Posted: 28 Apr 2017 04:09 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

คงได้เห็นหน้าคร่าตากันไปบ้างแล้ว สำหรับพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า พ.ร.ป. พรรคการเมือง ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 กฎหมายสำคัญอันจะนำไปสู่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 โดยทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่มีหัวเรือใหญ่คือมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้นำร่างกฎหมายดังกล่าว ฉบับที่ผ่านการพิจารณาจาก กรธ. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 ส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(ส.น.ช) ไปเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยกระบวนการระหว่างนี้ สนช. จะเป็นผู้พิจารณากฎหมายดังกล่าวภายในระยะเวลา 60 วันนับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. เป็นต้นไป

สำหรับร่างกฎหมายพรรคการเมืองที่ กรธ.ได้ส่งไปมีทั้งหมด 145 มาตรา ซึ่งอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวจัดทำโดยยึดกับรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่ใช่รับฟังพรรคการเมืองขนาดใหญ่มากกว่าพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือทำเพื่ออุ้มพรรคการเมืองใด พร้อมทั้งได้วางหลักการ ให้พรรคการเมืองสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศและประชาชนได้เป็นหลักสำคัญ

ขณะที่มีชัยระบุว่า การปรับแก้กฎหมายหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ สนช. เป็นหลักหากยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ทาง กรธ. เชื่อมั่นว่าได้เขียนกฎหมายอย่างดีที่สุดแล้ว และหาก สนช. จะปรับเปลี่ยนก็ต้องมีคำอธิบายด้วยว่าจะปรับเปลี่ยนแก้ไขเพราะอะไร และหากมีแนวทางที่ดีกว่าที่ กรธ. เขียนก็พร้อมที่จะเห็นด้วย

ถ้าจะก่อตั้งพรรคการเมืองได้ คุณต้องมีอะไรบ้าง

ในส่วนของเนื้อหาของกฎหมายพรรคการเมืองที่เป็นประเด็นถกเถียงสำคัญๆ ในช่วงที่ผ่านมามีด้วยกันหลายเรื่อง เช่น เรื่องการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่มีข้อกำหนด ข้อบังคับมากมาย จนทำให้ผู้ที่มีความคิดจะก่อตั้งพรรคการเมืองรู้สึกว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นการปิดกั้นพื้นที่การเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองระดับชาติ มากกว่าที่จะเปิดโอกาสให้เกิดพรรคทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมา

โดยในหมวดที่ 1 ซึ่งว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง ได้กำหนดให้ผู้ที่จะก่อตั้งพรรคการเมืองต้องร่วมกันไม่น้อยกว่า 500 คน เพื่อเข้าชื่อจัดตั้งพรรคการเมือง พร้อมทั้งกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีเงินทุนประเดิมพรรคไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โดยให้เรียกเก็บจากผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างน้อยคนละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ตามมาตรา 9 ขณะที่กฎหมายเดิมกำหนดเพียงให้มีผู้ร่วมก่อตั้ง ไม่น้อยกว่า 15 คน และไม่ได้กำหนดเรื่องทุนเงินประเดิมพรรคการเมืองไว้

อีกทั้งยังกำหนดให้มีการทำระบบสมาชิกพรรคการเมือง โดยมีความมุ่งหวังที่ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของทุกคน โดยในกฎหมายดังกล่าวมีรายละเอียดในทางปฏิบัติที่เอื้อเกิดระบบไพรมารี่โหวต (Primary Vote) ซึ่งสมาชิกพรรคการเมืองสามารถจะมีส่วนร่วมในการกำหนดว่าจะให้ผู้ใดลงสมัครรับการลงเลือกตั้งได้ ตามมาตรา 49 ววรค 3

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการทำระบบสมาชิกนั้นได้มีการกำหนดให้พรรคการเมืองที่เพิ่งจดทะเบียนใหม่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายใน 1 ปี และมีไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในเวลา 4 ปี โดยนับจากวันที่จดทะเบียนพรรคการเมือง และภายใน 1 ปี พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาค อย่างน้อยภาคละ 1 สาขา โดยสาขาพรรคการเมืองจะต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นๆ มากกว่า 500 คนขึ้นไป ตามมาตรา 33

อีกทั้งสมาชิกพรรคการเมืองทุกคนจะต้องชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองอย่างน้อยคนละ 100 บาทต่อปี ตามมาตรา 15 วงเล็บ 15 และหากสมาชิกคนใดไม่ทำการชำระเงินติดต่อกัน 2 ปี ให้ถือว่าสิ้นความเป็นสมาชิกพรรคทันที ตามมาตรา 27 วงเล็บ 3

และเมื่อมีการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองแล้ว หากพบว่าพรรคการเมืองไม่ได้ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งทั่วไปเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน จะทำให้สถานะภาพของการเป็นพรรคการเมืองสิ้นสุดลง ตามมาตรา 84 วงเล็บ 5

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมาย เช่นการจัดประชุมผู้ก่อตั้งพรรคอย่างน้อย 250 คนเพื่อนำรายชื่อและบันทึกการประชุมไปประกอบการจดทะเบียน ไปจนถึงการจัดเตรียมเอกสารต่างๆอีกมากมาย ซึ่งหากเกิดข้อผิดพลาด หรือพรรคการเมืองไม่ได้ทำตามที่กฎหมายระบุก็จะมีโทษถึงขั้นจำคุก


วิทูวัจน์ ทองบุ คณะกรรมการเฉพาะกาลพรรคสามัญชน

การก่อตั้งพรรคมีเงื่อนไขมาก อาจเป็นการผลักไสชาวบ้านสู่ท้องถนน

ต่อประเด็นดังกล่าว วิทูวัจน์ ทองบุ คณะกรรมการเฉพาะกาลพรรคสามัญชน (พรรคสามัญชนคือ กลุ่มบุคคลซึ่งรวมตัวกันและมีแนวคิดจะจัดตั้งพรรคการเมือง) เห็นว่าพรรคการเมืองต้องเป็นเครื่องมือที่ชาวบ้านใช้ได้ง่าย แต่กฎหมายดังกล่าวอาจจะไม่เอื้อให้กับกลุ่มชาวบ้านที่เคยออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในประเด็นสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ ซึ่งมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายกัน และมีความประสงค์จะก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่มาจากความต้องการประชาชน เพราะการกำหนดให้มีเงินทุนประเดิมพรรคการเมือง โดยที่ผู้ก่อตั้งจะต้องจ่ายทุกคนอย่างน้อยคนละ 1,000 บาท จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่กีดกันชาวบ้าน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการหรือนโยบายของรัฐ ไม่ให้เข้าสู่การต่อสู้ในเวทีการเมือง และยิ่งไปกว่านั้นอาจจะเป็นการผลักให้ชาวบ้านเดินออกมาบนท้องถนนแทน

“ตามหลักแล้วมันควรจะง่าย ไม่ใช่มีขั้นตอนที่มากขนาดนี้ และหากเป็นแบบนี้มันยิ่งผลักคนออกไปที่ท้องถนน จากเดิม(ร่างแรกของ กรธ.) เขากำหนด 500 คน จ่ายคนละ 2,000 บาท แต่เปลี่ยนมาเป็น 500 คน อย่างน้อยคน 1,000 บาท แต่เมื่อเฉลี่ยรวมกันแล้วก็ต้องหาให้ได้ 1 ล้านอยู่ดี ซึ่งมันก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านเหมือนเดิม เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเขากำหนดแบบนี้ หากจะอ้างการมีส่วนร่วม มันสามารถทำได้โดยวิธีอื่นอยู่แล้ว” วิทูวัจน์ ระบุ

วิทูวัจน์ เห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นความหวาดกลัวความคิดเก่าๆ ภาพการเมืองเก่าๆ ของผู้ร่างกฎหมาย แต่กลับไม่มีเข้าใจความเติบโตทางการเมืองของกลุ่มชาวบ้าน หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องการก่อตั้งพรรคการเมืองรูปแบบใหม่ หรือพรรคทางเลือกขึ้นมา เขาเห็นว่าความเป็นเจ้าของพรรคการเมืองไม่สามารถชี้วัดได้ด้วยการดูว่าใครเป็นคนออกเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูที่รูปแบบการบริหารพรรค การกำหนดนโยบายของพรรค ซึ่งสำหรับพรรคสามัญชนได้มีแนวคิดว่าทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องการกับทำงานของพรรคจะให้สมาชิกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดได้ ความเป็นเจ้าของพรรคเกิดขึ้นจากตรงนี้ วิทูวัจน์ย้ำในตอนท้าย


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เช่นเดียวกันกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดบทบาทที่ชัดเจนของสมาชิกเพียงแค่การจ่ายค่าบำรุงพรรค แต่ยังไม่มีการระบุว่าให้สิทธิอะไรบ้างกับผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง เขาเห็นว่าการเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในพรรค จะคิดแต่เรื่องของการจ่ายค่าบำรุงพรรคอย่างเดียวไม่ได้ แม้ในอุดมคติการจ่ายเงินบำรุงพรรคจะเป็นเรื่องที่สมควรมี แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันไปสู่การที่ประชาชนสามารถมามีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองได้นั้น การเอาเรื่องเงินมาเป็นตัวตั้งไม่ใช่โจทย์ที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ ระบุด้วยว่า การครอบงำพรรคการเมืองโดยคนกลุ่มน้อย โดยบุคคล หรือโดยครอบครัวนั้น คงไม่สามารถแก้ได้ด้วยการเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง หากต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องเข้าใจว่าที่มาของเงินนั้นไม่ใช่เป็นเงินที่วางอยู่บนโต๊ะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นเงินที่จ่ายโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งเขายังมีข้อข้องใจว่า ทำไม กรธ. ไม่หาทางจัดการเรื่องนี้ให้ได้


นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เจตนารมณ์ในการก่อตั้งพรรคการเมืองถูกทำให้เปลี่ยนไป

ขณะที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าเงื่อนไขต่างๆที่เพิ่มเข้ามาในก่อตั้งพรรคการเมือง จะทำให้พรรคการเมืองใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือพรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีอยู่มีความลำบากมากขึ้น โดยเขาชี้ให้เห็นว่าความเป็นพรรคการเมืองนั้นไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งเท่านั้น แต่พรรคการเมืองเป็นพื้นที่สำหรับขยายอุดมการณ์ทางการเมือง และเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ การลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบหนึ่งของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ในร่างกฎหมายพรรคการเมือง ระบุว่าหากพรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง 8 ปีติดต่อกันจะถูกยุบพรรคทันที

“เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองบางพรรค เขาอยู่มานานแต่ไม่เคยมีผู้แทนเลย ไม่ได้ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเลย แต่สิ่งที่เขามีคือพื้นที่ในการทำนโยบายสาธารณะบางเรื่องเท่านั้นเอง แต่การกำหนดว่าหากพรรคไหนไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง 8 ปี พรรคนั้นจะถูกยุบไปเลย อย่างนี้แสดงว่าเจตนารมณ์ของพรรคการตามรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่จะต้องเป็นพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเท่านั้น ฉะนั้นพื้นที่สาธารณะของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกัน มารวมตัวกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์ พื้นที่ตรงนี้มันก็จะหายไป”

นิพิฏฐ์ ย้ำด้วยว่า ผู้ร่างกฎหมายมองเห็นเพียงแค่ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับพรรคการเมืองนั้นจะทำได้ด้วยการจ่ายเงิน แต่จริงๆ แล้วการกำหนดรายละเอียดยิบย่อยลักษณะนี้อาจจะทำให้พรรคการเมืองมีลักษณะคล้ายกับระบบราชการที่ต้องคอยดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร และทำงานในลักษณะงานประจำมากขึ้น

“เรื่องการจ่ายเงิน พรรคประชาธิปัตย์เคยทดลองให้สมาชิกพรรคร่วมจ่ายเงินบำรุงพรรคมาก่อนหน้าที่จะเกิดรัฐประหารอีก เรามีสมาชิกหลายล้าน แต่กำหนดให้ชำระเพียงปีละ 20 บาทต่อคน แต่เงินที่ได้มาเข้าใจว่าได้ไม่ถึงแสน ทั้งที่ตอนนั้นเรายังไม่เจอสถานการณ์ที่พรรคการเมืองถูกใส่ร้าย ถูกทำให้เป็นที่รังเกียจเหมือนทุกวันนี้ ในขณะที่ตอนนี้สถานการณ์ต่างๆ ก็ไม่เอื้อเพราะคนรังเกียจนักการเมือง มันก็ไม่เอื้อให้คนเดินเข้ามาจ่ายเงินบำรุงพรรค ฉะนั้นหากมาตรการนี้ออกมาพรรคใหญ่ก็ลำบาก พรรคเล็กก็เกิดยาก ผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จากเดิมที่มีสมาชิกหลายล้าน อาจจะเหลือแค่ไม่กี่แสน” นิพิฏฐ์ กล่าว
บทลงโทษรวม 36 มาตรา พบโทษสูงสุดจำคุก 20 ปี

สำหรับกรณีบทลงโทษที่เขียนเอาไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีด้วยกันทั้งสิ้น 36 มาตรา โดยมีโทษที่เบาสุดคือ มาตรา 127 ระบุว่า หากกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามมาตรา 83 (ซึ่งกำหนดว่า คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่จะต้องตรวจสอบและควบคุมมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 78 มาตรา81 และมาตรา 82) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่โทษสูงสุดตามร่างกฎหมายนี้อยู่ที่มาตรา 110 ที่กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 46 (กรณีการซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดินในหน่วยงานรัฐ) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปีและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งของผู้นั้น (มาตรานี้มีการปรับแก้ไขบทกำหนดโทษจากเดิมที่ กรธ. วางไว้คือโทษประหารชีวิต)

ขณะที่มาตราที่ดูจะเพิ่มเติมเข้ามาเป็นพิเศษคือ มาตรา 130 โดยกำหนดเอาไว้ว่า บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วแต่ได้หลบหนีไป และศาลได้ออกหมายจับแล้ว แต่ยังจับตัวมาไม่ได้ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดี สืบพยาน และอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้

ในขณะที่ ชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการกำหนดบทลงโทษในร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า มีการคิดบนพื้นฐานอะไร เพราะเหตุใดจึงมีความพยายามทำให้กฎหมายดังกล่าวมีอัตราโทษที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับโทษทางอาญาอื่นๆ


ชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย

ซ่อนไม้ตาย กกต.ลงดาบ ล้างไพ่คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ


นอกจากนี้ ชวลิต เห็นว่า มาตรา 22 เป็นบทบัญญัติที่ผิดหลักกฎหมายอย่างร้ายแรง โดยมาตรา 22 กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแล มิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบประกาศและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ทั้งยังระบุให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแล มิให้สมาชิก หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้รับแจ้งจากนายทะเบียนว่าสมาชิกกระทำการอันอาจมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืน ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีมติหรือสั่งการให้สมาชิกยุติการกระทำนั้นโดยพลัน และกำหนดมาตรการหรือวิธีการที่จำเป็นเพื่อมิให้สมาชิกผู้ใดกระทำการอันอาจมีลักษณะดังกล่าวอีก แล้วแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีมติ

ในกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนว่าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตาม ให้นายทะเบียนเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะคำสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ชวลิตให้ความเห็นว่า การร่างบัญญัติข้อนี้ยังมีลักษณะกว้างไปและสร้างการตีความครอบคลุมได้ในหลายๆ ประเด็น โดยเขาเห็นว่า การที่จะให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพียงไม่กี่คนมีหน้าที่ต้องดูแลกับสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งสำหรับพรรคใหญ่อาจมีจำนวนถึงหลักแสน หลักล้าน เป็นกฎหมายที่ไม่สมเหตุสมผล และยิ่งต้องมีการรับโทษด้วยการถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งด้วยนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ชอบอย่างยิ่ง โดยเขาเห็นว่ากฎหมายควรกำหนดโทษที่ผู้ที่กระทำผิดโดยตรง และหากมีการตรวจสอบพบว่า กรรมการบริหารพรรคการเมืองคนใดมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เช่นมีส่วนรู้เห็นกับการฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ควรที่จะมีการลงโทษเป็นกรณีไป ไม่ใช่การเหมารวมคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด
พรรคการเมืองยุบง่ายๆ พรรคเล็กอาจจะหายไปภายในไม่กี่ปี พรรคใหญ่ถึงไม่พลาดก็อาจโดน

สำหรับกรณีที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองนั้นมีหลากหลายเหตุปัจจัย เช่น


1. มีข้อบังคับไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน (มาตรา 85 วงเล็บ 1)

เมื่อพรรคการเมืองไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 17 วรรคสาม (ว่าด้วยกรณีที่พบในภายหลังว่าข้อบังคับของพรรคการเมืองหนึ่งๆ ที่ได้ยื่นประกอบเพื่อจดทะเบียนพรรคการเมือง ไม่เป็นไปตาม มาตรา 14 ซึ่งระบุว่า ข้อบังคับต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1.เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ 2.ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 3.อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ และ4.ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ)

และมาตรา 15 (ว่าด้วยข้อบังคับต่างๆที่ต้องมีสำหรับพรรคการเมือง ยกตัวอย่างเช่น สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ความรับผิดชอบของสมาชิกต่อพรรคการเมืองและความรับผิดชอบของพรรคการเมืองต่อสมาชิก มาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิก หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ และการคัดเลือกบุคคลซึ่งพรรคการเมืองเห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องกำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการคัดเลือกด้วยอย่างกว้างขวาง วิธีการบริหารการเงินและทรัพย์สิน)

โดยให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับของพรรคการเมืองนั้น และแจ้งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองทราบภายใน 7 วัน โดยคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง และครบถ้วนภายในเวลา 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นไปจากนี้ยังไม่ได้ทีการแก้ไข หรือแก้ไขแล้วแต่ยังไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง

2.มีจำนวนสมาชิกไม่ครบตามที่กำหนด (มาตรา 85 วงเล็บ 2) มีจำนวนสาขาพรรคการเมืองไม่ครบตามที่กำหนด (มาตรา 58 วงเล็บ 3)

เมื่อพรรคการเมืองได้รับการจดทะเบียนแล้ว หากหลังจากวันที่จดทะเบียน 1 ปี ไม่สามารถมีสมาชิกมากกว่า 5,000 คนหรือหลังผ่านไป 4 ปี ไม่สามารถมีสมาชิกมากกว่า 10,000 คน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 90 วัน ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง

หรือหากมีสาขาพรรคการเมืองเหลืออยู่ไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด (ต้องมีอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา) ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง

3.กรณีสั่งยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ ให้สั่งตัดสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคด้วย

ในมาตรา 86 ได้ระบุว่า หากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองได้กระทำการดังต่อไปนี้ ให้ยื่นเรื่องกับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมบริหารพรรคด้วย

การกระทำดังกล่าวประกอบด้วย การกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรค 2 มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 46 มาตรา 66 หรือมาตรา 68 และมีเหตุอันจำเป็นตามกฎหมายกำหนด


มาตรา 20 วรรคสอง พรรคการเมืองต้องไม่ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน

มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกของพรรคขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

มาตรา 30 ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง

มาตรา 36 สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จะจัดตั้งขึ้นนอกราชอาณาจักรมิได้

มาตรา 44 ห้ามมิให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกรับบริจาคจากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน

มาตรา 45 ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการหรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

มาตรา 46 ห้ามมิให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียกรับ หรือยอมจะรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับแต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ

ห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองสมาชิกหรือผู้ใดเพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ

มาตรา 66 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 68 ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก

(1)บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย

(2)นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร

(3)นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้า ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้พิจารณาตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวหุ้นที่ไม่ปรากฏชื่อผู้ถือหรือถือโดยตัวแทนของบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้ถือว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(4)คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการ หรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(5)บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตาม (1) (2) (3) (4)

(6)บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับ (1) (2) (3) (4) (5) ตามที่คณะกรรมการกำหนด

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าวที่มิใช่เพื่อใช้ในกิจกรรมทางการเมือง


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.