เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม: รัฐ ทุน ประชาชน ผลประโยชน์ใคร?

Posted: 24 Jan 2017 01:23 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ที่มาภาพ : thansettakij.com

การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทย ทำให้รัฐบาลทหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ในจังหวัดต่าง ๆ ตามแนวชายแดน

หนึ่งในจังหวัดที่ถูกวางไว้เป็นพื้นที่รองรับนโยบายดังกล่าว ได้แก่ จังหวัดนครพนม โดยรัฐบาลมีแผนงานดำเนินการที่จะเวนคืนและเคลียร์ที่ดินเพื่อเตรียมรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ซึ่งหน่วยงานของรัฐ ได้มีการคัดเลือกพื้นที่รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม พื้นที่หลัก จำนวน 6 แปลง และพื้นที่สำรองอีก จำนวน 2 แปลง ได้แก่

1. ที่สาธารณประโยชน์ "โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม" ที่ตั้งบริเวณสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม - คำม่วน) เนื้อที่ 2,938ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา

2. ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านนาหัวบ่อ ตั้งอยู่ที่บ้านนาหัวบ่อ หมู่ที่ 7 ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม เนื้อที่ 388 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) ประมาณ 1.5 กิโลเมตร

3. ที่ราชพัสดุ “สนามบินนครพนม” ตั้งอยู่ที่ตำบลนาทราย อำเภอเมืองนครพนม เนื้อที่ 7,956 ไร่ 3 งาน 4.8 ตารางวา (กรมการบินพลเรือนขอใช้เป็นสนามบินนครพนมจานวน 2,529 ไร่กองทัพอากาศใช้ประโยชน์ 5,427 ไร่ 2 งาน 4.8 ตารางวา) อยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 (สกลนคร – นครพนม) จังหวัดนครพนมจะขอใช้ดำเนินงานตามโครงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในส่วนที่กองทัพอากาศใช้ประโยชน์คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 4,500 ไร่

4. ที่สาธารณประโยชน์ “ทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์” ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว หมู่ 1 ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม เนื้อที่ 303 ไร่ 1 งาน 77 ตารางวา อยู่ห่างจากถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 2011 ประมาณ 300 เมตร และอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) ประมาณ 8 กิโลเมตร

5. ที่ราชพัสดุ “หนองญาติ” ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เนื้อที่ทั้งหมด 3,284 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา เป็นที่ดินมีพื้นว่างสามารถใช้ประโยชน์ได้ ประมาณ 200 ไร่อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม –คำม่วน) ประมาณ 10 กิโลเมตร

6. ที่สาธารณประโยชน์ “บะมนสาธารณประโยชน์” ตั้งอยู่ที่บ้านม่วง หมู่ที่ 7 ตำบลเวินพระบาทอำเภอท่าอุเทน เนื้อที่ 219 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) ประมาณ 7 กิโลเมตร

พื้นที่สำรอง 1. ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงเซกาแปลงที่ 2 ตั้งอยู่ท้องที่ตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เนื้อที่ 4,521 ไร่ ห่างจากทางหลวงอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม –คำม่วน) ประมาณ 13.5 กิโลเมตร

พื้นที่สำรอง 2. ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงเซกาแปลงที่ 2 ตั้งอยู่ท้องที่ตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เนื้อที่ 741 ไร่ ห่างจากทางหลวงอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม –คำม่วน) ประมาณ 14.5 กิโลเมตร

สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับการดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ การใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. และแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ อาทิเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 ที่ว่าด้วยการยกเว้นกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งให้ยกเลิกข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นข้อกำจัดในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 และการแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 โดยขยายเวลาการให้เช่าดินของรัฐจาก 50 ปี เป็น 99 ปี อีกทั้งยังมีการมอบสิทธิพิเศษให้แก่ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี พร้อมทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่เรื่องเงินภาษีอากร ที่จะกำหนดเพิ่มเติมภายหลัง ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ต่าง ๆ ดังกล่าว ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม นอกจะต้องเผชิญกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการออกคำสั่ง คสช. และแก้ไขกฎหมายต่างๆ แล้ว ในช่วงที่ผ่านมามีการเร่งรัดจัดเตรียมที่ดินสำหรับรองรับเป็นเขตอุตสาหกรรม ซึ่งไม่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนเริ่มดำเนินการโครงการ แต่ได้กำหนดการทำ EIA ไปพร้อม ๆ กับการดำเนินโครงการ ซึ่งถือเป็นการตัดตอนการดำเนินการที่รอบคอบเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้านรอบ ๆ พื้นที่ในอนาคต แต่ในเรื่องผลกระทบของอุตสาหกรรมยังมิเท่ากับสิ่งที่ชาวบ้านต้องเผชิญในขณะนี้ เพราะรัฐบาลได้ใช้มาตรา 44 ในการเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการให้เอกชนเช่าที่ดิน ซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับชาวบ้านที่ถูกเพิกถอนสภาพที่ดินเป็นอย่างมาก ทั้งที่ชาวบ้านบางรายอาศัยอยู่มาตั้งสมัยบรรพบุรุษ โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ และได้ไล่ให้ออกจากพื้นที่ ชาวบ้านที่ไม่ยอมออกจากพื้นที่ก็มีการสนธิกำลังจับกุม ดำเนินคดีความทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าพื้นที่ ๆ ชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่

ในส่วนของบริษัททุนไทยและต่างประเทศมีความสนใจที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมอย่างมาก ซึ่งขณะนี้มีกว่า 75 ราย ที่ให้ความสนใจติดต่อ ยื่นขอข้อมูล และแสดงความจำนง ที่สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม เพื่อเช่าที่ดินของรัฐ ในขณะที่นักลงทุนไทยหลายบริษัทกว้านหาซื้อที่ดินเองจากชาวบ้านที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม อาทินายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ที่สนใจลงทุนด้วยตนเองในกิจการประเภทเครื่องดื่ม และสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงสินค้าเกษตร ขณะที่กลุ่มซีพี มองหาที่ดินเพื่อทำกิจการสินค้าเกษตร การเกษตรแปรรูป เป็นต้นซึ่งชาวบ้านหลายคนก็ขายที่ดินให้ในราคาถูก โดยไม่ทราบว่าจะมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ

จากข้อมูลข้างต้นจึงเป็นข้อสังเกตว่าผลประโยชน์จากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เอื้อประโยชน์เป็นพิเศษให้กับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดหาที่ดินให้เช่า การแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุน การลดขั้นตอนการทำ EIA เพื่อง่ายต่อการจัดตั้งอุตสาหกรรม โดยอ้างความเป็นระเบียบในการจัดการของภาครัฐ และกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ การกระทำของภาครัฐนอกจากจะไม่ได้คำนึงถึงความเดือนร้อนของชาวบ้านบางส่วนแล้ว ยังสร้างความทุกข์ยากเพิ่มขึ้นให้กับชาวบ้านหลายครอบครัวที่เป็นผู้ยากจนให้ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือที่ทำมาหากิน กระนั้นยังไม่รวมถึงความเดือนร้อนจากผลกระทบต่าง ๆ หากมีการเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.