สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 16-22 เม.ย. 2560

Posted: 22 Apr 2017 01:58 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


ก.แรงงาน ย้ำผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

กระทรวงแรงงาน ย้ำผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องได้รับค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้านไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมเรียกร้องสิทธิ์ได้ที่หน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศ

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่มีประกาศคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน เรื่อง อัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา มีผลให้ผู้ว่าจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน ต้องจ่ายค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ โดยคำนวณได้จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหารด้วยจำนวนชิ้นงานเฉลี่ยที่ลูกจ้างทำได้ภายใน 8 ชั่วโมงทำงาน ทั้งนี้ จากระยะเวลาที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงขณะนี้ กสร. ยังไม่ได้รับแจ้งหรือรับคำร้องกรณีผู้ว่าจ้างไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ ดังกล่าว จึงขอประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับทราบสิทธิประโยชน์ของตน และผู้ว่าจ้างได้รับทราบและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน เรื่อง อัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน มีโทษปรับ ไม่เกิน 50,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่ได้รับค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้านตามอัตราที่กฎหมายกำหนดสามารถยื่นคำร้องได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 16/4/2560

แรงงาน เผยครึ่งปีแรกช่วยลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์กว่า 205 ล้านบาท จ่ายเงินสงเคราะห์ 19.2 ล้านบาท

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กสร. ดำเนินการคุ้มครองดูแลให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์จากการทำงานตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในรอบ ๖ เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้ตรวจคุ้มครองสิทธิลูกจ้างในสถานประกอบกิจการจำนวน ๑๙,๙๖๕ แห่ง ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองสิทธิ ๖๙๖,๖๖๘ คน โดยเป็นการตรวจคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ๑,๘๙๐ แห่ง ลูกจ้างต่างด้าวได้รับการคุ้มครอง ๕๙,๑๘๘ คน และตรวจคุ้มครองในสถานประกอบกิจการที่มีการใช้แรงงานเด็ก ๓๗๗ แห่ง ลูกจ้างได้รับการคุ้มครอง ๑,๓๗๗ คน และได้วินิจฉัยคำร้องและยุติคำร้องให้แก่ลูกจ้าง จำนวน ๗,๐๒๑ คน ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงิน ๒๐๕.๑๘๗๓ ล้านบาท

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กสร.ได้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือร้อนของลูกจ้างจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน ๑,๒๘๖ คน เป็นเงิน ๑๙.๒๓๓๘ ล้านบาท สำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงานหรือนายจ้างที่มีข้อสงสัยในการปฏิบัติตามกฎหมายติดต่อได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑ – ๑๐ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 16/4/2560

กฤษฎีกา เบรก ครรส.ชง ครม.เพิ่มเงินเดือนพนักงาน ธ.ก.ส.ชี้ขัดหลักความเป็นกลาง

มีรายงานสำนักงานคณะกรรการกฤษฎีกา ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่บันทึกเรื่องเสร็จที่ 377/2560 ของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่อง ปัญหาความเป็นกลางในคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) กรณีกรรมการฝ่ายลูกจ้างเป็นพนักงานขอรัฐวิสาหกิจที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณาให้คามเห็นชอบให้ปรับบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนและปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงาน

ภายหลังกรมสวัสดิการและคุมครองแรงงาน ได้ทำหนังสือหารือว่า กรณีดังกล่าวถือว่า กรรมการถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้เสนอเรื่องต่อ ครรส. เพื่อขอความเห็นชอบในการ ปรับบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนและปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงาน

ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่จะปรับปรุงสภาพการจ้างงานที่เกี่ยวกับการเงินที่อยู่เหนือนอกจากที่กำหนดในมาตรา 13 (2) (สภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินซึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอาจดำเนินการได้) จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครรส. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนที่จะดำเนินการได้

อย่างไรก็ตามปรากฏว่า การประชุม ครรส.เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2559 ปรากฏว่า มี นายเอกศักดิ์ เมืองแก้ว กรรมการฝ่ายลูกจ้างใน ครรส. ซึ่งเป็นพนักงาน ในธ.ก.ส. ร่วมประชุมอยู่ด้วย จะเป็นคู่กรณีหรือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ตามความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายแรงงาน กรมสวัสดิการและคุมครองแรงงาน 2 ฝ่าย ระบุว่า ฝ่ายแรก มติ ครรส. เป็นคำสั่งทางปกครอง เนื่องจากการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบของ ครรส. มีผลกระทบต่อการปรับบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือน ฯ ของพนักงาน ธ.ก.ส. หาก ครรส. ไม่ให้ความเห็นชอบ ย่อมไม่สามารถส่งเรื่องให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบได้ จึงกระทบสิทธิต่อพนักงาน ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า มติ ครรส. ยังไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง แต่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการพิจารณาที่จะนำปสู่การมีคำสั่งทางปกครอง มติ ครรส.ยังไม่มีผลกระทบต่อสิทธิพนักงาน ธ.ก.ส. โดยตรง เพราะแม้ว่า ครรส.จะมีมติเห็นชอบแล้ว แต่ต้องเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป รัฐวิสาหกิจจึงจะดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินได้ ขณะที่กรมสวัสดิการและคุมครองแรงงาน มีมติว่า กรณีมติของ ครรส. ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ทำให้กรณีของนายเอกศักดิ์ จึงถือว่า มีส่วนได้ส่วนเสียตามาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และไม่สามารถอยู่ในที่ประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและลงมติได้

มีรายงานว่า คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ในสำนักงานคณะกรรการกฤษฎีกา มีความเห็นในประเด็นว่า ตามาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กำหนดว่า วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะคำสั่งทางปกครอง จึงมิใช่บังคับแก่การออกกฎ สำหรับการปรับบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนและปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงาน ธ.ก.ส. นั้น จะต้องกระทำโดยการแกข้อบังคับ ธ.ก.ส. ฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ธ.ก.ส. ว่าด้วยอัตราตำแหน่งและเงินเดือนสำหรับพนักงานอันเป็นการดำเนินการที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปแก่พนักงาน ธ.ก.ส.มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ จงมีลักษณะเป็นกฎตามาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

“ดังนั้น การที่ ครรส. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ปรับบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนและปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงาน ก่อนนำเสนอ ครม. เพื่อมีมติให้คามเห็นชอบตามกำหนดในมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 อันเป็นขั้นตอนการเตรียมการและการดำเนินการเพื่อออกกฎ ขึงไม่อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งรวมถึงบทบัญญัติมาตรา 13 ที่กำหนดเหตุต้องห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ทำการพิจารณาทางปกครองด้วย"

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการพิจารณาของ ครรส. ในกรณีดังกล่าวจะไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎระเบียบข้อบังคับอื่นใดที่ห้ามมิให้กรรมการใน ครรส.ทำการพิจารณาเรื่องที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่โดยหลักการความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเป็น “หลักกฎหมายทั่วไป" ที่ผูกพันการดำเนินการทั้งปวงของฝ่ายปกครอง ไม่เฉพาะแต่การดำเนินการในส่วนที่เป็นการพิจารณาเพื่อออกคำสั่งทางปกครองเท่านั้น กรณีของนายเอกศักดิ์ จึงอยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากการปรับบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนและปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงาน ธ.ก.ส. จึงขัดต่อหลักความเป็นกลางตามหลักกฏหมายวิธีสบัญญัติทั่วไปที่ห้ามมิให้บุคคลพิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นกรณีนี้นายเอกศักดิ์ จึงไม่ควรเข้าร่วมประชุม ครรส. เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16/4/2560

เป้า 5 ปีผลิตแรงงาน 2.3 ล้านคนป้อนระเบียง ศก.ตะวันออก

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor--EEC) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก รองรับการเป็นฐานการผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) นั้น กพร. ได้วางแผนระยะยาวระหว่างปี 2560-2564 ในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับการเติบโตของ EEC

โดยในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร เช่น ลงนามความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) จัดทำโครงการฝึกอบรมทักษะอาชีพระยะสั้น โดยนำนักศึกษาอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 โดยฝึกอบรมในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถานประกอบกิจการ ในระหว่างปิดภาคเรียนเพื่อพัฒนาแรงงานใหม่ร่วมกับสถานศึกษาระดับอาชีวะในพื้นที่ 3 จังหวัดให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการทำงานตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการ ขยายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 3 จังหวัด เพิ่มเติม และขยายการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรมในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า แผนการดำเนินการข้างต้นเป็นการต่อยอดจาก 6 เดือนแรกที่ได้มีการดำเนินการแล้วหลายด้าน อาทิ จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy --MARA) ใน 3 จังหวัด ได้มีการดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับแรงงานในพื้นที่เป็นจำนวน 429,532 คน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับภาคการศึกษาและภาคเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันไทย-เยอรมัน และกลุ่มบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) และสถานประกอบกิจการในเขตนิคมอุตสาหกรรม 500 แห่ง จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรมเหมราช (ระยอง) เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมให้แก่แรงงานในสาขายานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ทักษะและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับบุคลากรในสถานประกอบกิจการ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งแรงงานได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือที่ได้มาตรฐาน ดำเนินการพัฒนาในพื้นที่ไปแล้ว 104,549 คน เกินกว่าเป้าหมาย 100,000 คน

นอกจากนี้ ยังจัดตั้ง TVET AUTOMOTIVE HUB ณ MARA ชลบุรี โดยร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชีย และสถาบันยานยนต์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากร และพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกับความต้องการแรงงาน จากแผนและการดำเนินการต่างๆ ที่ได้กล่าวมา เชื่อได้ว่าในช่วงระหว่างปี2560-2564 จะมีการผลิตแรงงานฝีมือป้อนพื้นที่ได้ถึง 2,330,000 คน เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC สู่ ไทยแลนด์ 4.0

ที่มา: คมชัดลึก, 17/4/2560

ห้ามหมออนามัยหญิงให้บริการยามวิกาล

กรณีเจ้าหน้าที่หญิงประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.)แห่งหนึ่งในจ.บึงกาฬ ที่ให้บริการเวรนอกเวลาที่รพ.สต. โดนคนร้ายทำทีมารับบริการที่รพ.สต. และได้ทำร้ายร่างกายและพยายามข่มขืน ตอนนี้เข้ารักษาตัวที่รพ.แล้ว และจับคนร้ายได้แล้ว เป็นเยาวชนในพื้นที่

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) บึงกาฬ ถึงเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ประจำรพ.สต.แห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดถูกคนร้ายทำทีมารับบริการ ทำร้ายร่างกายและพยายามล่วงละเมิดทางเพศ เหตุเกิดเมื่อเวลา 21.30 คืนวันที่ 15 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา โดยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ.ได้แสดงความห่วงใย กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬเยียวยาและดูแลด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำเรื่องดูแลความปลอดภัยของสถานที่ราชการ การวางระบบบริหารความเสี่ยง การพร้อมให้ความช่วยเหลือที่ห้องฉุกเฉินในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ

“สธ.มีหน่วยบริการหมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศที่พร้อมให้การดูแลด้านการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนผู้เดือดร้อนตลอด 24 ชั่วโมง แต่จากการที่เจ้าหน้าที่ของเราถูกกระทำในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขคงต้องปรับระบบบริการในสถานบริการโดยเฉพาะ รพ.สต. เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่และผู้บริหารทุกคนทราบเรื่องรู้สึกเสียใจ และจะให้การช่วยเหลือเยียวยาเต็มที่ ส่วนเรื่องคดีมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแล” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

เบื้องต้น ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ให้กระทบกับผู้ป่วยที่มารับบริการ ให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง กรณี มีผู้มาขอรับบริการในยามวิกาลให้พิจารณาตามความเหมาะสมคำนึงถึงความปลอดภัยและขอให้ลงมาช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นทีม

ด้าน นพ.วิศณุ วิทยาบำรุง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ได้สั่งเพิ่มมาตรการความปลอดภัยกรณีมีผู้ป่วยมาขอรับบริการฉุกเฉิน นอกเวลาทำการ ดังนี้ 1.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับบริการหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือทางหมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24ชั่วโมง 2.ถ้าจำเป็นต้องตามเจ้าหน้าที่ที่บ้านพัก ให้ตามได้เฉพาะบ้านพักที่มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายอยู่เท่านั้น 3.ถ้าจำเป็นต้องลงมาให้บริการผู้ป่วยต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่คนอื่นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ชายให้ลงมาช่วย และต้องแจ้ง ผู้อำนวยการ รพ.สต.ด้วย 4.ให้ผู้อำนวยการ รพ.สต. และสาธารณสุขอำเภอประสานกับสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ ในการให้มาตั้งตู้เช็คเหตุการณ์หน้า รพ.สต. และ5.ห้ามเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่เป็นผู้หญิงลงมาให้บริการดูแลรักษานอกเวลาเวรโดยเฉพาะยามวิกาล

ทั้งนี้ ได้กำชับให้สาธารณสุขอำเภอและผู้อำนวยการ รพ.สต. ทุกแห่งช่วยดูแลและสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยกรณีมีผู้ป่วยมาขอรับบริการฉุกเฉิน นอกเวลาทำการรวมทั้งจะหารือกับสาธารณสุขอำเภอและผู้อำนวยการ รพ.สต.ทั่วประเทศต่อไป เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการเพิ่มเติม พร้อมจัดระบบที่จะดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต.ให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นต่อไป อาทิ การจัดเจ้าหน้าที่ผู้ชายอยู่เวรนอกเวลาทำการ การติดตั้งกล้องวงจรปิด การจัดให้มีเวรรักษาความปลอดภัยที่เป็นชายนอนเฝ้าสถานที่เป็นประจำ การออกนอกสถานที่ เพื่อให้บริการยามวิกาล และออกชุมชน และที่สำคัญคือการสร้างเครือข่าย อสม.เข้มแข็งเครือข่ายผู้นำชุมชนที่ดี

ที่มา: คมชัดลึก, 17/4/2560

59 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เปิดรับสมัครหนุ่มสาวโรงงาน 6.5 พันอัตรา

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการทั้งหมด 59 นิคม กระจายอยู่ใน 18 จังหวัด (ที่มา: การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) โดยนิคมอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้นๆ มีการจัดสรรการอยู่รวมกันอย่างเป็นสัดส่วน ซึ่งจะประกอบไปด้วยพื้นที่อุตสาหกรรม สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการแบบครบครัน รวมถึงยังมีบริการอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนการจ้างแรงงานทั้งในนิคมฯ และบริเวณรอบนิคมฯ เป็นจำนวนมาก

นางสาวแสงเดือนกล่าวอีกว่า จ๊อบไทยดอทคอมจึงเปิดข้อมูลนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยที่มีการเปิดรับตำแหน่งงานมากที่สุด 5 อันดับ ดังนี้ 1.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี จำนวน 792 อัตรา อาทิ งานวิศวกรรม งานขาย งานบัญชี-การเงิน งานเทคนิค-ซ่อมบำรุง ฯลฯ 2.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง จำนวน 419 อัตรา อาทิ งานผลิต-ควบคุมคุณภาพ งานวิศวกรรม งานบุคคล-ฝึกอบรม งานเทคนิค-ซ่อมบำรุง ฯลฯ 3.นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง จำนวน 393 อัตรา อาทิ งานเทคนิค-ซ่อมบำรุง งานวิศวกรรม งานคลังสินค้า-โลจิสติกส์ งานเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม (จป.)-สิ่งแวดล้อม ฯลฯ 4.นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 381 อัตรา อาทิ งานผลิต-ควบคุมคุณภาพ งานขาย งานเทคนิค-ซ่อมบำรุง งานวิทยาศาสตร์-วิจัยพัฒนา ฯลฯ และ 5.นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 323 อัตรา อาทิ งานวิศวกรรม งานคอมพิวเตอร์-โปรแกรมเมอร์ งานเทคนิค-ซ่อมบำรุง งานจัดซื้อ-ประสานงานทั่วไป ฯลฯ

นางสาวแสงเดือนกล่าวและว่า “ภาพรวมเผยให้เห็นดีมานด์งานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย ที่รอให้แรงงานเข้าไปทำงานอีกมากกว่า 6,500 อัตรา โดยมีประเภทงานที่เปิดรับสมัครมากที่สุดคือ งานผลิต-ควบคุมคุณภาพ 1,562 อัตรา งานช่างเทคนิค-ซ่อมบำรุง 1,358 อัตรา งานวิศวกรรม 1,090 อัตรา งานขาย 310 อัตรา และงานคลังสินค้า-โลจิสติกส์ 248 อัตรา ตามลำดับ” ทั้งนี้ จ๊อบไทยดอทคอมมีบริการพิเศษ Industrial Estate Job Locator ระบบค้นหางานแบบเจาะลึกในเขตนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมและผู้หางาน โดยผู้ใช้บริการสามารถระบุจังหวัด สายอาชีพ และประเภทธุรกิจที่ต้องการค้นหาได้ โดยสามารถเข้าไปที่ www.jobthai.com

ที่มา: เส้นทางเศรษฐี, 17/4/2560

นักวิจัยแฉมีระบบ “นายหน้า” รับเป็น “นายจ้างเก๊” แรงงานข้ามชาติ กระทบไม่ซื้อบัตรประกันสุขภาพเหตุค่าใช้จ่ายสูง

นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวทางจัดระบบสุขภาพของรัฐเพื่อดูแลสิทธิสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ รัฐบาลพยายามจัดระบบโดยผ่านการซื้อบัตรประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ถ้าดูในต่างประเทศหลายแห่งก็จะทำเหมือนกัน เพื่อเอาคนเข้าสู่ระบบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดี

นโยบาย One Stop Service มีข้อดี คือ พยายามลดขั้นตอนทั้งหลาย ให้ทุกอย่างอยู่ในที่ๆ เดียวกัน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาภาพใหญ่ได้ โดยฉพาะเรื่องที่ว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในไทย ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบอย่างที่เข้าใจ ประเด็นนี้รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบ และก็น่าสังเกตว่า คำว่าแรงงานหมายถึงใคร คนที่ทำงานในระบบหรือนอกระบบ ซึ่งถ้าเป็นแรงงานในระบบ ก็สามารถติดตามหาคนเหล่านี้ได้ง่ายว่าอยู่ที่ไหน แต่ถ้าเป็นแรงงานนอกระบบจะติดตามเขายาก ซึ่งที่ผ่านมาเรากำหนดให้แรงงานต้องมีนายจ้าง จึงเข้าสู่การประกันสุขภาพ

เมื่อแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีนายจ้างแน่นอน ก็จะเกิดปัญหามีนายหน้าตามมา เพื่อจะพยายามลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ ทำให้ค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนสูงขึ้นไปอีกจากระบบนายหน้า แรงงานข้ามชาติเองก็อาจถูกเอาเปรียบ ค่าใช้จ่ายที่สูงก็ทำให้คนหลีกเลี่ยงการซื้อบัตรประกันสุขภาพ โรงพยาบาลส่วนหนึ่งก็ขายบัตรไม่ออก หรือ ขายได้น้อย พอคนจะมาซื้อบัตรก็เป็นคนป่วยมากๆแล้ว ก็พาลไม่อยากขายบัตรเข้าไปอีกเพราะกลัวความเสี่ยงทางการเงินของสถานพยาบาล

“พอ คสช. มีนโยบายหนักๆ มาที มันก็มีปัญหาเรื่องนายหน้าเยอะ เพราะแรงงานนอกระบบเขาไม่อยากซื้อบัตร เนื่องจากเขาไม่มีนายจ้างชัดเจน เขากลัวว่า จะถูกจับและถูกส่งกลับประเทศ เขาก็เลยต้องพยายามซื้อบัตรประกัน และก็ต้องไปหานายหน้า ถ้ารายใดไม่มี ก็ต้องไปหานายจ้างปลอม มันก็จะเปิดช่องให้นายหน้าที่ไม่ดี สามารถที่จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้”นพ.ระพีพงศ์กล่าว

นพ.ระพีพงศ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาข้อเสนอ คือ 1.อาจต้องถอดบทเรียนจากต่างประเทศ ซึ่งบางแห่งเขาพยายามแยกประเด็นเรื่อง การประกันสุขภาพ กับเรื่องแรงงานออกจากกัน เพราะบางทีไปผูกกันมากเกินไป จึงกลายเป็นว่า แรงงานข้ามชาติจะมีประกันสุขภาพได้ ก็ต้องมีใบอนุญาตทำงานเท่านั้น การประกันสุขภาพอาจผูกติดกับถิ่นที่อยู่ที่ลงทะเบียนและอาศัยอยู่จริงแทน ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันก็น่าที่จะทำได้

2.ในเมื่อสธ.เป็นคนควบคุมนโยบายนี้ อาจต้องมีกรอบบางอย่างว่า นโยบายจากส่วนกลางที่ให้พื้นที่ปฏิบัติ สิ่งไหนที่ต้องทำ หรือ เรื่องไหนที่สามารถอะลุ้มอะล่วยให้ปรับเข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ได้ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติของการดำเนินนโยบาย และเป็นทุกนโยบาย นั่นคือ นโยบายจากส่วนกลางอาจถูกบิด หรือปรับ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เมื่อลงสู่พื้นที่ เช่น ถ้ามีคนป่วยมาซื้อบัตรประกันสุขภาพ แม้ไม่ป่วยเป็นโรคต้องห้าม ป่วยแค่ไหนถึงจะให้ซื้อได้ หรือซื้อไม่ได้ หรืออย่างไรก็ให้อย่างไรก็ให้ขายบัตรทุกราย

3.ถ้าสธ.จะช่วยแก้ปัญหา ก็น่าจะต้องทำศูนย์ที่เข้มแข็งกว่านี้ กลุ่มประกันสุขภาพที่มีอยู่ก็มีข้อจำกัด เช่น ต้องมีคู่สายให้เขาติดต่อเพิ่มขึ้น ติดต่อได้24ชั่วโมง เพราะถ้าสายเดียวเหมือนในปัจจุบันมันไม่เพียงพออยู่แล้ว เพื่อให้พื้นที่ปรึกษาได้อย่างทันท่วงทีว่า กรณีแบบนี้จะจัดการอย่างไร ส่วนกลางช่วยตัดสินใจ ระบบที่ว่านี้อาจคล้ายฮอตไลน์ของ สปสช. สายด่วน1330และไม่ใช่เฉพาะผู้ให้บริการแต่ผู้รับบริการก็สามารถร้องเรียนเข้ามาด้วย ซึ่งก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพการบริการไปในตัว และหากเกิดปัญหา ผู้ให้และผู้รับบริการก็ไม่ต้องไปพยายามเข้าร้องเรียนสื่ออย่างเดียวแบบในอดีต

4.ต้องมีแผนสำรองให้กับผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาล คือ ต้องไม่ให้ผู้ให้บริการรู้สึกว่า ตัวเองได้รับความกดดันทางเงินมากเกินไป มิฉะนั้น ผู้ให้บริการก็พูดได้เสมอว่า สถานพยาบาลขาดทุนเพราะขายประกันสุขภาพกับแรงงานข้ามชาติไม่ออก ถ้าจะให้งบสนับสนุน ก็ค่อยมาพิจารณาว่างบนั้นมาจากไหน จากตัวบัตรเองที่เกลี่ยมาจากโรงพยาบาลอื่นที่ได้กำไร หรือเป็นงบประมาณกลางเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความตกลงและความพร้อมในเชิงนโยบาย ว่าจะพร้อมสนับสนุนเพียงใด เช่น อาจจำกัดเฉพาะโรคที่เป็นภัยทางสาธารณสุข หรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินร้ายแรงก่อนก็ได้ ซึ่งในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ก็พัฒนาระบบในลักษณะนี้มาแล้ว

“ผมไม่อยากเห็นข่าวทุก2-3เดือน ที่ว่า โรงพยาบาลไม่อยากขายประกันสุขภาพเพราะขายแล้วขาดทุน เสร็จแล้วคนข้ามชาติร้องเรียน ก็เปิดขาย แล้วก็ขาดทุน แล้วก็ร้องเรียน แล้วไงต่อ อีก2เดือนก็มีข่าวแบบนี้วนไปมา แล้วทำไมต้องไปผ่านสื่อ ถ้าเรามีกลไกอย่างนี้ มันก็บรรเทาลง ”นพ.ระพีพงศ์ กล่าว

นพ.ระพีพงศ์ กล่าวถึงกรณีบุคลากรสาธารณสุขหน้างานที่ให้การรักษาแรงงานข้ามชาติ อาจมีความไม่เข้าใจในการปฏิบัติ จึงทำให้มีปัญหาบางครั้งว่า การดำเนินนโยบายแรงงานข้ามชาติไม่อยากให้เป๊ะ คือ อยากให้พื้นที่ได้ปรับตัวให้กับสถานการณ์ในพื้นที่ เช่น ต่อให้โรงพยาบาลขายบัตรประกันสุขภาพทุกคน แต่ก็เจอปัญหานายจ้างปลอมกดดัน หรือโรงพยาบาลขอขายเฉพาะคนที่สุขภาพแข็งแรงได้ไหม เพราะโรงพยาบาลก็ต้องอยู่รอดด้วย ถามว่าเรื่องนี้เป็นความผิดของผู้ให้บริการหรือไม่ มันก็พูดได้ไม่เต็มปาก เขาก็ต้องบอกว่า มันเป็นความอยู่รอดของเขา ดังนั้น ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่า ความไม่เข้าใจ แต่โรงพยาบาลเขาต้องทำอย่างนั้น

ที่มา: คมชัดลึก, 17/4/2560

กลุ่มบริษัท รปภ.ขนาดเล็ก 25 บริษัท ภาคตะวันออก ร้องชะลอ กฎหมาย รปภ. 1 ปี


เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ศูนย์บริการปนะชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่งกพ.) นายภูมิพัฒน์ สุคนธราช หัวหน้ากลุ่มบริษัท รปภ.ขนาดเล็ก25 บริษัท ภาคตะวันออก พร้อมกลุ่ม เดินทางมายื่นหนังสือ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ชะลอการบังคับ ใช้พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ออกไป1 ปี

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ทำให้ รปภ. เอกชนเดือดร้อนมาก และกลัวติดคุก เพราะไม่มีใบอนุญาติ จึงทยอยกันลาออก เพราะว่ารปภ.ที่ต้องทำงานต้ฝึกอบรมตามมาตรา 34 แต่สถานฝึกอบรม อยู่ในต่างจังหวัด ไม่มีในเขต กทม. จึงไม่สามารถไปฝึกได้ บางคนเป็นเกษตรกร เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวก็มาทำงานอาชีพเสริมประทังชีพ เป็นรปภ. แต่มาอบรมต้องเสียเบิน 2,500 บาท แต่บางคนไม่มีเงินก็มาเป็นรปภ. โดยไม่ได้รับการอนุญาต จึงเป็นความเดือดร้อนอย่างมาก ดังนั้นพวกตนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วยบรรเทความเดือดร้อนของพวกรากหญ้าที่อยากทำงานรักษาความปลอดภัย โดยอยากให้ชะลอออกการบังคับใช้ไป 1 ปี

นายภูมิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันสถานที่ฝึกอบรมก็อยากให้จัดโดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยไม่อยากให้เสียค่าใช้จ่าย ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา44 แก้ไขปัญหาให้ศูนย์พัฒนาฝีมืออบรมรปภ.ได้ฟรี จะช่วยประชาชนนอกภาคการเกษตรได้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/4/2560

สหภาพการบินไทยร้อง สปท.ตรวจสอบบอร์ดไม่โปร่งใส


สหภาพการบินไทยขอสปท.ตรวจสอบบอร์ดบริหารงานไม่โปร่งใส ขณะที่กรรมาธิการแนะ ยื่นนายกรัฐมนตรีและกรธ.เพิ่มบทบัญญัติกฎหมายลูกให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจแจ้งบัญชีทรัพย์สิน

นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เข้าร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารงานไม่โปร่งใสของคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไก ในการปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยสหภาพฯต้องการให้ตรวจสอบการซื้อขายเครื่องบินและการจัดทำบัญชีไม่โปร่งใส รวมถึงการจัดซื้อน้ำมันแพงกว่าราคาท้องตลาด ซึ่งถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุนทางการเมือง

สหภาพฯ ชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า การจัดซื้อเครื่องบินรุ่นที่ คณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทราบดีอยู่แล้วว่า ไม่คุ้มทุนถึง 37 ลำ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้งยังจำหน่ายเครื่องบินที่มีอายุการใช้งาน แล้วนำมาจอดเพื่อรอการขาย ทำให้ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงกว่า 1,500 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่องหลายปี ซึ่งมองได้ว่ากลุ่มทุนทางการเมืองมีความต้องการล้มบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริษัทอื่นเข้ามาบริหาร และในขณะนี้ผู้บริหารยังมีความพยายามจัดซื้อเครื่องบินรุ่นเดียวกันอีก 38 ลำทั้งที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติยกเลิกการจัดซื้อเครื่องบินรอบ 2 ไปแล้วด้วย

ทั้งนี้ กรรมาธิการ ได้รับเรื่องไว้พิจารณาพร้อมยืนยันว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่มีแนวคิดให้บริษัทอื่นเข้ามาบริหารแทนบริษัทการบินไทย และแนะนำสหภาพฯว่าให้ยื่นเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย เพราะขณะนี้ป.ป.ช.กำลังศึกษาเรื่องสินบนข้ามชาติอยู่ รวมทั้งให้ยื่นต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขอให้เพิ่มบทบัญญัติในกฎหมายลูกว่าด้วยป.ป.ช.ว่าให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิ้นเช่นเดียวกับนักการเมือง พร้อมยื่นให้นายกรัฐมนตรี กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างในบริษัทการบินไทยต้องมีการประกวดราคา เพราะในปัจจุบันบริษัทการบินไทย ตั้งบริษัทกลางที่เป็นของต่างชาติเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่มีการประกวดราคา

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 19/4/2560

เผย 'พนักงานระดับต้น-กลาง' ในธนาคารไทยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง


จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งอ้างอิงจากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2553 พบว่าไทยมีประชากรรวม 65 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 33.3 ล้านคน และผู้ชาย 32.1 ล้านคน เมื่อคิดเป็นสัดส่วน ก็เท่ากับประเทศเรามีผู้หญิงร้อยละ 51 ผู้ชายร้อยละ 49 ต่างจากประเทศที่นิยมการมีลูกชายอย่างมาก เช่นอินเดียและจีน ซึ่งมีสัดส่วนประชากรชายมากกว่าหญิงอย่างชัดเจน

แต่แม้ว่าเราจะมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ก็ยังน่าแปลกใจเมื่อมาดูสัดส่วนของผู้ที่ทำงานธนาคารในประเทศไทย เพราะมีสัดส่วนของผู้หญิงสูงกว่าชายมาก เช่นธนาคารกรุงเทพ ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปีที่แล้วรับพนักงานใหม่ 2,020 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงถึงร้อยละ 73 และสัดส่วนลูกจ้างหญิงในองค์กรก็มากถึงร้อยละ 66 จากพนักงานกว่า 25,000 คน

ที่น่าดีใจยิ่งกว่านั้น ก็คือผู้หญิงไทยไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่ในตำแหน่งงานระดับล่างเท่านั้น เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาโอลิเวอร์ ไวแมน จัดอันดับอัตราส่วนของผู้บริหารหญิงทั่วโลก พบว่าไทยมีผู้บริหารหญิงคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ในภาคการเงิน ซึ่งมากที่สุดในบรรดาประเทศเอเชีย นอกจากนี้ แรงงานในตลาดแรงงานไทยที่จบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป เกินครึ่งยังเป็นผู้หญิง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเรียนต่อปริญญาตรีของผู้หญิง ที่มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 57 สูงกว่าชายถึงเกือบร้อยละ 20

คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการหญิงคนแรกของธนาคารกสิกรไทย ยืนยันว่าธนาคารไม่ได้มีนโยบายเลือกปฏิบัติทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นต่อผู้ชายหรือผู้หญิง การที่มีผู้หญิงทำงานในธนาคารมาก ก็เป็นเพราะประชากรผู้หญิงในไทยมีมาก บวกกับผู้ชายอาจจะชอบทำงานชนิดอื่น เช่นการเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ เช่นเดียวกับคุณรัชนี นพเมือง รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ที่นอกจากจะยืนยันว่าธนาคารไม่ได้มีนโยบายเลือกรับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ยังแสดงความกังวลว่าลูกจ้างหญิงที่มีมากเกินไป มีปัญหาต่อการขยายสาขาในต่างจังหวัด เพราะผู้ชายจะทำงานที่ต้องเดินทางและออกไปพบลูกค้าได้สะดวกกว่าผู้หญิงที่อาจมีภาระเรื่องลูกและสามี

ศาสตราจารย์ทาคาฮิโระ คาตายามะ ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซนันกาคุอินในญี่ปุ่น ระบุว่าเหตุที่ผู้หญิงไทยทำงานนอกบ้านมาก อาจเป็นเพราะสังคมไทยคาดหวังให้ผู้หญิงหาเงินเข้าบ้าน ขณะที่ผู้ชายจะนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียง รวมถึงสามารถบวชเพื่อทดทนคุณพ่อแม่ได้ ส่วนการที่ภาคการธนาคารมีผู้หญิงทำงานมาก ก็น่าจะเป็นผลมาจากทัศนติที่ว่าผู้หญิงมักมีพรสวรรค์ด้านบัญชีและการเงิน เพราะมีความละเอียดรอบคอบกว่าผู้ชาย นอกจากนี้งานธนาคารยังเป็นงานที่ไม่เสี่ยงภัยและไม่ใช้แรง จึงเป็นงานที่ผู้หญิงเลือกทำมากกว่า

การที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิเสรีภาพทางเพศ ทำให้หญิงไทยไม่ต้องพึ่งพาครอบครัวและสามี แต่ปัญหาแรงงานหญิงมากกว่าชายในไทย ส่งผลกระทบต่อภาวะสังคมสูงวัยด้วยในทางอ้อม เนื่องจากการที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มจะมีครอบครัวและมีลูกน้อยลง เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และความก้าวหน้าในอาชีพ

ในยุคนี้ การหาทางให้ผู้หญิงกลับไปอยู่บ้านเพื่อทำหน้าที่เลี้ยงลูก เพิ่มจำนวนประชากรผู้เสียภาษี คงเป็นเรื่องที่ยากจะเป็นไปได้ และไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะผู้หญิงก็เป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เห็นได้จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อลบธรรมเนียมการให้ผู้หญิงที่แต่งงานมีลูกแล้ว เป็นแม่บ้าน เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานสู้กับภาวะสังคมสูงวัยขั้นสมบูรณ์ที่กำลังจะมาถึง

หนทางที่รัฐบาลไทยต้องทำเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนประชากร จึงไม่ใช่การให้ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูก แต่เป็นการเพิ่มสวัสดิการเพื่อจูงใจให้การมีลูกและทำงาน สามารถไปด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้บริษัทมีเดย์แคร์สำหรับดูแลเด็กในที่ทำงาน หรือการเพิ่มสิทธิลาคลอด ลาเลี้ยงดูบุตรให้กับพนักงาน

ที่มา: ว๊อยซ์ทีวี, 19/4/2560

เล็งพัฒนาชุมชนแรงงานต่างด้าว เริ่มจาก สมุทรสาคร-ระยอง


เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วันชนะ สวัสดี ทีมงานโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหมเป็นประธานว่า ที่ผ่านมาในที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าว ก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน เช่น เรื่องอาชญากรรม สาธารณสุข ขยะและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะจัดระเบียบที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ โดยลักษณะแรกเป็นการจัดระเบียบชุมชนที่มีอยู่เดิม ส่วนลักษณะที่สอง เป็นการจัดที่อยู่ให้ใหม่ แต่ทางเราจะเริ่มจัดในลักณะแบบแรกก่อน เพราะทำได้ง่ายกว่า โดยคำนึงถึงงานด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม

"สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการ ทางกระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมกันตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. และ 5 เม.ย. และได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย เล็งไว้ว่า จะเริ่มทำที่จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดระนองก่อน เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว แรงงานต่างด้าวเขาจะมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความปลอดภัยมากขึ้น มีการสาธารณสุขที่ดี และยังส่งผลเรื่องของภาพลักษณ์ที่ดีต่อนานาชาติ ในเรื่องของการดูแลแรงงานต่างด้าว แต่การจัดการเรื่องนี้ จะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงด้วยกัน ที่ประชุมจึงสั่งการให้ทุกกระทรวงมีการบูรณาการกันอย่างต่อเนื่อง" พ.อ. วันชนะ กล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 19/4/2560

แม่สอดเตรียมออกบัตร E-work Permit เป็นแห่งแรก


รมว.แรงงาน เตรียมลงพื้นที่แม่สอด ติดตามผลการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน ของจังหวัดตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ พร้อมรับฟังประเด็นปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมก่อนนำร่องออกบัตร E-work Permit ให้แรงงานต่างด้าวเป็นแห่งแรก

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันที่ 21 เมษายนนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะจะลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ติดตามผลการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านโลจิสติกส์และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก/ตะวันตก (East - West Economic Corridor : EWEC) ตามนโยบายรัฐบาล

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ช่วงเช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะได้รับฟังประเด็นปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นจะได้มอบแนวทางการปฏิบัติราชการแก่หัวหน้าส่วนราชการภูมิภาคในสังกัดกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย จังหวัดตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ส่วนช่วงบ่ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะจะได้เยี่ยมชมกิจการและให้กำลังใจแรงงานในสถานประกอบกิจการ รวมทั้งตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดตาก ศูนย์เบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคงจังหวัดตาก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้จะทำการตรวจสอบความพร้อมของระบบก่อนดำเนินการออกบัตร E-work Permit ให้แรงงานต่างด้าว เพื่อลดขั้นตอน และอำนวยความสะดวก ซึ่งจะนำร่องเป็นแห่งแรกอีกด้วย

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมแรงงานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานกึ่งฝีมือจำนวนมากในพื้นที่ เนื่องจากจังหวัดตากตั้งอยู่บนเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก หรือ EWEC รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์และการท่องเที่ยวให้กับจังหวัด ที่มีจุดเด่นด้านการค้าชายแดนอยู่แล้ว" นายอนันต์ชัยกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/4/2560

ก.แรงงาน เล็งเพิ่มพื้นที่ให้แรงงานต่างด้าวทำงานแบบไปกลับได้ ในจังหวัดไม่ติดชายแดน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร

(20 เม.ย.) นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) ซึ่งมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 - 2564 และจัดตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 - 2564 เพื่อมาขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ รวมทั้งยังมีการพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรหรือแรงงานตามฤดูกาล ในจังหวัดที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ประชุมเห็นว่าควรเพิ่มรายชื่อจังหวัดที่มีความจำเป็นด้วย เช่น ระยอง ปราจีนบุรี และ ลำพูน เพื่อให้แรงงานที่ได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 14 สามารถเดินทางไปทำงานได้ในลักษณะตามฤดูกาล แต่ในที่ประชุมยังมีข้อห่วงใยเรื่องความมั่นคง เนื่องจากเป็นแรงงานที่ไม่มีหนังสือเดินทาง แต่ใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวเข้ามาทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) พิจารณาอีกครั้งใน พ.ค. นี้ หากได้รับความเห็นชอบจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

“เดิมอนุญาตให้ทำงานในท้องที่ตามความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดน หรือการเดินทางข้ามแดน หรือการข้ามแดนระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และท้องที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่ในข้อเท็จจริงยังมีความต้องการแรงงานในจังหวัดอื่นๆ ที่ต่อเนื่องกับจังหวัดที่ติดชายแดน ซึ่งเป็นงานประเภทเดียวกัน ได้แก่ แรงงานเก็บผลไม้ ตัดอ้อย เก็บสับปะรด เป็นต้น” นายวรานนท์ กล่าว

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กฎกระทรวงว่าด้วยการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาตและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ใบอนุญาตทำงานในรูปแบบ E - Work Permit จะเป็นใบอนุญาตทำงานที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบบัตรพลาสติก หรือสมาร์ทการ์ด ซึ่งง่ายต่อการพกพา มีระบบป้องกันในการปลอมแปลง และง่ายในการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่สามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนตรวจสอบจาก QR Code ที่ปรากฏบนบัตร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวได้เป็นอย่างดี ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลตางประเทศ (MOU) โดยจะได้รับใบอนุญาตทำงานแบบ E - Work Permit ภายใน เม.ย. นี้ ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดสระแก้ว หนองคาย และ ตาก ซึ่งจะนำร่องในจังหวัดตากเป็นแห่งแรก เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว สำหรับแรงงาน MOU ที่ได้รับใบอนุญาตทำงานแบบเดิม เมื่อมาขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน จะได้รับใบอนุญาตทำงานแบบ E - Work Permit เช่นกัน

นายวรานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2560 ซึ่งมีแรงงานยื่นขออนุญาตทั้งหมด 107,908 คน และขณะนี้เดินทางกลับมาแล้ว 47,556 คน ซึ่งเมื่อครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2560 หากแรงงานต่างด้าวยังไม่เดินทางกลับมาและต้องการเข้ามาทำงานใหม่ จะต้องขออนุญาตเข้ามาอย่างถูกต้องโดยใช้หนังสือเดินทางเท่านั้น ทั้งนี้ หลังวันที่ 30 เม.ย. จะมีการตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวกับนายจ้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบทำงาน หากตรวจพบว่านายจ้าง จ้างแรงงานต่างด้าวที่กลับมาทำงานหลังผ่อนผัน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่า ร่าง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ... ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะการปรับในอัตราโทษสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายใหม่ โดยโทษปรับเริ่มตั้งแต่ 400,000 บาทจนถึง 800,000 บาท แต่หากมีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 800,000 - 2 ล้านบาท

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20/4/2560

ก.แรงงาน จับมือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) พัฒนา GLP สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีลูกจ้างประมงและอาหารทะเล

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศจัดประชุมคณะทำงานโครงการการแก้ไขปัญหารูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงทะเล ประกอบด้วยผู้แทนจากสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จำนวน 50 คน พัฒนาแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล ในวันที่ 20 เมษายน 2560 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมฯว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานนอกจากจะส่งโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงานแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับปรุงแก้ไขและบังคับใช้กฎหมาย การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาตามกลไกประชารัฐ ในส่วนกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงาน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับนายจ้าง ลูกจ้างในเรื่องสิทธิหน้าที่และการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานรวมถึงการตรวจบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการดำเนินการดังกล่าว คือการส่งเสริมให้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน ทั้งนี้ กสร. ได้รับความร่วมมือจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ในการพัฒนาการดำเนินงานทั้งในเรื่องการสนับสนุนทางวิชาการ การพัฒนาศักยภาพพนักงานตรวจแรงงาน รวมไปถึงการปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อการคุ้มครองสิทธิและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมฯในวันนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งจากภาครัฐและเอกชนจะได้ร่วมกันอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน การส่งเสริมปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 21/4/2560

ประกาศใช้กฎกระทรวงขอใบอนุญาต "รปภ." ต้องจบการศึกษาภาคบังคับ ห้ามติดสุราเรื้อรัง-ยาเสพติด

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงการอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตพ.ศ. 2560 ที่ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 33 วรรคสอง มาตรา 37 วรรคสาม และมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 นายกรัฐมนตรี ออกกฎกระทรวงไว้ มีเนื้อหาสำคัญอาทิ ข้อ 1. ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียน พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาดำ ขนาด 2.5 x 3 เซนติเมตรซึ่งถ่ายมาแล้วไม่เกินหกเดือน จำนวน 3 รูป, สำเนาวุฒิการศึกษาซึ่งแสดงว่าสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่สำเร็จการศึกษา หนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยจากสถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรอง, ใบรับรองแพทย์ว่าไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคติดต่อ ที่คณะกรรมการกำหนดเมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอ รับใบอนุญาตไว้เป็นหลักฐาน ข้อ5 ผู้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตที่ประสงค์จะขอ ต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตต่อนายทะเบียน พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ภายในหกสิบวันก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในปัจจุบัน พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับพ.ศ. 2542 ได้กำหนดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีหรือในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 21/4/2560

ยอดจำนวนแรงงานต่างด้าวกลับบ้านไปฉลองสงกรานต์จำนวน 107,905 คน-กลับเข้ามาทำงาน 42,205 คน

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ในกลุ่มที่จดทะเบียนผ่อนผันซึ่งถือบัตรสีชมพูเป็นเอกสารแสดงตน กลุ่มที่ผ่านการตรวจสัญชาติ และกลุ่มนำเข้าอย่างถูกกฎหมายตามบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) ซึ่งถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเป็นเอกสารแสดงตน เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 5-30 เมษายน 2560 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก (Re – entry) นั้น

ปรากฏว่า ระหว่างวันที่ 5 – 18 เมษายน 2560 มีแรงงานฯ เดินทางเข้า-ออก จำนวนทั้งสิ้น 150,110 คน โดยเดินทางกลับประเทศต้นทาง จำนวนทั้งสิ้น 107,905 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 37,639 คน (กัมพูชา 17,662 คน ลาว 2,309 คน เมียนมา 17,668 คน) และกลุ่มที่มีพาสปอร์ต (PP, TP, CI) จำนวน 70,266 คน (กัมพูชา 15,757 คน ลาว 8,056 คน เมียนมา 46,453 คน)

ส่วนแรงงานฯที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 42,205 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ถือบัตรชมพู 9,917 คน (กัมพูชา 5,427 คน ลาว 553 คน เมียนมา 3,937 คน) และกลุ่มที่มีพาสปอร์ต (PP, TP, CI) จำนวน 32,288 คน (กัมพูชา 6,956 คน ลาว 3,730 คน เมียนมา 21,602 คน) โดยสัญชาติกัมพูชาเดินทางเข้า-ออกทางด่านตรวจคนเข้าเมืองสระแก้วมากที่สุด ขณะที่สัญชาติลาวเดินทางเข้า-ออกทางด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคายมากที่สุด และสัญชาติเมียนมาเดินทางเข้า-ออกทางด่านตรวจคนเข้าเมืองตากมากที่สุด

นายวรานนท์ กล่าวย้ำว่า แรงงานดังกล่าวจะต้องกลับเข้ามาทำงานภายในวันที่ 30 เมษายนนี้เท่านั้น โดยเข้า-ออกประเทศทางด่านตรวจคนเข้าเมืองเดียวกัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงาน จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ที่มา: คมชัดลึก, 21/4/2560

สปส. เพิ่มช่องทาง ชำระเงินสมทบ มาตรา 40 ผ่าน ธ.ธนชาต ได้แล้ว

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมมือกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) อำนวยความสะดวกเพิ่มช่องทางการให้บริการชำระเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 60 เป็นต้นไป

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการให้บริการภาครัฐไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และสร้างเครือข่ายตัวแทนภาครัฐในการให้บริการประชาชน สำนักงานประกันสังคมได้ร่วมมือกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เพิ่มการให้บริการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วในการชำระเงิน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น

โดยเพิ่มช่องทางให้บริการด้วยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคาร เพียงผู้ประกันตนติดต่อธนาคารสาขาที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้ทำหนังสือยินยอมการหักบัญชีเงินฝากธนาคารและนำสำเนาหนังสือยินยอมฯ ที่ธนาคารได้ลายมือชื่อรับรองแล้ว ยื่นพร้อมแบบคำขอส่งเงินสมทบและสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ของผู้ประกันตนมายื่น ณ สำนักงานประกันสังคมที่ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนมาตรา 40 ก่อนวันที่ 20 ของทุกเดือน

โดยผู้ประกันตนนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้เพียงพอ ที่ธนาคารจะหักเป็นเงินสมทบที่ต้องนำส่งตามทางเลือกที่ผู้ประกันตนได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม พร้อมค่าธรรมเนียมธนาคาร รายการละ 5 บาท ซึ่งธนาคารจะทำการหักบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนทุกวันที่ 20 ของเดือน และในเดือนถัดไปธนาคารจะหักเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ประกันตนเป็นประจำทุกเดือน

ผู้ประกันตนสามารถใช้รายการหักเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นหลักฐานการชำระเงินสมทบในเบื้องต้นและสามารถติดต่อขอรับใบเสร็จรับเงินได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ผู้ประกันตามมาตรา 40 ได้ขึ้นทะเบียนภายใน 12 เดือน นับจากเดือนที่หักบัญชีเงินฝาก หากเกินกำหนดเวลาดังกล่าวผู้ประกันตนสามารถขอใบแทนใบเสร็จรับเงินได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และกรณีผู้ประกันตนที่ต้องการปรับสมุดประจำตัวผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถติดต่อเพื่อดำเนินการย้อนหลังได้ ณ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศไทยที่ผู้ประกันตนสะดวกเช่นกัน

ที่มา: money.sanook.com, 21/4/2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.