Posted: 26 Nov 2017 01:29 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

มติพล ตั้งมติธรรม


ทุกที่ผมได้ยินเรื่องเกี่ยวกับการฝึกทหาร การซ่อม หรือการรับน้องที่เลยเถิด จะทำให้ผมนึกถึงการทดลองทางจิตวิทยาอันนี้ขึ้นมาทุกครั้ง ครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่องการทดลองนี้ มันทำให้ผมมีมุมมองที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับตัวเองโดยสิ้นเชิง และผมมีความเชื่อว่าคนเราทุกคนควรที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับผลของการทดลองนี้ โดยเฉพาะในบุคคลที่กำลังจะมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเช่นการรับน้องในมหาวิทยาลัย

การทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ด เป็นการทดลองทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นำโดยศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยา Philip Zimbardo ในปีค.ศ. 1971 เพื่อที่จะพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้คุมขังเรือนจำทั่วโลก

ในการทดลอง ได้ทำการคัดเลือกผู้เข้าร่วมทดลองเพศชายทั้งหมด 24 คนจากผู้สมัคร 75 คน และแต่ละคนจะได้รับการจับฉลากเพื่อที่จะสวมบทบาทเป็นผู้คุม และนักโทษ ภายในเรือนจำใต้ดินที่จำลองขึ้นในชั้นใต้ดินตึกภาควิชาจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เข้าร่วมทดลองทุกคนไม่ได้รับคำสั่งใดๆ อีกนอกจากให้ "สวมบทบาท" ตามที่ได้รับเอาไว้ตามแต่สมควร ตลอดช่วงระยะเวลา 14 วันในการทดลอง

ถึงแม้ว่าผู้เข้าร่วมทดลองทุกคนมาด้วยความสมัครใจ และทุกคนก็ทราบดีว่านี่เป็นเพียงการทดลองเพื่อสวมบทบาท พวกเขาสามารถที่จะขอถอนตัวออกจากการทดลองได้ทุกเมื่อ แต่บทบาทและสภาพแวดล้อมที่พวกเขาได้รับกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของความจริงไปภายในไม่ช้า หลังจากได้เริ่มการทดลองไปเพียง 36 ชั่วโมง ผู้เข้าร่วมการทดลองคนแรกก็ได้แสดงอาการหวาดผวา และเสียสติขึ้นมา

ผู้คุมขังได้เริ่มทำการทรมานนักโทษของพวกเขาทุกวิถีทาง ตั้งแต่สั่งให้เช็คยอดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลงโทษนักโทษทุกครั้งที่มีการเช็คยอดผิด สั่งให้นักโทษอุจจาระและปัสสาวะลงในถังที่จัดไว้ให้เท่านั้น ยึดเตียงนอนออกไปจากห้องขัง บังคับให้เปลือยกาย เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานผู้คุมกว่าหนึ่งในสามแสดงแนวโน้มของอาการซาดิสม์และความรุนแรงขึ้นมา และผู้คุมเกือบทุกคนแสดงความไม่พอใจเมื่อการทดลองต้องถูกยุติลงกระทันหันหลังจากผ่านไปได้เพียง 6 วัน

ในขณะเดียวกัน นักโทษทุกคนต่างก็ยอมสยบให้กับอำนาจที่กำลังกดขี่พวกเขาอย่างสมบูรณ์ นักโทษทุกคนยอมรับชะตากรรมและการทารุณ รวมถึงปัจเจกบุคคลและสิทธิเสรีภาพอันเป็นสิทธิพื้นฐานของพวกเขาที่ถูกริดรอนออกไปโดยไม่มีการโต้แย้ง นักโทษบางคนถึงกับยอมทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้รับการอภัยโทษจากผู้คุมขัง ถึงแม้ว่าเขารับทราบว่าเขาสามารถเลือกที่จะยุติการทดลองได้ทุกเมื่อ

แม้กระทั่งตัว Zimbardo เองก็ไม่พ้นเป็นเหยื่อของการทดลองนี้ เขาและผู้สังเกตการณ์การทดลองนี้อีกกว่า 50 คนไม่มีใครเลยที่คัดค้านหรือรู้สึกถึงความผิดปรกติที่เกิดขึ้นกับการทดลองนี้ และการทดลองได้ดำเนินการต่อไปโดยไม่มีการยุติ นานเกินกว่าที่ควรจะเป็น

เพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น? ผู้คุมเหล่านี้เป็นมนุษย์ที่ชั่วช้าเช่นนั้นหรือ? นักโทษเหล่านี้เป็นบุคคลที่ชอบถูกกดขี่เช่นนั้นหรือ?

ไม่เลย ผู้ร่วมทดลองทั้งหมดเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำชื่อดังของโลก พวกเขาได้ผ่านการทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาทางจิต หรือแนวโน้มไปสู่ความรุนแรง พวกเขาเป็นเพียงบุคคลธรรมดาเช่นพวกเราทุกคน และที่สำคัญ ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างใดระหว่างผู้คุมและนักโทษ สิ่งเดียวที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลทั้งสองกลุ่ม ก็คือ บทบาทที่ได้รับจากการจับฉลากโดยสุ่ม "เครื่องแบบ" และ "ไม้กระบอง" เป็นตัวแทนของอำนาจที่ได้ถูกมอบเอาไว้ผ่านทางบทบาทที่ถูกสมมติขึ้น

บทบาทเหล่านี้ได้เปลี่ยนคนธรรมดาสองคน ให้กลายเป็นบุคคลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


การทดลองนี้บอกอะไรเราได้บ้าง? การทดลองนี้บอกเราว่าในบางครั้ง "คนดี" ก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นคนที่ทำสิ่งที่ "ชั่วร้าย" ได้ เพียงแค่เรามอบอำนาจให้กับเขาผ่านทางบทบาทที่ได้รับ และบทบาทเหล่านี้สามารถที่จะบดบังและทำให้เราสามารถเห็นสิ่งที่ปรกติเราอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ "ผิด" เป็นเพียงเรื่องธรรมดาและจำเป็นได้

การทดลองนี้บอกอีกว่า นักโทษยอมเลือกที่จะทนอยู่กับชะตากรรม การกดขี่ เพียงเพราะมันเป็น "บทบาท" ที่พวกเขาได้รับ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะสามารถทิ้งบทบาทเหล่านี้ไปเมื่อไหร่ก็ได้

นอกไปจากนี้ การทดลองนี้ยังบอกว่า เราทุกคนต่างก็สามารถตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่เรียกว่า "อำนาจ" และสามารถทำสิ่งที่ชั่วร้ายได้ ด้วยกันทุกคน หากเราไม่ระวัง

ส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้คิดว่าการฝึกทหารที่เรียกว่าการซ่อมหรือประเพณีการรับน้องจะต้องเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย หรือไม่ดีแต่อย่างใด และผมก็คิดว่าการคงรูปแบบข้างต้นไว้เพื่อการคงอยู่ของสถาบันหรือวัฒนธรรมไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป
แต่เราควรจะพึงระลึกถึงการทดลอง Stanford Prison Experiment ไว้เสมอ เพื่อเตือนเราเอาไว้ว่า "บทบาท" สามารถทำให้คนเราเปลี่ยนไปได้เพียงใด



หมายเหตุ: ดัดแปลงจาก เฟสบุ๊ค มติพล ตั้งมติธรรม เมื่อ 4 กันยายน 2557

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.