พิธีการเข้าเบิก: กรณีสมโภช 1188 ปี เมืองแพร่ว่าด้วยการกลับมาของประเพณีเก่าในหน้าที่แบบใหม่

Posted: 28 Apr 2017 12:53 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

"สวดเบิกล้านนา" นับเป็นมนต์เมืองเหนืออย่างหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าการเทศธรรมคำเมืองนี้ ใช้บทสวดธรรมพิธีปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ตามความเชื่อของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ[1] ประเพณี[2]การเข้าเบิกเป็นประเพณีที่เก่าแก่ ปัจจุบันทำกันน้อยมากและมักไม่ได้ทำทุกปี โดยประเพณีนี้ทำเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น โรคระบาด แต่ถ้าเกิดเหตุร้ายไปแล้วจะไม่ทำพิธีนี้ การทำพิธีคนในหมู่บ้านจะร่วมกันกำหนดวันและสถานที่ ต้องนิมนต์พระสงฆ์ไว้ล่วงหน้าหลายวัน เพื่อพระสงฆ์จะได้ฝึกซ้อมการสวดเบิก[3] ซึ่งคำสวดแต่เก่าเดิมนั้นสืบทอดกันมาแบบมุขปาฐะ[4] จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน ทั้งนี้การสวดเบิกได้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในปัจจุบันการสวดเบิกไม่ได้เกิดขึ้นบนการต่อรองระหว่าง สงฆ์กับชาวบ้าน แต่ขยับขึ้นไปเป็นการต่อรองระหว่างส่วนกลางกับคณะสงฆ์ จะเห็นได้จากการปรากฏการสวดเบิกในพิธีสมโภชใหญ่ต่างๆ และถือได้ว่าเป็นการรับอิทธิพลจากพุทธศาสนาสายมหายาน[5] โดยบทสวดจะกล่าวถึงพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในบทสวด คือเรื่อง “พระพุทธเจ้าชนะมาร”

การเข้าเบิกในอดีตนั้น จะกระทำกันบริเวณทางแยกเข้าหมู่บ้าน โดยพิธีจะเริ่มในตอนหัวค่ำ ชาวบ้านจะนำน้ำส้มป่อย ขมิ้น ดอกไม้ธูปเทียน ทราย มาร่วมพิธี เมื่อถึงเวลาที่สงฆ์มายังบริเวณพิธีโดยไม่จำกัดว่ากี่รูป ชาวบ้านนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันในที่จัดไว้บูชาพระรัตนตรัย รับศีล สวดเบิก เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำทรายและน้ำส้มป่อย ขมิ้นที่นำมาร่วมในพิธีซัดสาดให้ทั่วหมู่บ้าน เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและให้เกิด ศิริมงคลแก่บ้านตน[6] สิ่งที่น่าสังเกตคือการสวดเบิกในแต่ละจังหวัดของล้านนานั้น จะกระทำในวาระโอกาสที่ต่างกัน อาทิ แพร่ทำในช่วงหลังปีใหม่เมือง แต่ไม่ใช่ว่าจะกระทำเป็นกิจทุกปี ลำปางทำในช่วงยี่เป็ง แพร่จัดพิธีสวดเบิก 4 มุมเมือง เพื่อสืบชะตาเมือง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา[7] และในปีถัดมาเมืองแพร่ก็สมโภชใหญ่ 1188 ปี[8] ซึ่งก็เสมือนหนึ่งว่าได้ทำการต่อชะตา สะเดาะเคราะห์เมืองเตรียมย่างเข้าสู่ศักราชใหม่ ในลำปางที่บ้านไหล่หิน อ.เกาะคา ก็มีการ “สวดเบิก” ซึ่งเป็นการสวดทำนองของพระสงฆ์ที่ใช้สวดในการสมโภชพระพุทธรูปและเป็นการสวดเบิกในประเพณียี่เป็ง[9] ซึ่งมักจะสวดจนถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว และเมื่อพิธีการสวดเบิกจบในวารสุดท้ายชาวบ้านที่มานั่งฟัง จะแย่งกันดึงด้ายสายสิญจน์ที่ผูกโยงกับอาสนะสวดเบิกกลับบ้าน เพื่อนำไปผูกข้อมือให้แก่ลูกหลานที่อยู่ทางบ้าน หรือนำไปผูกรถหรือนำติดตัวไปในที่ต่าง ๆ[10]

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเวลาในช่วงจัดกระทำพิธีนั้นอาจจะต่างกัน แต่ขนบและจุดประสงค์ก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือการสวด เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลและปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เสมือนหนึ่งว่าเป็นการเบิกเนตรพระเจ้า[11] ซึมซับพระธรรม และได้แจ้งแก่โลกด้วยสายตาเช่นเดียวกับ “ผะเจ้า” ที่เห็นความเป็นไปของโลก ซึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การผูกโยงตัวตนของชาวบ้านเข้ากับพระพุทธศาสนา บนการต่อรองทางความเชื่อ การต่อรองระหว่างชาวบ้านกับสงฆ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งพิธีอันเป็นสิริมงคลนั้นนับเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะนั่นคือพลังของชุมชนชาวบ้าน ที่กระทำสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าระยะเวลาช่วงของการจัดกระทำพิธี จะไม่ได้เหมือนกันเสียทุกที่ในล้านนา นั่นก็ด้วยจุดประสงค์เพื่อการได้มาซึ่งความเป็นสิริมงคล จึงอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับเวลาที่ตายตัว แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้กระทำการศึกษา หรือตั้งข้อสังเกตคือข้อต่อรองทางชุมชนนี้ได้แปรเปลี่ยนไปอย่างมาก วิถีทางของการต่อรองนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับชุมชนอีกต่อไป จึงเป็นที่มาของคำถามวิจัยที่ว่า “การต่อรองระหว่างสงฆ์และชาวบ้าน ภายใต้พิธีการสวดเบิกได้แปรเปลี่ยนไปอย่างไร และอะไรเป็นตัวกระทำที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น” โดยผู้เขียนจะแบ่งประเด็นศึกษาออกเป็น 3 แนวทางคือศึกษาประวัติของการสวดเบิกในบริบททางประวัติศาสตร์ ที่ได้มีการบันทึกไว้ในตำราและคำบอกเล่า วิเคราะห์ให้เห็นถึงข้อต่อรองทางสังคมระหว่างชุมชนและสงฆ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน วิเคราะห์ให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของพลังการต่อรอง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของชาวบ้านกับสงฆ์ และแปรไปเป็นส่วนหนึ่งของพลังการต่อรองแทน


ภาคที่ 1 “ความเชื่อ”

ล้านนาและพุทธศาสนานั้น ต่างมีสายใยที่ผูกพันกันมาอย่างยาวนาน ความเชื่อและความศรัทธานั้นต่างหยั่งรากลงไปถึงในระดับตัวบุคคล หากกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสามารถเข้าไปจัดกระทำต่อการรับรู้ หรือสำนึกของตัวบุคคล อาทิ ความเชื่อเรื่องชุธาตุ[12] พระธาตุประจำปีเกิด ที่ทุกปีหรือในชั่วชีวิตหนึ่งควรต้องไปไหว้สักครั้งในชีวิต หรือแม้กระทั่งการกำหนดกฎข้อห้ามต่างๆขึ้น ภายใต้การกระทำที่เป็นปกติทั่วไป เช่น ห้ามดมดอกไม้ที่จะนำไปบูชาพระ เพราะเชื่อว่าจะทำให้จมูกเน่า[13] การห้ามนี้คงเกิดจากเหตุผลที่กลัวดอกไม้จะช้ำ หรือกลัวเกิดอันตรายจากแมลงที่อาจอยู่ในดอกไม้ ถ้ามองอย่างผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องปกติโดยทั่วไป หากแต่เรื่องปกติที่มีอยู่ให้เห็นกันอย่างหลากหลายนี้ กลับตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ โดยจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป ซึ่งแน่นอนว่าความสัมพันธ์ที่ปรากฏให้เห็น ณ ขณะนี้คือ การที่บุคคลหนึ่งๆเลือกที่จะเข้าถึงความเชื่อบางอย่าง และความเชื่อดังกล่าวสามารถส่งผลต่อการกระทำของตัวบุคคลนั้นๆได้

แม้นว่าพุทธศาสนาจะหยั่งรากในสังคมล้านนา นับตั้งแต่สมัยที่วัฒนธรรมทวารวดี ได้ขยายตัวจากเมืองละโว้มาสู่ดินแดนใหม่ แอ่งที่ราบเชียงใหม่ตั้ง“หริภุญไชย”ขึ้น[14] เมื่อนั้นพุทธศาสนาก็ได้ถือกำเนิดและหยั่งรากลงบนแผ่นดิน ที่ภายหลังได้กลายมาเป็นแผ่นดินล้านนาแล้วก็ตาม แต่ทว่าพุทธศาสนาที่ได้ถือกำเนิดบนแผ่นดินล้านนานั้น หาได้เป็นดั่งพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระศาสดาได้วางรูปแบบไว้ไม่ หากแต่เป็นการผสมปนเอาระหว่างของเก่า(ความเชื่อเดิม) และของใหม่(พุทธศาสนา) เข้าไว้ด้วยกัน และปรับเปลี่ยนให้คล้อยตามแต่ละยุคสมัย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกและปฏิเสธนั้นเอง[15] ซึ่งความเชื่อเดิมที่ว่านั้นผู้เขียนได้สรุปรวบ และแยกย่อยไว้อย่างกระชับ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ อันประกอบไปด้วย

1 ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ แต่มีอิทธิพลน้อยกว่าศาสนาพุทธ เช่นเรื่องพระอินทร์และเทวดาต่างๆ เชื่อเรื่องเจ้าที่ เป็นต้น

2 ความเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจ เชื่อในผีของบรรพบุรุษซึ่งเรียกว่า “ผีปู่ย่า” เชื่อในผีประจำหมู่บ้าน ผีประจำเมือง ผีประจำสถานที่ต่างๆ และผีที่แฝงในร่างคน เช่น ผีโพง ผีสือ ผีกะ เป็นต้น

3 ความเชื่อในเรื่องโชคลาง ฤกษ์ ลาง คือสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า เช่น ข้าวที่นึ่งมีสีคล้ายสีเลือดเป็นลางบอกเหตุร้าย ต้องเอาข้าวนั้นไปตักบาตรและต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เป็นต้น[16]

หากมองในมุมของความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา มักเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด แนวความเชื่อในเรื่องศาสนานี้มักมีความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ปะปนเข้ามาด้วย[17] เช่น เชื่อว่ามีสวรรค์เป็นที่อยู่ของเทวดา นรกเป็นที่อยู่ของเปรต เป็นต้น ดังนั้นพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบูชาเท้าทั้งสี่ สวดเบิก ตั้งกัณฑ์สลาก สืบชะตาคน ฯลฯ ล้วนแต่จัดกระทำขึ้นบนการผสมสานระหว่างพุทธและผี บ้างกระทำเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว บ้างก็กระทำเพื่อให้ผู้ที่ยังอยู่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งล้วนแต่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้ที่เชื่อและศรัทธาทั้งสิ้น แม้นว่าการกระทำนั้น จะไม่ได้มีผลโดยตรงต่อชีวิตของผู้กระทำเลยก็ตาม แต่ผลของการกระทำนั้น กลับตอบสนองต่อจิตใจของผู้ที่กระทำเอง[18]

เมื่อกล่าวถึง “พิธีการเข้าเบิก” หรือ “สวดเบิก” นั้น จะพบได้ว่าเป็นการผสานเอาความเชื่อระหว่างผี ที่จัดกระทำโดยพุทธ คือใช้พระสงฆ์มาจัดกระทำพิธี การเข้าเบิกของล้านนานั้น ถือได้ว่าเป็นประเพณีอย่างหนึ่ง และแน่นอนว่า การที่จะเป็นประเพณีได้นั้น ย่อมต้องเป็นกิจกรรมหรือพิธีกรรมที่จัดกระทำกันทุกปี[19] และในล้านนาเองต่างกระทำพิธีคล้ายคลึง แต่ไม่เหมือนกัน เช่น การสวดทำนองของพระสงฆ์ในลำปางจะใช้สวดในการสมโภชพระพุทธรูป และเป็นการสวดเบิกในประเพณียี่เป็ง[20] ในแพร่นั้นแทบไม่พบเห็นประเพณีการเข้าเบิกเลย แม้จะถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของแพร่ก็ตาม แต่ก็ได้มีการจัดสวดเบิกในปี 2558 ที่ผ่านมา ทว่าก่อนหน้านี้กระทำกันน้อยมาก และมักไม่ได้ทำกันทุกปี โดยจุดประสงค์ของการจัดประเพณีนี้ คือการป้องกันเหตุร้าย ที่จะเกิดกับหมู่บ้าน[21] สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ผ่านพิธีสวดเบิกคือ การกระทำเพื่อปกป้องคนในหมู่บ้าน ให้พานพบแต่เรื่องดี ขับไล่สิ่งชั่วร้าย เสมือนหนึ่งว่าเป็นการสืบชะตาให้หมู่บ้าน และเป็นการกระทำพิธี ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อเก่าเดิมของชุมชน คือเรื่องเจ้าที่ ผีของบรรพบุรุษ ผีประจำหมู่บ้าน โชคลาง ฤกษ์ยามต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นความเชื่อที่ฝังราก ทั้งยังดำรงอยู่มาก่อนการผสานเข้ากับพุทธศาสนาเสียอีก

ดังนั้นเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อและพุทธศาสนานั้นต่างมีพลังในการธำรงไว้ซึ่งพิธีกรรมหนึ่งๆ และพิธีกรรมนั้นได้ตอบสนองต่อความต้องการของคน ทั้งในชีวิตประจำวัน และในวาระโอกาสสำคัญ แน่นอนว่าทั้งความเชื่อ และพุทธศาสนาต่างก่อร่างและหลอมรวมกันมาอย่างยาวนาน ในอดีตผู้คนนั้นโหยหาเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่ว่าจะทั้งความเชื่อเดิม อันเป็นรากฐานของสังคมในอดีต ก็ล้วนแต่เป็นต้นร่างให้เกิดความต้องการ แนวการดำเนินไปของชีวิต หรือสิ่งช่วยเหลือทางจิตวิญญาณเพื่อให้ชีวิตดำรงต่อไปได้ สุขทั้งทางใจและร่างกาย เมื่อการตอบสนองถูกผสานรวมเข้ากันกับความเชื่อใหม่ คือพุทธศาสนา การเลือกรับเอามาปฏิบัติจึงได้ถือกำเนิดตาม ทั้งศาสนาและความเชื่อ จึงดำรงอยู่ได้ภายใต้การเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และส่งผลให้เกิดการก่อรูปของพิธีกรรมหนึ่งๆ ที่สร้างขึ้นบนความศรัทธาที่มีต่อศาสนาและความเชื่อเดิม สวดเบิก จึงเป็นหนึ่งในพิธีกรรมที่ผสมผสานซึ่งความเชื่อเก่า และพุทธศาสนา เข้าไว้ด้วยกัน รูปแบบของการสวดเบิกเป็นไปเพื่อลดทอน หรือสร้างความสุขทางใจต่อผู้คนในชุมชน ลดทอนความกังวลที่มีต่ออนาคตข้างหน้าที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ การสวดเบิกก็เพื่อขจัด หรือสกัดภัยอันตรายที่จะเกิดต่อหมู่บ้าน จึงเป็นสิ่งที่ผสานเอาทั้งความเชื่อในเรื่องโชคลาง หมายรวมถึงฤกษ์ยามที่ต้องกระทำในเวลาค่ำมืดอีกด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องดำเนินไปควบคู่กัน อาจเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการกระทำพิธี หรือเพื่อเป็นการกำหนดหมุดหมายเป้าประสงค์ของพิธีให้ชัดแจ้ง เผื่อว่าชนรุ่นต่อไปจักได้กระทำพิธีให้ต้องตามแบบที่เคยดำรงอยู่ แต่กระนั้น “ความเชื่อ” ดังกล่าว ก็ได้หยั่งรากฝังลึกอยู่ในวิถีของชุมชน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีรูปแบบที่แปรเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่ในยุคสมัยหนึ่งๆ รูปแบบแม่บทดังกล่าวก็เคยเป็นต้นร่าง ให้กับชุมชนคนล้านนาได้กระทำพิธีดั่งว่าสืบต่อมานับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ภาคที่ 2 “การต่อรองระหว่างชุมชนและสงฆ์”

สังคมชนบท มักถูกมองว่าเป็นสังคมที่ห่างชั้นกับสังคมเมืองอยู่มาก ทั้งความรู้ วิทยาการ และความศิวิไลซ์ แต่ในทางกลับกันสังคมชนบทนั้น กลับมั่งคั่งไปด้วยภูมิปัญญา และอัดแน่นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่คนกรุงต่างโหยหาอยากสัมผัส ชนบทในอุดมคติคนกรุงจึงเต็มไปด้วยคุณค่า และประเพณีอันดีงาม แน่นอนว่าเป็นภาพลักษณ์ที่พึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และยังไม่เกี่ยวข้องอะไรมากนักในส่วนที่ผู้เขียนกำลังนำเสนออยู่นี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องแน่นอนคือ สังคมในภาพของความเป็นชนบท ที่อุโฆษไปด้วยความหลากหลายทางความเชื่อ

ชนบท ชายขอบ คำเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความห่างไกลความ ศิวิไลซ์[22] ที่ ความทันสมัย ดูจะใกล้เคียงนัยยะของมัน สังคมชายขอบนี้ไม่ได้จำกัดแต่เพียงว่า เป็นสังคมชายแดนที่แร้นแค้นและห่างไกล หากแต่หมายรวมไปถึง ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองใหญ่อีกด้วย แน่นอนว่าบทความนี้ผู้เขียนได้เสนอหลักใหญ่ ของงาน ผ่านการศึกษาโดยใช้จังหวัดแพร่ มาเป็นตัวแบบหลักของการศึกษาความเปลี่ยนแปลง ด้วยเพราะปัจจัยหลายอย่างของจังหวัด นั้นเอื้อต่อการนำมาศึกษา อาทิมีขนาดเล็ก และเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงแบบเนิบช้า ซึ่งเนิบช้าในการคงรูปแบบเดิม กิจกรรม ร้านค้า บ้านเรือน กระทั่งในต่างอำเภอล้วนแต่ยังคงเดิมแทบไม่เปลี่ยนแปลง[23]อีกทั้งยังเป็นบ้านเกิดของตัวผู้เขียนเอง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเขียนงานของผู้เขียนทั้งสิ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความเปลี่ยนแปลงที่แฝงเร้น อยู่ในการเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงแบบเนิบช้าที่ทำให้เกิดข้อสังเกตและเป็นที่มาของการจุดประกายให้หันมาศึกษาเรื่องนี้ คือการดำเนินไปของ พิธีกรรมการเข้าเบิก ซึ่งแพร่ได้สะท้อนออกมาให้เห็นในหลากหลายแง่มุม และน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการวิเคราะห์ของภาคแสดงที่ 2 ที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึงนี้ คือเรื่อง “การต่อรองระหว่างชุมชนและสงฆ์” แน่นอนว่าเราไม่อาจระบุลงไปอย่างชัดแจ้งได้ว่า โลกทัศน์หรือสำนึกรู้ของคนจะเป็นเช่นไร หรือมีภาพอย่างไร ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้พยายามสะท้อนภาพผ่านหลักฐานให้มากที่สุด เพื่อพอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของประเด็นนี้ เพราะต้องการสะท้อนภาพของการต่อรอง ระหว่างชุมชนที่กระทำต่อพระสงฆ์อย่างไร และสงฆ์เองสนองตอบต่อการต่อรองนี้อย่างไร โดยใช้กรณีเมืองแพร่เป็นสำคัญ

ดังที่เคยกล่าวไปในข้างต้นที่ว่า ประเพณีการเข้าเบิก เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ปัจจุบันทำกันน้อยมากและมักไม่ได้ทำกันทุกปี ประเพณีนี้ทำเพื่อป้องกันเหตุร้าย หากเกิดเหตุร้ายไปแล้วจะไม่ทำพิธีนี้ การทำพิธีคนในหมู่บ้านจะร่วมกันกำหนดวันและสถานที่ ต้องนิมนต์พระสงฆ์ไว้ล่วงหน้าหลายวันเพื่อพระสงฆ์จะได้ฝึกซ้อมการสวดเบิกให้คล่อง การเข้าเบิกในอดีตนั้น จะกระทำกันบริเวณทางแยกเข้าหมู่บ้าน โดยพิธีจะเริ่มในตอนหัวค่ำ ชาวบ้านจะนำน้ำส้มป่อย ขมิ้น ดอกไม้ธูปเทียน ทราย มาร่วมพิธี เมื่อถึงเวลาที่สงฆ์มายังบริเวณพิธีโดยไม่จำกัดว่ากี่รูป ชาวบ้านนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันในที่จัดไว้บูชาพระรัตนตรัย รับศีล สวดเบิก เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำทรายและน้ำส้มป่อย ขมิ้นที่นำมาร่วมในพิธีซัดสาดให้ทั่วหมู่บ้าน เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและให้เกิด ศิริมงคลแก่บ้านตน[24] สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ นางแฝง มูลแก้ว ที่ว่า

“ตะก่อน เขาเอาตุเจ้ามาจ้อมกั๋นกลางข่วง นั่งสวดกันสดแจ้ง พอแล้วอิแม่กะเดินตวยเขาเอาขี้ดินขี้ทราย ขนไปอ่วยตวยตางหั้น มะเด่วกะบ่หั๋นมี มีไปฮ่อมปีแล้วนิ”[25]

คำบอกเล่าของ นายสี กรุณา ก็มีถ้อยความที่คล้ายคลึงกัน แต่ทว่าเป็นภาพทรงจำในวัยเด็กของนายสี ที่เมื่อก่อนเป็นคนน่าน แล้วอาศัยเดินทางเกวียนมาแพร่เพื่อบุกเบิก และสร้างครอบครัวในสมัยวัยหนุ่ม ดังนั้นภาพที่นายสีเล่าจึงเป็นภาพสะท้อนการสวดเบิกที่หมู่บ้านจากฝั่งน่าน ซึ่งก็มีความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกับที่แพร่

“เขาตุ้มคัวกั๋นไปฟังตุเจ้าเตดธรรม เขาเบิกกะเบิกกั๋นกลางข่วงหั้นเนาะ กะว่าจะใดเป็นละอ่อนมันกะม่วน อิป่อกะฮกไปสุบใส่ตุ๊เจ้า เอ้? แก่ว่าใด แก่ว่ามึงมาฮกเล่นกั๋นนี่ เด่วผีสือมาจับไปมึงบ่กั๋วก่ะ”[26]

จากคำบอกเล่าของ นางบุษบา หอไชย สะท้อนให้เห็นถึงความห่างหายไปของพิธีสวดเบิก

“แม่กะบ่เกยหั๋นเฮาะ กำลังหามาหั๋นตอนปีแล้วนี่กะ วัดบ้านเฮาเขาเอาตุ๊เจ้าลุกตางใดมาบ่ฮู้ เอามาสวดตั้ดหน้าโรงเรียนหั้น กะเอามาสวดหลังวันตี่เขาฉลองกั๋นในเวียงนั้นเนาะ(โรงเรียนอยู่ตรงข้ามวัด และวัดก็คือวัดปงท่าข้าม วัดเดียวกันกับที่นางแฝง มูลแก้วเล่าถึงสมัยตอนเป็นสาว)”[27]

หากสังเกตจะพบว่า ในถ้อยความนี้สะท้อนออกมาให้เห็นถึงการผสานกัน ทางความเชื่อระหว่างพุทธและผีเข้าไปด้วย ซึ่งท่านทั้งสองได้สะท้อนให้เห็นถึงพิธีสวดเบิกที่ดูจะกระทำบ่อยครั้งในอดีต กล่าวคือนายสีผู้พ่อ ก็ประสบการสวดเบิกในวัยเด็ก และนางแฝงผู้ลูกก็ประสบการสวดเบิกในวัยสาวเช่นกัน ซึ่งทั้งสองหากพิจารณา ระยะเวลาแล้ว จะเห็นได้ว่าการสวดเบิกนั้นมีมาอย่างยาวนาน และเป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านให้ความสำคัญ สังเกตจาก “เขาตุ้มคัวกั๋นไป” คือคนหอบข้าวหอบของไป เพื่อนั่งฟังสวดเบิก หรือแม้แต่ถ้อยความที่ว่า “อิแม่กะเดินตวยเขาเอาขี้ดินขี้ทรายไปอ่วยตวยตาง” คือเดินตามเขาเอาดินเอาทรายไปรวดตามทาง ซึ่งแน่นอนว่าต้องเดินกันไปเป็นหมู่มาก สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนชาวบ้านนั้น ยังให้ความสำคัญต่อพิธีนี้เป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือมีการจัดกระทำกันทุกปี ทว่ากลับลดทอนลงไป เมื่อถึงสมัยของนางบุษบาบุตรสาวของนางแฝงมูลแก้ว พิธีการสวดเบิกนั้นได้ห่างหายไปจากชุมชน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือถ้อยความเหล่านี้ ประกอบกับข้อมูลที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิดนั้น ได้สะท้อนการต่อรองระหว่างชุมชนและสงฆ์ออกมาด้วย กล่าวคือ ในอดีตการทำพิธีคนในหมู่บ้านจะร่วมกันกำหนดวันและสถานที่[28] สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะการต่อรองระหว่างชุมชนที่มีต่อวัด และหากย้อนกลับไปยังคำสัมภาษณ์ จะพบว่าสวดเบิกนั้น ล้วนแฝงไปด้วยความครึกครื้นและมากด้วยผู้คนในชุมชนมาเข้าร่วม ซึ่งการต่อรองระหว่างชุมชนกับสงฆ์นั้น ชุมชนจัดอยู่ในฐานะของผู้ที่“ต้องการ”จัดกระทำพิธี เพื่อสกัดหรือปัดป้องภัยอันตรายให้พ้นจากหมู่บ้าน กลับกันชาวบ้านต้องนิมนต์พระสงฆ์ไว้ล่วงหน้าหลายวัน เพื่อพระสงฆ์จะได้ฝึกซ้อมการสวดเบิกให้คล่อง[29]พระสงฆ์จึงตกอยู่ในฐานะผู้“กระทำ”พิธี กระธรรมในเชิงพิธีกรรม ส่วนพื้นที่หรือสถานที่จัดเตรียมนั้น เป็นภาระของชุมชน[30]

อย่างไรก็ตามแม้นว่าในปัจจุบัน การต่อรองระหว่างสงฆ์และชุมชนได้แปรเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัยแล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นในส่วนของภาคที่ 2 นี้คือการสะท้อนภาพของการต่อรองระหว่างสงฆ์และชุมชน ซึ่งการต่อรองของสงฆ์และชุมชนนั้น ในอดีตถือได้ว่า ชุมชนมีพลังการต่อรองที่สูง ซึ่งสามารถเสนอความต้องการให้แก่พระสงฆ์ และสงฆ์เองก็ได้ดำเนินการจัดกระทำพิธีสวดเบิกเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของชุมชน การขจัดโรคภัย เรื่องร้ายอันตรายของชุมชนนั้น อาจสะท้อนภาพของความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งผูกติดกับสังคมชายขอบมาอย่างยาวนาน แต่ทว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่า คือภาพของความร่วมมือระหว่างสงฆ์และชุมชน ที่ชุมชนอยู่ในฐานะผู้มีเสียงในการต่อรองกับวัด และวัดก็เป็นผู้สนองตอบต่อชุมชน สะท้อนให้เห็นว่าวัดเป็นของชุมชนตามประเพณีดั่งเดิม ก่อนที่มันจะถูกริบเอาไปเป็นของรัฐส่วนกลางในภายหลัง[31] ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงต่อไป ถึงกรณีของการแปรผันของคู่ต่อรอง จากชุมชนไปเป็นรัฐส่วนกลาง ฉะนั้นแล้วในส่วนนี้ ผู้เขียนได้กล่าวโดยสรุปว่า สวดเบิกล้านนาในอดีตนั้น เป็นสิ่งที่แพร่หลายและกระทำกันเป็นประจำ ซึ่งเป็นการจัดกระทำพิธีบนการต่อรองระหว่างชุมชนและวัด อีกทั้งยังเป็นการค้ำจุลซึ่งกันและกัน เมื่อใดที่ชุมชนหวั่นเกรงจะเกิดเรื่องร้ายในชุมชน เมื่อนั้นก็จะมีการต่อรองระหว่างชาวบ้านและวัด การต่อรองยังผลให้เกิดความร่วมมือในชุมชนและส่งเสริมให้ชุมชนนั้นเข้มแข็ง และจะเจริญมั่นคงได้ ก็ด้วยเพราะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเกื้อกูลกัน ระหว่างพระกับชาวบ้านเป็นสำคัญ[32] เมื่อพระสงฆ์กับชาวบ้านเริ่มห่างเหิน วัดกับชุมชนก็อ่อนแอลงไปทั้งคู่[33] และเมื่อกาลเวลาได้ผันผ่านจากอดีตเข้าสู่ช่วง 40 ปีให้หลังจวบปัจจุบัน พิธีการเข้าเบิกแทบเรียกได้ว่า ปรากฏไม่บ่อยครั้ง เพราะการจัดกระทำขึ้นอยู่กับจังหวัดหรือส่วนกลางแทน เห็นได้จากการจัดสวดเบิก ของชุมชนบ้านปง เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาโดยเป็นการจัดกระทำขึ้นภายหลัง การเข้าเบิกใหญ่ของจังหวัดเมื่อ 18 เมษายน 2558 และหลังจากสมโภชเมือง 1188 ปี ซึ่งการสวดเบิกก็ได้หวนกลับมายังหมู่บ้านอีกครั้ง แต่ทว่าการต่อรองนั้นได้แปลเปลี่ยนคู่ต่อรอง จากชุมชนเป็นส่วนกลางแทน


ภาคที่ 3 “จุดเปลี่ยน”

ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในข้างต้น ถึงประเด็นเรื่องเมืองแพร่ เมืองที่เติบโตหรือเปลี่ยนแปลงอย่างเนิบช้า เขนาดของมืองที่เล็กเสมือนทางผ่านไปยังจังหวัดอื่น สมดั่งคำติดประตูเมือง หากเดินทางเข้าแพร่ผ่านเส้นอุตรดิตถ์เด่นชัย จะพบคำว่า “เมืองแพร่ ประตูสู่ล้านนา” ราวกับสถานะของเมืองแพร่นั้น ตกเป็นเสมือนทางผ่าน และสถานที่ท่องเที่ยวไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยว อีกทั้งหากมองตามประวัติศาสตร์ เมืองแพร่นับเป็นเมืองแทบรั้งท้ายแถว ในยุคสมัยแห่งการปฏิรูปสยาม[34]รัฐสมัยใหม่นั้นมีอำนาจกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้การดึงอำนาจการปกครองสงฆ์ เข้าสู่ส่วนกลางเป็นไปได้ง่ายขึ้นเท่านั้น หากยังหมายความว่ารัฐสามารถครอบงำคณะสงฆ์ได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยการครอบงำดังกล่าวสามารถแผ่ลงไปถึงท้องถิ่นที่ห่างไกล กรณีครูบาศรีวิชัยซึ่งต้องอาญาบ้านเมืองเพราะไม่ยอมขึ้นต่อคณะสงฆ์ส่วนกลางนั้น แสดงถึงอำนาจของรัฐในกรุงเทพฯ[35]แต่กระนั้นก็ตาม ผลกระทบจากส่วนกลางเอง ก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองแพร่เช่นกัน

เมื่อย้อนกลับไปยัง 40 ก่อน จะพบว่าตรงกับช่วง 2510 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งรัฐอุตสาหกรรม[36] นโยบายสร้างชาติได้ส่งผลให้เกิดการไหลบ่าของ ลัทธิวิทยาศาสตร์นิยมและบริโภคนิยม ที่ท่วมทะลักเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง[37] จนแทบกล่าวได้ว่าอริทางฐานคิดนี้ ได้เข้ามาเบียดบังพื้นที่ของพุทธรรมศาสนาให้ตกขอบเวทีไป ซึ่งแน่นอนว่าบทบาทของผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนารายใหม่ย่อมตกไปอยู่ที่รัฐส่วนกลางด้วย เนื่องจากผู้คนในชุมชนต้องเข้าสู่กระบวนการทางสังคมใหม่นี้ สังคมอุตสาหกรรมได้ดูดเอาทรัพยากรในสังคมชนบทเข้าสู่วงศูนย์กลาง ซึ่งทำให้ผู้คนห่างไกลจากวัดมากขึ้น และแน่นอนว่าสิ่งเก่าเดิม ย่อมแปรเปลี่ยนตามไปด้วย วิถีชีวิต ความเชื่อและการต่อรองล้วนแปรเปลี่ยนไปสิ้น ผู้คนไม่ได้ใช้วัดเป็นศูนย์กลางพบปะทางชุมชนอีกต่อไป[38] ดังนั้นวัดจะดำรงอยู่ในสภาวะเช่นนี้ได้ ย่อมต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสของโลก ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นได้ว่า วัดในสมัยหลังล้วนแต่ผันตัวกลายเป็นพุทธแบบบริโภคนิยม บุญกรรมจับต้องได้ บูชา แลกเปลี่ยนได้ ด้วยสิ่งที่เรียกว่าปัจจัย(เงิน) จริงอยู่ที่การต่อรองทางชุมชนนั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นคู่ต่อรองหลักของคณะสงฆ์ แต่ทว่าปัจจุบันชุมชนและสงฆ์กลับไม่ใช่คู่ต่อรอง หากแต่เป็นรัฐส่วนกลางที่เข้ามาต่อรองด้วย โดยการเสนอนักท่องเที่ยว แลกกับการที่วัดและชุมชนกลายเป็นผู้จัดกระทำทั้งคู่ ดังนั้นลักษณะของพิธีกรรม หรือการกระทำจึงเป็นไป เพื่อการ “โชว์” มากกว่าเป็นการธำรงไว้ซึ่งนัยยะความหมายเดิมของมัน[39]ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์ที่เคยมีอยู่ไม่ได้หายไปไหน หากแต่สิ่งที่หายไปคือ ประสงค์ที่แท้จริงในการจัดกระทำพิธี


“...วันนี้ 18 เมษายน พ.ศ.2558 เทศบาลเมืองแพร่ จัดพิธีสวดเบิก 4 มุมเมือง และสืบชะตาเมืองแพร่ เพื่อความเป็นสิริมงคล ตามขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของชาวจังหวัด ซึ่งสวดเบิกทั้งสี่มุมเมืองนั้น ได้แก่ ที่บริเวณประตูชัย ,ประตูมาร ,แยกศรีชุม และประตูยั้งม้า ซึ่งเทศบาลเมืองแพร่ จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อบ้านเมืองหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของไทย...”[40]

ข่าวการจัดพิธีสวดเบิกนี้ เผยแพร่ทั้งในหนังสือพิมพ์และ โลกออนไลน์ เป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยว โดยนายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวว่า จังหวัดแพร่มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 2.2 ล้านล้านบาทในปี 2558[41] และเพื่อเป็นการส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ในช่วงฤดูการท่องเที่ยว ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวและสนใจที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในจังหวัดแพร่ ช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดแพร่มากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และสุขภาพ “โดยใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นสื่อกลาง”[42]จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ ป้ายโฆษณา แผ่นพับ แล้วยังได้เตรียมจัดกิจกรรมภายใต้คอนเซปท์ แอ่ว...ปี๋ใหม่แป้...ยิ่งฮู้จัก....ยิ่งฮักแป้[43]

การสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของชุมชนหนึ่งๆ แพร่ได้ดำเนินการภายใต้นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ในคอนเซปท์ แอ่ว...ปี๋ใหม่แป้...ยิ่งฮู้จัก...ยิ่งฮักแป้ นโยบายได้ปลุกกระตุ้นให้แพร่ขุดค้นสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมอันเก่าเดิมของตนขึ้นมาอีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือสวดเบิกด้วย การจัดกระทำพิธีสวดเบิกนั้นทำหลังจาก พ้นผ่านวันสงกรานต์ไป 1 วัน นับเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวไว้ กล่าวคือ แพร่มีการเล่นสงกรานต์นับตั้งแต่ วันที่ 13 – 17 เมษายน เป็นประจำของทุกปี และเมื่อปี 2558 นี้เองที่ วันและเวลาได้ปรับเปลี่ยน ททท.แพร่ ได้เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวงานสงกรานต์เมืองแพร่ โดยจัดกิจกรรมเต็มที่ตลอด 15 วัน ระหว่างวันที่ 3-17 เม.ย. 58 ถือได้ว่าเป็นสงกรานต์ที่นานที่สุดในภาคเหนือ[44] ซึ่งทำให้รูปแบบหรือแบบแผนอันเก่าเดิมนั้น มีอันต้องแปรเปลี่ยนไป การนำเอาวัฒนธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว การขับเน้นอัตลักษณ์ของตน ก็เป็นไปเพื่อแสดงให้ “ผู้มาเยือน” ได้ชื่นชมและดื่มด่ำ ความศักดิ์สิทธิ์และรูปแบบพิธีถูกกระทำให้ ตอบสนองต่อความสนใจของผู้มาเยือน หาได้สนองตอบต่อความต้องการของชุมชนดั่งแต่ก่อน การดำเนินตามรูปแบบนโยบายของรัฐ สะท้อนให้เห็นถึง ชุมชนที่ถูกลดทอนความสำคัญลง จนตกอยู่ในสถานะของผู้แสดง วัดเองก็มิได้อยู่บนการต่อรองระหว่างสงฆ์กับชุมชนอีกต่อไป เห็นได้จาก การจัดกิจกรรมต่างๆส่วนกลางเข้ามามีส่วนในการควบคุม และจัดแสดง กำกับดูแล วัดและชุมชน อยู่ในฐานะของผู้ร่วมแสดง การเดินขบวนแห่เพื่อเชิดชูบางสิ่ง ได้แต่งแต้มสีสันให้พิธีหรือการโชว์นั้นมีความยิ่งใหญ่ ดูตื่นตาตื่นใจมากขึ้น นักเรียน คนหนุ่มสาวในหมู่บ้าน ล้วนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมโชว์ทั้งสิ้น เพื่อเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพของจังหวัดและดึงดูดนักท่องเที่ยว

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้อาจหมายรวมได้ว่า ททท.เป็นหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาท และส่งเสริมการจัดการทุกอย่างให้ดำเนินไป[45] แต่เปล่าเลย ททท.เป็นเพียงหน่วยงานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่อยู่เหนือไปกว่านั้น คือการเปลี่ยนแปลง มันเกิดขึ้นจากตัวชุมชนเอง เกิดขึ้นจากตัวจังหวัดแพร่เอง เมื่อมองย้อนกลับไปในภาคที่ 2 เราจะพบการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง การเหินห่างระหว่างชุมชน และพิธีกรรมนั้น ได้ดำเนินมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา การรับรู้ของชุมชนได้รับการปรับเปลี่ยนมาอยู่เสมอ ตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป สวดเบิกที่น้อยครั้งการกระทำพิธีจะถูกจัดขึ้น ก็ด้วยเพราะ การรับรู้ของชุมชนนั้นเปลี่ยนไป สำนึกร่วมของชุมชนได้มลายลง เหลือเพียงสำนึกแบบปัจเจก สังคมได้ดำรงลักษณะของการใช้ชีวิตแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และมากขึ้น ย่อมส่งผลให้สังคมนั้น แยกออกจากกัน การร่วมประเพณีก็เป็นไปตามกิจกรรมที่ตรงกับวันสำคัญตามปฏิทินเท่านั้น ภาพเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ชุมชนไร้สิ้นซึ่งพลังในการต่อรอง สงฆ์เองก็ดำรงอยู่ตามนโยบายจากส่วนกลาง กล่าวคือ วันสำคัญตามปฏิทินทางศาสนาเท่านั้น ที่มักจะพบผู้คนเข้าวัดทำบุญ แทบไม่ปรากฏวันอื่นๆที่มีการต่อรองระหว่างวัดและชุมชนอีกเลย การแต่งงาน งานศพ เหล่านี้ผู้เขียนไม่นับว่าเป็นการต่อรองระหว่างชุมชน เพราะการต่อรองระหว่างชุมชนคือการต่อรองของคนหมู่มากเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก และแน่นอนว่าเพื่อประโยชน์ของคนในชุมชนเอง ฉะนั้นภาพเหล่านี้ได้หายไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ความร่วมมือภายในชุมชนในการรังสรรค์ประเพณีพิธีกรรม ได้ห่างหายไป การที่ ททท. ออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวก็เสมือนหนึ่งว่า ได้ช่วยเป็นสื่อกลางในการ นำเอาพิธีกรรมเก่าเดิมที่เคยห่างหายไป กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง จุดเปลี่ยนสำคัญจึงอยู่ที่ตัวชุมชนเอง การกลับไปค้นหาอดีต เพื่อรังสรรค์มันขึ้นมาใหม่ ก็นับเป็นการสร้างภาพความร่วมมือของสังคมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หากแต่ว่าเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น รัฐจัดอยู่ในฐานะของผู้ต้องการจัดกระทำพิธี และวัดก็กลายมาเป็นผู้จัดกระทำพิธี แต่ทว่าเพิ่มหุ้นส่วนเข้าไปคือชุมชน ดังนั้นวัดและชุมชนจึงดำรงอยู่ในฐานะของผู้ร่วมจัดกระทำพิธี เพื่อสนองตอบต่อนโยบายหรือความต้องการของรัฐส่วนกลาง แม้นว่ารูปแบบของการต่อรองจะแปรเปลี่ยนไปอยู่ในมือของรัฐ แต่สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นอีกครั้งคือการกลับมาสร้างความร่วมมือกันระหว่างชุมชนและวัดอีกครั้งหนึ่ง

สรุป

มนุษย์ทุกผู้ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อเป็นของตน อดีตหรือปัจจุบัน ความเชื่อก็ยังคงดำรงสถานะและตัวตนของมันให้คงอยู่เสมอ เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ ผีบรรพบุรุษ เวียนว่ายตายเกิด เชื่อในวัตถุ เชื่อในพระเจ้าใหม่แห่งโลก เงิน ศรัทธาของผองชน ผู้คนล้วนแล้วแต่มากด้วยความเชื่อ หากแต่ความเชื่อใดเล่าที่จะสามารถ หล่อหลอมให้คนในชุมชน ต่างพบปะและร่วมสร้างสำนึกร่วมกัน “สวดเบิก”พิธีกรรมที่ดูจะเป็นประเพณีที่หล้าหลัง อัดแน่นไปด้วยความเชื่อที่มีต่อสิ่งที่มองไม่เห็น “อนาคต” เราไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าสืบไปเมื่อหน้า กาลสมัยจะดำรงอยู่ในสภาวะเช่นไร แต่เราเลือกที่จะนำเอาสิ่งจรรโลงใจ เพื่อเป็นการบรรเทา สะกัดกั้นความรู้สึกหวาดเกรงต่ออนาคตที่มาถึง และเป็นอนาคตที่ไม่ได้มุ่งหวังต่อตัวเอง หากแต่เป็นการมุ่งหวังที่จะนำเอามนุษย์ทั้งมวลผ่านพ้นความทุกข์นั้นไปด้วย[46]ความเชื่อที่ระคนไปด้วยพุทธและผีนั้น ต่างดำเนินไปควบคู่กัน ก่อกำเนิดเป็นพิธีกรรม ที่กระทำสืบเนื่องกันมาจนเป็นประเพณี การกระทำเพื่อช่วยปัดเป่าภัยที่จะเกิดต่อชุมชน ได้ดำรงอยู่นานนับเท่าที่โลกอุตสาหกรรมยังมาไม่ถึง แต่เมื่อการมาถึงของโลกอุดมคติใหม่ สังคมได้หลุดพ้นจากกรอบของโลกทัศน์แบบพุทธศาสนา หากกล่าวถึงการแปรเปลี่ยนไปของการต่อรองระหว่างชุมชน ได้แปรรูปเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่า การต่อรองระหว่างชุมชนและวัดนั้นมีได้เพราะวัดเป็นสมบัติทางประเพณีของชุมชน ซึ่งชุมชนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินไปของวัด การที่วัดและชุมชนร่วมมือกัน ในการก่อประกอบพิธีกรรมหนึ่งๆขึ้นย่อมสะท้อนถึงสภาวะความแข็งแกร่งของชุมชน แข็งแกร่งในที่นี้หมายถึงสภาพชุมชนที่แนบแน่น บนสำนึกร่วมแบบเดียวกัน หากแต่ว่าถูกทลายลงด้วยความเชื่อใหม่ ความเชื่อที่มาพร้อมกันกับโลกแบบทุนนิยม อุตสาหกรรมได้ทวีความสำคัญมากขึ้น ผู้คนหลุดออกจากกรอบพุทธศาสนา ส่งผลให้ทั้งวัดและชุมชนต่างแปรเปลี่ยนรูปแบบของตัวเองมาโดยตลอด

สวดเบิกก็ยังคงทำหน้าที่ของมันเช่นเดิม คือการสวดเพื่อขจัดป้องภัยอันตรายที่จะเกิดแก่ชุมชน หากแต่การแปรเปลี่ยนขั้วของการต่อรอง จากชุมชนเป็นรัฐส่วนกลางแทน แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้จากการศึกษาครั้งนี้คือ การเกิดขึ้นใหม่ของสำนึกร่วมของคนในชุมชน แต่เป็นสำนึกร่วมในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม กล่าวคือ เป็นการเกิดสำนึกร่วมบนชุดประสบการณ์ที่สั่งสม การสวดเบิกที่ยังคงนัยยะความหมายของมันเอาไว้ การจัดกระทำพิธี ในวันที่ 18 เมษายน 2558 เพื่อเป็นการสืบชะตาเมือง หรือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการสวดเพื่อป้องภัยให้แก่คนในชุมชนนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการขยับขึ้นมาในภาพที่ใหญ่กว่าชุมชน การต่อรองของรัฐส่วนกลางและวัด ได้ส่งผลให้ พิธีสวดเบิกได้ทวีความสำคัญขึ้นเพื่อเป็นการรองรับ การครบรอบ 1188 ปีเมืองแพร่ที่จะตามมาในปี 2559 การส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท.นั้นถือได้ว่ามีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของชุมชนกับวัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการเกิดขึ้นของสำนึกร่วมของชุมชนเอง แม้นว่ารัฐจะเป็นผู้อำนวยในการจัดงานกรรมพิธี แต่ผู้เข้าร่วมและผู้จัดกระทำก็ล้วนแต่เป็นชาวบ้านและสงฆ์ในชุมชน นับเป็นการเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งของ ความร่วมมือระหว่างชุมชนและวัดอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่ารูปแบบและเป้าประสงค์ที่แท้จริงของการจัดพิธีในครั้งนี้จะไม่ได้เป็นไปตามแบบฉบับเก่าเดิม แต่ก็เป็นเสมือนแม่แบบให้เกิดการตื่นตัวในที่ต่างๆ หรือการจัดสวดเบิกในตามหมู่บ้านและชุมชนอื่นๆในจังหวัดตามมา ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นภายหลังจากที่จังหวัดได้จัดพิธีสมโภชไป นับเป็นการตื่นขึ้นใหม่ของการสวดเบิกเมืองแพร่ อีกทั้งยังเป็นการส่งต่อแม่แบบชุดใหม่ไปยังรุ่นต่อๆไป





บรรณานุกรม

เอกสาร สิ่งพิมพ์


ทรงศักดิ์ แก้วมูล,. "ตัวตนจากเหมืองฝายของคนไหล่หิน", (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร,2551).



ธงชัย วินิจจะกุล, บทความ ,ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่า ศิวิไลซ์ เมื่อชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหา สถานะของตนเอง ผ่านการเดินทางและพิพิธพันธ์ทั้งในและนอกประเทศ.

เธียรชาย อักษรดิษฐ์, กรกนก รัตนวราภรณ์, วันดี สันติวุฒิเวธี, ล้านนา จักรวาล ตัวตน อำนาจ, (กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสืรินธร, 2545).

นิธิ อียวศรีวงษ์, ท่องเที่ยวบุญบั่งไฟในอีสาน, (กรุงเทพ : มติชน , 2536).

พระครูอดุลสีลกิตติ์. (2552). สาระล้านนาคดี ภาคพิธีกรรม(ฉบับปรับปรุง). เชียงใหม่: กองทุนพระครูอดุล สีลกิตติ์.

พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคตแนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพฯ : สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2546).

พัชราภรณ์ พันธุรัตน์, เอกสารการสอนรายวิชา ส071 ท้องถิ่นของเรา1(จังหวัดแพร่) (จังหวัดแพร่ : โรงเรียน นารีรัตน์จังหวัด แพร่, 2535).

พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, ความเชื่อพระศรีอาริย์, (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ , 2527).

สุเมธ เมธาวิทยกุล, สังกัปพิธีกรรม, (กรุงเทพ : โอ เสส พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2532).

สุรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสนตร์ล้านนา, (กรุงเทพ : อมรินทร์, 2557).

สัมภาษณ์

นางแฝง มูลแก้ว อายุ 65ปี (สัมภาษณ์) 12 มีนาคม 2560.

นายสี กรุณา อายุ 92 ปี (สัมภาษณ์) 12 มีนาคม 2560.

นางบุษบา หอไชย อายุ 42 ปี (สัมภาษณ์) 12 มีนาคม 2560.





สื่อออนไลน์

MGR Online, จัดเต็มสงกรานต์เมืองแพร่ สนุกสุดๆ นานสุดๆ, (ออนไลน์),(สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000039790&Html=1&TabID= 1&.

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา,ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2558 – 2560,(ออนไลน์),(สืบค้นข้อมูล วันที่ 18 มีนาคม 2560) เข้าถึงได้จาก : http://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=7114.

จังหวัดแพร่จัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558, (ออนไลน์), (สืบค้น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก http://pr.prd.go.th/phrae/ewt_news.php?nid=1201&filename=index.

ณัฐพล กาวิน, พิธีสวดเบิก 4 มุมเมือง และสืบชาตาเมืองแพร่, (ออนไลน์),(สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/raorakkonPhrae/posts/670149093111730.

แพร่จัดใหญ่ ฉลองสมโภช 1,188 ปี สืบชะตาเมือง-ส่งเสริมท่องเที่ยว, (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก http://www.matichon.co.th/news/16002.

สวดเบิกสมโภชน์เมืองแพร่ 1188 ปี, นาทีที่ 00:02:20-00:02:46 (ออนไลน์),(สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=61YRzDUAK1o.

อาสาสมัครวิกิพีเดีย , ประเพณี, [ออนไลน์] วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี , เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560, https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8 %9E%E0%B8%93%E0%B8%B5



เชิงอรรถ


[1] พัชราภรณ์ พันธุรัตน์, เอกสารการสอนรายวิชา ส071 ท้องถิ่นของเรา1(จังหวัดแพร่) (จังหวัดแพร่ : โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่, 2535), หน้า 125.


[2] พระยาอนุมานราชธน ได้ให้ความหมายของคำว่าประเพณีไว้ว่า ประเพณี คือ ความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียวกัน และสืบต่อกันมานาน ถ้าใครในหมู่ประพฤติออกนอกแบบก็ผิดประเพณี หรือผิดจารีตประเพณี (อาสาสมัครวิกิพีเดีย , ประเพณี, [ออนไลน์] วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี , เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560).


[3] พัชราภรณ์ พันธุรัตน์, เอกสารการสอนรายวิชา ส071 ท้องถิ่นของเรา1(จังหวัดแพร่)(จังหวัดแพร่ : โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่, 2535), หน้า 125.


[4] “เปิ่นสวดกันได้บ่นัก เขาจำๆกั๋นมา กู่วันนี้เหลืออยู่บ่กี่วัดที่เขาหยะกั๋น ฮ่อมปี๋แล้วเขากะมาสวดที่บ้านเฮานิ ตั้ดสามแยกหน้าวัดหั้น” นางแฝง มูลแก้ว อายุ 65ปี (สัมภาษณ์) 12 มีนาคม 2560.


[5] สวดเบิกสมโภชน์เมืองแพร่ 1188 ปี, นาทีที่ 00:02:20-00:02:46 (ออนไลน์),(สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=61YRzDUAK1o.


[6] พัชราภรณ์ พันธุรัตน์, เอกสารการสอนรายวิชา ส071 ท้องถิ่นของเรา1(จังหวัดแพร่)(จังหวัดแพร่ : โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่, 2535), หน้า 125.


[7] ณัฐพล กาวิน, พิธีสวดเบิก 4 มุมเมือง และสืบชาตาเมืองแพร่, (ออนไลน์),(สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/raorakkonPhrae/posts/670149093111730.


[8] แพร่จัดใหญ่ ฉลองสมโภช 1,188 ปี สืบชะตาเมือง-ส่งเสริมท่องเที่ยว, (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก http://www.matichon.co.th/news/16002.


[9] ทรงศักดิ์ แก้วมูล,. "ตัวตนจากเหมืองฝายของคนไหล่หิน", (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร,2551) หน้า 100.


[10] พระครูอดุลสีลกิตติ์. (2552). สาระล้านนาคดี ภาคพิธีกรรม(ฉบับปรับปรุง). เชียงใหม่: กองทุนพระครูอดุลสีลกิตติ์. หน้า 91.


[11] เรื่องเดียวกัน.


[12] เธียรชาย อักษรดิษฐ์, กรกนก รัตนวราภรณ์, วันดี สันติวุฒิเวธี, ล้านนา จักรวาล ตัวตน อำนาจ, (กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสืรินธร, 2545), หน้า 28.


[13] พัชราภรณ์ พันธุรัตน์, เอกสารการสอนรายวิชา ส071 ท้องถิ่นของเรา1(จังหวัดแพร่), (จังหวัดแพร่ : โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่, 2535), หน้า 109.


[14] สุรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสนตร์ล้านนา, (กรุงเทพ : อมรินทร์, 2557), หน้า 76.


[15] เธียรชาย อักษรดิษฐ์, กรกนก รัตนวราภรณ์, วันดี สันติวุฒิเวธี, ล้านนา จักรวาล ตัวตน อำนาจ, (กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสืรินธร, 2545), หน้า 24.


[16] สุเมธ เมธาวิทยกุล, สังกัปพิธีกรรม, (กรุงเทพ : โอ เสส พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2532), หน้า 73.


[17] พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, ความเชื่อพระศรีอาริย์, (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ , 2527), หน้า 45.


[18] พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคตแนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2546), หน้า 163.


[19] อาสาสมัครวิกิพีเดีย , ประเพณี, [ออนไลน์] วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี , เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560, https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5


[20] ทรงศักดิ์ แก้วมูล,. "ตัวตนจากเหมืองฝายของคนไหล่หิน", (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร,2551) หน้า 101.


[21] พัชราภรณ์ พันธุรัตน์, เอกสารการสอนรายวิชา ส071 ท้องถิ่นของเรา1(จังหวัดแพร่)(จังหวัดแพร่ : โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่, 2535), หน้า 125.


[22] ธงชัย วินิจจะกุล, บทความ ,ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่า ศิวิไลซ์ เมื่อชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหาสถานะของตนเอง ผ่านการเดินทางและพิพิธพันธ์ทั้งในและนอกประเทศ,หน้า 17.


[23] ณัฐพล กาวิน, พิธีสวดเบิก 4 มุมเมือง และสืบชาตาเมืองแพร่, (ออนไลน์),(สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/raorakkonPhrae/posts/670149093111730.


[24] พัชราภรณ์ พันธุรัตน์, เอกสารการสอนรายวิชา ส071 ท้องถิ่นของเรา1(จังหวัดแพร่)(จังหวัดแพร่ : โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่, 2535), หน้า 125.


[25] นางแฝง มูลแก้ว อายุ 65ปี (สัมภาษณ์) 12 มีนาคม 2560.


[26] นายสี กรุณา อายุ 92 ปี (สัมภาษณ์) 12 มีนาคม 2560.


[27] นางบุษบา หอไชย อายุ 42 ปี (สัมภาษณ์) 12 มีนาคม 2560.


[28] พัชราภรณ์ พันธุรัตน์, เอกสารการสอนรายวิชา ส071 ท้องถิ่นของเรา1(จังหวัดแพร่)(จังหวัดแพร่ : โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่, 2535), หน้า 125.


[29] เรื่องเดียวกัน.


[30] สุเมธ เมธาวิทยกุล, สังกัปพิธีกรรม, (กรุงเทพ : โอ เสส พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2532), หน้า 52.


[31] พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคตแนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2546), หน้า60.


[32] เรื่องเดียวกัน หน้า 86.


[33] เรื่องเดียวกัน.


[34] สุรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสนตร์ล้านนา, (กรุงเทพ : อมรินทร์, 2557), หน้า 499.


[35] พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคตแนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2546), หน้า 84.


[36] ทักษ์ เฉลิมตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, (กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำรา , 2552),หน้า 269.


[37] พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคตแนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2546), หน้า 5.


[38] เธียรชาย อักษรดิษฐ์, กรกนก รัตนวราภรณ์, วันดี สันติวุฒิเวธี, ล้านนา จักรวาล ตัวตน อำนาจ, (กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสืรินธร, 2545), หน้า 204.


[39] นิธิ อียวศรีวงษ์, ท่องเที่ยวบุญบั่งไฟในอีสาน, (กรุงเทพ : มติชน , 2536), หน้า 26.


[40] ณัฐพล กาวิน, พิธีสวดเบิก 4 มุมเมือง และสืบชาตาเมืองแพร่, (ออนไลน์),(สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/raorakkonPhrae/posts/670149093111730.


[41] กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา,ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2558 – 2560,(ออนไลน์),(สืบค้นข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2560) เข้าถึงได้จาก : http://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=7114. หน้า 13.


[42] จังหวัดแพร่จัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558, (ออนไลน์), (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก http://pr.prd.go.th/phrae/ewt_news.php?nid=1201&filename=index.


[43] เรื่องเดียวกัน.


[44] MGR Online, จัดเต็มสงกรานต์เมืองแพร่ สนุกสุดๆ นานสุดๆ, (ออนไลน์),(สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560), เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000039790&Html=1&TabID=1&.


[45] นิธิ อียวศรีวงษ์, ท่องเที่ยวบุญบั่งไฟในอีสาน, (กรุงเทพ : มติชน , 2536), หน้า 93.


[46] พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, ความเชื่อพระศรีอาริย์, (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ , 2527), หน้า 170.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.