ชาวกะเหรี่ยงแม่ปอคีจัดพิธีบวชป่า ยืนยันกับการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า
Posted: 24 Apr 2017 02:39 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ชาวกะเหรี่ยงบ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) จัดพิธีบวชป่า เป็นชุมชนตัวอย่างที่อยู่กับป่ามากว่า 200 ปี โดยชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตดั้งเดิมตามหลักการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าได้อย่างเกื้อกูลกันและกัน
แม้ระยะทางจากตัวอำเภอท่าสองยาง ถึงบ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) แค่ไม่เกิน 60 กิโลเมตร แต่กลับต้องใช้เวลาเดินทาง ไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะระยะทาง เข้า หมู่บ้าน ช่วง 16 กิโลเมตร สุดท้าย ใช้เวลาเดินทางมากว่า 2 ขั่วโมง ผ่านหมู่บ้านถึง 4 หมู่บ้าน ลัดเลาะตามแนวเขากว่า 5 ลูก จึงจะถึงที่หมาย บ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) ซึ่งเป็นชุมชนกะเหรี่ยงอาศัยมาเนิ่นนานกว่า 200 ปี โดยชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตดั้งเดิมทำไร่หมุนเวียน ไม่มีการผลิตพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้า อาทิ ข้าวโพด กระหล่ำปลี ไม่มีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ขณะที่ทุนนิยมและความเจริญภายนอกคืบคลานเข้าหาหมู่บ้าน ชาวกะเหรี่ยงจะตั้งรับอย่างไร
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 ชาวบ้านจากหมู่บ้านขุนแม่เหว่ย (บ้านแม่ปอคี) ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง และเครือข่ายร่วมกันจัดพิธีบวชป่า ที่บริเวณโดยรอบน้ำตกขุนแม่เหว่ย ซึ่งเป็นต้นน้ำขุนแม่เหว่ย เพื่อเป็นการนำพิธีกรรมตามภูมิปัญญาวัฒนธรรมของคนปากเกอะญอมาประยุกต์ใช้ในการปกป้องและพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ให้คงอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์แก่เยาวชนในหมู่บ้านให้เห็นคุณค่าการดูแลรักษาป่า และเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า โดยใช้วิถีภูมิปัญญาของคนในชุมชน ที่สำคัญเป็นการจุดประกายประเด็นความสนใจของชุมชนที่ต้องการหาแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่โดยชุมชนได้มีส่วนร่วม เพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับพื้นที่เขตป่า โดยที่เขตป่าไม่รุกรานชุมชน และชุมชนไม่บุกรุกเขตป่า เป็นชุมชนที่อยู่กับป่าอย่างยั่งยืนได้
พาเหาะ ลำเนาไพร อายุ 65 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณ แห่งหมู่บ้านขุนแม่เหว่ย (บ้านแม่ปอคี)
นายพาเหาะ ลำเนาไพร อายุ 65 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณ แห่งหมู่บ้านขุนแม่เหว่ย (บ้านแม่ปอคี) ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นความต้องการของชุมชนที่จะปลุกจิตสำนึกเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับเขตป่า ซึ่งชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ยนั้นมีประวัติศาสตร์การตั้งชุมชนมากว่า 150 ปี เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้ง น้ำตก ป่าไม้ สัตว์ป่า โดยเฉพาะในชุมชนมีภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คือ มีป่าเดป่อทู่ หรือ ป่าสะดือ ที่ดูแลจัดการโดยวิถีชุมชน ที่มีความผูกพันธ์กับป่ามาตั้งแต่เกิด โดยจะมีการนำสายสะดือของเด็กแรกเกิดไปแขวนไว้กับต้นไม้เป็นการผูกสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับต้นไม้ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกัน โดยห้ามใครตัดต้นไม้ต้นนั้น รวมถึงมีระบบการเกษตรแบบผสมผสาน คือการทำไร่หมุนเวียน เพราะเป็นระบบการเกษตรที่สร้างสมดุลให้ระบบนิเวศน์ และถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญา ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนนั้น จะมีพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมการบอกกล่าวเจ้าป่า เจ้าเขา เพื่อขอทำไร่ข้าว เมื่อทำเสร็จก็จะมีพิธีส่งคืนให้กับเจ้าป่าเจ้าเขา โดยมีความเชื่อว่าพื้นที่ทั้งหมดนั้นเป็นของเจ้าป่า เจ้าเขา อีกทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ ยังมีการทำบุญเลี้ยงเจ้าป่า เจ้าเขาในเขตป่า ซึ่งเป็นความเชื่อ ความศรัทธา ต่อจิตใจของชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง
ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ รองคณบดีฝ่ายเครือข่ายชุมชน วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย
ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ รองคณบดีฝ่ายเครือข่ายชุมชน วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย กล่าวว่าการจัดพิธีบวชป่า ของชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าชุมชนมีความตั้งใจที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ของชุมชนเอง โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ซึ่งป่าต้นน้ำขุนแม่เหว่ย แห่งนี้มีความสำคัญต่อคนในชุมชนและละแวกใกล้เคียงเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภค บริโภค แหล่งอาหาร และที่ทำกิน การบวชป่านั้นเป็นการแสดงออกถึงจิตสำนึกของชุมชนในการพิทักษ์ผืนป่าให้คงอยู่ และถือว่าเป็นการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน ซึ่งีความคิดร่วมกัน คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรภายในชุมชน อีกทั้งอนาคตต้องมีการร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้ออาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ คนในชุมชน และส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านนำร่อง ชุมชนสีเขียว โดยมีการประยุกต์ใช้ทั้งภูมิปัญญาชาวปาเกอะญอและองค์ความรู้ใหม่ๆเข้ามาปรับใช้ ซึ่งทางวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยเองก็ได้มีการจัดการร่วมกันกับชุมชน ในการจัดทำแหล่งเรียนรู้ สร้างงานวิจัย เพื่อให้ชุมชนเกิดประโยชน์ พร้อมทั้งเสริมสร้างพลังให้ชุมชนมั่นใจในการจัดการชุมชน
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ได้เห็นความตั้งใจของชุมชน บ้านขุนแม่เหว่ย ในการที่จะอยู่ร่วมกับป่า โดยชุมชนเองพยายามที่จะหาแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่โดยที่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับพื้นที่เขตป่า โดยที่เขตป่าไม่รุกรานชุมชน และชุมชนไม่บุกรุกเขตป่า เป็นชุมชนที่อยู่กับป่าอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที 3 สิงหาคม 2553 เรื่องนโยบายในการการฟื้นฟูวิถีชาวกะเหรี่ยง โดยมีประเด็นหลักๆ 5 ด้าน ด้วยกัน ได้แก่ 1 อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม 2 การจัดการทรัพยากร 3 สิทธิในสัญชาติ 4 การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และ5 การศึกษา
โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการทรัพยากร นั้น มีมาตรการคือ ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม และให้จัดตั้งคณะกรรมการ หรือกลไกในการทำงานเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ใคร่เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้าใจวิถีวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง เข้ามาเรียนรู้และส่งเสริมให้คนที่อยู่รักษาป่า ได้มีวิถีวัฒนธรรมอันดีงามเหล่านี้ต่อไป
แสดงความคิดเห็น