แฟ้มภาพโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแถลงที่กระทรวงป้องกันมาตุภูมิ เมื่อ 25 มกราคม 2017 (ที่มา: U.S. Department of Homeland Security (DHS)/Wikipedia)

แนวทางตัดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศ กระทบอิทธิพลสหรัฐอเมริกาในระยะยาว

Posted: 26 Apr 2017 03:24 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

นิตยสาร Foreign Policy ระบุถึงกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งตัดงบประมาณให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาโดยการตัดงบประมาณและการยุบรวมกระทรวงต่างประเทศกับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกวิจารณ์จากในสหรัฐฯ เองว่าจะให้ผลต่อการเมืองระยะสั้นแต่จะทำลายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในระยะยาว

Foreign Policy นำข้อมูลเหล่านี้มาจากเอกสารการเงินภายในของสหรัฐฯ โดยระบุว่ามีการตัดงบประมาณช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 1 ใน 3 ในปีงบประมาณ 2561 แต่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดมากกว่านี้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงความช่วยเหลือด้านการพัฒนาไปสู่โครงการแบบเน้นความมั่นคงของสหรัฐฯ แทน

เวด วอร์เรน รักษาการผู้อำนวยการขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ USAID กล่าวต่อพนักงานในที่ประชุมทางการว่าจะมีการยุบรวมหน่วยงานนี้กับกระทรวงการต่างประเทศ จากส่วนหนึ่งของการพิจารณาคำสั่งพิเศษของทรัมป์ที่ออกมาในเดือนมีนาคมโดยอ้างว่าเพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านการทูตและการพัฒนา

Foreign Policy ระบุว่าเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2542 ที่หน่วยงานให้ทุนโครงการด้านข้อมูลข่าวสารและวัฒนธรรมในต่างประเทศถูกปิดลงและมีหลายโครงการถูกพับไป หรือถูกลดขนาด แต่สุดท้ายแล้วการลดขนาดหรือปิดตัวโครงการสำคัญอย่างการป้องกันโรคและความมั่นคงทางอาหารก็ชวนให้เกิดการแบ่งขั้ว

แอนดรูว นัตสิออส อดีตผู้อำนวยการ USAID ในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช บอกว่า เรื่องนี้จะทำให้พวกเขาสูญเสียผู้เชี่ยวชาญใน USAID และจะกลายเป็นหายนะในระยะยาว

ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่สภาคองเกรสจะไม่อนุมัติข้อเสนอการตัดงบประมาณโดยทรัมป์ ลินเซย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกรีพับลิกันบอกว่าข้อเสนองบประมาณของทรัมป์นั้น "ล่มตั้งแต่ปากอ่าว" อย่างไรก็ตามมีการประเมินสถานการณ์ว่าสภาคองเกรสจะผ่านร่างงบประมาณสุดท้ายเพื่อลกระดับความช่วยเหลือ

ฝ่ายการต่างประเทศและ USAID ต่างก็ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อกรณีการยุบรวมสองหน่วยงานนี้โฆษก USAID แค่พูดว่าการดำเนินการจะเป็นไปเพื่อใช้เงินภาษีของสหรัฐฯ โดยเน้นเรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาก่อน

มีการประเมินว่าการตัดงบในครั้งนี้จะส่งผลให้สูญเสียภาคกิจภาคสนามไป 30-35 ภารกิจ และลดขนาดสำนักงานภาคพื้นถิ่นลงราวร้อยละ 65 โดยที่ในปัจจุบัน USAID มีปฏิบัติการอยู่ในประเทศต่างๆ ประมาณ 100 ประเทศ โดยที่นัตสิออสมองว่าจะเป็นการทำลายเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯ ในการสร้างอิทธิพลต่อการต่างประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้เงินทุนด้านสุขภาวะโลกถูกตัด 41 ประเทศ ลดลงราวร้อยละ 25 ทั้งๆ ที่ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะคงงบประมาณแผนการฉุกเฉินบรรเทาทุกข์โรคเอดส์ไว้ แต่การตัดงบประมาณตรงนี้ก็อาจจะส่งผลเสี่ยงกับชาวอเมริกันเองถ้าหากมีการระบาดหนักในอเมริกัน

ในหน่วยงานความมั่นคงทางอาหารมีโอกาสสูญเสียงบประมาณไปร้อยละ 68 แต่การลดงบหน่วยงานที่จะช่วยป้องกันปัญหาการขาดแคลนอาหารนั้นอาจจะทำให้สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นไปกับการช่วยเหลือด้านอาหารในยามฉุกเฉิน

ส่วนที่โดนตัดงบประมาณมากที่สุดคือภาคส่วนด้านมหาสมุทร สิ่งแวดล้อมและกิจการวิทยาศาสตร์ ที่ถูกตัดถึงร้อยละ 94.5 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินในการจัดการปัญหาโลกร้อนอย่างการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยที่สหรัฐฯ เคยให้พันธสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในข้อตกลงการประชุมโลกร้อนที่ปารีสไว้ในปี 2559

ภาคส่วนอื่นๆ ที่โดนตัดงบประมาณคือประเด็นสตรี ประเด็นไซเบอร์ และ ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในแถบทวีปแอฟริกาเหนือ การตัดงบประมาณเหล่านี้ยังถูกเน้นนำไปใช้เป็นงบประมาณส่งเสริมเศรษฐกิจกับประเทศที่มีวัตถุประสงค์ร่วมทางยุทธศาสตร์แะทางการเมืองเฉพาะด้านกับสหรัฐฯ

สก็อตต์ มอร์ริส ประธานฝ่ายการริเริ่มนโยบายพัฒนาจากศูนย์เพื่อการพัฒนานานาชาติ บอกว่าการตัดงบประมาณเช่นนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง USAID กับกระทรวงการต่างประเทศอ่อนแอลง จึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เรื่องนี้ยังสะท้อนว่ารัฐบาลทรัมป์ดูจะสนใจเรื่องเป้าหมายทางการเมืองแค่ในระยะสั้นมากกว่า โดยที่สตีเวน ราเดลเลต อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ USAID กล่าวว่าก่อนหน้านี้กองทุนด้านวิทยาศาสตร์เคยเน้นใช้ช่วยเหลือพันธมิตรทางการเมืองของสหรัฐฯ

โดยทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของชาติจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างก็มองว่าการตัดงบประมาณเหล่านี้สร้างความเสี่ยงต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในระยะยาว โดยจะเป็นการลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอื่นๆ

วิลเลียม เทย์เลอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนในสมัยบุชซึ่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีของสถาบันเพื่อสันติภาพของสหรัฐฯ บอกว่า หนึ่งในสิ่งที่เป็นทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในยูเครนคือการส่งเสริมให้พวกเขาหันไปหาสถาบันของยุโรปแทนสถาบันของรัสเซียซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ มากกว่า แต่เงินส่งเสริมการเมืองและเศรษฐกิจยูเครนโดยสหรัฐฯ ก็ถูกตัดไปร้อยละ 68.8

เรียบเรียงจาก

The End of Foreign Aid As We Know It, Foreign Policy, 24-04-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.