Posted: 21 Nov 2017 02:05 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

45% ของผู้หญิงใน กทม. ถูกคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ แคมเปญ ‘ถึงเวลาเผือก’ จัดเสวนา ชี้ต้องเปลี่ยนพลังเงียบเป็นพลังเผือก ขอทุกคนเป็นหูเป็นตา-ช่วยเหลือ-เก็บหลักฐาน กระตุ้นรัฐ-หน่วยงานรับผิดชอบต้องตื่นตัว สร้างมาตรการว่องไว เป็นมิตร เป็นกลาง มีบทลงโทษ ส่วนกฎหมายควรแบ่งลำดับขั้นความผิดให้ชัดเจน


21 พ.ย. 2560 วันนี้ องค์กรแอ็คชั่นเอด (ActionAid) ประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง (Safe Cities for Women) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “ถึงเวลาเผือก” เพื่อยับยั้งปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “เราจะสามารถยุติการคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะได้อย่างไร”

มีวิทยากรคือ รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ยงค์ ฉิมพลี พนักงานเก็บค่าโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วรวรรณ ตินะลา ผู้มีประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศในรถโดยสารสาธารณะ

รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ มีผู้ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะจำนวนไม่น้อย แต่ผู้โดยสารอาจไม่ตระหนักว่าการคุกคามทางเพศคืออะไร จึงมีวัตถุประสงค์ในการทำโครงการเพื่อ หนึ่ง อยากสร้างความตระหนักให้ประชาชน สอง การลดการคุกคามทางเพศได้ เพื่อนร่วมทางต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา และต้องเผือก คือเข้าไปแทรกแซงหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น สาม การมีมาตรการกลไกจากภาครัฐ ช่องทางการร้องเรียนขอความช่วยเหลืออย่างมีระบบ ทางรัฐตอบสนองอย่างรวดเร็วว่องไว หรือเครื่องมือ เช่น กล้องวงจรปิด


เปิดงานวิจัยการถูกคุกคามทางเพศในระบบขนส่งสาธารณะ

รุ่งทิพย์กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางโครงการจึงจัดทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่าคนโดนคุกคามมีจำนวนเท่าไหร่ ลักษณะแบบไหน พฤติกรรมแบบใด ใครเป็นเป้า ทำให้เห็นว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น เป็นตัวสะท้อนว่ามีปัญหานี้อยู่ และน่าจะได้รับการแก้ไข

โดย วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า การคุกคามทางเพศในขนส่งสาธารณะไม่ค่อยเป็นข่าว คนมักมองเป็นเรื่องเล็กน้อย ปล่อยให้ผ่านไป ไม่กล้าไปแจ้งความ ไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ ปีนี้เลยร่วมกันเก็บข้อมูลโดยมีทีมนักวิชาการช่วยเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เก็บผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกเพศ เพื่อดูว่าสถานการณ์ปัญหาเป็นอย่างไร

ในภาพรวมพบว่า คนทุกเพศ 35 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 1 ใน 3 บอกว่าตัวเองเคยเจอเหตุการณ์ขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ แต่ผู้หญิงเป็นเป้าการคุกคามทางเพศมากที่สุด โดยมีผู้หญิงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งถูกคุกคามทางเพศ เมื่อถามถึงเหตุการณ์เกิดเมื่อไหร่ มากกว่าครึ่ง คือ 52 เปอร์เซนต์ ตอบว่าเป็นเหตุที่เกิดในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นปัญหากระทบคนจำนวนมาก ซึ่งต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ในงานวิจัยเมื่อถามว่าเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์การถูกคุกคามมากน้อยแค่ไหน 1 ใน 3 ตอบว่าเคย และเมื่อถามว่าพบแล้วทำอย่างไร 13 เปอร์เซ็นต์บอกว่านิ่งเฉย หลีกเลี่ยง เดินหนี แต่ก็มี 28 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่าแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำรถ

เหตุการณ์เกิดขึ้นบนรถ ขสมก. มากที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีผู้ใช้เยอะสุด รองลงมาเป็นมอเตอร์ไซค์ 11.4 เปอร์เซ็นต์ แท็กซี่ 10.9 เปอร์เซ็นต์ รถตู้ 9.8 เปอร์เซ็นต์ บีทีเอส 9.6 เปอร์เซ็นต์

เปลี่ยนพลังเงียบเป็นพลังเผือก

รุ่งทิพย์เห็นว่า ถึงแม้เรามีกลไกการป้องกันก็ยังมีช่องว่าง ความปลอดภัยจะเกิดได้จริงถ้าทุกคนร่วมกันเป็นหูเป็นตา พลังเงียบเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการคุกคามทางเพศในระบบขนส่งสาธารณะ และจะต่อยอดไปไกลถึงการคุกคามทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วย

รัฐยิ่งต้องเผือก

รุ่งทิพย์เสนอว่า รัฐกำกับดูแลนโยบาย มีงบประมาณในการจัดอุปกรณ์ต่างๆ มีมาตรการสอดส่องดูแล มีบทลงโทษที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเหล่านี้รัฐต้องเผือก ถ้ารัฐเผือกประชาชนก็จะยิ่งตื่นตัว

รุ่งทิพย์ยกตัวอย่างสถานการณ์ในหลายประเทศที่ภาครัฐลุกขึ้นมาออกมาตรการ เช่น ในออสเตรเลีย รัฐส่งเสริมให้ประชาชนรายงานเหตุการณ์คุกคามทางเพศ ติดตั้งกล้องวงจรปิดกว่า 9,000 จุดในรัฐวิกตอเรีย ขณะที่ฝรั่งเศสก็ส่งเสริมการรายงานเหตุเช่นเดียวกัน มีมาตรการแจ้งความ และจับปรับได้โดยทันที

ประเทศแอฟริกาใต้ก็มีการรณรงค์ความปลอดภัยในแท๊กซี่ ซึ่งสามารถรายงานให้กับตำรวจได้ทันที นอกจากนี้ยังมีการใช้แอปพลิเคชัน เช่น ในประเทศญี่ปุ่น มีแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ใช้จีพีเอส ร้องขอความช่วยเหลือได้ หรือถ้าไปอยู่ในที่เคยเกิดเหตุ ก็จะมีข้อความแจ้งเตือนให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง หรือแม้กระทั่งอินเดียหรือปากีสถานก็มีแอปพลิเคชันแบบนี้เช่นกัน

ขณะที่เทคโนโลยีของไทยเองก็สามารถพัฒนาเรื่องแอปพลิเคชันได้ถ้าจะทำ และตอนนี้ก็มีเรื่องของกล้องวงจรปิด โดย ขสมก.เป็นต้นแบบที่ดี เพราะมีกล้องวงจรปิดติดบนรถโดยสารเกือบทุกคัน ทำให้สามารถใช้ภาพเป็นหลักฐานได้ ขณะที่หน้าจอก็ให้ความรู้เรื่องการคุกคามทางเพศ อยากให้ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ในไทย นำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ เพื่อให้ทุกคนเดินทางอย่างปลอดภัย

“ปัจจุบันเรามีเครื่องมือมากมายให้ช่วยกันร่วมเผือก แจ้งภาครัฐ ประเทศอื่นเห็นความสำคัญตรงนี้ แต่ประเทศเราจะทำยังไงให้มีช่องทางร้องเรียน ขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และขณะเดียวกันเราเองก็ต้องอย่าคิดว่าไปยุ่งเรื่องคนอื่น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน” รุ่งทิพย์กล่าว
หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตื่นตัว

วราภรณ์ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศแสดงความเห็นว่า หน่วยงานที่กำกับดูแล จัดบริการขนส่ง ต้องเห็นความสำคัญของปัญหาก่อน วิธีคิดของผู้บริหารหน่วยงานต้องเปลี่ยนก่อนว่ามันเป็นปัญหาสำคัญ ถ้ายังไม่เห็นก็จะผลักประเด็นต่อยาก

“หลักจากวันนี้เราก็จะรวบรวมข้อเสนอที่เราทำการสำรวจ ผู้ใช้บริการต้องการหน่วยงานไหนทำอะไรในการแก้ปัญหา และเอาข้อเสนอเหล่านี้ไปยื่นให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ” วราภรณ์กล่าว

(ซ้ายไปขวา) รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง, วราภรณ์ แช่มสนิท, วรวรรณ ตินะลา, ยงค์ ฉิมพลี, จรีย์ ศรีสวัสดิ์

ช่องว่างกฎหมายไม่สามารถเอาผิด

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า กฎหมายอาญาระบุเพียงเรื่องการกระทำอนาจาร บอกว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะโดนปรับเท่าไหร่ จำคุกเท่าไหร่ แต่การตีความอนาจารก็ยังเป็นปัญหา มีการถกเถียงในเรื่องการตีความ ขณะที่ตัวเลขการถูกคุกคามเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

จรีย์เสนอว่า กฎหมายควรมีการแบ่งลำดับขั้นของความผิดให้ชัดเจนมากขึ้น มีตั้งแต่การใช้วาจา สายตา สัมผัส กฎหมายต้องนิยามให้ชัดเพื่อนำไปสู่การใช้ที่มันได้ผลจริงๆ แต่กระบวนการแก้ไขกฎหมายก็ยากพอสมควร ต้องใช้ระยะเวลา

ระยะสั้นที่จะทำได้จำเป็นต้องมีทีมเผือก อย่างน้อยช่วยเก็บหลักฐานเพื่อให้เป็นเครื่องมือเอาผิด คนในสังคมต้องปรับทัศนคติเช่น ไม่ตั้งคำถามว่าเพราะกลับดึก แต่งตัวโป๊ เพราะปัญหามันมาจากรากของผู้กระทำผิดที่มีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ

ขณะเดียวกันจากกล้องวงจรปิดของ ขสมก.จะต้องขยายไปสู่ขนส่งสาธารณะอื่นด้วย และมีอย่างเดียวไม่พอต้องใช้ได้ด้วย ไม่ใช่กล้องเสีย หรือเป็นมุมอับ ถ่ายไม่เห็น

จรีย์ชวนคิดว่า ทำอย่างไรจึงไม่ผลักภาระไปที่ผู้ถูกกระทำ ต้องมีกลไกในการร้องเรียน ไม่ผลักภาระให้ผู้ถูกกระทำไปหาหลักฐาน

“เราต้องไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นปัญหา หรือถูกกระทำ ต้องกล้าออกมา อยาก empower ให้คนที่โดนใช้กลไกเหล่านี้ เพื่อให้ตำรวจเห็นว่ามันมีปัญหาแบบนี้จำนวนไม่น้อย แต่จะกล้าออกมาก็ต้องมีวิธีการรองรับที่เป็นมิตร เป็นกลาง ให้เขาสบายใจที่จะออกมาบอกว่าถูกกระทำ

“เราเคยโดนแล้วก็กลับมาโทษตัวเองว่าเพราะเรานั่งไม่ดีหรืออะไร การแก้ปัญหามันต้องอาศัยทุกส่วนร่วมมือกัน การตั้งคำถามควรไปตั้งกับผู้กระทำมากกว่า เพื่อแก้ไขที่ฐานราก” จรีย์กล่าว

จะตัดสินยังไงว่าอะไรคือการคุกคาม?

ภาพจากเพจ เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities For Women Thailand

วราภรณ์ให้ความเห็นว่า ถ้าไปเจอพฤติกรรมการคุกคาม คนถูกคุกคามจะบอกได้ เรื่องเจตนานั้นมองกันออก ผลการกระทำทำให้คนที่ตกเป็นเป้ารู้สึกอึดอัดไม่ปลอดภัย พบบ่อยสุดคือการลวนลามด้วยสายตา เช่น มองช้อนใต้กระโปรง ตั้งใจจ้องมองหน้าอก มองเข้าไปในอกเสื้อ ซึ่งผู้เห็นเหตุการณ์รอบข้างเองสามารถบอกได้ อันดับสองคือการแต๊ะอั๋ง ถูกเนื้อต้องตัว จงใจเข้ามาเบียด สามคือ ผิวปากแซว สี่คือพูดจาแทะโลม และห้าคือการชวนคุยเรื่องเพศ เรื่องลามก นอกจากนี้ยังมีการคุกคามรูปแบบอื่นเช่น การโชว์อวัยวะเพศ การถูอวัยวะเพศเสียดสีสำเร็จความใคร่ จนกระทั่งการสะกดรอยตาม
ผู้กระทำไม่เยอะแต่กระทำซ้ำ ถ้ามีคนเข้าแทรกแซงจะหยุดพฤติกรรม

วราภรณ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศผู้กระทำจำนวนไม่เยอะแต่กระทำซ้ำๆ เพราะไม่มีใครเข้าไปยุ่งเวลาเขากระทำ ผู้ถูกกระทำก็รู้สึกช็อก ทำอะไรไม่ถูก คนเห็นก็ไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ถ้ามีคนเข้ามายุ่ง คนจำนวนไม่น้อยจะหยุดพฤติกรรม ของไทย ขสมก.ก็มีหลักสูตรอบรมพนักงานการรับมือกับการคุกคามทางเพศ ดังนั้นจึงสามารถแจ้งพนักงานได้ อย่างไรก็ตาม หลายครั้งเวลาไปแจ้ง ตำรวจอาจบอกไม่มีหลักฐาน ฉะนั้น ถ้าผู้เห็นเหตุการณ์พบก็อาจใช้มือถือบันทึกหลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดต่อผู้กระทำต่อไป

เผยประสบการณ์ตรง ถูกกรีดกระโปรงในบีทีเอส แต่เอาผิดใครไม่ได้ เหตุไร้กล้องวงจรปิด

วรวรรณ ตินะลา ผู้มีประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศในรถโดยสารสาธารณะ เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังว่า ตนใส่ชุดแม็กซี่เดรส นั่งบีทีเอสจากสถานีเพลินจิตไปจตุจักร คนเยอะมาก พอถึงสถานีสยาม คนลงเปลี่ยนขบวน มีคุณป้าคนนึงสะกิดตน จึงเห็นว่ากระโปรงขาด เป็นรอยถูกกรีด ยาวประมาณเมตรกว่า ตนก็รู้สึกตกใจ แต่คนในขบวนช่วยกันหาเข็มกลัดมาช่วยกลัดกระโปรง จำนวนเข็มกลัดสี่สิบกว่าตัว

“พอตัดสินจะเดินออกไปหาเจ้าหน้าที่ประจำสถานี เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีกล้องวงจรปิด ความรู้สึกคือโดนดับฝันมาก จบ ไม่มีหลักฐาน ทำได้อย่างเดียวคือยอมรับ แล้วกลับบ้านไป ตอนนั้นเราไม่รู้จริงๆ ว่าจะต้องรับมือยังไง” วรวรรณกล่าว
วรวรรณเล่าต่อไปว่า มีผลในการใช้ชีวิตต่อมา ทำให้รู้สึกชีวิตไม่ปลอดภัย เลยลองเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวแต่งหน้าใหม่ ลองกลับบ้านเวลาใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะไปโดนอะไรอีกอยู่ดี

“เราถามคนรอบตัว กลายเป็นว่าคนรอบตัวเจอเหตุการณ์แบบนี้เยอะ แต่ไม่มีใครบอก มีเพื่อนบางคนเจออวัยวะเพศถูไถเห็นเป็นคราบติดกระโปรง ทำให้เขาไม่อยากนั่งรถสาธารณะ สุดท้ายเขาไปซื้อรถขับเอง

“ตอนนั้นเราคิดว่าจะทำยังไงไม่ให้เกิดกับตัวเอง แต่ไม่ได้คิดไปไกลว่าทำไงไม่ให้เกิดกับสังคมนี้ เรามองว่าสาเหตุที่เกิดปัญหาเพราะเขาไม่ได้รับโทษ สื่อนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิด แต่ไม่ได้นำเสนอว่าจะต้องทำยังไงต่อไป

“เป็นเรื่องที่อยู่แล้วว่าเกิด แต่ไม่เห็นมาตรการการแก้ไข ภาครัฐควรเข้ามาดูแล ภาคเอกชนเข้ามาแก้ไขส่งเสริม และตัวของทุกคนด้วย ทุกฝ่ายเอาจริง ทำพร้อมกัน มันจะกลายเป็นสังคมที่น่าอยู่มากกว่านี้” วรวรรณกล่าว

พนง.เก็บค่าโดยสารเผยผู้หญิงนั่งเบาะเดี่ยว-ด้านในมีโอกาสโดนคุกคามบ่อยกว่านั่งที่อื่น

ยงค์ ฉิมพลี พนักงานเก็บค่าโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เคยเจอว่า เมื่อก่อนตอนเป็นผู้โดยสารก็เจอเหตุยืนประชิดตัว เราหนีเขาก็ยังตาม พอเป็นพนักงาน เราก็คอยสังเกตว่ามีใครมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็เจอ เช่น เบาะเดี่ยวของรถเมล์ที่เป็นผู้หญิงนั่งจะถูกคุกคามมากสุด ผู้ชายจะยืนประชิดตัว ส่วนไหล่ของผู้หญิงที่นั่งกับอวัยวะเพศของผู้ชายที่ยืนจะเสมอกันพอดี เราก็สังเกตว่าผู้หญิงนั่งเบียดตัว ซึ่งถ้าเป็นสามีภรรยาจะดูออกและจะไม่ใช่ท่าทางแบบนี้ เราเลยใช้เสียงดังเพื่อหาพันธมิตรที่อยู่รอบข้าง บอกผู้ชายว่า “ขอโทษนะคะคุณพี่จะลงไหนคะ ถ้ายังไม่ลง ด้านในว่างกระเถิบไปก่อนนะคะ” เพื่อไม่ให้มีคนบอกว่าเราไปไล่เขาลง ซึ่งอาจทำให้เราเดือดร้อนได้

หรืออีกแบบที่เจอคือ เบาะคู่ ผู้หญิงนั่งด้านใน ชายนั่งด้านนอก ชายก็จะเบียดเหมือนกัน เราก็จะบอกน้องผู้หญิงที่นั่งด้านในว่า “น้องขยับไปนั่งด้านนู้นไหม ด้านนี้แดดมันร้อน”

ยงค์เล่าให้ฟังถึงวิธีการอบรมของพนักงาน ขสมก.ว่า เดิมเราไม่ได้อบรม เพียงแต่อบรมเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารตอนขึ้นลง แต่เมื่อเราถูกคุกคามมาก่อน และตอนอยู่ในองค์กรก็ถูกคุกคาม เราก็ตั้งทีมงานขึ้นมาทำวิจัยเรื่องการคุกคามทางเพศ นำเสนอผู้บริหาร เขาก็ให้เรื่องผ่าน มีแต่งตั้งคณะกรรมการ อบรมพนักงานประจำรถ ว่าการคุกคามทางเพศหมายถึงอะไร รูปแบบลักษณะเป็นอย่างไร วิธีช่วยเหลือที่ไม่ให้ถูกรายงานเป็นไง ปัจจุบันมีคณะกรรมการทั้ง 8 เขต ซึ่งเป็นเขตทั้งหมดของขสมก.ในกทม.

“เราสร้างความมั่นใจกับผู้โดยสาร ถ้าถูกคุกคามพนักงานช่วยเหลือได้ สามารถจอดรถนำผู้โดยสารไปแจ้งความที่สถานีใกล้ที่สุดได้” ยงค์กล่าว

ข้อเสนอเรื่องเลดี้บัส

ยงค์ ฉิมพลี พนักงานเก็บค่าโดยสาร ให้ความเห็นว่า ขสมก.เคยลองรถเลดี้บัส แต่พอมีสามีภรรยาขึ้นด้วยกัน แล้วต้องแยกคันเขาก็ไม่ยอมและไปร้องเรียน สุดท้ายก็ทำไม่ได้

ในขณะที่จรีย์ จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า มันควรปลอดภัยทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะเลดี้บัส แม้กลุ่มคนข้ามเพศก็ต้องได้รับความปลอดภัย หรือถ้าทำได้จริง มันอาจเป็น 1 ชั่วโมงมาคันหนึ่ง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต




แถลงการณ์เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง

21 พฤศจิกายน 2560 กรุงเทพมหานคร


เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงรณรงค์ไม่ยอมรับพฤติกรรมการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลปี 2560 เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง นําโดยองค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ตระหนักถึงความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงในพืนทีสาธารณะ โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง จึงได้สนับสนุนให้มีการวิจัยสํารวจความชุกของปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะขึ้น โดยมีนักวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดําเนินการสํารวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด 1,654 คน ทั้งหญิง ชาย และเพศอื่นๆ นับเป็นการสํารวจเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวครังแรกในไทย

ผลการวิจัยพบว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสํารวจทุกเพศ ระบุว่าตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยผู้หญิงมีอัตราการถูกคุกคามทางเพศสูงสุด กล่าวคือ 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิงระบุว่าตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ

พฤติกรรมการคุกคามทางเพศทีพบมากทีสุดบนขนส่งสาธารณะ 5 อันดับแรกได้แก่ 1. การลวนลามด้วยสายตา เช่น การมองใต้กระโปรง มองจ้องลงคอเสือ 18.8% 2. การเบียดชิด ต้อนเข้ามุม แต๊ะอัง ลูบคลํา 15.4% 3. การผิวปากแซว 13.9% 4. การพูดจาแทะโลม 13.1% 5. การพูดลามก ชวนคุยเรืองเพศ 11.7%

การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ที่ประสบเหตุโดยตรง และต่อผู้ที่เห็นเหตุการณ์ โดยอาจทําให้รู้สึกอึดอัด หวาดกลัว หรือไม่ปลอดภัยในการเดินทาง บางคนอาจถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยน พฤติกรรมบางประการของตัวเอง เช่น การแต่งกาย การหลีกเลียงทีจะเดินทางในบางช่วงเวลา เพื่อลดความ เสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศ ทั้งที่พวกเขาและเธอควรมีสิทธิที่จะใช้บริการขนส่งสาธารณะได้อย่างปลอดภัย

ผลการสํารวจยังพบด้วยว่า เมื่อเกิดเหตุคุกคามทางเพศกับตนเอง ผู้ที่ประสบเหตุมักรับมือกับสถานการณ์ด้วยการเดินหนีมากที่สุด มีเพียงส่วนน้อยที่กล้าแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ และใน จํานวนผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยพบเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับผู้โดยสารอื่น มีเพียงจํานวน หนึ่งเท่านั้นทีตัดสินใจแจ้งเจ้าหน้าที่ มีบางส่วนทีใช้โทรศัพท์บันทึกเหตุการณ์ หรือส่งเสียงดังเพื่อแสดงให้ เห็นว่ามีการคุกคามเกิดขึ้น

เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงเชื่อว่า หากผู้เห็นเหตุการณ์ไม่อยู่นิ่งเฉยและเข้าไปแทรกแซงการกระทําการคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ จะช่วยยับยังความรุนแรงทางเพศที่กําลังเกิดขึ้นตรงหน้า และยังเป็นการสร้างการรับรู้ในสังคมว่าพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ ซึงนับว่าเป็นสิ่งสําคัญที่ผู้ร่วมเดินทางทุกคน สามารถทําได้

นอกจากนี้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการขนส่งสาธารณะทังภาครัฐและภาคเอกชน อันได้แก่ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (รถไฟฟ้าบีทีเอส) บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจํากัด (รถไฟฟ้ามหานครหรือเอ็มอาร์ที) บริษัทเอกชนที่ให้บริการรถโดยสารประจําทาง รถตู้ รถแท็กซี่ และบริษัทเรือโดยสาร เป็นต้น สามารถประกันให้การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศได้โดย

● การสอดส่องดูแลความปลอดภัย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ จัดให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในยานพาหนะโดยสาร รวมถึงป้ายรถ ท่าเรือ และสถานีรถโดยสาร เพื่อเป็นเครื่องมือสําหรับพนักงานขับ พนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมกล้องวงจรปิด ในการสอดส่องป้องกันเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ รวมทั้งการคุกคามทางเพศ ที่อาจเกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะ และในกรณีที่เกิดเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้น ผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้มีหลักฐานในการดําเนินคดีกับผู้กระทําผิด

● การแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศ ให้หน่วยงานทีรับผิดชอบดูแลการบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ จัดให้มีช่องทางรับแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศหรือความไม่ปลอดภัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะ โดยเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย และตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และติดตามผลได้ โดยเมื่อมีการแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตํารวจควรปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทําอย่าง เหมาะสม โดยการรับฟังข้อเท็จจริงอย่างปราศจากอคติ และเสาะหาหลักฐาน ติดตาม และดําเนินการเอาผิดกับผู้กระทําผิดอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทําในลักษณะดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก

● การอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานทีรับผิดชอบการดูแลบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ จัดให้มีการอบรมพนักงานของหน่วยงาน โดยเฉพาะพนักงานประจํายานพาหนะและผู้ดูแลท่ารถ ท่าเรือ และสถานีรถโดยสารให้สามารถสังเกตพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมีแนวทางการปฏิบัติ และการฝึกทักษะที่จําเป็นในการเข้าแทรกแซงเพื่อยับยังเหตุการณ์ หรือแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.