ทีดีอาร์ไอระบุดัชนีคอร์รัปชั่นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ซื้อเรือดำน้ำอาจมีปัญหาความโปร่งใส
Posted: 27 Apr 2017 09:48 AM PDT
ทีดีอาร์ไอ ระบุ ดัชนีคอร์รัปชั่นไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ถ้าบวกปัจจัยเสรีภาพสื่อ-ประชาธิปไตย ทำให้ได้คะแนนน้อยมาก เผย ปชช.ตระหนักเรื่องคอร์รัปชั่นมากขึ้น ชี้การซื้อเรือดำน้ำจีนไม่เปิดเผยเรื่องเหตุผลและความจำเป็นต่อ ปชช. น่าจะมีปัญหาความโปร่งใส
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเสวนา “ติดตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งจัดโดย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นั้น เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกิจกรรมดังกล่าวว่า ได้ทบทวนดัชนีคอร์รัปชั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยข้อสรุปมี 3 ข้อหลักๆ ด้วยกัน หนึ่งคือดัชนีโดยทั่วไปไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ CPI (Corruption Perceptions Index) ที่แย่ลงในปีนี้ เราตกลงไปเยอะเกิดมาจากมันมีการเอาดัชนีใหม่เข้ามาวัด คือ ดัชนีที่เกี่ยวกับเรื่องระบบการปกครอง ซึ่งเราจะได้คะแนนน้อยมาก เรายังไม่มีการเลือกตั้ง และอีกตัวคือเรื่องเสรีภาพสื่อ ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องของประชาธิปไตยด้วย เมื่อนำดัชนี 2 ตัวนี้มาคำนวนกับดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาพรวมคะแนนเราก็เลยตกลง แต่ดัชนีตัวอื่นที่ไม่มี 2 ตัวนี้ ก็จะเท่าเดิม เราไม่ได้ดีขึ้น เราไม่ได้แย่ลง
เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า ส่วนดัชนีของประเทศไทยที่ทำเอง คือ CSI หรือ Corruption Situation Index ของหอการค้าไทย ซึ่งทำมาทุก 6 เดือน ทำมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว เห็นแนวโน้มค่อนข้างชัด โดยสรุปได้หลักๆ ว่า หนึ่ง คนไทยมองว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยดีขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ช่วงปีสุดท้าย 59 นี้ ค่อนข้างนิ่ง ดีขึ้นนิดเดียว
เดือนเด่น กล่าวว่า สิ่งที่ชัดเจนเมื่อย้อนดู 7 ปี ของดัชนีตัวนี้ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ดีขึ้นอย่างชัด คือ เรื่องของความตระหนักรู้ของประชาชนไทยเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น มีความตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น รวมทั้งมีความคิดว่าพร้อมร่วมต่อต้านการคอร์รัปชั่นมากขึ้นด้วย แต่ข้อจำกัดก็คือเมื่อถามถึงความมั่นใจในหน่วยงานต่างๆ ในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ประกอบด้วย หนึ่ง องค์กรอิสระต่างๆ ของภาครัฐ เช่น ป.ป.ช. สตง. ภาคสื่อ ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ปรากฎว่าคำตอบจากการสำรวจได้คะแนนเพียง 5-6 กันทุกคน และไม่ได้ดีขึ้น ซึ่งความเป็นจริงอาจต่างกัน แต่ในภาพลักษณ์ที่ฉายต่อประชาชนคนไทยโดยทั่วไปแล้ว ยังไม่มีภาคส่วนไหนที่จะสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้
สำหรับคำถามที่ว่าการจัดซื้อเรือดดำน้ำจากจีนที่ไม่เปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะ จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการคอร์รัปชั่นหรือไม่นั้น เดือนเด่น กล่าวว่า เขาคงไม่ได้มองเป็นเรื่องๆ แต่ก็จะมองว่า หนึ่ง สื่อมีสิทธิตั้งคำถามหรือไม่ คนทั่วไปสามารถตั้งคำถามได้ไหม สามารถวิจารณ์ได้ไหมว่าไม่เห็นด้วย ออกมาแสดงออกผ่านสื่อต่างๆ ได้อย่างเสรีไหม หรือมีความพยายามจะปิดกั้น สอง ถ้าหากมีการคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยแล้ว ภาครัฐมีกระบวนการอะไรไหมที่จะทบทวนหรือที่โปร่งใส ที่จะแสดงให้เห็นว่าการจัดซื้อจัดจ้างมีความจำเป็น การคัดเลือกคู่ค้าไม่ว่าจะจีน มีผู้เสนอขายหลายเจ้าทำไมต้องเลือกจีน อันนี้เป็นตัวอย่าง
แฟ้มภาพ ประชาไท
"ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด หรือความจำเป็นในการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้สังคมยอมรับได้ การซื้อเรือดำน้ำก็จะไม่เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าเผื่อไม่ได้รับการชี้แจงและมีการปกปิดอันนั้นก็น่าเป็นห่วง" เดือนเด่น กล่าว
ต่อกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีออกมาอธิบายว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำมีความจำเป็นแต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดนั้น เดือนเด่น กล่าวว่า หากเป็นมุมมองในเรื่องความโปร่งใส น่าจะมีปัญหา ที่เราต้องเปิดเผยเรื่องเหตุผลและความจำเป็น
สำหรับข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้นั้น เดือนเด่น กล่าวว่า ความมั่นคงของประเทศ เราใช้กันเยอะ ตนก็เชื่อว่าบางเรื่องเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ก็ต้องบอกว่าส่วนไหนเป็นเรื่องของความมั่นคง และมันเกี่ยวกับความมั่นคงตรงไหน แต่ถ้าบอกว่าไม่เปิดหมดเลย ทั้งในเรื่องของรายละเอียด ความจำเป็นทั้งหลาย ตนคิดว่าไม่น่าจะใช่ น่าจะเปิดได้บางส่วน
เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า สำหรับในต่างประเทศงบประมาณในด้านกลาโหมส่วนมากจะเป็นเรื่องลับอยู่แล้ว มีการปฏิบัติที่พิเศษ แต่ก็ไม่ได้มายความว่าจะไม่มีการตรวจสอบเลย ในกระบวนการทางการเมืองของเขามันก็ต้องมีการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการในรัฐสภา ก็จะตั้งคำถามมาตลอดว่ามีความจำเป็นในการซื้อแค่ไหน มีความคุ้มค่าแค่ไหน ผลประโยชน์ที่จะได้คืออะไร เอาไปใช้อะไร เป็นกระบวนการในการตรวจสอบซึ่งคงมีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการซื้ออะไร
แสดงความคิดเห็น