โคเรียนแอร์สายการบินแห่งชาติของเกาหลีใต้เปิดเผยกับบีบีซีว่า สายการบินเคยใช้ปืนช็อตไฟฟ้าจัดการผู้โดยสารที่ก่อเหตุวุ่นวายระหว่างที่เครื่องบินอยู่กลางอากาศแล้ว 5 รายด้วยกัน
สายการบินโคเรียนแอร์ บอกกับบีบีซีว่า ได้เริ่มนำปืนช็อตไฟฟ้ามาใช้บนเครื่องบินครั้งแรกในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ.2545) ปัจจุบันเครื่องบินโดยสารทุกลำของสายการบินจะมีอาวุธชนิดนี้ไว้บนเครื่องอย่างน้อย 1 ชุด โดยที่เครื่องบิน A380 จัมโบ้เจ็ทจะมีปืนช็อตไฟฟ้าประจำเครื่องจำนวน 2 ชุด

โฆษกโคเรียนแอร์ เผยว่า นับแต่สายการบินเริ่มใช้นโยบายนี้ มีการใช้ปืนช็อตไฟฟ้าเพื่อระงับเหตุผู้โดยสารก่อความวุ่นวายขณะที่เครื่องบินอยู่กลางอากาศแล้ว 5 ราย โดยปืนจะทำให้ผู้โดยสารที่ก่อเหตุมีอาการอัมพาตชั่วคราว อย่างไรก็ตามสายการบินไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการใช้อาวุธชนิดนี้ หรือเกิดอะไรขึ้นกับผู้โดยสาร แต่ระบุเพียงว่า ระเบียบข้อบังคับในปัจจุบันกำหนดให้ลูกเรือสามารถใช้ปืนช็อตไฟฟ้าได้เฉพาะในสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามชีวิตและความปลอดภัยของเครื่องบิน

เชื่อกันว่าโคเรียนแอร์เป็นสายการบินรายใหญ่เพียงรายเดียวที่มีปืนช็อตไฟฟ้าไว้บนเครื่องบินเป็นประจำ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาสายการบินได้เร่งฝึกอบรมพนักงานบนเครื่องให้ทราบวิธีการใช้อาวุธชนิดนี้อย่างถูกต้อง หลังจากถูกวิจารณ์เรื่องการระงับเหตุวุ่นวายบนเครื่องบินได้ไม่เหมาะสม จากกรณีที่เมื่อไม่นานมานี้นักร้องชื่อดัง ริชาร์ด มาร์กซ์ สวมบทพลเมืองดีช่วยควบคุมตัวผู้โดยสารก่อเหตุวุ่นวายบนเครื่องบินโคเรียนแอร์ โดยที่ภรรยาของเขาโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ลูกเรือว่าไม่รู้วิธีการที่ถูกต้องในการใช้ปืนช็อตไฟฟ้า และใช้เชือกมัดผู้โดยสารในช่วงที่เกิดเหตุ

ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า การนำปืนช็อตไฟฟ้ามาใช้บนเครื่องบินโดยสารอาจสร้างความแปลกใจให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย เพราะอาวุธชนิดนี้มักใช้กันในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

โดยในสหราชอาณาจักรมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากปืนช็อตไฟฟ้าแล้วอย่างน้อย 17 รายนับตั้งแต่ตำรวจเริ่มนำอาวุธนี้มาใช้ในปี 2003 แม้อาจไม่ใช่อาวุธที่เหมาะสมสำหรับใช้บนเครื่องบิน แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการใช้ปืนช็อตไฟฟ้าไม่ส่งผลเสียต่อความปลอดภัยของการบิน

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ระบุว่า ปัญหาผู้โดยสารมีพฤติกรรมก่อกวนระหว่างการบินกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปี 2015 ที่ปัญหานี้พุ่งสูงขึ้นถึง 17% ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้โดยสารก่อเหตุทะเลาะวิวาท มีปากเสียง หรือไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งด้านความปลอดภัยของลูกเรือ นอกจากนี้อีก 11% เป็นกรณีที่ผู้โดยสารแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หรือสร้างความเสียหายให้แก่เครื่องบิน

การศึกษาของไออาตา พบว่า 1 ใน 4 ของสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาจากการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด โดยเมื่อปี 2016 มีเหตุผู้โดยสารก่อความวุ่นวายบนเครื่องบิน 10,854 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากในปี 2014 ที่มี 9,316 ครั้ง

เหตุวุ่นวายเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าปัจจุบันยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยรักษาความสงบเรียบร้อยบนเครื่องบินหรือไม่ ซึ่งไออาตาบอกว่า หลายสายการบินได้ระดมตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบินโดยสารเพิ่มขึ้นนับแต่เกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 อย่างไรก็ตามประเทศที่มีตำรวจเหล่านี้มักไม่เปิดเผยข้อมูลว่าจัดตำรวจไว้บนเที่ยวบินใดบ้างด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

source :- read:http://www.bbc.com/thai/international-38675931?ocid=socialflow_facebook

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.