Posted: 20 Nov 2017 10:46 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลง คัดค้าน MRT ถอดเก้าอี้โดยสารในขบวนรถไฟฟ้าเอาเปรียบผู้บริโภค ถามทำไม่ยอมจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเข้ามาให้บริการเพียงพอกับความต้องการ พร้อมจ่อฟ้องศาล

ภาพจากเพจ MRT Bangkok Metro

21 พ.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (20 พ.ย.60) ​บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพิ่มพื้นที่ว่างในขบวนรถไฟฟ้า สายเฉลิมรัชมงคล โดยถอดเก้าอี้นั่งผู้โดยสารออกเฉพาะที่นั่งแถวกลาง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้มากขึ้น ทั้งนี้จะเริ่มทดลองให้บริการขบวนแรก ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 2560 เป็นต้นไป

ต่อมาวันนี้ (21 พ.ย.60) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยแพร่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรื่อง คัดค้าน MRT ถอดเก้าอี้โดยสารในขบวนรถไฟฟ้าเอาเปรียบผู้บริโภค

แถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เห็นชอบให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้ได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ดำเนินการถอดเก้าอี้โดยสารบริเวณช่วงกลางของแต่ละตู้โดยสารออกหมดตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในขบวนรถไฟฟ้าให้รองรับผู้โดยสารเข้ามายืนในตู้ขบวนให้มากขึ้น โดยอ้างว่าจะช่วยลดปัญหาผู้โดยสารล้นสถานีและตกค้างในเวลาเร่งด่วนนั้น

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการใช้ข้ออ้างเพื่อแสวงหากำไร
บนพื้นฐานของการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดแจ้ง ซึ่งการที่เกิดปัญหาผู้โดยสารล้นสถานีและตกค้างในเวลาเร่งด่วน
เป็นความบกพร่องของ รฟม.และ BEM ที่ไม่ยอมที่จะเร่งลงทุนเพื่อจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเข้ามาให้บริการเพียงพอกับความต้องการของผู้โดยสารต่างหาก แต่กลับรวมหัวกันผลักภาระมาให้ผู้โดยสารแทน โดย BEM จะมีรายได้เพิ่มขึ้นบนความทุกข์ยากของผู้โดยสารโดยเฉพาะเด็ก คนชรา คนป่วย และหญิงมีครรภ์ ในขณะที่รถไฟฟ้าในต่างประเทศที่เขาเจริญกันแล้ว เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลีใต้ อังกฤษ สิงคโปร์ ฯลฯ ไม่เคยมีประเทศใดที่เขาจะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคได้เยี่ยงนี้เลย

"การที่ รฟม.อนุญาตให้ BEM ดำเนินการได้เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 25 มาตรา 46 มาตรา 61 ประกอบ พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยชัดแจ้ง สมาคมฯจึงขอเรียกร้องให้ รฟม.และ BEM ดำเนินการใส่เก้าอี้ผู้โดยสารช่วงกลางของแต่ละตู้กลับไปติดตั้งคงเดิมเสียโดยพลัน พร้อมกับเร่งจัดซื้อจัดหาขบวนรถมาเพิ่มเติมให้เพียงพอกับปริมาณผู้โดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วนด้วย และหากคำร้องนี้ไม่เป็นผล สมาคมฯจำเป็นที่จะร่วมมือกับผู้บริโภคนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อหาข้อยุติและค่าสินไหมทดแทน ที่ผู้โดยสารต้องสูญเสียที่นั่งในขบวนรถไฟฟ้าไปกลับคืนมาอย่างแน่นอน" สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุตอนท้าย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.