจะต้องแยกกฎหมายออกจากกันระหว่างรักต่างเพศและรักเพศเดียวกัน
“ข่าวดีตอนนี้คือการเซ็นแทนเพื่อรักษาพยาบาลที่จัดการไม่ได้ตอนแรก เขาบรรจุเขาไปแล้ว สองคือการจัดการงานศพ สามเป็นผู้แทนคดีอาญา แต่สวัสดิการสังคม สิทธิประกันสังคม สวัสดิการทั้งภาครัฐและเอกชนยังไม่ได้อยู่ดี
“สิ่งสำคัญคือความครบถ้วน เราต้องทำต่อไปให้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นแก่คนทุกเพศ เพศเป็นแค่สิ่งสมมติ มันต้องเกิดขึ้นกับคนทุกคน” กิตตินันท์กล่าว
นาดา ไชยจิตต์: พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ครบถ้วนกว่าตั้งแต่คำนิยามในฉบับอัมพวาโมเดล
นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ได้รู้ข่าวเรื่องที่ชายชาวอเมริกันและชายชาวสเปนซึ่งเป็นคู่รักกันได้มาจ้างหญิงไทยให้อุ้มบุญให้ แล้วเกิดการฟ้องคดี ที่สุดท้ายแล้วชายทั้งสองคนชนะคดี และได้พาลูกสาวคือ ‘น้องคาร์เมน’ กลับบ้านที่สเปน ซึ่งคำพิพากษาของศาลก็ชี้ว่าการเป็นคนรักเพศเดียวกันนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงดูเด็ก สิ่งนี้เป็นกำลังใจให้ตนขับเคลื่อนต่อ
นาดาเล่าถึงการเข้ามาทำอัมพวาโมเดล ซึ่งเป็นการสื่อสารให้รัฐเข้าใจว่าการก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยสาระสำคัญแล้วคือเรื่องการประกันและการรับรองสิทธิ โดย ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต นั้นถอดแบบมาจากอัมพาวาโมเดล แต่ตัดเอาหลักการสำคัญออกไปพอสมควร เช่น
1.) หลักการและคำนิยาม เป้าหมายคือสร้างความเข้าใจกับภาครัฐและสังคมว่าสิทธิของการก่อตั้งครอบครัวไม่ได้ยึดโยงอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหว่างขาของคุณ ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศ ซึ่งเป็ฯการพยายามจะอุดช่องว่างที่กฎหมายไม่เคยบัญญัติไว้ 2.) ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต การเซ็นยินยอมในการรับการรักษาแทนคู่รัก 3.) การจดทะเบียนคู่ชีวิตความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตและบุตรบุญธรรม 4.) ทรัพย์สินของคู่ชีวิต 5.) ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต 6.) การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต 7.) มรดก 8.) การจดทะเบียนคู่ชีวิตที่มีองค์ประกอบต่างด้าว มี LGBT ไทยที่มีคู่ชีวิตเป็นคนต่างชาติ ปัญหาเกิดขึ้นคือถ้าเราจะจดทะเบียนโดยใช้ พ.ร.บ. นี้ ยังเป็นไปไม่ได้
“เรายืนยันว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิตนี้ต้องนำเอาอัมพวาโมเดลมาใช้ซึ่งร่างโดยที่พวกเรามีส่วนร่วม” นาดากล่าว
นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์: ความเห็นฝั่งผู้ร่าง ถ้าศึกษาแล้วไม่มีผลกระทบกับเด็กก็ให้สิทธิรับบุตรบุญธรรมได้
นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่าตอนนี้ขั้นตอนของร่าง พ.ร.บ. นี้ยังอยู่แค่ในขั้นแรก คือการศึกษาและยกร่างฯ
ตอนเรามาคิดให้เหลือ 70 มาตรา ใช้ร่างอัมพวาเกือบหมด แต่ตัดรับบุตรกับสิทธิสวัสดิการสังคม เพราะต้องยอมรับว่า ณ ตอนนี้ ยังมีสองฟากคือกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มก้าวหน้า แต่อีกไม่นานน่าจะไปได้ครอบคลุม แต่ในการพัฒนากฎหมายยังมีอีกหลายขั้นตอน ต้องเชิญผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาช่วยดูช่วยรื้อ มีทั้งขั้นกฤษฎีกา และสนช. ซึ่งจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทบทวน ท้ายสุดแล้วกฎหมายที่ประกาศแล้วก็ยังต้องทบทวนทุก 5 ปี
การรับบุตรบุญธรรมต้องศึกษาผลกระทบ ถ้ามีผลการศึกษาพบว่าเด็กไม่มีผลกระทบก็น่าจะเป็นไปได้ กระทั่งที่อังกฤษต้องใช้เวลาถึง 20 ปี กว่าจะออกมาเป็นคู่สมรสไม่แบ่งเพศ ภาครัฐเองขณะนี้ก็จะพยายามทำให้ได้สิทธินี้และรับฟังความคิดเห็นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ในลำดับต่อมาเป็นเวทีเสวนาเรื่องแนวทางที่ต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ โดยมี ธงรบ รอดสวัสดิ์ นักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศ มัจฉา พรอินทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ และณฐกมล ศิวะศิลป์ ทนายความและที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ร่วมเสวนา
ธงรบ รอดสวัสดิ์: พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่กีดกันกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และ Civil Partnership ทางเลือกสำหรับคนไม่อยากแต่งงาน
ธงรบ รอดสวัสดิ์ นักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศเกริ่นด้วยคำถามว่า การแต่งงานคืออะไร คนส่วนมากนึกภาพหญิงชายรักสองคนรักกัน อยู่ด้วยกัน แต่ความจริงการแต่งงานมีรูปแบบหลากหลายมาก ยากที่จะหานิยาม บางวัฒนธรรมห้ามอยูด้วยกัน บางวัฒนธรรมก็แต่งกันหลายคน บางวัฒนธรรมก็เพศเดียวกันอยู่ด้วยกัน การที่เราแต่งงานเพื่อความรักนั้นเพิ่งมีไม่กี่ร้อยปี เป็นอะไรที่ใหม่มาก
ยกตัวอย่างที่จีน ไม่ต้องรักกันก็แต่งงานกันได้ จีนไม่ใช้คำว่า “รัก” สำหรับคู่สมรสจนกระทั่งช่วงปี 1920 นอกจากนี้จีนยังมีการแต่งงานกับวิญญาณได้ นั้นคือลูกสาวคนไหนไม่อยากแต่งงานกับผู้ชาย สามารถเลือกจะแต่งงานกับวิญญาณของผู้ชายได้ และยังเป็นตัวของตัวเองได้อยู่ แต่การหาวิญญาณที่จะแต่งงานด้วยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ดังนั้นไม่มีการแต่งงานโดยธรรมชาติ การแต่งงานเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ยุคนี้ก็มีความหลากหลายทางเพศ ไทยก็มีความพยายามจะออก พ.ร.บ. คู่ชีวิตเพื่อปรับแก้ไขให้การแต่งงานในไทยเข้ากับบริบทสภาพสังคมปัจจุบันมากขึ้น แต่ทั้งนี้คู่ชีวิต ไม่เท่ากับ คู่สมรส แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ นึกว่าคือแบบเดียวกัน
การจดทะเบียนระหว่างคู่ไม่ได้มีแค่การสมรส ยังมี Domestic Partnership คนสองคนอยากใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ไม่อยากแต่งงาน ประเภทนี้ก็จะได้ผลประโยชน์ด้านสุขภาพจากนายจ้างบางราย หรือ Civil Partnership เกือบเท่าแต่งงาน แต่ขาดการได้รับสิทธิคุ้มครองที่เป็นไปอย่างอัตโนมัติตามกฎหมายแต่งงาน เช่น ไม่ได้มีการบังคับว่าถ้าคู่เราพิการเราต้องดูแล แต่ถ้ามาดู พ.ร.บ. คู่ชีวิต กำหนดให้คู่ชีวิตต้องเป็นผู้ดูแล แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ให้สิทธิเราตัดสินใจว่าคู่ชีวิตเราจะเข้ารับการรักษาได้หรือไม่ ซึ่งก็สร้างความสับสน เพราะบางอย่างก็ดูแน่นแฟ้น แต่บางอย่างก็ไม่ได้ใกล้ชิดเลย
พ.ร.บ. คู่ชีวิตกีดกันใครออกไปบ้าง ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นิยามว่าการสมรสต้องเป็นชายและหญิงเท่านั้น ในมาตรา 1448 แต่ขณะที่ พ.ร.บ. คู่ชีวิต บอกว่าคู่ชีวิตคือบุคคลสองคนที่เป็นเพศเดียวกัน ในมาตรา 3 ปัญหาจึงเกิดกับ
1.) คนข้ามเพศที่รักเพศเดียวกัน เช่น หญิงที่แปลงเพศเป็นชายแล้วไปรักกับเพศชาย ไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตได้ เนื่องจากเพศกำเนิดยังเป็นผู้หญิงอยู่ ถ้าจะจดทะเบียนจึงต้องไปใช้การสมรสแทน สิ่งที่ตามมาคือเขาจะถูกตีตราและถูกปฏิบัติแบบเพศหญิง ซึ่งไม่ใช่เพศของเขา ดังนั้นต้องเลือกระหว่าง จดทะเบียนได้แต่เป็น misgender (ถูกปฏิบัติแบบผิดเพศ) หรือไม่จดทะเบียนซึ่งก็จะไม่ได้รับสิทธิต่างๆ
2.) นอนไบนารี่ คนที่มีสำนึกทางเพศไม่ใช่แค่ชายและหญิง กลุ่มนี้ไม่ว่าจะใช้กฎหมายอะไร เขาก็ต้องทนกับการถูก misgender
3.) intersex คนที่เกิดมามีเพศกำกวมแพทย์มักผ่าตัดให้เป็นเพศใดเพศหนึ่งตั้งแต่เด็กโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม ปัจจุบันก็มีการจัดกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นเพศ intersex แต่กลายเป็นว่าคนกลุ่มนี้แต่งงานกับใครไม่ได้เลย เพราะกฎหมายคู่ชีวิตก็บอกว่าต้องเป็นคนเพศเดียวกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็บอกว่าต้องต่างเพศ
มีตัวอย่างการจดทะเบียนในฝรั่งเศส คือ PACS (Pacte civil de solidarité) ซึ่งคนกว่า 95% ที่จดเป็นคู่รักต่างเพศ การจด PACS เป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยบุคคลสองคนเพื่อใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนสมรส หย่าได้ง่ายกว่า และเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวก็แบ่งชัดเจน มีคนหลายกลุ่มที่อยากจด PACS เช่นคนที่อยากทดลองอยู่ด้วยกันก่อน คนที่ไม่ได้มีมีความรักแต่อยากอยู่ด้วยกัน หรือคนที่ไม่เชื่อเรื่องการแต่งงาน เป็นเครื่องมือที่ไม่ว่าคู่รักต่างเพศหรือเพศเดียวกันก็ใช้ได้ แต่หากเราให้ พ.ร.บ. คู่ชีวิตนี้ออกไป คู่รักต่างเพศก็อาจถูกลิดรอนสิทธิที่จะใช้การจดทะเบียนแบบนี้ได้เช่นกัน เช่นผู้หญิงที่อยู่ในความสัมพันธ์แล้วเจอความรุนแรง ถ้าอยู่ใน PACS ก็จะหย่าได้ง่ายกว่าการจดทะเบียนสมรส
“ดังนั้นจะมี พ.ร.บ. คู่ชีวิตหรือไม่มีเราก็ควรกลับมาแก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายไม่ควรพูดถึงแค่ชายหญิง แต่ต้องพูดถึงทุกคน เราไม่ได้สู้เพื่อ same sex marriage แต่สุ้เพื่อ Marriage equality” ธงรบกล่าว
มัจฉา พรอินทร์: การเคลื่อนไหวเรื่องการแต่งงานเท่าเทียม
มัจฉา พรอินทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศกล่าวว่า หลักการสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องนำมาใช้ในการออกกฎหมาย นอกจากสิทธิของ LGBTIQ แล้วยังมีสิทธิเด็กหรือคนที่จะมาเป็นลูกของ LGBTIQ และต้องมีส่วนร่วมจากคนหลากหลายไม่ใช่แค่เพียงคนของรัฐบาล แต่ต้องมีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปร่วมในการร่างกฎหมายด้วย
มัจฉาเล่าถึงขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลก เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการประชุม LGBT โลกที่ประเทศไทย ไม่มีการพูดถึงเรื่องครอบครัวเลย หลังจากนั้นจึงมีการการก่อตั้งเครือข่ายครอบครัวเท่าเทียม ซึ่งเป็นเครือข่ายจากทั่วโลก และตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเคลื่อนไหวครอบครัวเท่าเทียม เพื่อที่จะต่อสู้กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่พยายามให้คำนิยามครอบครัวแบบดั้งเดิม
โดยภาพรวมการเคลื่อนไหวเรื่องการแต่งงานเท่าเทียมทั่วเอเชีย ไต้หวันเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อให้มีกฎหมาย Civil Partnership ของ LGBT แต่ที่ปรากฎเป็นข่าวว่าไม่เอากฎหมายนี้เพราะหากออกมาเป็นกฎหมายแยกเฉพาะ LGBT ก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมอยู่ดี หรืออย่างญี่ปุ่นก็กำลังขับเคลื่อนเพื่อให้มีการแต่งงานเท่าเทียม
“สำหรับปัญหาทางกฎหมายตอนนี้ ถ้าพูดในฐานะที่เราเป็นแม่ 1.) ทันทีที่เราตาย ทรัพย์สมบัติจะไม่โอนไปสู่คู่ชีวิตเราโดยอัตโนมัติ 2.) เรื่องลูก ถ้าเราตาย ลูกอาจถูกพรากไปจากแม่อีกคนหนึ่ง เพราะถือว่าไม่ใช่ครอบครัว หรือกรณีทรานเจนเดอร์ไปรับเลี้ยงบุตรไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครอง 3.) เกิดคนรักหรือลูกเราอุบัติเหตุแแล้วเราเซ็นยินยอมให้มีการรักษาไม่ได้ 4.) เรื่องสวัสดิการสังคมที่จัดเตรียมให้สำหรับคนทั่วไป เช่น การทำประกันชีวิต เมื่อเราไม่ใช่ครอบครัวโดยกฎหมาย เราก็ไม่สามารถซื้อประกันชีวิตในแพ็คเกจครอบครัวซึ่งถูกกว่า เราต้องซื้อแพ็คเกจที่แพงกว่า
“สรุป เราเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการรวม LGBT ไปกับสังคม ต้องไม่แยก เราจะอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี เราไม่ได้สู้เพื่อแบ่งแยกกฎหมาย เราสู้เพื่อให้ทุกคนยืนอยู่บนฐานสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียม” มัจฉากล่าว
ณัฐกมล ศิวะศิลป์: พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทำให้เราไม่สามารถปกป้องคุ้มครองคนที่เรารักได้
ณฐกมล ศิวะศิลป์ ทนายความและที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศกล่าวว่า บุคคลจะต้องยืนอยู่เสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมาย บุคคลเหล่านั้นควรถูกคุ้มครอง บุคคลที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดคือบุคคลที่ไม่มีอำนาจในการจัดการความรู้ ไม่มีอำนาจจากการต่อรอง ไม่มีอำนาจจากการรู้จักใช้ กฎหมายควรให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงและใช้ได้โดยง่าย
ณฐกมล กล่าวต่อว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของการจัดตั้งครอบครัวและสิ่งที่เกาะเกี่ยวกับครอบครัวในกฎหมายไทยกระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ การใช้คำว่าอนุโลมสามารถใช้ได้บางส่วน แต่ส่วนที่จำเป็นและสำคัญต่อชีวิตและการปกป้องบางสิ่งบางอย่างอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายพิเศษตรงที่ไม่สามารถใช้การเทียบเคียงได้ ไม่สามารถใช้การอนุโลมให้ใช้ได้ ต้องบัญญัติสิทธิไว้อย่างชัดเจน เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 4 วรรค 2 สามีมีสิทธิฟ้องความแทนภรรยาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากภรรยา แต่ในทางกลับกันภรรยาไม่สามารถฟ้องคดีความแทนสามีได้ ไม่สามารถเทียบเคียงระหว่างสามี ภรรยา คำว่า “คู่ชีวิต” ก็เช่นกัน ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีนี้
“พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ออกมา ให้ข่าวว่าเป็นกฎหมายแต่งงานของ LGBT โดยหลีกเลี่ยงที่จะพูดว่าเป็นกฎหมายอะไรกันแน่ระหว่างกฎหมายสมรส หรือกฎหมาย Civil Partnership ที่เป็นกฎหมายที่มีระดับต่ำกว่ากฎหมายสมรส แม้โดยตัวเนื้อหาเราทราบกันอยู่แล้วว่าสิทธิระหว่างคู่ไปไม่ถึงการสมรส ขาดสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น สิทธิในการจัดการงานศพคู่ชีวิต สิทธิการรับบุตรบุญธรรม หรือกรณีสิทธิค่ารับอุปการะของบุตรบุญธรรมเมื่อผู้ปกครองเสียชีวิต เท่ากับว่ากฎหมายนี้ทำให้คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถปกป้องคุ้มครองคนที่รักได้เท่ากับกฎหมายแต่งงานของคู่รักต่างเพศ” ณฐกมลกล่าว
แสดงความคิดเห็น