'เก็บภาษีจากเลือด' อินเดียรณรงค์งดเก็บภาษีจากผ้าอนามัย


Posted: 22 Apr 2017 05:50 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
การเก็บภาษีอาจจะช่วยดำเนินโครงการดี ๆ กับประชาชนได้ในประเทศที่เปิดให้ประชาชนรวจสอบ แต่ภาษีที่รีดเอากับความจำเป็นของประชาชนอาจจะถูกเรียกว่า "เก็บภาษีจากเลือด" ได้ในการรณรงค์ล่าสุดในอินเดียที่เรียกร้องให้ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับผู้หญิง โดยที่ผู้หญิงในอินเดียจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ไม่ว่าจะไม่สามารถหาซื้อได้ หรือมีราค่าแพงเกินรายได้



แฮชแท็ก #lahukalagaan ที่หมายความว่า "เก็บภาษีจากเลือด" แฮชแท็กนี้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวอินเดีย

22 เม.ย. 2560 ในวัฒนธรรมอินเดียประเด็นเรื่อง "ประจำเดือน" หรือ "เมนส์" ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนยังต้องพูดถึงอยู่ในที่ลับๆ และในเรื่องสุขภาวะก็น่าเป็นห่วงจากที่ประชากรชวนอินเดีย 312 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียก็กำลังจะซ้ำเติมด้วยการเก็บภาษีผ้าอนามัย ทำให้โลกโซเชียลมีเดีย นักการเมืองท้องถิ่น ดาราบอลลิวูด นักแสดงตลกและนักเขียน ต่างพากันร่วมกับประชาชนจำนวนมากเรียกร้องต่อรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อรุณ เจตลีย์ ยกเลิกแผนการเก็บภาษีในเรื่องนี้

พวกเขาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียด้วยแฮชแท็ก #lahukalagaan ที่หมายความว่า "เก็บภาษีจากเลือด" แฮชแท็กนี้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวอินเดีย เดอะการ์เดียนระบุว่าถ้าหากการรณรงค์ครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ อินเดียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ยับยั้งจากเก็บภาษีจากสินค้าอนามัยของสตรีได้ นอกเหนือจากแคนาดาและเคนยา โดยที่ในหลายรัฐของอินเดียยังคงจัดประเภทผ้าอนามัยไว้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีอัตราภาษีร้อยละ 12-14

หนึ่งในผู้ที่ริเริ่มการรณรงค์ต้านภาษีเลือดในครั้งนี้คือนักการเมืองอินเดียชื่อ สุชมิตา เทว เธอเปิดให้มีการล่ารายชื่อทางอินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้ได้รับรายชื่อ 200,000 รายชื่อ นอกจากนี้ผู้รณรงค์ยังหวังว่าจะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องอนามัยประจำเดือนให้กับคนในชนบทของอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้ผ้าขี้ริ้วแทนผ้าอนามัย เทวบอกว่ามีสองสาเหตุที่คนในชนบทของอินเดียไม่ใช้ผ้าอนามัยเพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงได้และไม่มีเงินพอจะซื้อหาได้

เทวบอกว่าการเก็บภาษีผ้าอนามัยไม่เป็นธรรมเพราะผู้หญิงโดยทั่วไปมีประจำเดือนตามธรรมชาติอยู่แล้ว ทำไมพวกเธอต้องจ่ายภาษีให้กับเรื่องแบบนี้ นักการเมืองหญิงในอินเดียยังเล่าว่าเธอทราบถึงปัญหานี้จากที่องค์กรเอ็นจีโอต้องการงบประมาณเพื่อตั้งเครื่องจำหน่ายผ้าอนามัยในท้องถิ่นผ่างไกลความเจริญในอินเดีย การที่ผู้หญิงต้องใช้ผ้าขี้ริ้วแทนผ้าอนามัยยังส่งผลให้เด็กหญิงวัยรุ่นจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกลไม่กล้าไปโรงเรียน นอกจากนี้คนยังขาดความรู้เรื่องประจำเดือน เช่นมีเด็กหญิงในเขตชนบทของอินเดียในอัสสัมกังวลว่าภายในของเธอกำลังเน่าเพราะถูกสาปเพียงเพราะเธอเป็นประจำเดือน

เดอะการ์เดียนรายงานว่าการณรงค์ในครั้งนี้ได้ผลอย่างน่าประหลาดใจในประเทศที่ยังมีความคิดว่าประจำเดือนเป็นสิ่ง "สกปรก" และผู้หญิงยังต้องเรียกร้องให้ตัวเองมีสิทธิเข้าวัดและมัสยิดได้ในขณะที่ยังมีประจำเดือนอยู่ เทวมองว่านักการเมืองน่าจะเล็งเห็นมากขึ้นว่าผู้หญิงก็เป็นกุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งขนาดใหญ่เช่นกัน และแม้แต่เพื่อนร่วมงานชายของเธอก็แสดงการสนับสนุนการณรงค์นี้

อินเดียกำลังพยายามปฏิรูปกฎหมายภาษีครั้งใหญ่ โดยในปีนี้เป็นต้นไปจะมีการกำหนดให้สินค้าและบริการทั่วประเทศอยู่ภายใต้ระบบภาษีรัฐบาลกลางรูปแบบเดียวแทนที่ระบบการควบคุมภาษีแบ่งไปในแต่ละรัฐ อย่างไรก็ตามเทวมองว่านี่เป็นโอกาสในการเรียกร้องให้ยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยทั่วอินเดีย เมเนกา คานธี รัฐมนตรีกระทรวงสตรีของอินเดียก็เคยเขียนจดหมายเรียกร้องให้รัฐมนตรีการคลังสนับสนุนการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยเช่นกัน นอกจากนี้ยังเสนอว่าจะพิจารณาส่งเสริมให้มีการหันไปใช้ผ้าอนามัยแบบที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติและผลักดันให้ผู้ผลิตผ้าอนามัยหันมาผลิตผ้าอนามัยที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต



เรียบเรียงจาก

Campaigners refuse to throw in the towel over India's 'tax on blood', The Guardian, 21-04-2017
https://www.theguardian.com/global-development/2017/apr/21/campaigners-refuse-to-throw-in-the-towel-over-indias-tax-on-blood

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.