พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ (ภาพจาก iLaw)
Posted: 26 Apr 2017 10:53 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ โพสต์แจงเหตุเสนอกฎหมายดักรับข้อมูลของตำรวจ มุ่งคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรม ไม่ใช่อยากได้อำนาจเข้าทำร้ายใคร ยันในโลกเสรี ที่ยึดมั่นหลักนิติรัฐทั่วโลก เขาก็มีกฎหมายนี้
27 เม.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) ซึ่งเกี่ยวกับการให้อำนาจการเข้าถึงพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยถอดเรื่องนี้ออกจากชั้นความลับที่สุด เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว กฎหมายทุกฉบับต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการดักฟังข้อมูลด้วย แต่ไม่อยากให้วิตกกังวล เพราะเจ้าหน้าที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากศาล และทำได้เฉพาะในคดีอาญา จึงไม่ต้องกังวลว่าภาครัฐจะล้วงความลับหรือดักจับข้อมูลของประชาชน
ล่าสุดวันนี้ (27 เม.ย.60) พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รอง.ผบก. (International Law Enforcement Academy : ILEA ) โพสต์บันทึก 'การเสนอกฎหมายดักรับข้อมูลของตำรวจ' ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'SIRIPHON KUSONSINWUT' ในลักษณะสาธารณะ อธิบายถึงเหตุผลของการกฎหมายถึงกล่าวในฐานะคนร่างกฎหมาย และร่วมคณะผู้แทนตำรวจชี้แจงกฎหมายต่อคณะกรรมการประสานงานรัฐบาล (วิป) เพื่อชี้แจงร่างกฎหมาย การดักรับข้อมูล ก่อนนำเข้า สนช.
"ผมยืนยันว่า โลกเสรี ที่ยึดมั่นหลักนิติรัฐทั่วโลก เขาก็มีกฎหมาย Intercept Law ทั้งนั้นครับ ถ้าบอกกฎหมายนี้ เผด็จการ แม่งเผด็จการทั้งโลกแหละครับ ... สุดท้าย ในฐานะผู้ยกร่าง ผมยืนยันว่า เรามุ่งคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรม ไม่ใช่อยากได้อำนาจเข้าทำร้ายใคร แต่ใครจะ Abuse of Power ทำระยำตำบอนนั้น ผู้ร่างไม่เกี่ยว และผู้ร่างคิดว่า เราทำดีที่สุด เท่าที่จะทำได้แล้ว" พ.ต.อ.ศิริพล โพสต์
รายละเอียดดังนี้
1 ) หลักการกฎหมาย มีปรัชญาสำคัญ คือ คุ้มครองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรม เพราะมีคดีกว่า 600,000 คดีต่อปี ที่เหยื่ออาชญากรรม ไม่มีสิทธิอะไร นอกจากการแจ้งความ กับการไปเบิกความต่อศาล หรือไปเรียกร้องเงินค่าปลงศพ กับค่ารักษา จากกองทุนยุติธรรม แต่เสียงของเหยื่อ ไม่ได้รับการดูแล และไม่ได้รับการฟัง อีกทั้ง ตำรวจยังไม่มีเครื่องมือในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อประโยชน์ของเหยื่อ นอกจากหมายเรียกฯ เท่านั้น เหยื่ออาชญากรรม จึง ไม่ได้รับการดูแลเท่าฝ่ายผู้กระทำผิดเลย แม้แต่น้อย ถึงเวลาที่จะต้องสร้างสมดุลย์ให้กับสิทธิของเหยื่อกับสิทธิของผู้กระทำผิด ?
2 ) ความจำเป็นในการมีกฎหมายนี้ คือ ผู้กระทำผิดใช้เทคโนโลยีทันสมัยและพยานหลักฐานทั้งหลายอยู่ในมือและครอบครองของผู้กระทำผิด สามารถทำลายได้ง่าย ในขณะที่ตำรวจ ตาม ป.วิ.อาญา จะมีอำนาจเพียงการออกหมายเรียก และการตรวจการณ์ทั่วไป การรวบรวมพยานหลักฐานจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะคดีความมั่นคง พยานหลักฐานน้อย ถูกยกฟ้องประมาณ ร้อยละ 70 กันเลยทีเดียว
3 ) วิธีการดักรับข้อมูล จะต้องถูกตรวจสอบภายในองค์กร คือ ผู้การเห็นชอบ แล้วจึงขออนุมัติต่อศาล ซึ่งจะต้องเป็น อธิบดีศาลอาญา หรือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเท่านั้น ซึ่งศาลที่มีประสบการณ์สูงเหล่านี้ จะมีดุลพินิจที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน ไม่ใช่ผู้พิพากษาทั่วไป ที่อาจจะทำให้ดุลพินิจแตกต่างกันได้ง่าย
4 ) แนวทางการขอดักรับข้อมูล ประกอบด้วย
4.1 ) มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่ามีการกระทำผิด คือ Probable Cause ว่ากระทำผิดจริง ในความผิดไม่กี่ฐาน เช่น ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดฐานก่อการร้าย ความผิดที่สลับซับซ้อนที่มีอัตราโทษอย่างสูงเกิน 10 ปี ไม่ใช่คดีขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง เล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไป แต่เป็นคดีที่มีโทษร้ายแรง และถ้าไม่ใช้วิธีการนี้ เหยื่ออาชญากรรม จะไม่มีทางได้รับการเยียวยา หรือ ความยุติธรรมจะเสียหาย เพราะไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรมได้
4.2 ) ไม่สามารถสืบสวนได้ด้วยวิธีการปกติแล้ว เช่น ออกหมายเรียกไม่ได้ หรือ ไปเฝ้าฝังตัว ตำรวจก็จะตายเปล่า หรือ ทางเทคนิคจะต้องได้พยานหลักฐานด้วยการเข้าถึงเท่านั้น
4.3 ) ตำรวจจะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ทำไม จึงต้องได้ข้อมูลเช่นนั้น ตำรวจต้องการข้อมูลระดับไหน และจะเข้าถึงด้วยวิธีการอย่างไร จึงจะกระทบสิทธิประชาชนน้อยที่สุด
4.4 ) ศาลสามารถตรวจสอบและสั่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ตลอดเวลา เช่น หยุดดักรับ หรือ กำหนดเงื่อนไข
4.5 ) ต้องรายงานผลการดำเนินการต่อศาลต่อเนื่อง
4.6 ) ต้องเก็บข้อมูลเป็นความลับ อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีต้องทำลาย
4.7 ) การเปิดเผยข้อมูล ไม่ว่าโดยประชาชนที่อาจจะรู้เห็น ต้องโทษจำคุก 3 ปี ถ้าเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ จำคุก 3 เท่า และปรับหลักแสนบาท
หมายเหตุ : abuse of power คือ การใช้อำนาจในทางที่ผิด, Probable cause คือ การพิสูจน์ให้เห็นถึงเหตุอันมีพยานหลักฐานเพียงพอ และ Intercept Law กฎหมายเกี่ยวกับการดักฟัง
แสดงความคิดเห็น