ทักษิณคิด คสช.ทำ ดันกม.เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ให้อำนาจยกเว้นกฎหมาย เอื้อต่างชาติเช่าที่ 99 ปี

Posted: 26 Apr 2017 03:18 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษชี้ร่างกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเปิดช่องยกเว้นการใช้กฎหมายเอื้อต่างชาติเช่าที่ 99 ปี ซ้ำทบทวนการอนุญาตไม่ได้ รัฐอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย ย้ำไม่ใช่เรื่องชาตินิยม แต่คนไทยกำลังถูกรอนสิทธิในการใช้ทรัพยากร ถามหากเกิดปัญหามลพิษตกค้างจากการใช้ที่ดินใครจะรับผิดชอบ

นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ประกอบด้วยพื้นที่ 3 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กำลังเป็นนโยบายที่รัฐบาลทหารเร่งผลักดันอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ เรียกว่าประชาชนในพื้นที่เองก็แทบติดตามไม่ทัน ความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ทำการร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปแล้ว

รัฐบาลจัดให้การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในความสำคัญอันดับแรกๆ ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อันกินความรวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) จึงเป็นทางด่วนพิเศษให้กับนักลงทุนด้วยการเพิ่มแรงจูงใจจำนวนมากและลัดขั้นตอนทางกฎหมายลง

แต่ประเด็นที่ร้อนแรงขึ้นมาคือการเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินได้ยาวนานถึง 99 ปี ซึ่งทางกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีอยู่แล้วใน พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 เหตุนี้ทางเครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงได้จัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

โดยเดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติบางประการต่อข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลที่ว่าเป็นกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เขากล่าวว่า พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ พ.ศ.2542 เกิดขึ้นจากแรงกดดันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ในกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศเช่าที่ดินได้ 50+49 ปีอยู่จริง แต่ก็มีเงื่อนไขและรายละเอียดพอสมควรในการอนุญาตและระบุถึงการเพิกถอนไว้

โดยเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ฉบับก่อนเข้าที่ประชุม ครม. มาตรา 43 ระบุว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้รับสิทธิตามมาตรา 43(1) มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน

และในมาตรา 46 ระบุว่า การเช่าหรือให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มิให้นำมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 มาใช้บังคับ

เนื้อหาใน 2 มาตราข้างต้นกล่าวไว้อย่างไร


มาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุว่า อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี อนึ่ง กำหนดเวลาเช่าดังกล่าวมานี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้องอย่าให้เกินสามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา

ส่วนมาตรา 5 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ พ.ศ.2542 ระบุว่า การเช่าที่ดินที่มีเนื้อที่เกินกว่าหนึ่งร้อยไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนในวรรค 3 ระบุว่า การจดทะเบียนการเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ การกำหนดประเภทของพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมที่ให้ทำการเช่า และการใช้หรือการเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้อสังหาริมทรัพย์ตามที่เช่า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และในวรรค 5 ระบุอีกว่า ให้อธิบดีมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าที่ฝ่าฝืนหรือมิได้ปฏิบัติตามความในวรรคสองและวรรคสาม

“แต่กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกลับให้นักลงทุนที่ได้รับอนุญาตแล้วจะถือที่ดินกี่แปลงก็ได้ ที่ดินแปลงนั้นจะใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมประเภทใดก็ได้ สมมติผมได้รับอนุญาตในการทำธุรกิจประเภทเอ แต่เมื่อผมได้รับอนุญาตแล้ว ผมอาจไปซื้อที่ดินเพื่อทำอุตสาหกรรมประเภทบี ประเภทซี ต่อไปก็ได้ ขณะที่กฎหมายเดิมจะต้องขออนุญาตเป็นรายแปลง” เดชรัต กล่าว


"นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียงในจังหวัดระยอง พัฒนามาเกือบ 40 ปีแล้ว ถ้าเช่าต่อไปเป็น 99 ปี เมื่อหมดระยะเวลา พื้นที่ที่ปนเปื้อนมลพิษขนาดใหญ่ขนาดนี้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับพื้นที่นี้ เคยมีการกำหนดไว้หรือเปล่าว่าใครจะต้องเข้ามาฟื้นฟู ดูแลรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

ข้อสังเกตประการต่อมา การได้มาซึ่งที่ดินของกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดว่า ที่ดินที่จะเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษหรือใช้เพื่อการพัฒนาในเขตนี้ ภาครัฐสามารถซื้อ เช่า เช่าซื้อ เวนคืน หรือถมทะเลก็ได้ เมื่อได้ที่ดินมาแล้วก็สามารถนำไปปล่อยเช่าได้ โดยให้สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้กำหนดค่าเช่า การเช่าที่ดินนี้จึงแตกต่างจาก พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ เนื่องจากภาครัฐจะเป็นผู้จัดหาที่ดินมาให้เอกชนต่างชาติเช่า และเมื่อให้เช่าแล้ว การเพิกถอนก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะในร่าง พ.ร.บ. นี้ได้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ ไปแล้ว

“ประเด็นการเช่าที่ดินจึงมีความน่าเป็นห่วง จะมีผลกระทบในแง่การนำที่ดินสาธารณะมาให้เช่าหรือไม่ จะเกิดการกระจุกตัวของที่ดินในพื้นที่สามจังหวัดเพิ่มมากขึ้นหรือไม่”


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเด็นนี้ถูกมองในมุมชาตินิยมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเดชรัตกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องชาตินิยม แต่เป็นเรื่องสิทธิ โดยเขาอธิบายว่าการที่เอกชนต่างชาติเช่าที่ดินจากรัฐ โดยรัฐบาลกำลังใช้สิทธิของความเป็นรัฐ เช่น การเวนคืนที่ดิน การถมทะเล แล้วนำที่ดินที่ได้มาแจกจ่ายให้แก่นักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำแม้แต่กับนักลงทุนไทยเอง ยิ่งถ้าเป็นนักลงทุนต่างประเทศก็อาจจะยิ่งมีคำถามเพิ่มมากขึ้นว่าเหตุใดจึงใช้อำนาจรัฐในการรอนสิทธิ์ของประชาชนชาวไทย

“ถ้าถามผมว่าเป็นเรื่องชาตินิยมหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่มันเป็นการนำสิทธิที่มีอยู่ในคนกลุ่มหนึ่งตามสิทธิดั้งเดิมมาให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีสิทธิดั้งเดิม รวมถึงการกำหนดสัญญาเช่าและอัตราค่าเช่าก็ให้สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษเป็นคนกำหนดเอง ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความไม่สบายใจมากยิ่งขึ้น”

ด้านเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวต่อประเด็นนี้ว่า ประชาชนของทุกประเทศมีสิทธิที่จะทำสิ่งใดก็ตามเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ กรณีการเช่าที่ดิน 99 ปีง่ายที่จะถูกดึงและปั่นเป็นกระแสชาตินิยม แต่สิ่งที่ตนมองคือหากมีการศึกษาทางวิชาการตามกรอบกติกามาตรฐานสากลแล้วพบว่าการเช่าที่ดิน 99 ปีส่งผลดี ทางเราก็ยินดีสนับสนุน และประชาชนต้องมีส่วนร่วมซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ก็บัญญัติไว้ค่อนข้างรอบด้านว่า ต้องมีการประเมินอย่างไรและประชาชนควรมีส่วนร่วมอย่างไร

“เราไม่อยากพูดว่านี่เป็นเรื่องชาตินิยม หวงแหนประเทศไทย คนอื่นเข้ามาเช่าไม่ได้ แต่เรากำลังพูดถึงปัญหาการจัดการทรัพยากร การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ไปให้ไกลกว่าเรื่องชาตินิยม อย่างหน่วยงานของเราทำเรื่องมลพิษอุตสาหกรรมมานาน สิ่งที่เราเจอเป็นปัญหาที่ใหญ่มากๆ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนกล้าแตะ กล้าเปิดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการวางแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหญ่ขนาดไหน อย่างไร

“ดิฉันอยากจะถามว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียงในจังหวัดระยอง พัฒนามาเกือบ 40 ปีแล้ว ถ้าเช่าต่อไปเป็น 99 ปี เมื่อหมดระยะเวลา พื้นที่ที่ปนเปื้อนมลพิษขนาดใหญ่ขนาดนี้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับพื้นที่นี้ เคยมีการกำหนดไว้หรือเปล่าว่าใครจะต้องเข้ามาฟื้นฟู ดูแลรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

กัญจน์ ทัตติยกุล จากเครือข่ายเปลี่ยนตะวันออก มองว่าเรื่องที่ดินกับชาตินิยมนั้น ในส่วนของชาวบ้านเห็นว่าเรื่องการใช้ที่ดินเกี่ยวเนื่องกับการใช้ทรัพยากร เรามองถึงสิทธิที่จะดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีมากกว่า จุดนี้เป็นปัจจัยหลักที่ชาวบ้านคำนึง เพราะเรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น การเข้าถึงแหล่งน้ำ ตอนนี้กลายเป็นว่าแหล่งน้ำที่ภาคเกษตรหรือชุมชนจะใช้ถูกผันไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและยิ่งมีปัญหาหนักขึ้น ช่วงสองสามปีมานี้ที่มีวิกฤตภัยแล้ง ภาคตะวันออกกระทบหนักมาก แม้กระทั่งน้ำที่จะนำมาผลิตน้ำประปาก็ยังหาไม่ได้

ส่วนกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวว่า ปกติเราไม่สามารถเช่าที่ดินได้ทุกพื้นที่ มันมีข้อจำกัดตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีคนต่างชาติก็เป็นเช่นนั้น ตามกฎหมายเดิมจะมีข้อจำกัดเหล่านี้อยู่และสามารถทบทวนได้ แต่การที่ระบุตามกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แทบจะไม่มีระบบทบทวนและการต่ออายุก็เหมือนจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ อีกทั้งประเด็นการทบทวนการเช่าที่ดินจะไปพัวพันกับการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติในภายหลัง ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นเรื่องชาตินิยม แต่เป็นการไปทำลายกฎระเบียบทั้งหมดที่เคยมีในการควบคุมการใช้ที่ดิน สิ่งแวดล้อม ผังเมือง และอื่นๆ เพียงเพื่อจะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ

ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีประชาชนคนใดเห็นร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล ทางเครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเรียกร้องไปทางรัฐบาลให้เปิดเผยเนื้อหากฎหมายและสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.