เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กับความทรงจำของคนไทย
วันพฤหัสบดีนี้จะถึงวันครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อประท้วงการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกประชาชนต่อต้านและกดดันให้ออกนอกประเทศไป 3 ปี ก่อนหน้านั้น
หลังเกิดเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516
กลางดึกคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 นักศึกษาราว 3,000-4,000 คน ที่ชุมนุมประท้วงอย่างสงบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อม และใช้อาวุธทั้งระเบิดและอาวุธปืนยิงโจมตีเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยอย่างหนักหน่วง จนในที่สุดตำรวจสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จในช่วงสายของวันรุ่งขึ้น นักศึกษาที่รอดชีวิตถูกบังคับให้ถอดเสื้อและนอนคว่ำหน้าบนพื้นสนามกลางมหาวิทยาลัย บ้างก็ถูกทำร้ายร่างกายเป็นระยะในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว
แม้เหตุการณ์ 6 ตุลา จะผ่านมาถึงสี่ทศวรรษ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ นักวิชาการ และนักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นตรงกันว่าคนในสังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้เกี่ยวกับเรื่องนี้
ภาพชายที่ถูกแขวนคอบนต้นมะขามที่ท้องสนามหลวง ฝีมือการถ่ายภาพของอดีตช่างภาพสำนักข่าวเอพี ที่คว้ารางวัลพูลิตเซอร์ ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก ส่วนในเมืองไทยความทรงจำเกี่ยวกับบุคคลนี้ยังคงพร่ามัว
นับจนถึงวันนี้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ตัวเลขทางการระบุว่ามี 46 คน เห็นว่าพวกเขายังไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่ได้รับคือการบอกกล่าวให้พวกเขา “ลืม” สิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น #6ตุลา2519
แสดงความคิดเห็น