Posted: 21 Nov 2017 01:03 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

น่ายินดีที่มีผู้แปลและพิมพ์หนังสือ Revolution Interrupted ของอาจารย์ Tyrell Haberkorn ออกมาเป็นภาษาไทย (การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน คุณเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว และคุณพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ แปล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันพิมพ์เผยแพร่)

น่ายินดีก็เพราะ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนทำให้สามารถมองขบวนการเสื้อแดงได้ในอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากมุมมองขบวนการเสื้อแดงที่ผ่านมา แทนที่จะเห็นขบวนการเสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่โผล่ขึ้นมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศ เราอาจนำขบวนการเสื้อแดงกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของสายธารประวัติศาสตร์ ที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนระดับรากหญ้ามาตลอด เพียงแต่ไม่เคยถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลังกระแสธาร ที่อาจเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์ได้ … มากหรือน้อยตามวาระโอกาสต่างกัน

เหมือนการปฏิวัติที่ถูกสกัดด้วยความรุนแรงทั้งหลายมันหยุดลง แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันหายไป

อันที่จริง โดยตัวของมันเองแล้ว ความเคลื่อนไหวของชาวนาไร้ที่ดินในภาคเหนือในนามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ระหว่าง ค.ศ.1973-76 ก็เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ในประวัติศาสตร์ หรือถูกทำให้เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ในเหตุการณ์ซึ่งถูกจัดให้ “เล็กๆ” นี้ ถูกสกัดให้ชะงักงันลงด้วยการลอบสังหาร, อุ้มหาย, และลอบทำร้าย ผู้นำชาวนาถึง 46 คน นับเฉพาะคนที่ครอบครัวกล้ารายงานแก่ทางการ ส่วนที่ครอบครัวตัดสินใจไม่รายงานอาชญากรรมยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ทราบตัวเลขแน่ชัด

จนถึงทุกวันนี้ยังจับมือใครดมไม่ได้สักราย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าที่ดิน, กองกำลังกึ่งรัฐที่ถูกรัฐร่วมกับเจ้าที่ดินสร้างขึ้น, หรือเจ้าหน้าที่รัฐเอง กฎหมายควบคุมอัตราการเช่าที่ดินซึ่งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เคลื่อนไหวจนกระทั่งผ่านออกมาได้ ไม่เคยถูกนำมาใช้จริงในระหว่างนั้น

ตัวเลขของ “เหยื่อ” เฉพาะที่มีหลักฐานทางการรองรับมากกว่าตัวเลข “เหยื่อ” ที่เป็นทางการในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯเสียอีก ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหว “เล็กๆ” แน่ และหากมองเหตุการณ์นี้ในมุมของ “การปฏิวัติ” ก็ไม่น่าจะเหมือนกับคลื่นกระทบฝั่ง

“การปฏิวัติ” คืออะไร? อ.ไทเรลอาศัยแนวคิดเชิงทฤษฎีของนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่จำนวนมาก เพื่อชี้ให้เห็นว่าความหมายถึง “การพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ด้วยการยึดอำนาจรัฐ เป็นความหมายที่แคบเกินกว่าจะอธิบายปรากฏการณ์หลายต่อหลายอย่างที่เกิดขึ้นในต่างสังคมของโลกปัจจุบัน และสรุปลง (ตามความเข้าใจของผม) ว่า แก่นแท้ของการปฏิวัติคือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนกลุ่มต่างๆ นั่นเอง (เช่นตัวอย่างของผมเอง การกระทำของคุณเนติวิทย์ก็ตาม คุณเพนกวินก็ตาม คือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างครู-โรงเรียนกับศิษย์-นักเรียนนักศึกษา จึงเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติทางการศึกษาซึ่งดำเนินในประเทศไทยมานานพอสมควรแล้ว การศึกษาแผนตะวันตกที่เริ่มขึ้นในสมัย ร.5 เป็นการเปลี่ยนเนื้อหาและรูปแบบของการศึกษา แต่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ครู-ศิษย์แบบเดิม)

(ขออนุญาตนอกเรื่องด้วยว่า “ปฏิวัติ” ไม่จำเป็นต้องหมายถึง “หมุนกลับ” ไปสู่สถานะเดิมก็ได้ แต่หมายถึงหมุนความสัมพันธ์ทางสังคมกลับกับที่เคยมีมา)


การปฏิวัติจึงไม่จำเป็นต้องหมายถึงการจับอาวุธขึ้นล้มอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ความเคลื่อนไหวของชาวนาภาคเหนือในช่วงสั้นๆ (1973-76) นั้น คือใช้รัฐเป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าที่ดินและลูกนาเสียใหม่ เคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมขึ้น พยายามเผยแพร่เนื้อหาของกฎหมายให้ชาวนาเช่าที่ดินทั่วไปรับรู้ แต่ไม่บังเกิดผลตามต้องการ เพราะเจ้าที่ดินร่วมมือกับรัฐและองค์กรกึ่งรัฐในการละเมิดกฎหมายเสียเอง นับตั้งแต่ “ดื้อแพ่ง”จนถึงฆาตกรรม และยึดรัฐด้วยการทำรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 1976

จากมุมมองเกี่ยวกับการปฏิวัติเช่นนี้แหละ ที่ทำให้เราสามารถมองขบวนการเสื้อแดงได้จากอีกความหมายหนึ่ง

การต่อสู้ของประชาชนระดับรากหญ้าที่ไม่อาจตั้งกองกำลังติดอาวุธได้ ไม่มีเครื่องมือการต่อสู้ของตนเองในระบบ และถูกทำให้เป็นคนนอกเวทีของการต่อสู้ทางการเมืองตลอดมา จะมีความปลอดภัย และทำได้โดยไม่ถูกปราบปรามอย่างเฉียบขาดฉับพลัน ก็โดยช่องทางที่มีอยู่หรือพอหาได้จากกฎหมาย ขบวนการเสื้อแดงก็เช่นเดียวกับสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ คือเคลื่อนไหวภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงอยู่ในบางกรณี อาจเป็นการยืดความหมายของกฎหมายออกไปในทิศทางคนละด้านกับการยืดกฎหมายที่ชนชั้นนำเคยทำมา คือยืดไปในทางให้เสรีภาพแก่ประชาชนทั่วไปมากกว่าที่ชนชั้นนำตีความ

แต่ยุทธวิธีสำคัญของฝ่ายเสื้อแดงคือการยืนอยู่บนกฎหมายเสมอ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนหนึ่งซึ่งติดตามขบวนการเสื้อแดงมาอย่างใกล้ชิดแรมปี บอกผมว่าขบวนการเสื้อแดงมีปีกที่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ปฏิปักษ์ของตนอย่างได้ผล แต่ปีกที่ใช้ความรุนแรงนี้ทำงานประสานกับปีกที่ใช้กฎหมายหรือไม่ และเพียงใดนั้น เขาไม่ทราบ ข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่ผมยืนยันว่าแกนกลางของความเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนระดับรากหญ้าอย่างกว้างขวางนั้น ไม่ต่างจากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ คือยืนอยู่บนสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายอนุญาต อย่างน้อยก็ตามความเข้าใจของแกนนำ

ยุทธวิธีเชิงรุกที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ายุทธวิธีเชิงรับของกฎหมายก็คือ การข้ามเส้น (transgression ซึ่งผมขอแปลว่า “การข้ามเส้น” ขอประทานโทษที่ไม่มีเวลาตรวจสอบฉบับภาษาไทยว่าท่านใช้คำแปลว่าอะไร)

ในทุกสังคม มีเส้นที่ถูกขีดขึ้นไว้ด้วยกฎหมาย, ประเพณี, ค่านิยม, การปลูกฝัง, ทัศนคติทางการเมืองและสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป ฯลฯ อันเป็นเส้นที่ขีดไว้เพื่อประกันความมั่นคงปลอดภัย และความได้เปรียบของชนชั้นนำ

“ปฏิวัติ” ของประชาชนระดับรากหญ้าเลือกจะยืนอยู่หลังเส้นกฎหมาย แต่ใช้การข้ามเส้นอื่นๆ เพราะการข้ามเส้นย่อมก่อให้เกิดความเรรวนในหมู่ผู้มีอำนาจ จะใช้กลไกอำนาจรัฐที่รุนแรงผลักดันให้กลับไปหลังเส้นตามเดิม อาจไม่ได้รับความเห็นชอบจากชนชั้นนำทั้งหมด ยิ่งจำเป็นต้องหากลวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความรุนแรงในการรักษาเส้นไว้ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเรรวนในหมู่ชนชั้นนำยิ่งขึ้น เพราะยากที่จะมีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

มองจากยุทธวิธีการข้ามเส้น ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวข้ามเส้นของฝ่ายเสื้อแดงในทุกๆ ด้าน ซึ่งก็ไม่ใช่ยุทธวิธีที่ใหม่ทั้งหมด อาจเป็นสิ่งที่ความเคลื่อนไหว “ภาคประชาชน” ได้ใช้มาก่อน เป็นแต่เพียงเสื้อแดงอาจขยายมาตรการข้ามเส้นให้แรงขึ้นไปอีก

“เส้น” ของเวลาและพื้นที่ถูกข้ามกันมาโดยสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มาแล้ว การยกขบวนมาประท้วงในเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ คือการข้ามเส้นของพื้นที่ กรุงเทพฯและเขตเมืองไม่ใช่พื้นที่ของชาวนาหรือคนบ้านนอก แต่เป็นพื้นที่ซึ่งกำหนดพฤติกรรมที่เป็นไปได้สำหรับชาวนาและคนบ้านนอกไว้แล้ว เช่นเข้ามารับบริการของรัฐ (มาโรงพยาบาล เป็นต้น) เข้ามาหางานทำ หรือเข้ามาขายแรงงานซึ่งต้องแยกชีวิตตนเองไปจากชีวิตของคนอื่นในเมือง ฯลฯ เป็นต้น ไม่ใช่พื้นที่กำหนดนโยบายสาธารณะของพวกเขา



และเช่นเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับชาวนาชาวไร่ ก็ข้ามเส้นพื้นที่เช่นเดียวกัน เพราะชนบทไม่ใช่พื้นที่ของนักศึกษา ไม่มีอะไรให้ต้องเรียนรู้ในท้องไร่ท้องนา แต่นักศึกษารุ่นนั้นกลับอ้างว่าเขาได้เรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่าเป็นอันมากนอกห้องเรียนและในท้องไร่ท้องนา


แม้การปฏิวัติของชาวนาชาวไร่ต้องถูกสกัดหลังปี 1976 แต่ยุทธการข้ามเส้นพื้นที่กลายเป็นสิ่งที่ประชาชนระดับรากหญ้าใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้ตลอดมา ที่มีชื่อเสียงมากคือการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน

ขบวนการเสื้อแดงข้ามเส้นพื้นที่มาตั้งแต่อย่างน้อยในปี 2009 และข้ามอีกเส้นหนึ่งไปพร้อมกัน นั่นคือตั้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ คือให้รัฐบาลยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนรากหญ้าข้ามเส้นพื้นที่มานานแล้ว เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของเขา หรือเรียกร้องค่าชดเชยที่ทำให้เสียโอกาสในการทำมาหากิน

แต่การเมืองระดับชาติเป็น “พื้นที่” ซึ่งอยู่นอกเส้นที่ประชาชนระดับนี้จะเข้ามามีส่วนร่วมได้ ข้อเรียกร้องและการชุมนุมของเสื้อแดงจึงเป็นการข้ามเส้นพื้นที่ซ้อนกัน 2 ชั้น

และนั่นคือเหตุที่การข้ามเส้นพื้นที่ของขบวนการประชาชนทั้งหลายที่ผ่านมา มักใช้สถานที่ชุมนุมหน้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องหรือหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ขบวนการเสื้อแดงใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและราชประสงค์

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ของการประท้วงมาตั้งแต่ 14 ตุลาคม 1973 หลังจากนั้นก็มีกลุ่มนักศึกษาและกระทิงแดงใช้พื้นที่นี้ในการประท้วงหรือแสดงออกทางการเมืองเสมอมา แต่ขอให้สังเกตว่าภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมคือชนชั้นกลางในเมือง และประเด็นหลักของการชุมนุมคือการเมืองระดับชาติ การที่ขบวนการเสื้อแดงที่เสนอตัวเองเป็นคน “บ้านนอกคอกนา” ตั้งเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปี 2010 จึงเป็นการข้ามเส้นของพื้นที่ในตัว และเพียงการข้ามเส้นนี้ก็ส่งสารถึงผู้คนได้ดังและชัดเจนอยู่แล้ว

ส่วนสี่แยกราชประสงค์นั้น ยิ่งเป็นการ “ข้ามเส้น” ที่ดังและชัดเจนกว่าเสียอีก ข้อเรียกร้องของคนบ้านนอกคอกนาเป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ ซึ่งเลยเส้นที่คนบ้านนอกได้รับอนุญาตให้เข้ามาเกี่ยวข้อง ซ้ำยังข้ามเส้นเข้ามาใช้พื้นที่ซึ่งถูกชาวกรุงจัดให้อยู่นอกเวทีการเมือง

การข้ามเส้นเหล่านี้สร้างความเรรวนในหมู่ชนชั้นนำกว้างขวางกว่าเฉพาะในแวดวงผู้ถืออำนาจรัฐ แต่รวมถึงคนชั้นกลางในเมืองซึ่งบางส่วนกลับสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

ผมไม่มีเนื้อที่จะบรรยายการข้ามเส้นอื่นๆ ของขบวนการเสื้อแดง ซึ่งน่าจะรู้และมองจากมุมนี้ได้เองอยู่แล้ว แต่นี่คือการปฏิวัติในความหมายที่พยายามผลักดันให้เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกลุ่มคน

และดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การปฏิวัติของคนเสื้อแดงถูกสกัดให้ต้องถอยกลับไปอยู่หลังเส้น ที่น่าสนใจก็คือวิธีการสกัดต้องใช้วิธีการนอกกฎหมาย บังคับให้ความเรรวนกระจายไปยังกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ หากคิดจากแง่ของชนชั้นนำ นับเป็นต้นทุนที่สูงเกินกว่าจะคุ้มทีเดียว กล่าวโดยสรุป แม้แต่กฎหมายอันเป็นเส้นที่ขบวนการเสื้อแดงเลือกจะไม่ข้าม ก็เรรวนไปจนเท่ากับบ้านเมืองก็ถูกสกัดให้ชะงักงันไปพร้อมกับการปฏิวัติ

และในที่สุดของที่สุด แม้แต่ความรุนแรงนอกกฎหมายก็ยังไม่อาจสกัดการปฏิวัติไว้ได้ จึงต้องอาศัยมาตรการนอกกฎหมายอีกครั้งหนึ่งด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจ ชนชั้นนำกลับเป็นฝ่ายข้ามเส้นกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีกเสียเอง เช่นเดียวกับที่เคยทำกับการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มาแล้ว

การที่ขบวนการเสื้อแดงใช้ยุทธการ “ข้ามเส้น” ที่ขบวนการประชาชนเคยใช้มาแล้วนับตั้งแต่ 14 ตุลาฯเป็นต้นมา แม้ว่าการ “ปฏิวัติ” ของภาคประชาชนแต่ละครั้งจะถูกสกัดด้วยวิธีรุนแรงนอกกฎหมายเสมอมา ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าการปฏิวัติไม่อาจถูกสกัดให้สูญสลายลงได้

นี่เป็นอีกคำตอบหนึ่งที่มีผู้ถามเสมอว่า อนาคตของขบวนการเสื้อแดงจะเป็นอย่างไร

คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบคำถามนี้ได้ แต่หากเปลี่ยนคำถามว่า “การปฏิวัติ” ที่ผ่านมาจะลงเอยอย่างไร ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของ “ภาคประชาชน”คงชี้ให้เห็นอย่างค่อนข้างแน่ชัดว่า ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไร ก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้วที่จะตัดตอนการปฏิวัติให้สิ้นซาก อย่างมากก็เพียงสกัดการปฏิวัติไว้ได้ชั่วคราว
“นักปฏิวัติ” รุ่นหน้าจะสวมเสื้อสีแดงหรือไม่ คงไม่มีใครตอบได้ แม้ว่าสีแดงโดยตัวของมันเองก็เป็นการข้ามเส้นอย่างหนึ่ง



ที่มา: www.matichon.co.th


หมายเหตุ: ขอเชิญร่วมรับฟังการเสวนารัฐศาสตร์เสวนา หัวข้อเสวนา:

"ขบวนการชาวไร่ชาวนากับการสร้างพื้นที่ทางการของภาคประชาชน"

วิทยากร:
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น
นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผู้ดำเนินรายการ:
มาลินี คุ้มสุภา

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2560เวลา 13.30-16.30 น.
ห้องประชุมยุทธศาสตร์ ชั้น 2 อาคาร 50 ปี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.