Posted: 22 Nov 2017 12:35 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เลขาธิการ สปสช. ระบุ 2 ปีที่ผ่านมาและปีงบฯ 61 นี้ มีการพัฒนาและทดลองในบางพื้นที่ มีทั้งทำได้ดีและติดปัญหาบางอย่าง ย้ำต้องพัฒนาต่อไป แต่เห็นว่าท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นฐาน ตอบโจทย์สังคมไทยได้ สอดคล้องกับบริบทในพื้น


22 พ.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ อบต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) เขต 11 สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (Long Term Care: LTC) ในพื้นที่ อ.คีรีรัฐนิคม พร้อมแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน

สุวรรณี นิยมจิต พยาบาลวิชาชีพ รพ.คีรีรัฐนิคม กล่าวว่า ความสำเร็จของการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงของ อ.คีรีรัฐนิคมนั้น ใช้เครือข่ายเข้าช่วย ผนวกเข้ากับการใช้งานวิจัยของกรมการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมมาช่วยดำเนินงาน และได้ขยายให้ครบทุกตำบลในอำเภอ ปัจจัยความสำเร็จคือ อบต.ให้ความร่วมมือและสนับสนุน ก็ทำให้ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่เข้าถึงบริการได้ยาก เพราะไม่มีใครพามาหาหมอ ไม่มีญาติดูแล ก็ได้เข้าถึงบริการมากขึ้น เพราะมีการจัดระบบในระดับพื้นที่ ใช้ชุมชนเป็นฐานในการช่วยเหลือ

ธีรนันต์ ปราบราย ปลัด อบต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ อบต.บ้านทำเนียบดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงในลักษณะของจิตอาสา ต่อมาปี 2559 เริ่มเป็นระบบมากขึ้นหลังจากมีงบประมาณจาก สปสช.มาสนับสนุน เฉพาะที่ ต.บ้านทำเนียบได้ประมาณ 1.2 ล้านบาท โดยเป็นงบจากกองทุนสุขภาพตำบลของ อบต.ที่ได้รับจาก สปสช.ประชากรละ 45 บาท และ อบต.สมทบอีก 100% รวมถึงงบจากกองทุน LTC ที่ได้รับในอัตราผู้สูงอายุคนละ5000 บ. โดยท้องถิ่นให้งบประมาณสนับสนุน รวมถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องรถรับส่งผู้สูงวัยไป รพ. การเดินทางต่างๆ ขณะที่ฝ่ายสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ และมีอาสาสมัครในชุมชนคอยทำหน้าที่ดูแล

จัดงบดูแลผู้สูงอายุมีภาวะพึ่งพิงปี 61 ‘1.2 พันล้าน’ ดึงท้องถิ่นร่วมจัดแล้วกว่า 4 พันแห่ง
ยก “อุทัยธานี” ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน ดึง อปท.ตั้งกองทุนเกือบครบทั้งจังหวัด
อปท.จับมือ รพ.ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน ทางรอดยุคสังคมสูงวัย

ธัญญาทิพ สุขปาน พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ รพ.สต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงติดสังคมใน ต.บ้านทำเนียบเริ่มมีความชัดเจนโดยการทำเป็นระบบเมื่อปี 2559 และ 2560 จากเดิมที่ดูแลในลักษณะของจิตอาสา เมื่อมีงบประมาณสนับสนุนชัดเจน สิ่งที่แตกต่าง คือ มีการจัดระบบแยกส่วนเฉพาะ เน้นในกลุ่มผู้สูงวัยทั้งที่ติดสังคม ติดบ้าน และติดเตียง ทาง รพ.สต.บ้านทำเนียบมีการคัดกรองและค้นหากลุ่มผู้สูงวัยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการเจอ 27 ราย เข้าไปดูแลโดยมีผู้ดูแลหรือ Care Giver ที่ได้รับการอมรมเข้าไปดูแล

“ถือว่าประสบความสำเร็จ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเปลี่ยนจากผู้ป่วยติดเตียง มาเป็นติดบ้าน จากติดบ้านมาเป็นติดสังคม ทั้งนี้คนที่ทำหน้าที่จริงๆ คือ อสม. ซึ่งเป็นผู้ดูแลหรือ Care Giver โดย รพ.สต.ได้นำ อสม.มาอบรมความรู้ ให้ความรู้เรื่องภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ และอาการหลอดเลือดในสมองที่นำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย” ธัญญาทิพ กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ สปสช.ได้รับมอบจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการเชิงรุกจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้านและชุมชน ร่วมกับ อปท. ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 จำนวน 600 ล้านบาท เป็น 900 ล้านบาทในปี 2560 และปี2561 เพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาท โดย สปสช.เน้นทำงานร่วมกับ อปท.และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งมีการเดินหน้าอย่างมั่นคงมาแล้วในรูปแบบของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลหรือกองทุนสุขภาพตำบล

“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยารทร มองเรื่อง LTC เป็นงานอนาคตที่สำคัญของไทยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยได้คำตอบแล้วว่าจะใช้ชุมชนเป็นฐานในการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ต้องมีการใช้บริการสาธารณสุขมากขึ้น” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ในส่วน 2 ปีที่ผ่านมาและปีงบประมาณ 2561 นี้ เป็นปีที่ 3 ก็มีการพัฒนาและทดลองดำเนินการในบางพื้นที่ บางพื้นที่ก็ดำเนินการไปได้ดี บางพื้นที่ยังติดปัญหาบางอย่าง ซึ่งก็ต้องช่วยกันแก้ไขและพัฒนาต่อไป แต่ได้เห็นว่าการใช้ท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นฐาน ตอบโจทย์สังคมไทยได้ สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ดังนั้นเมื่อมีการเดินหน้าในเชิงระบบแล้ว ต่อไปก็ต้องขยายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยต้องอาศัยทรัพยากรในพื้นที่จากทุกหน่วยงานมาบูรณาการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, อปท. และภาคประชาชน

ด้าน พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธาน อปสข.เขต 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานLTC ในพื้นที่ประสบผลสำเร็จนั้น พบว่าปัจจัยภายนอกเข้ามามีส่วนเยอะมาก โดยเฉพาะหน่วยงานตรวจสอบมีผลมาก ซึ่งทาง อปสข.พยายามแก้ในจุดนี้ เพื่อทำให้การขับเคลื่อนงาน LTC เดินหน้าไปได้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับพื้นที่โดยตรง

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน LTC ในเขต 11 ที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด (ชุมพร, ระนอง, กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และภูเก็ต) มีกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลของ อปท.เข้าร่วมงาน LTC 266 แห่ง จาก อปท.ทั้งหมด559 แห่ง โดยทั้ง 266 แห่งที่เข้าร่วมงาน LTC นั้น ดูแลผู้สูงอายุ 11,305 ราย งบประมาณ 56.5 ล้านบาท

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.