แฟ้มภาพ

Posted: 27 Apr 2017 01:54 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

คดี 'ปิยะ โบรกเกอร์' ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 9 ปีจากความผิด 1 กรรม แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี เหตุจำเลยให้การเป็นประโยชน์ ผิด ม.112 เขียนข้อความลงพระบรมฉายาลักษณ์ โพสต์ลงเฟซบุ๊กปี 56 เจตนาให้ปชช.เสื่อมศรัทธา


27 เม.ย. 2560 จากรเมื่อ 20 ม.ค. 59 ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ ปิยะ จุลกิตติพันธ์ โบรกเกอร์ วัย 48 ปีตกเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก พงศธร บัญชร โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 9 ปีจากความผิด 1 กรรม แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวน นั้น

ล่าสุดวันนี้ (27 เม.ย.60) สื่อหลายสำนัก เช่น มติชนออนไลน์ ผู้จัดการออนไลน์และคมชัดลึกออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวนายปิยะ จำเลยมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งตลอดการพิจารณาคดี จำเลยไม่ได้รับการประกันตัว
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต้องมีความรู้และความเข้าใจระบบคอมพิวเตอร์รวมถึงการใช้โปรแกรมเฟซบุ๊ก โดยจำเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กในชื่อ พงศธร บัญชร มาตลอด และพบภาพพร้อมข้อความที่ไม่เหมาะสมในคดีนี้ จำเลยอ้างทำนองว่ามีผู้อื่นใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย อันเป็นการเบิกความลอยๆ และง่ายต่อการกล่าวอ้าง หากมีบุคคลอื่นแก้ไขใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย และกลับไม่สนใจรวมทั้งมิได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ กับบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ยังคงใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวตลอดมา รวมถึงมิได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งผิดปกติวิสัย ที่จำเลยอ้างนำสืบว่า เหตุที่จำเลยไม่ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีเนื่องจากมีผู้ใช้ชื่อ พงศธร บัญชร นั้นก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทราบได้อย่างไรว่ามีการดำเนินคดีแก่จำเลยในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งความร้ายแรงของความผิดไม่อาจนำมาเป็นเหตุกล่าวอ้างได้ ที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ได้แจ้งไปทางเฟซบุ๊กและกูเกิลให้ลบภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสมออกบางส่วนแล้ว แต่กลับปรากฏว่ายังคงเหลือพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมข้อความอยู่ และทราบจากเอกสารประกอบคำให้การของจำเลยว่า จำเลยได้แจ้งลบภายหลังจากที่มีการแจ้งความดำเนินคดีนี้แล้ว และที่จำเลยอ้างว่า เพิ่งทราบว่ามีการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์เมื่อปี 2557 ก็ไม่ได้นำพยานอื่นมาเบิกความแต่อย่างใด ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ชื่อนายพงศทอน บันทอน จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงอาฆาตมาดร้ายต่อพระมาหากษัตริย์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

รายงานข่าวระบุถึง คำฟ้องโจทก์ด้วยว่า ว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 28 พ.ย. 2556 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ต่อเนื่องกัน จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์ โดยการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 2 ข้อความ อยู่บนพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ภาพ ในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยที่ใช้ชื่อว่า พงศธร บัญชร (SIAMAID) โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ, อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม, อำเภอเมือง จังหวัดน่าน และที่นอกราชอาณาจักร เกี่ยวพันกัน จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์มีพนักงานสอบสวนและผู้ที่ตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งได้รวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีเบิกความว่ามีผู้โพสต์ข้อความที่อยู่บนพระบรมฉายาลักษณ์ แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการนำลงไปโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ พงศธร บัญชร (SIAMAID) การกระทำดังกล่าวมีเจตนาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้แชร์จำนวนมากจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3), (5)

นอกจากนี้ยังฟังได้จากคำเบิกความจำเลยว่าเคยใช้เฟซบุ๊กระหว่างปี 2553-2554 ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าได้แจ้งให้กูเกิลลบข้อความดังกล่าวไปแล้วนั้น จำเลยไม่ได้นำพยานอื่นมานำสืบให้ชัดเจนและการแจ้งให้ลบข้อความดังกล่าวนั้นก็เป็นช่วงหลังเกิดเหตุแล้วประมาณ 1 ปี พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้

ทั้งนี้ ปิยะ ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 57 และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.57 เรื่อยมาจนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังยังถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมอีกเป็นคดีที่ 2 ในระหว่างถูกคุมขังในคดีนี้ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งข้อความหมิ่นไปยังอีเมล์หลายชื่อ

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความของปิยะ กล่าวถึงคดีนี้เมื่อครั้งที่ศาลชั้นต้นตัดสิน 20 ม.ค. 59 ด้วยว่า คดี 112 คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ศาลาอาญาลงโทษจำคุกจำเลยหนักใกล้เคียงกับศาลทหาร ที่ผ่านมาหากจำเลยต่อสู้คดีในศาลอาญา โทษต่อกรรมของคดีนี้จะอยู่ที่ 5 ปีมาโดยตลอด เป็นที่น่าสังเกตว่าการเพิ่มขึ้นของโทษคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นในยุคนี้ และน่าจะทำให้จำเลยที่คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และอยากต่อสู้คดีจะยิ่งมีน้อยลงไปอีก

ศศินันท์ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีและการสืบพยานจากทนายความว่า หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์มีเพียงรูปภาพที่แคปเจอร์มา 1 ภาพ และพยานบุคคลที่สำคัญ 1 ปากซึ่งศาลรับฟังและนำมาเป็นส่วนหนึ่งในคำพิพากษา ขณะที่พนักงานสอบสวนของปอท.และพยานปากอื่นๆ ไม่มีใครสามารถยืนยันว่ามีบัญชีเฟซบุ๊กนี้อยู่จริงเพราะไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้พนักงานสอบสวนได้ขอไอพีแอดเดรสของบัญชีดังกล่าวไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊กแล้วแต่เฟซบุ๊กปฏิเสธการให้ข้อมูล

ทนายความขยายความถึงหลักฐานรูปภาพว่า เป็นภาพตัดต่อเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา-ข้อความหมิ่น-รูปโปรไฟล์ที่เป็นรูปของปิยะมาไว้รวมกันไว้ใน 1 ภาพซึ่งปริ๊นท์ออกมาเป็นกระดาษ ภาพดังกล่าวถูกแชร์ในโลกโซเชียลและมีบุคคลเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับปิยะหลายราย โดยมีผู้แจ้งความมาเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้รวม 5 คน แบ่งเป็น 3 คนแรกมาจากจังหวัดน่าน อีก 1 คนเป็นหมอจากจังหวัดนครปฐม ทั้งหมดเบิกความได้เห็นรูปภาพดังกล่าวจึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ โดยไม่เคยเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊ก พงศธร บัญชร หรือเห็นข้อความต้นฉบับจากเฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.