ศ.ธเนศ อาภรสุวรรณ์ ธรรมศาสตราภิชานประจำวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ และอดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นจากกระแสวิพากษ์ทางประวัติศาสตร์ จากกรณีการหายไปของหมุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญ นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์การอภิวัฒน์ 2475 โดยฝีมือคณะราษฎรว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่ามทางการเมืองจากคนบางกลุ่ม โดย ศ.ธเนศ ระบุว่า

หากย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ.2475 – 2490 จะไม่มีการพูดถึงเรื่องของชิงสุกก่อนห่ามเลย เพราะ ณ ช่วงเวลานั้น ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันว่า ประเทศไทยต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

อีกทั้ง ในช่วงก่อนการอภิวัฒน์สยามเพียงไม่กี่ปี เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงทั่วโลก สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของระบบเก่า ในการจัดการปัญหาปากท้องของประชาชน กระทั่งเกิดการปฏิวัติ ล้มล้างระบอบเก่าในจีน สมัย “ซุน ยัด เซน” และ ในตุรกี สมัย มุ”สตาฟา เคมาล” ทางผู้ปกครองรัฐไทยทราบดีว่าไม่อาจทนกระแสโลกได้ “พระองค์วรรณ” หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รวมไปถึงคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ต่างก็ทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ยังไม่มีใครทราบว่าจะเปลี่ยนแปลงแบบไหนเท่านั้นเอง ดังนั้น จะบอกว่า คณะราษฎร ชิงสุกก่อนห่าม นั้นไม่ถูกต้อง เพราะคณะราษฎร เพียงแต่ไหลไปตามสถานการณ์

ส่วนกรณีที่มีการกล่าวว่ากลุ่มคณะราษฎรนั้น ข่มเหงน้ำใจองค์กษัตริย์รัชกาลที่ 7 ต่างๆนานา ในความเป็นจริงคือ หลังคณะราษฎร ทูลเกล้ารัฐธรรมนูญฉบับแรก ก็ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขออภัย และขออภัยโทษ ในสิ่งที่กระทำลงไป ทั้งยังเชิญให้มีการตั้งสภาร่วมระหว่างฝ่ายคณะราษฎร กับฝ่ายอำนาจเดิม ในการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกัน กระทั่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทย ถือได้ว่าคณะราษฎร ได้ให้เกียรติ คณะผู้ปกครองเดิม

นอกจากนี้ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รู้สึกกังวลกับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ด้วยเพราะเป็นการศึกษาเพื่อทำให้เชื่อในบางสิ่งบางอย่างจากการอ้างอิงตามพงศาวดาร ซึ่งเป็นเรื่องจริง ผสมเรื่องแต่ง ขาดการเชื่อมโยงทางเหตุและผล มากกว่าจะเป็นการศึกษาให้รู้จักคิดวิเคราะห์จากข้อเท็จจริง ซึ่งการตีความจากพงศาวดารนั้น เมื่อไม่อ้างอิงจากความจริง จึงไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้


source :- https://goo.gl/luxFXk

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.