ค้านขึ้นค่าไฟ อัดคาดการณ์ราคาก๊าซสวนชาวโลก ปชช.เดือนร้อน แต่ผู้ค้าก๊าซรอฟันกำไร 48%
Posted: 28 Apr 2017 06:13 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนแถลงค้านปรับขึ้นค่าเอฟทีของ กกพ. เป็น 12.52 สต./หน่วย ชี้สวนทางกับค่าก๊าซธรรมชาติปากหลุมที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตั้งข้อสังเกตเหตุใด 'กำไร' ผู้ขายก๊าซให้ กฟผ. มีช่วงกว้างมากคือ 17-36%
28 เม.ย.2560 รายงานข่าวจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า วันนี้ (28 เม.ย.60) เวลา 10.30 น. ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, เครือข่ายสลัมสี่ภาค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน แถลงข่าวคัดค้านการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ตามมติที่ประชุมของกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.60 ซึ่งจะปรับค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.60 เพิ่มขึ้น 12.52 สตางค์/หน่วย (จากเดิมปัจจุบันค่าเอฟทีอยู่ที่ -37.29 สต./หน่วย เป็น -24.77 สต./หน่วย) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 8,538 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับค่าเอฟทีในรอบ 2 ปี 7 เดือน โดยให้เหตุผลว่าหนึ่งในสี่ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับขึ้นค่าเอฟทีในช่วงดังกล่าว เป็นเพราะแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น 9.35 บาทต่อล้านบีทียู
ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ คอบช. กล่าวว่า การคาดการณ์ของกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นนั้น สวนทางกับความเป็นจริงจากแนวโน้มของราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมที่มีแนวโน้มลดลงตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา โดยอ้างว่า “ตามรอบการปรับราคาสัญญา” จากทั้งอ่าวไทยและพม่า ทั้งที่ราคาก๊าซฯ ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง (รวมทั้งราคาก๊าซจากพม่าด้วย)
โดยถึงแม้ว่าหากราคาก๊าซฯ เพิ่มขึ้นจริงตามที่ กกพ. คาดการณ์ โดยมีค่าปัจจัยค่าเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เพิ่มขึ้นไม่เกิน 4.08 สต./หน่วย ปัจจัยค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนของ กฟผ. ค่าความพร้อมจ่ายลดลง 0.16 สต./หน่วย ค่าพลังงานไฟฟ้าของเอกชน ควรจะใกล้เคียงกับค่าซื้อเชื้อเพลิงของ กฟผ. และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 0.64 สต./หน่วย ซึ่งรวมกันแล้ว ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น ไม่เกิน 5 สต./หน่วย ยังไงก็ไม่เกิน 12.52 สต./หน่วย
นอกจากแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดลงแล้ว หากพูดถึงความสมเหตุสมผลของราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุม และราคาที่ กฟผ.รับซื้อที่โรงไฟฟ้า สถิติตั้งแต่เดือน พ.ค.58 – ก.พ.60 “กำไร” ของผู้ขายก๊าซให้ กฟผ. มีช่วงกว้างมากถึง 17-36% ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมกำไรถึงแกว่งได้มากขนาดนี้ ซึ่งในเดือน ก.พ.60 (ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมอยู่ที่ 169 บาท/ล้านบีทียู, ราคาที่ กฟผ.รับซื้อที่โรงไฟฟ้า 231 บาท/ล้านบีทียู) กำไรของผู้ขายก๊าซให้ กฟผ. อยู่ที่ 36% และหากสมมติว่าในเดือน พฤษภาคม 60 ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุม (ซึ่งมีแนวโน้มลดลง) ยังคงอยู่ที่ 169 บาท/ล้านบีทียู เหมือนกับเดือน ก.พ.60 และรับซื้อในราคา 250 บาท/ล้านบีทียู (ตามการคาดการณ์ของ กกพ.) ผู้ขายจะได้กำไรเท่ากับ 48% ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติแต่ละ 1% มีมูลค่าในหลักแสนล้านบาท ซึ่งการควบคุมกิจการท่อก๊าซเป็นหน้าที่โดยตรงของ กกพ. ซึ่งไม่เคยสงสัยเลยหรือว่าทำไมอัตรากำไรถึงได้แกว่งมากถึงขนาดนี้
"โดยสรุปท่ามกลางราคาก๊าซธรรมชาติปากหลุมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องใน 18 เดือนทีผ่านมา ถ้าสมมติว่าราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจริงตามที่ กกพ.คาด ค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นก็ไม่เกิน 5 สตางค์/หน่วย แต่ทำไม กกพ.ถึงคาดการณ์สูง และสูงกว่าที่ กฟผ.คาดการณ์ไว้ด้วยซ้ำ" ผศ.ประสาท กล่าว
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า เห็นชัดเจนว่าถ้ายึดตัวเลขตาม กกพ.คาดไว้ก็ขึ้นไม่ถึง 12 สตางค์/หน่วย ถือว่าการคาดการณ์นั้นผิดพลาด จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรเลย
จำนงค์ หนูพันธ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า จากการที่จะประกาศขึ้นค่าเอฟที ทำให้คนจนทั่วประเทศรู้สึกวิตก ขณะนี้บางชุมชนจ่ายค่าไฟหน่วยละ 8 บาท บางชุมชนหน่วยละ 10 บาท ในขณะที่รายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล แต่เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนให้มีมากขึ้น แต่การจะขึ้นค่า เอฟทีมาจากการคาดการณ์โดยไม่มีเหตุผล
ขณะที่ นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนในชุมชนแออัดจะใช้ไฟพ่วงกัน มีทั้งบ้านเช่า เวลาได้รับการลดหย่อน ก็ไม่เคยได้รับการยกเว้น เพราะการพ่วงไฟมาใช้ร่วมกันค่าไฟตก 8-12 บาท บางบ้านใช้ค่าไฟเดือนละ 2,000 กว่าบาท การให้เงินลงทะเบียนคนจน 1,500 – 3,000 บาท แต่การขึ้นค่าไฟ เราถือว่าเป็นการทำร้ายพวกเรา ทั้งทางตรงและทางอ้อม การขึ้นค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือว่าไม่เป็นธรรมสำหรับพวกเรา และคนทุกกลุ่มในสังคม เพราะประชาชนควรได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่รัฐสนับสนุน
สารี กล่าวเสริมว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาการเก็บค่าไฟบ้านเช่า-หอพักราคาแพง จำนวนไม่น้อย เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง จึงได้รับผลกระทบจากการปรับค่าเอฟทีอยู่แล้ว
รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยทั้งหมดอยู่ในระบบสัมปทาน แต่มีราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมสูงกว่าราคาตลาดโลก ใกล้เคียงกับ LNG ที่นำเข้า ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในประเทศแต่ละแหล่งสูงกว่าราคาตลาดโลกทั้งนั้น ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นก๊าซในอ่าวไทยราคาที่ผ่านระบบสัมปทานเท่ากับราคา LNG ของต่างประเทศ และสูงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศเกิน 100% ค่าก๊าซธรรมชาติที่ กกพ. คาดการณ์ถึง 250 บาทต่อล้านบีทียูนั้น เราไม่รู้หรอกว่ารวมค่าผ่านท่อแล้วมีมูลค่าเท่าไหร่ กกพ.ควรมีหรือไม่ เพราะมีหน้าที่กำกับดูแลราคาให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค
บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า กกพ.มีหน้าที่กำกับกิจการไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรม ต้องกำกับการลงทุนให้สมเหตุสมผล ตอนนี้มีการผลิตไฟฟ้าเกินจำเป็นซึ่งเป็นภาระ กกพ.ก็ควรออกมาทำหน้าที่บอกคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่ม กกพ.มีหน้าที่กำกับกิจการโดยตรง แล้วเราจะมี กกพ.ไปทำไม ใครอยากจะขึ้นอะไรก็ขึ้น ใครอยากจะโยนภาระให้ประชาชนก็โยน มีหรือไม่มี กกพ. ภาวะก็ไม่ต่างไปจากนี้
สารี กล่าวปิดท้ายว่า อยากเห็น กกพ. ใช้ข้อมูลที่นำเสนอในวันนี้ ไปเป็นเหตุผลในการทบทวน การขึ้นค่าเอฟที 12 สตางค์ เพราะเป็นการคาดการณ์ที่ไม่มีเหตุผล "อยากให้ กกพ.ออกมารับผิดชอบ โดยจะทำจดหมายเป็นทางการขอให้ทบทวนและยุติการขึ้นปรับค่าเอฟที 12 สตางค์ เพราะเงิน 12 สตางค์ต่อหน่วย โดยรวมคิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท เป็นการเอาเงินจากคนจนไปสนับสนุนภาคเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เป็นธรรม รัฐบาลควรจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน”
แสดงความคิดเห็น