ความสุข การศึกษา และมหาชน
Posted: 21 Jan 2017 05:20 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 


จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, 1806-73) 

การปฏิรูปการศึกษากับความสุขของมหาชนไม่ใช่ประเด็นใหม่แต่อย่างใด จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, 1806-73) นักปรัชญา นักทฤษฎีรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการเมือง และเรียกร้องสิทธิสตรีเป็นคนแรกๆ วิเคราะห์ประเด็นนี้ มิลล์เป็นนักปรัชญาที่ได้รับการยกย่องสูงมาก มีความใกล้ชิดกับเจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham, 1748-1832) ผู้เป็นบิดาแห่งแนวคิดประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เขาได้รับการศึกษาอย่างดีตั้งแต่เด็ก ช่วงชีวิตหนึ่งต้องเผชิญภาวะจิตหดหู่ ผลงานชิ้นสำคัญคือ ว่าด้วยเสรีภาพ (On Liberty) และ ประโยชน์นิยม (Utilitarianism)
ในทางญาณวิทยา มิลล์เป็นนักประสบการณ์นิยม ซึ่งถือว่าสิ่งที่จริงต้องพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ เขาไปไกลถึงขั้นว่าแม้แต่ตรรกวิทยาและคณิตศาสตร์ก็เกิดจากการอนุมานจากประสบการณ์ ผลงานที่ชื่อระบบตรรกวิทยา (System of Logic) ของเขาก็ส่งอิทธิพลอย่างสูงในการศึกษาตรรกวิทยา แม้ว่าในช่วงหลังนักตรรกวิทยาหลายคนจะไม่เห็นด้วยก็ตาม อาทิ เฟรเกอ ฮุสเซิร์ล และนักคิดสายนีโอคานเทียน (Neo-Kantian)
มิลล์เสนอหลักประโยชน์นิยมที่ถือว่าสิ่งที่มนุษย์ปรารถนาคือสิ่งที่คนทั่วไปปรารถนากันจริงๆ ไม่ใช่ชีวิตที่ดีที่เป็นสากลและเป็นนามธรรม และความสุขบางอย่างสูงส่งกว่าความสุขบางอย่าง มิลล์ยกตัวอย่างความสุขของหมูย่อมไม่เท่ากับความสุขของคน หลักประโยชน์นิยมถือว่าความสุขจำนวนมากที่สุดสำหรับคนจำนวนมากที่สุด นอกจากนี้ มิลล์ยังเสนอหลักการแห่งเสรีภาพที่ถือว่าปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพ ไม่ควรตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนอื่นหรือสังคมอย่างเซื่องๆ หลักการสองอย่างนี้ปรากฏในแนวคิดทางการศึกษาของเขาด้วย
David E. Cooper เห็นว่า แนวคิดทางการศึกษาของมิลล์อาจจะแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านแรกเรียกว่าปรัชญาการศึกษา มิลล์เห็นว่าเด็กมีความเห็นแก่ตัว หมายถึงมีความปรารถนาต่อสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวแบบผู้ใหญ่ที่คำนึงคำนวณประโยชน์ระยะยาว การศึกษาต้องมีหน้าที่ขัดเกลาให้เด็กคำนึงถึงความสุขของส่วนรวมด้วย มิลล์เห็นว่าจะต้องใช้การศึกษาและทัศนคติซึ่งมีอิทธิพลต่อบุคลิกลักษณะของมนุษย์ เพื่อสร้างจิตใจของปัจเจกบุคคลเพื่อผสานระหว่างความสุขส่วนตัวกับสิ่งที่ดีสำหรับส่วนรวม อีกด้านหนึ่ง มิลล์ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการศึกษา หรือการปฏิรูปการศึกษา มิลล์เห็นว่ารัฐต้องจัดหาการศึกษาที่ดีให้แก่เยาวชน มิเช่นนั้นจะถือเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม (moral crime) มิลล์ไปไกลถึงขั้นเสนอว่าควรให้สิทธิทางการศึกษาแก่สตรีจนถึงระดับมหาวิทยาลัยด้วย หากพิจารณาถึงเงื่อนไขในยุคสมัยของเขา นับว่าข้อเสนอนี้ล้ำหน้าอย่างมาก
ยิ่งกว่านั้น ประเด็นที่ยังเป็นข้อพิพาทกัน และไม่อาจหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้อย่างเช่นเรื่องศาสนาก็ไม่ควรมีการสอน เพราะจะเป็นการจำกัดความคิดเห็น เขากล่าวถึงขั้นว่า “ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงของรัฐที่มีอคติเอนเอียงเกี่ยวกับข้อสรุปของพลเมืองที่มีต่อเรื่องที่ยังเป็นข้อพิพาทกันอยู่นั้น ถือว่าเป็นความชั่วร้าย” (On Liberty, p. 241.) อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของมิลล์ที่ดูจะค่อนไปทางอนุรักษนิยมก็มีอยู่ นั่นคือ เขาเสนอให้เด็กต้องเรียนภาษากรีกและละตินเพื่อพัฒนาสติปัญญา โดยสรุป มิลล์ถือว่ารัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาให้ประชาชน แต่ไม่ควรเข้ามากำกับการศึกษา เพื่อป้องกันการลำเอียงเข้าข้างทัศนะแบบใดแบบหนึ่ง
มิลล์เห็นว่าถึงที่สุดแล้วอุปสรรคสำคัญที่จะกีดกั้นไม่ให้เข้าถึงความสุขของคนทุกคนได้ก็คือระบบการศึกษาที่แย่และการจัดการสังคมที่เลว สิ่งที่น่าสังเกตคือมิลล์ไม่ได้พูดถึงหลักการมีชีวิตที่ดีสากลที่นามธรรม แต่หันมาพิจารณาความต้องการของคนจริงๆในการหาความสุข เลี่ยงความทุกข์
การจัดการศึกษาที่ดีคือการสอนให้เด็กเข้าใจความต้องการของตน และคำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวม ขณะเดียวกันก็ประกันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลด้วย แม้แต่ในเรื่องความเห็น
ย่อมไม่ใช่การชูศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือแนวคิดแบบใดแบบหนึ่งที่ยังเป็นข้อพิพาทกันอีก มาเป็นกรอบปฏิรูปการศึกษาเป็นแน่แท้


หมายเหตุ: อ่านเพิ่มเติมที่

Utilitarianism, On Liberty ed. By M. Warnock, London: Collins, 1962.

Fifty Major Thinkers on Education: From Confucius to Dewey, ed. By Joy A Palmer et al. London and New York: Routledge, 2001.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.