Atukkit Sawangsuk

40 ปี 6 ตุลา ไม่ได้พูดเรียกร้องความสนใจ แต่มันบังเอิญที่ 40 ปีผ่านไป ถึงจุดที่ทั้งโลกและประเทศไทยใกล้เปลี่ยนแปลง ว่าถึงภายในก่อน หลัง 6 ตุลาหลังรัฐประหารซ้อนล้มรัฐบาลหอย ก็สถาปนา "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" เป็นแม่แบบของประชาธิปไตยแบบไทยๆ มาเกือบ 40 ปี จนมาถึงทางตันในวันนี้ คือไม่สามารถกลับไปสู่รัฐบาลเลือกตั้งแบบที่ชนชั้นนำแทรกแซงได้ ต้องถอยหลังไปเริ่มต้นใหม่ "เปรมโมเดล" รัฐธรรมนูญ 2521 วุฒิสภาแต่งตั้งทั้งหมด ร่วมเลือกนายกฯ แต่มันก็ไม่ใช่ระบอบที่จะวัฒนาสถาพร เป็นแค่ภาวะชั่วคราว "ติดกับ" แบบยังไม่รู้จะไปทางไหน ต้องใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จไปพลางๆ โดยที่ยังไม่รู้ว่าพลางๆ นี่จะจบลงแบบไหนอีกเหมือนกัน

ในกระแสโลก 6 ตุลา 2519 คือวันโค่นแก๊งสี่คน ยุติการปฏิวัติวัฒนธรรม ปูทางให้เติ้งเสี่ยวผิงนำจีนกระโดดสู่ทุนนิยม เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมนิยมล่มสลาย ไม่กี่ปีต่อมา กำแพงเบอร์ลินก็พังทลาย สหภาพโซเวียตแตก แต่เหมือนยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ ในขณะที่โลกตะวันตกพัฒนาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน พวกต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก็พัฒนาไปเป็นรัฐศาสนา รัฐชาตินิยม ก่อการร้าย ไม่ได้บอกว่าทุนนิยมดีเลิศ เพราะระบอบทุนนิยมโลกก็เริ่มจะป่วย วนอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากคนชั้นกลางชั้นล่าง จนเกิดปรากฏการณ์เช่น Brexit ปรากฏการณ์ทรัมพ์ (เพราะคนเหลืออดกับระบบจนหันไปเลือกคนสุดโต่งอย่างทรัมพ์) หรือปรากฏการณ์แซนเดอร์ส (แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยที่น่าจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในช่วงต่อไป)

เสียดายตอนเขียนลืมพูดถึงจีน เดี๋ยวสลิ่มจะคิดว่าทุนนิยมโลกป่วยคืออเมริกาพังพินาศ จีนเป็นมหาอำนาจ ไม่ใช่ครับ จีนก็อยู่ในทุนนิยมโลก เผลอๆ จีนนี่ละอ่วมกว่าเพื่อน เผด็จการพรรคเดียวอยู่ได้ด้วยการขายฝันให้รวยๆๆๆๆ เศรษฐกิจตกเมื่อไหร่ ลำบากเมื่อนั้น เพราะไม่มีอุดมการณ์ไม่มีสรรนิพนธ์ให้ชูแล้วนี่


000000

พูดอย่างนี้ไม่ใช่เรียกร้องความสนใจในฐานะคน 6 ตุลา แต่เมื่อเร็วๆ นี้เองไม่ใช่หรือที่สังคมไทยเพิ่งพูดถึง “เปรมโมเดล” เพิ่งลงประชามติรัฐธรรมนูญที่มีวุฒิสภาแต่งตั้ง ย้อนหลังไปคล้ายรัฐธรรมนูญ 2521 แสดงว่าเรากำลังเวียนไปย้อนยุคหลัง 6 ตุลาอีกครั้ง แม้ปัจจัยบางอย่างต่างกัน

14 ตุลา 2516 ทำให้เกิดประชาธิปไตยช่วงสั้นๆ เกิดพลังนักศึกษาประชาชน ที่ชนชั้นนำหวาดวิตก จึงปลุกความเกลียดชัง “ขวาพิฆาตซ้าย” เข่นฆ่า ตามมาด้วยรัฐประหารและ “รัฐบาลหอย” แต่พอเห็นขวาสุดโต่งจะพาพัง พล.อ.เกรียงศักดิ์จึงทำรัฐประหารซ้อน ก่อนเปลี่ยนเป็น “เปรมโมเดล” ประชาธิปไตยครึ่งใบ ออกนโยบาย 66/23 ยุติสงครามกลางเมือง แล้วนำประเทศก้าวกระโดดใหญ่ “โชติช่วงชัชวาล”

10 ปีมานี้ เราก็เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง ปี 49 ว่า “เสียของ” ปลุกความเกลียดชัง เลือกข้างแบ่งสีมาเกือบทศวรรษ เกิดม็อบเหลืองแดงสลับข้างล้มรัฐบาล เกิดเหตุนองเลือดปี 53 เกิดม็อบปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้งปี 56-57 กระทั่งเกิดรัฐประหาร “คืนความสุข”

หลังประชามติผ่านเมื่อ 7 สิงหา ก็มีบางคนเชื่อว่า นี่เปรียบเหมือนยุคป๋าชนะ “สงครามกลางเมือง” นับจากนี้ “ประยุทธ์โมเดล” ก็จะนำประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

แต่มันง่ายปานนั้นไหม ถ้ามองปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนไป อันที่จริงถ้ามองมุมกลับ ทำไมประเทศนี้ต้องหมุนกลับไป 40 ปี เหมือนกลับไปตั้งต้นใหม่ กลับไปติดกับดัก ทั้งที่ควรพ้นมาแล้ว

มองให้ดีๆ นี่คือสัญญาณว่าระบอบ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่เคยสร้างสมดุลในยุคป๋าเปรม เมื่อใช้มา 30 กว่าปีก็เกิดความขัดแย้งถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ เพียงแต่สังคมไทยยังไม่รู้จะไปทางไหน เพราะขั้วอำนาจและคนส่วนหนึ่งขัดขวาง ไม่ยอมไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ ก็เลยต้องอยู่กับ “ลุงตู่” ชั่วคราว

แต่เป็นภาวะชั่วคราวที่ติดกับ อับจน มองไม่เห็นอนาคต ไม่ได้มีความหวังว่าจะดีขึ้น ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แค่พออยู่ได้ไปวันๆ

ในกระแสโลก 6 ตุลา 2519 ก็เป็นวันสำคัญที่ไม่ค่อยมีใครตระหนัก นั่นคือวันที่จีนโค่น “แก๊งสี่คน” ยุติการปฏิวัติวัฒนธรรม ปูทางให้เติ้งเสี่ยวผิงกลับขึ้นมีอำนาจ ประกาศนโยบายแมวสีไหนก็จับหนูได้ แล้วนำจีนกระโดดใส่ “ทุนนิยม” จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในวันนี้

พูดอีกอย่าง นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “อุดมการณ์สังคมนิยมล่มสลาย” ทั้งที่เวียดนาม เขมร ลาว เพิ่งรบชนะ แล้วไม่กี่ปีต่อมา สหภาพโซเวียตก็ล่มสลายสิ้นสุดยุคสงครามเย็น

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ยังสมาทานสังคมนิยม แต่เราจะเห็นว่า 30 กว่าปีมานี้หลังสังคมนิยมล่มสลาย กระแสต้านทุนนิยมก็ยิ่งสับสนเปะปะ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ การต่อต้านยิ่งรุนแรง ด้วยการปลุกชาตินิยม ปลุกความเชื่อเรื่องศีลธรรม ศาสนา มาสร้างรัฐเผด็จการรูปแบบใหม่ หรือมุ่งทำลายด้วยวิธีก่อการร้าย

ขณะเดียวกัน โลกทุนนิยมตะวันตกแม้พัฒนาเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แต่ก็เกิดวิกฤติกลืนกินตนเองซ้ำซ้อน จนวันนี้ก็ยังหาทางออกไม่ได้ มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจการเมืองโลกจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งจากปรากฏการณ์ Brexit ความไม่พอใจ Establishment ของคนอเมริกันที่แหกโผนิยมทรัมป์ หรือกระแสฮือฮา เบอร์นี แซนเดอร์ส์ ผู้เสนอสังคมนิยมประชาธิปไตย

มันอาจคดเคี้ยวและใช้เวลา แต่เราใกล้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งโลกใบนี้และประเทศไทย


Source : FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/48403

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.