อ.หยินทำวิจัยเรื่องคนเดือนตุลาอย่างน่าสนใจ (แม้แต่ผม) บางจุด เป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน บางตอน อาจแย้งนิดๆ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่มีการทำวิจัยให้ฉุกคิดกัน ผมดีใจที่มีคนรุ่นหลังทำเรื่องนี้ อยากให้ทำเยอะๆ ด้วยซ้ำ
“คุณจะเห็นว่ามีงานฉลองเขตงานมากมาย งานจัดคอนเสิร์ตซีรีส์เยอะแยะไปหมด แต่ทุกงานเป็นงานวัฒนธรรม คนพูดถึง พคท. ราวกับเป็นชนเผ่ากลุ่มหนึ่งที่มีการเดินขบวนริ้วธง ร้องเพลงปฏิวัติ ราวกับว่ามันเป็นเพลงป๊อป แต่ไม่มีใครพูดถึงว่าปัญหาอะไรที่ทำให้ พคท. หายไปแล้ว ไม่มีการดีเบตเรื่องนี้ งานรำลึกเขตงานมีทุกปีทุกเขต แต่มันกลายเป็นซูเปอร์คาร์แรลลี่ ถ้าคุณไปเขตงาน คุณจะพบกับรถหรูเกือบทุกยี่ห้อ ไปเขตน่าน กว่าจะไปถึงต้องเอาโซ่พันล้อ นั่งไปแล้วทุกคนสนุกมาก เอาครอบครัวไปปิกนิก กลับไปแจกทุนการศึกษาในเขตงาน แล้วก็มีกิจกรรมตอนกลางคืน กินเหล้า เล่าเรื่องในอดีต มันเป็นการ romanticize ประวัติศาสตร์ความเป็นซ้ายโดยไม่พูดถึงปัญหาทางการเมืองของ พคท. คนพวกนี้เขาก็ repeat message แต่ถามว่า ทำไมเขาถึงต้องทำแบบนี้ สำหรับเรา นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขากลับมาประสบความสำเร็จ”
ข้อความตอนนี้สะใจมากนะครับ คล้ายกับที่ผมเขียนไป คือการรำลึกอดีตเฉพาะช่วงแสนหวาน เพียงแต่ผมเห็นแย้งตอนท้ายว่ามันไม่ใช่ปัจจัยให้กลับมาประสบความสำเร็จ (อาจเป็นสำหรับบางคน) แต่ในส่วนลึก ผมกลับรู้สึกว่าคนเดือนตุลาออกจากป่าไม่อยากจำบาดแผลอันเจ็บช้ำ ความเจ็บปวด สิ้นหวัง แตกสลาย อยากฝังความทรงจำไว้แค่ช่วงเวลาการเข้าร่วมขบวนปฏิวัติ อุดมการณ์ความใฝ่ฝันอันงดงาม เป็นความทรงจำที่จะจำไปชั่วชีวิต เหนือความทรงจำอื่น (แม้แต่ช่วงชีวิตที่ขับซูเปอร์คาร์ ก็ไม่ได้มีคุณค่าประทับใจเท่าชีวิตในป่า) เหมือนที่ผมบอกว่า ไม่ว่าวันนี้เป็นใคร ก่อนตายก็ยังอยากฟังเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาอีกสักครั้ง
แสดงความคิดเห็น