แฟ้มภาพ

ประยุทธ์ ยังไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ ระบุฟังความเห็นจากปชช.ก่อน

Posted: 27 Apr 2017 04:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เห็นด้วย ร่าง พ.ร.บ.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลสื่อฯ ระบุฟังความเห็นจากประชาชนก่อน แต่เคยมอบสมาคมสื่อฯ ดู ก็ไม่สามารถหาคนที่รับผิดชอบได้ จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้ 'มีชัย' แนะสื่อแจงเหตุผล หากไม่เห็นด้วย

27 เม.ย. 2560 กรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ยืนยันหลักการ การตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และการออกใบอนุญาตวิชาชีพสื่อสารมวลชน ตามรายงานการปฏิรูปสื่อสารมวลชน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพ และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยเฉพาะจากสื่อมวลชน

วันนี้ (27 เม.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลสื่อฯ ซึ่งส่วนตัวยังไม่เห็นด้วย และจะต้องฟังความเห็นจากประชาชนก่อน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ การที่มอบความรับผิดชอบให้กับสมาคมสื่อฯ แต่ก็มีการยอมรับว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด เพราะเมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถหาคนที่รับผิดชอบได้ จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และการยอมรับในตัวขององค์กร

“ขออย่ากังวลว่า รัฐบาลจะมาปิดกั้นสื่อฯ เพราะรัฐบาลก็ต้องทำงานร่วมกับสื่อฯ ในการขยายความเข้าใจของรัฐบาลไปสู่ประชาชน สิ่งใดที่ไม่ดีและสื่อฯได้ตักเตือนขึ้นมา ก็มีการติดตามและตรวจสอบให้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมระบุว่า การพิจารณาจะใช้หลักการพื้นฐานที่ต่างประเทศให้การยอมรับ และรับรองหลักการเหล่านี้ เพื่อมาดำเนินการ ทุกคนต้องช่วยกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไร ให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างที่ทุกคนต้องการ ให้สื่อทุกสื่อเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่ไปเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่ดี

“หากไม่มีความจำเป็น ก็คงไม่มีการตั้งเรื่องดังกล่าวขึ้นมา แต่จะทำอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่ต้องหาทางออกร่วมกัน หากค้านทุกอย่าง ก็จะเดินหน้าไม่ได้ และเกิดความวุ่นวายในวันหน้าขึ้นอีก จึงฝากให้ทุกคนช่วยคิด ย้ำว่า วันนี้ทำเพื่อคนไทยทุกคน สื่อฯ ก็คือคนไทย และคนไทยก็บริโภคสื่อฯ วันนี้มีหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องบนโซเชียลมีเดีย ทำให้ประเทศเกิดปัญหา เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ จึงต้องดูแลเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
มีชัยแนะสื่อแจงเหตุผล หากไม่เห็นด้วย

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นเนื้อหาของรายงานฉบับดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผลักดันกฎหมายจะต้องอธิบายเหตุผลที่ต้องมีการออกใบอนุญาต ทั้งนี้ เห็นว่าแนวทางดังกล่าวไม่เป็นการครอบงำสื่อ เพราะว่าอาชีพอื่นๆ ในประเทศไทยก็มีใบอนุญาตจำนวนมาก เพื่อติดตามการปฏิบัติหน้าที่ว่าถูกต้องตามหลักวิชาชีพหรือไม่ ดังนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงเขียนว่าหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรมีระบบใบอนุญาต แต่ความเห็นส่วนตัวยังไม่สามารถตอบได้ว่าอาชีพสื่อสารมวลชนควรมีใบอนุญาตหรือไม่ เพียงแต่พูดตามหลักการเท่านั้น ดังนั้น สมาคมสื่อมวลชน ควรรวมตัวกันเพื่อชี้แจงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ควรมีใบอนุญาต

มีชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์ประกอบของกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่มีสัดส่วนกรรมการจากภาครัฐ 2 คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จากจำนวนกรรมการทั้งหมด 15คนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะตัวแทนของภาครัฐ ถือเป็นเสียงข้างน้อยในสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ทั้งนี้การที่เพิ่มตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาเป็นกรรมการด้วย ก็เพื่อไม่ให้คนในวิชาชีพกีดกันกันเองจนเปิดปัญหา อย่างไรก็ตาม หากสื่อมวลชนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็ต้องร่วมกันคิดหาเหตุผลโต้แย้งพร้อมเสนอแนวทางการกำกับดูแลกันเองของสื่อโดยที่คนนอกไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว



ที่มา : สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.