มิติใหม่ความมั่นคงของชาติ รัฐควบคุมได้เพียงครึ่งเดียว

บทความโดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม


วันนี้เป็นวันที่สี่ของการจากไปของคุณพ่อของผู้เขียน ซึ่งทำให้ผู้เขียนย้อนคิดไปในอดีตได้ว่า ช่วงเวลาที่ผู้เขียนเป็นเด็กผู้เขียนได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดจากคุณแม่ของผู้เขียนเท่านั้น เนื่องจากในช่วงเวลานั้นคุณพ่อของผู้เขียนต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการชายแดนด้านกัมพูชาเพื่อการรักษาเอกราชไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรุกล้ำแนวชายแดนเข้ามาได้แม้แต่น้อย ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันยาวนานตั้งแต่วัยเด็กจนโต

จนถึงวันนี้ วันที่ผู้เขียนโตขึ้นมาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อย จปร. ที่มีตำราเรียนไม่ต่างจากตำราเรียนในสมัยของคุณพ่อของผู้เขียนมากนัก ซึ่งหลักการคือการป้องกันการรุกล้ำอธิปไตยของชาติคือ การที่จะต้องปกป้องไม่ให้ข้าศึกผ่านเข้ามาจากแนวเขตชายแดนทางกายภาพเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตำราและศาสตร์ของการเรียนการสอนด้านการป้องกันประเทศและด้านความมั่นคงของชาติ ได้เปลี่ยนไปอย่างมากเหลือเกิน เพราะในอดีตการป้องกันประเทศนั้น เราเชื่อในอำนาจรัฐที่อยู่เหนือเขตแดนของประเทศโดยสมบูรณ์ แต่มาวันนี้เราทุกคนต่างมี smartphone, tablet, notebook และ smart devices อื่นๆ ซึ่งให้บริการโดยซอฟท์แวร์ในรูปแบบ platform ของบริษัทต่างประเทศเช่น iOS ของ Apple และ Android ใน smartphone หลายยี่ห้อ ที่ทางบริษัท platform เหล่านั้นสามารถเข้าถึงภายในเครื่อง smartphone ของเรา ด้วยการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องของเรากับเซิร์ฟเวอร์ (ตั้งอยู่ในต่างประเทศ) ของทางบริษัท และหากบริษัทต้องการควบคุมสั่งการเครื่องของเราก็สามารถทำได้ (หากไม่สนใจเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว) มากไปกว่านั้น บริษัทสามารถรู้ถึงแม้แต่ตำแหน่งและความเร็วในการเคลื่อนที่ของเราอีกด้วย เพื่อที่บริษัทสามารถให้บริการระบบแผนที่และการนำทาง (navigation) ได้ด้วยเทคโนโลยี location-based services


สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ใช้งานเทคโนโลยีสื่อสารเคลื่อนที่ให้ความสำคัญย่อมจะหนีไม่พ้นเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย (Privacy and Security) ที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย แต่ใครล่ะที่เป็นผู้ควบคุมดูแลความปลอดภัยเหล่านั้นได้ดีที่สุด?

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่เป็นประเด็นระดับโลก เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่าง Apple กับ FBI โดยที่ FBI ต้องการเข้าถึงข้อมูลใน iPhone ของผู้ก่อการร้ายรายหนึ่งเพื่อนำมาประกอบสำนวนคดี แต่ iPhone เครื่องนั้นมีการล็อครหัส ซึ่งทาง FBI ร้องขอให้ Apple ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคที่เหมาะสมในการปลดล็อครหัสให้แก่ FBI แต่เนื่องจากเมื่อใส่รหัสผิดบ่อยครั้ง เครื่องจะใช้งานไม่ได้ชั่วขณะ แต่หากใส่รหัสผิดบ่อยครั้งมากๆ ข้อมูลทั้งเครื่องจะถูกลบทิ้งและจะไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ทาง Apple ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ ทั้งๆที่สามารถให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคดังกล่าวได้ด้วยการใช้ซอฟท์แวร์ที่เป็นเสมือน master key ที่สามารถทำการเปิดเครื่องที่ล็อคได้ โดย CEO ของ Apple กล่าวว่า หาก FBI สามารถเข้าถึง iPhone เครื่องนี้ได้ก็จะทำให้บริษัทขาดความน่าเชื่อถือจากผู้ใช้งาน iPhone ทั่วโลก เป็นผลให้ทางการสหรัฐฯ ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและต้องใช้อำนาจศาลบังคับ Apple นั่นเอง

เจ้าหน้าที่ FBI ได้ให้ข้อมูลว่า การเข้ารหัสของ iPhone ทำให้เกิดความยุ่งยากในการแก้ปัญหาและไม่สามารถหยุดการโจมตีของผู้ก่อการร้ายได้ หากทางการสหรัฐฯ สามารถจัดการการเข้าถึงข้อมูลบน iPhone ได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาการก่อการร้ายได้แน่นอน ส่วนบรรดาบริษัทด้าน IT ที่อยู่ข้างฝ่าย Apple กลับบอกว่า การเข้ารหัสถือเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้จากแฮคเกอร์ และทางด้าน Apple กล่าวว่าจะยังคงสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายในการตรวจสอบผู้ก่อการร้ายและได้ทำมาโดยตลอด และยังคงเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์จากภัยคุกคามและการโจมตี


ด้าน FBI มีความต้องการให้ Apple สร้าง backdoor บน iOS หรือระบบปลดล็อคบนเครื่อง iPhone ของผู้ก่อการร้าย แต่ Apple ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ผิดและสร้างความเสียหายให้แก่ลูกค้าและบริษัทได้ สุดท้ายรัฐบาลก็ล้มเลิกการบังคับให้ Apple สร้าง backdoor และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่าสามารถปลอดล็อค iPhone เครื่องดังกล่าวได้แล้ว โดยความช่วยเหลือจากบุคคลที่สาม จึงทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบรักษาความปลอดภัยของ Apple ซึ่งต่อมา Apple ก็ต้องการทราบวิธีที่ FBI ใช้ในการปลดล็อค iPhone เพื่อทำการอุดช่องโหว่นี้ อย่างไรก็ตาม Apple ยังคงยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของ Apple ยังมีความปลอดภัยทั้งในส่วนซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์

นอกจากนี้ Apple เอง ก็ได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของตัวเองว่า สิ่งที่ FBI ต้องการจริงๆ นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ backdoor ในการปลดล็อคเครื่องเท่านั้น แต่เป็น iOS ในเวอร์ชั่นที่สามารถ recovery iPhone ได้ทุกเครื่อง เพื่อเข้าถึงข้อมูลภายในได้อย่างง่ายดาย ซึ่งในทางเทคนิคแล้ว Apple สามารถทำได้ไม่ยาก และหากทำขึ้นมาจะมีปัญหาที่ใหญ่มากตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งหากบริษัท Apple ยอมทำตามคำสั้งของ FBI ซึ่งสวนทางกับปรัชญาของบริษัทโดยสิ้นเชิงที่ต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

ในเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในกรณีนี้ หากรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถบังคับให้ Apple ทำตามการร้องขอดังกล่าวได้ ก็จะเป็นผลให้รัฐบาลประเทศอื่นๆ ก็สามารถร้องขอให้ Apple ทำในสิ่งนี้ได้เช่นกัน และหากวิธีการดัดแปลงซอฟท์แวร์ดังกล่าวหลุดรอดไปยังภายนอก ก็อาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดก็เป็นได้ และแน่นอนว่า Apple จะไม่ได้รับการเชื่อถือและผู้ใช้จะไม่มีความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบน iPhone อีกต่อไป

แน่นอน platform ด้านเทคโนโลยีที่ทุกประเทศกำลังใช้อยู่ไม่ใช่มีแต่ iOS ของ iPhone เท่านั้น แต่ยังมี Android, Google, Facebook, Line, Alibaba และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเราไม่ได้ถูกท้าทายความมั่นคงทางทหาร, การก่อความไม่สงบและการเมืองเท่านั้น แต่เรายังถูกท้าทายในด้านเศรษฐกิจ เช่น การยกสินค้าและบริการของเราไปขายอยู่บน platform ของบริษัทต่างชาติระดับโลกอีกด้วย

กรณีศึกษาข้อพิพาทระหว่าง Apple กับ FBI ในครั้งนี้ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อธิปไตยและเขตแดนของประเทศทุกประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว แม้แต่สหรัฐฯ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีเองยังจำต้องยอมรับสภาพว่า มิติความมั่นคงของชาติได้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง ซึ่ง “รัฐควบคุมได้เพียงครึ่งเดียว” และในปัจจุบันในเวทีระดับโลกได้มีการพูดคุยกันว่า หากประเทศใดยังคิดวิธีการตอบโต้ภัยคุกคามในทุกมิติ โดยใช้ความรู้และวิธีการที่เคยใช้ในปี 2000 มาใช้ในการป้องกันและพัฒนาประเทศในปี 2017 แล้วละก็ ประเทศนั้นอาจจะพบกับความสูญเสียอันร้ายแรงกว่าที่คิดโดยไม่รู้ตัว

Reference
[1] https://www.wired.com/2016/02/apples-fbi-battle-is-complicated-heres-whats-really-going-on/
[2] http://www.cnbc.com/2016/03/29/apple-vs-fbi-all-you-need-to-know.html
—————-
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
20 มกราคม 2560
www.เศรษฐพงค์.com
(เขียนที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ระหว่างรอสวดในงานศพพ่อ)
—————–
หากท่านสนใจความรู้ด้านดิจิทัล
เข้าร่วมกับเราและทักเข้ามาที่
LINE id : @march4g

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.