'องค์กรสิทธิกระเทย' ร้อง จนท.-สื่อ หยุดตีตรา-เลือกปฏิบัติต่อสาวประเภทสองและคนข้ามเพศในพัทยา
Posted: 26 Apr 2017 10:56 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
องค์กรส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อสาวประเภทสองและคนข้ามเพศในพัทยา
26 เม.ย. 2560 จากกรณีที่ได้มีการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา กรณีตำรวจเข้าจับกุมสาวประเภทสองและคนข้ามเพศในพื้นที่พัทยา อันเนื่องมาจากจากการนำเสนอข่าวผ่านสื่ออังกฤษระบุว่าพัทยาเป็น 'นครแห่งบาป' เป็นเมืองหลวงแห่งเซ็กส์ ส่งผลให้มีการดำเนินการปราบปรามการค้าประเวณี และเหตุการณ์ การทำร้ายร่างกายน้องสาวประเภทสอง ซึ่งเข้ามาร้องเรียนให้ดำเนินคดีวันที่ 21 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี แต่กลับถูกเหมารวมจนเป็นข่าวในโลกออนไลน์และมีผู้แชร์เป็นจำนวนมาก ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา
ล่าสุด 25 เม.ย.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิซิสเตอร์และองค์กรที่ดำเนินงานด้านส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกแถลงการณ์ เรื่อง การตีตราและเลือกปฏิบัติต่อสาวประเภทสองและคนข้ามเพศในพัทยา เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องไม่นำเอาความแตกต่างทางเพศสภาพและเพศวิถีมาเป็นเงื่อนไขในจับกุมและดำเนินคดี และไม่เหมารวมว่าสาวประเภทสองทุกคนเป็นอาชญากร 2. เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่ข่มขู่ คุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ การจับกุม และใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ในดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม
3. สื่อมวลชนต้องนำเสนอหาเนื้อที่เป็นกลางและข้อมูลที่รอบด้าน และไม่ใช้ภาษาและถ้อยคำในการนำเสนอข่าวที่มีอคติและตีตรา เช่น สายเหลือง, กวาดล้าง, และเร่ค้ากาม เป็นต้น 4. ควรมีการศึกษาฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ให้เกิดความเข้าใจเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน 5. สร้างกลไกการมีส่วนร่วม และ/หรือ ระบที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐกับหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่นจัดให้มีการประชุมและการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ร่วมกันโดยเร็ว และ 6. กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานภาครัฐต้องเข้าไปดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ทันต่อสถานการณ์
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า มูลนิธิซิสเตอร์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมระบบบริการสุขภาพและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสาวประเภทสองและคนข้ามเพศ ร่วมกับองค์กรที่ดำเนินงานด้านส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ รายชื่อปรากฏด้านล่าง ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องไม่เลือกปฏิบัตติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ ทั้งในการกระบวนการยุติธรรมและการนำเสนอข่าวของสื่อ โดยต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศสภาพซึ่งเป็นส่วนสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะเห็นได้ว่า
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการกำหนดมาตรการไว้ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า “...ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทาง เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และเพศ หมายความถึง เพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศ...”
พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทําหรือไม่กระทําการใด อันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจํากัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด
หลักการยอกยาการ์ต้า หลักการข้อ 9. สิทธิในด้านการปฏิบัติในลักษณะความเป็นมนุษย์ระหว่างถูกควบคุมตัว มนุษย์ที่ถูกจํากัดเสรีภาพทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและอย่างเคารพต่อศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์และอัตลักษณ์ทางเพศเป็นส่วนสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล
สำหรับ รายชื่อองค์กรภาคีและบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของของกะเทย สาวประเภทสองและคนข้ามเพศ ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์นี้ประกอบด้วย 1. มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน 2. มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร 3. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมระหว่างเพศ 4. มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ 5.สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย 6.มูลนิธิเอ็มพลัส 7.มูลนิธิเอเชียแปซิฟิคทรานเจนเดอร์เน็ทเวริ์ค 8. กลุ่มพะยูนศรีตรัง 9. องค์กรอันดามันพาวเวอร์ 10. กลุ่มโรงน้ำชา 11. มูลนิธิเดอะพอสโฮมเซ็นเตอร์ 12. องค์กรแคร์แมทเชียงใหม่ 13. องค์กรพิ้งมังกี้เพื่อความหลากหลายทางเพศประเทศไทย 14. องค์กรบางกอกเรนโบว์ 15. องค์กรสายรุ้งโพธาราม 16. เครือข่ายสุขภาพและโอกาส และ 17.มูลนิธิโอโซน
แสดงความคิดเห็น