ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระหว่างแถลงข่าว (ที่มาของภาพ: ThaiPBS)

กสทช.-กระทรวงดิจิทัลจะใช้แนวทางให้ผู้บริการอินเตอร์เน็ตลบเนื้อหาหมิ่นฯ ทันที


Posted: 25 Apr 2017 10:14 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กสทช. หารือกับกระทรวงดิจิทัล สำนักงานข่าวกรอง สำนักงานตำรวจ ผู้ให้บริหารอินเทอร์เน็ตในประเทศ และโครงข่ายต่างประเทศ โดยย้ำให้ลบเนื้อหาที่หมิ่นฯ ออกจากเว็บทันที หากเป็นเนื้อหาเข้ารหัส ให้แจ้ง กสทช.-กระทรวงดิจิทัล เพื่อประสานงานให้ผู้ให้บริการตัวจริงลบออก

ในเฟซบุ๊คไลฟ์ของ TPBS เผยแพร่คำแถลงของ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ได้ร่วมประชุมหารือกับ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี พร้อมด้วยสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงผู้ประกอบที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายย่อยในประเทศไทย หรือไอเอสพี และผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ หรือไอไอจี เพื่อหาแนวทางในการกำกับดูแลเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม และขัดต่อมาตรา 112 ที่เป็นกรณีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

หลังจากหารือแล้ว กรณีของการกำกับดูแลไอเอสพีและไอไอจียังคงยึดหลักการเดิม คือการออกคำสั่งและหนังสือแจ้งเตือนให้ทำการลบคอนเทนต์ที่ผิดกฎหมายออกจากเว็บไซต์ทันที โดยให้พิจารณาจากวิจารณญาณของผู้ประกอบการเอง โดยฐานกรระบุว่าเนื้อหาที่หมิ่นสถาบันฯ นั้นเห็นความผิดได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องรอหน่วยงานอื่นมาสั่ง ส่วนกรณีที่คอนเทนต์เข้ารหัสเอาไว้ ไม่สามารถลบออกได้เอง ให้รายงานรายละเอียดมาที่ กสทช.และกระทรวงดีอีเพื่อประสานงานไปยังผู้ให้บริการตัวจริงลบออก

โดยตอนนี้ไอเอสพีได้ทำตามคำสั่งศาลและคำสั่งของทั้ง กสทช.และกระทรวงดีอีในการลบคอนเทนต์ หรือเว็บไซต์ที่ตรวจพบว่าผิดกฎหมายนั้นออกไปหมดแล้ว แต่ที่ยังเห็นและตรวจพบเจออยู่นั้น เป็นส่วนที่เนื้อหาเหล่านั้นค้างอยู่ในระบบของซีดีเอ็น (CDN : content delivery network) หรือที่เรียกอีกอย่างกันว่า แคชเซิร์ฟเวอร์ (Cache server) ซึ่งเป็นตัวเก็บข้อมูลที่มีการเรียกข้อมูลหรือคอนเทนต์ซ้ำของระบบบนอินเทอร์เน็ต เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดระยะทางการส่งข้อมูลจากต้นทางมายังคนเรียกดู อาทิ ถ้าอ่านบทความของเว็บไซต์แคนาดา ข้อมูลถูกเรียกดูบ่อยครั้ง ตัวแคชเซิร์ฟเวอร์ก็จะทำการเก็บไว้ เพื่อให้การเรียกครั้งต่อไปรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องส่งข้อมูลมาจากแคนาดา แต่เก็บข้อมูลนั้นไว้ที่แคช เซิร์ฟเวอร์ในไทย ซึ่งไอเอสพีทุกรายมีเซิร์ฟเวอร์ตัวนี้อยู่

แต่ด้วยอำนาจของกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่า คำสั่งของ กสทช.ที่มีต่อไอเอสพีหมายรวมไปถึงการเข้าถึงแคช เซิร์ฟเวอร์นั้นได้ด้วยหรือไม่ หากเข้าถึงได้ ก็สามารถลบคอนเทนต์ผิดกฎหมายที่ค้างอยู่ในระบบได้ทันที โดยในวันที่ 27 เม.ย.2560 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวว่าหน้าที่ในการกำกับดูแลส่วนที่เป็นซีดีเอ็นอยู่ในอำนาจใคร ของ กสทช. หรือของกระทรวงดีอี หรือให้เป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดูแล

ทั้งนี้ฐากรย้ำว่ามาตรการดังกล่าวจะต้องเห็นผลภายในสิ้นเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.