โฆษกรัฐบาล-โฆษกตำรวจประสานเสียง ไม่รู้เรื่องเสนอดักฟังโทรศัพท์
สื่อในประเทศและต่างประเทศรายงานข่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอคณะรัฐมนตรีขอแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 105 เพื่อให้สามารถดักฟังโทรศัพท์ผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีอาญาได้ ด้านโฆษกตำรวจและโฆษกรัฐบาลระบุยังไม่ทราบเรื่อง
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานวันนี้อ้างแหล่งข่าวจาก สตช.ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา สตช.ได้เสนอขอแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 105 เพื่อให้สามารถดักฟังโทรศัพท์จากผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาได้โดยไม่ต้องขออำนาจศาลเพื่อให้การรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีอาญามีความหนาแน่นและรวดเร็ว โดยคดีที่เห็นว่าควรจะดักฟังได้คือคดีก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ คดีความมั่นคง และคดีอาชญากรรมที่มีความซับซ้อนมีอายุความตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษก สตช.ว่าคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการที่จะให้ดักฟังโทรศัพท์ในคดีอาชญากรรมได้ แต่ยังต้องมีขั้นตอนดำเนินการอีกหลายขั้นตอนกว่าจะมีการอนุมัติแก้ไขกฎหมาย โดยยืนยันว่าการดักฟังโทรศัพท์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน รอยเตอร์ยังรายงานอ้างแหล่งข่าวอาวุโสจาก สตช.ว่าคดีที่เข้าข่ายคืออาชญากรรม คดีความมั่นคง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอาชญากรรมข้ามชาติ
อย่างไรก็ดี บีบีซีไทยได้สอบถามไปยัง พล.ต.อ.เดชณรงค์ และได้รับแจ้งว่าไม่ทราบรายละเอียดใด ๆ ในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลที่ระบุเช่นกันว่าไม่ทราบและไม่เห็นวาระดังกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยกล่าวเพียงว่าเรื่องดังกล่าวอาจจะอยู่ในวาระพิเศษ ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในวาระทั่วไป แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้เช่นกัน
ด้านนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรท์วอชท์แห่งประเทศไทย บอกกับรอยเตอร์ว่าเป็นแนวคิดที่ย่ำแย่ ขณะที่ทางการเองมีการตั้งข้อหาคดีความมั่นคงตามอำเภอใจและอย่างไม่เหมาะสมอยู่แล้ว นายสุนัยเห็นว่าต้องหาทางป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจในการเฝ้าระวังไปในทางที่ไม่ถูกต้อง
แสดงความคิดเห็น