พิสิษฐ์ ยันเป็นสื่อออนไลน์ก็ต้องมีใบอนุญาต หากพบทำข่าวไร้ใบอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี
Posted: 26 Apr 2017 06:39 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ชี้สื่อออนไลน์ต้องมีใบอนุญาต หากไม่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่น ชี้เว็บกระปุกเข้าข่ายสื่อออนไลน์ ด้านผู้ก่อตั้งเว็บกระปุกแจง ควรแยกระหว่างนักข่าว กับบรรณาธิการเนื้อหา

26 ม.ย. 2560 มติชนออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)เปิดเผยว่าจะนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. เข้าสู่การพิจารณาของวิป สปท. คาดว่าจะสามารถบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สปท. ในวันที่ 8-9 พ.ค. นี้

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาคือเรื่องโทษ กรณีหากนักข่าวไม่ไม่มีใบอนุญาต ตามเวลาที่กำหนดจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท รวมถึงองค์กรสื่อที่รับนักข่าวที่มีใบอนุญาตมาทำงานก็จะมีความผิดจำคุกและปรับเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ยังเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกไล่ออกจากที่หนึ่งไปทำงานกับอีกที่หนึ่ง

“เรื่องโทษที่เพิ่มขึ้นมานี้เจตนารมณ์ไม่ต้องการลงโทษใคร แต่มองเรื่องการบังคับว่าคุณต้องไปขอรับใบอนุญาต เรามานั่งคิดกันว่าหากคนที่ไม่ยอมขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตจะทำอย่างไร เราก็ไปเทียบเคียงกับกฎหมายที่มีอยู่ ขนาดนวดแผนโบราณไม่มีใบอนุญาตยังมีโทษจำคุกสองปีเบากว่าคุณอีก สื่อเวลาไปทำอะไรเสียหายทีผลกระทบวงกว้างกว่าเยอะ เรื่องใบอนุญาตสื่อนั้น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีความชัดเจน แต่จะมีประเด็นตรงสื่อออนไลน์ ซึ่งเราขีดวงจำกัดว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อออนไลน์นั้น ต้องมีเจตนา ทำต่อเนื่อง และมีรายได้ทั้งทางตรงทางอ้อมหรือไม่ ตรงนี้ทางสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะเป็นคนกำหนดรายละเอียด เราแค่วางกรอบคร่าวๆ ” พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว

เมื่อถามว่า บางเว็บเพจดังอย่าง Drama-addict ที่ยังก้ำกึ่งว่าเข้าข่ายสื่อออนไลน์จะต้องขึ้นทะเบียนด้วยหรือไม่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ต้องดูเจตนารมณ์ การทำงาน และดูว่ามีรายได้จากที่ทำทั้งทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ ถ้ามีก็เข้าข่ายหมด อย่างเว็บไซต์ sanook kapook หรือข่าวทางไลน์ ที่มีรายได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ถือว่าเข้าข่าย ซึ่งเราเขียนให้ครอบคลุมทั้งหมดไม่ได้ ต้องไปดูในอนาคตว่าจะทำกันอย่างไร

เมื่อถามว่าสื่อมวลชนออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นี้อย่างหนักจะมีการทบทวนเนื้อหาหรือไม่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า 30 องค์กรสื่อไม่เอากับเราอยู่แล้ว สภาฯ ก็ไม่เอา ใบอนุญาตก็ไม่เอา รัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็แค่เป็นกรอบจริยธรรม ซึ่งคนที่กำหนดก็คือสื่อ ตัวแทนภาครัฐ ประชาชน หากให้สื่อเขียนอย่างเดียวก็อาจเขียนเข้าข้างตัวเองไป สิ่งที่กังวลเราก็เอามาพิจารณา ไม่ใช่ไม่ฟัง เราก็ปรับ แต่หนึ่งหลักการต้องมีสภา สองใบอนุญาต ส่วนที่ไม่เอาใบอนุญาตก็ต้องถามกลับว่า ทำไมใบอนุญาตอาชีพอื่นต้องมี สื่อต่างจากอาชีพอื่นตรงไหน เราไม่ได้ว่าของเราถูกต้องทั้งหมด ยังต้องรับฟังคนอื่น ต้องผ่าน ครม. กฤษฎีกา สนช. และทำประชาพิจารณ์ตามาตรา 77 สุดท้ายไม่รู้ว่าจะเหลือเหมือนเดิมถึงครึ่งหรือไม่

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวอีกว่า เนื้อหาอีกส่วนที่มีการปรับคือเรื่อง เงินอุดหนุนสภาฯ ที่เดิมมาจากรัฐใช้ภาษีบาปแต่มีหลายคนท้วงว่าจะเกิดปัญหาขัดรัฐธรรมนูญจึง เปลี่ยนให้ไปขอจาก กสทช.ในช่วงเตรียมการ 2 ปีและดำเนินการ 5 ปี ก่อนเพื่อจะมีรายได้มาบริหารจัดการ จากนั้นค่อยมาคิดว่าจะเอาอย่างไรต่อ

ด้าน ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กระปุกดอตคอม ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก Poramate Minsiri ว่า ผู้ร่างกฎคุมสื่อมีความเห็นว่า Kapook เป็นสื่อ จะรับนักข่าวที่ไม่ได้รับใบอนุญาตไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้มีแต่ข่าว เรามีเนื้อหาส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับนิตยสารเช่นเรื่องผู้หญิง ท่องเที่ยว ทำอาหาร ฟุตบอล เทคโนโลยี แกตเจ็ต แต่งบ้าน ฯลฯ

Content Editor (บรรณาธิการเนื้อหา) ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำข่าว ไม่ควรจะจำเป็นต้องมีใบอนุญาตนักข่าวทางออกเรื่องนี้คือ รัฐควรออกใบอนุญาตใช้เฉพาะตอนที่นักข่าวที่ต้องไปทำข่าวจริงๆ ใครจะส่งนักข่าวมาทำเนียบ มาประจำที่หน่วยงานราชการ สภา ท่านจะให้ไปทำใบอนุญาตก่อนก็เป็นการสมควรจะได้รู้ว่าใครเป็นใคร

ส่วนพนักงาน Content Editor ตามเว็บต่างๆ ที่มีมากมาย ถ้านิยามว่าเป็นนักข่าวทั้งหมด ก็จะวุ่นวายเกินไป ทุกคนที่มีเว็บ ไม่จำเป็นต้องมีนักข่าว ทุกเว็บที่มีข่าว ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องเป็นนักข่าว

ทั้งนี้ ปรเมศวร์ เสนอให้รัฐออกบัตรอนุญาต ใบอนุญาต นักข่าวออนไลน์ ให้ติดบัตรอนุญาตแจ้งชื่อ และต้นสังกัดทุกครั้งที่ต้องเข้าไปทำข่าวในสถานที่ราชการเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่ได้ออกไปทำข่าว แต่อ่านข่าวจากแหล่งอื่นแล้วทำบทความวิเคราะห์ จะเป็นคอลัมนิสต์ประจำหรือแขกรับเชิญก็แล้วแต่ ก็ควรมองเป็นความเห็นของเขา ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ ถ้าเขียนข้อมูลเท็จจนเสียหายก็มีกฎหมายฟ้องร้องที่ครอบคลุมอยู่แล้ว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.