นายสามารถ ขวัญชัย ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศาลเชียงใหม่ยกฟ้องลุงติดป้าย 'เผด็จการจงพินาศ'


Posted: 23 Apr 2017 11:25 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ศาลเชียงใหม่ยกฟ้อง 'สามารถ ขวัญชัย' จำเลยในข้อหาประชามติ ชี้ข้อความ 'เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No' ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ

24 เม.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเวลา 9.00น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพากษาในคดีของนายสามารถ ขวัญชัย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61(1) และวรรค 2 จากกรณีการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” พร้อมรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้วไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถราว 10 คัน ในลานจอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (อ่านรายละเอียดคดี และ ประมวลสรุปการสืบพยานในศาล)

ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61(1) และ วรรค 2 ต้องมีองค์ประกอบด้วยกัน 4 ประการ คือ 1. เป็นการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 2. มีการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด 3. มีลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ และ 4. จะต้องมีเจตนาพิเศษ คือเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง การกระทำจะเป็นความผิดได้ ต้องเข้าองค์ประกอบความผิดทั้งสี่ประการ

ศาลวินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณาข้อความจากใบปลิวที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”แล้ว ตามพจนานุกรม คำว่า “เผด็จการ” หมายถึงการใช้อำนาจบริหารการปกครองประเทศอย่างเด็ดขาด และคำว่า “พินาศ” หมายถึง ทำให้หมดสิ้นไป สูญสลายไป เมื่อนำมารวมกันแล้ว มีลักษณะเป็นความหมายเชิงนามธรรมทั่วๆ ไป ไม่ได้มีความหมายถึงร่างรัฐธรรมนูญ และแม้จะตีความหมายว่าถ้อยคำดังกล่าวหมายถึงรัฐบาลที่บริหารประเทศในขณะนั้นได้ แต่ก็ไม่อาจตีความให้เกี่ยวข้องไปถึงการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐบาลไม่ใช่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบกับผู้มีสิทธิที่จะไปลงประชามตินั้นมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ย่อมมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจเองได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดความเห็นคล้อยตาม ข้อความในใบปลิวจึงไม่อาจจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ยังเป็นคำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และใช้กันทั่วไปในหมู่ผู้รักประชาธิปไตย ก่อนที่จำเลยจะนำมาใช้ในใบปลิว

อีกทั้ง เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ประชามติ ยังมิใช่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ของทั้งฝ่ายที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติ ที่ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” โดยเฉพาะมาตรา 61 ในพ.ร.บ.ประชามติที่มีโทษทางอาญานั้น ต้องตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็น

แม้โจทก์จะมีพยานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เบิกความยืนยันว่าข้อความดังกล่าว มีลักษณะรุนแรงเป็นการปลุกระดมทางการเมืองก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล โดยที่ไม่มีการนำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา, กรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เข้ามาเบิกความยืนยันในประเด็นนี้ จึงฟังไม่ได้น้ำหนัก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย และใบปลิวในคดีนี้ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เป็นความผิด เห็นสมควรให้คืนแก่จำเลย

หลังฟังคำพิพากษา นายสามารถ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตน หากไม่ได้ทุกคนมาช่วยเหลือ ตนก็มืดแปดด้านจริงๆ เมื่อฟังคำพิพากษาแล้ว รู้สึกว่าความเป็นธรรมยังพอหาได้ในประเทศนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะหยิบขึ้นมาใช้อีก หากผู้ใช้ดีก็ดี หากผู้ใช้ไม่ดี ผลก็คงไม่ดี อย่างน้อยเรื่องนี้ก็เกิดบรรทัดฐานหรือประกายไฟเล็กๆ ให้สังคม ให้ผู้คนได้เห็นความเป็นประชาธิปไตย ชัยชนะครั้งนี้เป็นอีกขึ้นหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อต่อสู้กันต่อไป

สำหรับนายสามารถ ขวัญชัย ปัจจุบันอายุ 63 ปี ประกอบอาชีพช่วยครอบครัวขายภาพโมเสคที่ร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่ นายสามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในฐานะมวลชนอิสระ เคยร่วมเป็นพยาบาลอาสาในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 อีกทั้ง นายสามารถยังมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวานและความดัน โดยหลังถูกจับกุมในคดีนี้ นายสามารถถูกฝากขังและถูกคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 9 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว โดยหลักทรัพย์ 1 แสนบาท

ทั้งนี้ จากการติดตามคดีในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้เป็นคดีที่ถูกกล่าวหาในข้อหาพ.ร.บ.ประชามติคดีแรก ที่ศาลมีคำพิพากษาออกมา (อ่านรายงานสรุปคดีประชามติทั้งหมด)



หมายเหตุ: แก้ไขเนื้อหาข่าวเมื่อเวลา 13.49 น.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.