Posted: 23 Nov 2017 09:10 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ปมลึก มาจากอำนาจชายเป็นใหญ่ น้ำเมาตัวกระตุ้นสำคัญ ถึงเวลาจริงจังปรับทัศนคติเท่าเทียม หยุดอำนาจเหนือกว่า พร้อมปลุกกระแสวันยุติความรุนแรงต่อสตรี ชูแคมเปญ “บ้านไม่ใช่เวทีมวย…ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง” หยุดทำร้ายร่างกาย การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ 

23 พ.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ บริษัท เจ.วอลเตอร์ธอมสัน ประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ออกแคมเปญรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “บ้านไม่ใช่เวทีมวย…ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง”เพื่อรณรงค์เนื่องในโอกาส 25 พฤศจิกายนเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลภายในงานมีการเดินรณรงค์จากสวนสันติภาพ มายังเกาะพญาไท การแสดงละครสั้นชุด“แขวนนวม”พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ทั้งนี้มีกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา จากหลากหลายสถาบัน และส่วนราชการกว่า 150 คน เข้าร่วม ณ เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงยังเป็นปัญหาที่น่าห่วงอยู่มาก สะท้อนจากการเก็บข้อมูลปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปี 2559 โดยรวบรวมข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก มติชน แนวหน้า ไทยโพสต์ กรุงเทพธุรกิจ บ้านเมือง สยามรัฐ พิมพ์ไทย ผู้จัดการรายวัน โพสต์ทูเดย์ พบข่าวความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงถึง 466 ข่าว อันดับ 1 เป็นข่าวการฆ่ากัน 48.5% ข่าวฆ่าตัวตาย 17.6% ข่าวการทำร้ายกัน 17.4% ข่าวการตั้งครรภ์ไม่พร้อม10.7%และข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว 5.8%อีกทั้งมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกรณีข่าวสามีฆ่าภรรยา มาจากการหึงหวง ระแวง ฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดี 78.6% นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบ1ใน 5 และที่น่ากังวล คือ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนำไปสู่ความสูญเสียถึงขั้นเสียชีวิตทั้งหญิงและชาย สูงถึง 308 ข่าวหรือ 66.1% ซึ่งผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยวิธีการที่ผู้ชายลงมือฆ่า เกือบครึ่ง 43.6% ใช้อาวุธปืนยิง รองลงมาใช้มีดหรือของมีคม การตบตีจนเสียชีวิต และการเผา

“อย่าลืมว่าผู้หญิงที่ถูกทำร้ายปางตาย ไม่ได้โชคดีหนีรอดมาได้ทุกคน ยังมีหลายรายต้องจบลงด้วยการเสียชีวิตหรือผู้หญิงกลายเป็นฝ่ายโต้กลับด้วยความรุนแรง เพราะหมดความอดทนที่สะสมมาหลายปี จนกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ดังนั้นอยากให้สังคมมองปัญหาอย่างเข้าใจไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ต้องการให้บ้านมีความรุนแรง ยิ่งระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ยังฝังรากลึกในสังคม ดังนั้นผู้ชายควรปรับทัศนคติไม่ใช้อำนาจเหนือกว่า ภาครัฐต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ช่วยผู้หญิงได้จริง เกิดการรณรงค์ให้เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ความเท่าเทียมทางเพศ และสังคมต้องไม่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งชุมชนต้องร่วมเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังแจ้งเหตุและห่างไกลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้เป็นดีที่สุด” อังคณา กล่าว

ทสร บุณยเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เจ.วอลเตอร์ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “สำหรับแคมเปญ “บ้านไม่ใช่เวทีมวย ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง” มีจุดเริ่มต้นจากการได้พูดคุยกับทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และผู้หญิงที่เป็นเหยื่อถูกทำร้าย หลังจากได้ฟังเรื่องราวทั้งหมด พบว่าผู้ที่กระทำความรุนแรงกลับเป็นสามีที่เป็นคนที่ใกล้ชิดมากที่สุด ดังนั้น เจ. วอลเตอร์ธอมสันในฐานะที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารการตลาด จึงต้องการใช้ความเชี่ยวชาญของเราในการสร้างสรรค์แคมเปญรณรงค์เพื่อเป็นกระบอกเสียงไปสู่สังคม โดยการร่วมมือกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลปลุกกระแส #ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง เพื่อสื่อสารรณรงค์ผ่านกีฬามวยไทยที่ผู้ชายชื่นชอบ ต่อต้านการใช้ความรุนแรงให้ผู้ชายได้ฉุกคิด ณ ช่วงเวลาที่อะดรีนาลีนกำลังสูบฉีดในขณะที่กำลังเชียร์มวยอยู่รอบสังเวียนระหว่างการแข่งขันมวย Ring Girl หรือผู้หญิงที่ถือป้ายคั่นยกการแข่งขัน โดยส่วนใหญ่จะมีรูปร่างหน้าตาสวยงามดึงดูดผู้ชมชาย กลับถูกแทนที่ด้วยผู้หญิงที่ร่างกายเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำ ร่องรอยการถูกทำร้าย ซึ่งปกติแล้วจะชูป้ายบอกเลขยก แต่คราวนี้ Ring Girl กลับเดินออกมาด้วยข้อความรณรงค์ของโครงการ “บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย” “#ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง”ซึ่งเราตั้งใจให้เกิดความคิดที่ว่าผู้ชายต้องล้อมกรอบความรุนแรงไว้เฉพาะบนสังเวียนมวยที่เป็นกีฬามีกติกาและอย่านำความรุนแรงกลับไปที่บ้าน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแคมเปญนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเป็นวงกว้างไปยังทุกคนในสังคมว่าความรุนแรงในบ้าน ไม่ใช่เรื่องปกติ ไม่ใช่ปัญหาภายในครอบครัว ไม่ใช่ความผิดของผู้หญิง แต่มันคือปัญหาสังคมที่ทุกคน ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันยุติความรุนแรง”

เอ(นามสมมติ) อายุ 34 ปี ผู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกผ่านภาพยนตร์ชุด “บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย” และเคยเป็นผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจากอดีตสามีทำร้าย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์นี้ ยอมรับว่ามีความกลัวเพราะถ่ายทำกับบรรยากาศจริง กลัวว่าเขาจะตะโกนโห่ไล่ กลัวผู้ชายที่กำลังเชียร์มวยจะไม่เข้าใจ แต่ปรากฏว่า ช่วงที่เดินชู้ป้าย “บ้านไม่ใช่เวทีมวย ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง” กลับได้ยินเสียงปรบมือ ชื่นชม บอกให้สู้ๆ พร้อมทั้งส่งเสียงเชียร์และสนับสนุนที่กล้าออกมารณรงค์ในครั้งนี้ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกมีค่า และอยากให้ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเช่นเดียวกับตนเอง ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ อย่ายอมเป็นผู้ถูกกระทำ อยากให้สู้ เลิกทนอยู่กับความรุนแรง สติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ขอให้ก้าวผ่านมันมาให้ได้และเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมาที่สำคัญต้องกล้าที่จะขอคำปรึกษาช่วยเหลือ มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย คนต้องอายคือคนที่ทำร้ายเรา ตัวเองโชคดีที่ได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลทำให้ลุกขึ้นมามีวันนี้ได้ซึ่งหลังจากนี้จะเดินหน้าร่วมรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ

“ร่องรอยบาดแผลที่ศีรษะ มือ แผลเป็นรอบตัว ยังเป็นเครื่องเตือนสติมาตลอดกว่า 7 ปี ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน อยากฝากเป็นบทเรียนกับหลายๆคน ว่า การใช้ความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหามีแต่จะซ้ำเติมทำให้ครอบครัวแย่และพังลง ความรักที่แท้จริงต้องเอาใจใส่ดูแลเข้าใจกันไม่ใช่เจ้าข้าวเจ้าของและอย่าอ้างว่ารักแต่ทำร้าย” เอ กล่าว

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถชมภาพยนตร์ชุด“บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย”ได้ที่ https://goo.gl/iiVRFW หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แล้วมาร่วมกันชูป้าย “บ้าน.... ไม่ใช่เวทีมวย ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง” ที่คุณเขียนขึ้น และโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พร้อมกับติดแฮชแท็ก#ผู้ชายไม่ทําร้ายผู้หญิง ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.