พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน
สนทนากับชุมชนชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งได้รับผลกระทบจากพระราชกำหนดแรงงานต่างด้าวฯ ฉบับใหม่ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยกวดขันจับกุมพวกเขา ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่พม่าก็ไม่อำนวยความสะดวกในการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องติดอยู่ใจกลางปัญหาที่ยากจะหาทางออก
ด้านผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแนะให้คำนึงสิทธิเด็กและไม่ผลักดันกลับ ขณะที่ทนายกฎหมายสัญชาติแนะแก้ไขพระราชกำหนดฯ ก่อนบังคับใช้ปีหน้า
พลันที่มีการประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม) ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายหมื่นคนที่ไม่มีเอกสารติดตัวเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือถูกนายจ้างลอยแพ เพราะกลัวถูกดำเนินคดีตามโทษที่ระบุในกฎหมายใหม่
สภาพหวาดวิตกเช่นนี้ดำเนินไปสัปดาห์เศษ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (อ่านเพิ่มเติม) โดยมาตรการหนึ่งก็คือ ให้เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราในพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ จนกว่าจะถึงวันที่ 1 มกราคม 2561 รวมทั้งเปิดช่องให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย
จากการเก็บข้อมูลที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.แม่สอด จ.ตาก คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) พบว่า หลังบังคับใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน จนถึง 3 กรกฎาคม 2560 มีแรงงานจากพม่าเดินทางกลับที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ตรงข้ามเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่าแล้ว 27,000 ราย และหากนับจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ตัวเลขอาจสูงถึง 30,000 ราย
รวีพร ดอกไม้ ผู้ประสานงานคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ซึ่งสังเกตการณ์การเดินทางกลับของแรงงานพม่าที่ด่านแม่สอด-เมียวดี หลังการบังคับใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ เปิดเผยว่าแรงงานที่เดินทางเพื่อข้ามแดนมีทุกเพศ ทุกวัย ส่วนมากเดินทางกลับเพราะกลัวผลกระทบจากการออกพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ นอกจากกระเป๋าเสื้อผ้าแล้ว พวกเขายังนำสิ่งของที่พอนำกลับไปได้ เช่น พัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้า และบางคนก็มีนำสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นแมวกลับไปด้วย
เท่าที่สอบถามมีทั้งผู้ที่ถือบัตรอนุญาตทำงานฯ แต่ไม่ได้ต่ออายุบัตร หรืออยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตทำงานตามช่องทาง MOU รวมทั้งผู้ที่ไม่มีเอกสารทำงาน ในจำนวนนี้มีบางรายที่เดินทางกลับ หลังจากนายจ้างบอกให้กลับภูมิลำเนาเพื่อให้กลับมาทำเอกสารให้ถูกต้อง และมีหลายรายที่เดินทางกลับเพราะญาติที่บ้านโทรศัพท์มาบอกให้รีบกลับหลังทราบข่าวว่าทางการไทยใช้กฎหมายฉบับใหม่
แรงงานที่เดินทางกลับหลายรายระบุว่าหลังจากทราบข่าวต้องการเดินทางกลับไปตั้งหลัก หรือดำเนินการเรื่องเอกสารให้เรียบร้อยแล้วกลับมาทำงานเมืองไทยใหม่ แต่ก็มีหลายรายบอกว่าจะไม่กลับมาแล้ว โดยจะกลับไปทำนาที่บ้าน บ้างก็ระบุว่าจะไปหางานทำในย่างกุ้ง ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวหลังพม่าเปิดประเทศ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้คนจำนวนมากที่แม้จะได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ แต่ก็ไม่คิดจะกลับไปอีก เพราะไม่อาจเรียกสิ่งที่เรียกว่า บ้านเกิด ได้อย่างเต็มปากอีกแล้ว
000000
ไม่ขอย้ายไปที่ไหนอีก: เสียงจากแรงงานชาวมุสลิมพม่า
ปลายเดือนสิงหาคม ถนนคอนกรีตคดเคี้ยวพาเรามุ่งสู่ชุมชนหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก บ้านเรือนมุงหลังคาสังกะสีสองข้างทาง ยกพื้นใต้ถุนพอให้พ้นน้ำขัง บ้างประกอบฝาเรือนด้วยแผ่นไม้ บ้างใช้สังกะสี บ้างใช้ผ้าใบพลาสติกปกคลุมพอกันฝน ที่นี่ถูกเรียกว่าชุมชนข้างมัสยิดบังกลาเทศ โดยเป็น 1 ใน 6 ชุมชนย่อยของแรงงานเชื้อสายมุสลิมจากพม่าที่ตั้งอยู่ในชุมชนอิสลามบำรุง ในเมืองแม่สอด
ชื่อของชุมชนแห่งนี้เรียกตามที่ตั้งซึ่งอยู่ข้างมัสยิดนูรู้ลอิสลาม 2 แต่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อมัสยิดบังกลาเทศ เนื่องจากเมื่อ 35 ปีที่แล้วมีชาวบังกลาเทศมาค้าขายที่แม่สอดและได้บริจาคที่ดินส่วนหนึ่งในการสร้างมัสยิดเพื่อเป็นสถานที่ละหมาดของชาวมุสลิมในชุมชนและสร้างห้องแถวให้ชาวบ้านเช่า ประชากรในชุมชนเริ่มแรกเป็นชาวพม่ามุสลิมที่อพยพมาจากบ้านวังผา อ.แม่ระมาด จ.ตาก ชายแดนไทย-พม่าตรงแม่น้ำเมย ซึ่งมีการสู้รบบ่อยครั้ง ต่อมาเริ่มมีชาวพม่ามุสลิมอพยพมาอยู่มากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดในชุมชนอิสลามบำรุง
ข้อมูลจาก องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ระบุว่าจากการสำรวจช่วงเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอน พบว่าชุมชนข้างมัสยิดบังกลาเทศมีครัวเรือนทั้งสิ้น 280 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 1,526 คน ในจำนวนนี้มีเด็ก 775 คน
เราเดินไปตามถนนคอนกรีตผ่านบ้านเรือนหลายหลัง จนมาหยุดอยู่กลางลานกว้างที่คนนำทางอธิบายว่าเคยเป็นที่พักอาศัยของแรงงานเชื้อสายมุสลิมจากพม่า 23 ครัวเรือน แต่ปัจจุบันได้ปลาสนาการไปเกือบสิ้น เหลือเพียง 3 ครอบครัวที่อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรต่อกับชีวิต
หน่ายวิน อายุ 40 ปี ชาวพม่ามุสลิมจากย่างกุ้ง ซึ่งในบัตรประชาชนพม่าระบุว่าเขามีเชื้อสายสุระตี อันหมายถึงผู้คนที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากรัฐคุชราต รัฐบ้านเกิดของมหาตมะ คานธี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของอินเดียติดกับปากีสถาน ที่ในบัตรประชาชนพม่ายังคงระบุเช่นนี้เพราะนโยบายของรัฐบาลพม่ายังยึดการจำแนกเชื้อชาติของประชากรตามต้นกำเนิดของบรรพบุรุษ ไม่ว่าครอบครัวของเขาจะย้ายถิ่นฐานมากี่ชั่วคนแล้วก็ตาม นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อประชากรที่ไม่ได้มีเชื้อชาติพม่าอย่างถึงราก
หน่ายวิน เล่าว่า เขาจากบ้านเกิดที่ย่างกุ้งมาอยู่ที่ชุมชนข้างมัสยิดบังกลาเทศได้สิบกว่าปีแล้ว โดยเขาเคยมีบัตรอนุญาตทำงานจากนายจ้างคนเก่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระเบียบขั้นตอนที่ยุ่งยาก เมื่อเขาเปลี่ยนงานก็ไม่ได้เปลี่ยนชื่อนายจ้างตามที่ระบุในบัตร และหากบัตรอนุญาตทำงานของเขาหมดอายุ การต่ออายุบัตรก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะทางการพม่าไม่ออกเอกสารรับรองบุคคลหรือ CI ให้กับประชากรพม่าเชื้อสายมุสลิม
งานปัจจุบันของหน่ายวิน คือการปั่นสามล้อตระเวนเก็บของเก่าและรับจ้างทั่วไปตามแต่จะมีคนจ้าง “ถ้ามีคนจ้างยกของ ย้ายบ้าน ก็จะไปรับจ้างรายครั้ง รายได้ไม่มีทุกวัน” เขากล่าว
โดยเมื่อรวบรวมสิ่งของได้มากพอเขาจะนำไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่าของเถ้าแก่ โดยขายของเก่าได้ครั้งละ 400-500 บาท เมื่อคิดคำนวณรายได้แต่ละเดือนจึงไม่แน่นอน ตกราว 3,000-4,000 บาท หรือน้อยกว่านั้น โดยเขาต้องเลี้ยงดูภรรยาคือ ปัทมะจี วัย 33 ปี ที่คอยดูแลลูกๆ และไม่ได้ออกไปทำงานที่ไหนเนื่องจากไม่มีบัตรไม่มีสถานะใดๆ
สองสามีภรรยามีลูก 4 คน เลี้ยงลูกเอง 3 คน ได้แก่ ไฟซาล ลูกชายคนโต อายุ 12 ปี และเหม่าง์ลินลิน ลูกชายคนที่ 3 อายุ 8 ปี ทั้งคู่เรียนอยู่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด โดยเรียนชั้น ป.3 และชั้นอนุบาล 3 ตามลำดับ ส่วนลูกชายคนสุดท้องคือดูวามิยะ อายุ 2 ขวบ ปัทมาจีเป็นคนเลี้ยง ขณะที่มาลินี ลูกสาวคนที่ 2 อายุ 10 ปี ซึ่งเรียนอยู่ชั้น ป.1 แล้วแต่สุขภาพไม่แข็งแรงทั้งคู่เลยฝากฝังให้ญาติที่ฝั่งพม่าช่วยเลี้ยง
อย่างไรก็ตาม สภาพครอบครัวที่ต้องกระเสือกกระสนอยู่แล้วต้องลำบากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ โดยในเวลาเช้ามืดวันหนึ่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ทหารและตำรวจได้เข้าล้อมจับกุมแรงงานพม่าเชื้อสายมุสลิมที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ บ้างถูกส่งกลับฝั่งพม่า บ้างถูกปล่อยตัวและขอกลับมาอยู่ที่ชุมชนต่อเพราะไม่รู้จะไปที่ไหนอีก
กรณีของครอบครัวหน่ายวินและปัทมะจี ตำรวจปล่อยตัวหน่ายวินเพราะมีบัตรอนุญาตทำงานฯ แต่ควบคุมตัวภรรยาและลูกเอาไว้ จนเขาต้องไปขอครูที่โรงเรียนประถมของลูกๆ มาช่วยพูดคุยให้ว่าเด็กๆ ที่ถูกจับเป็นนักเรียนที่โรงเรียน ส่วนภรรยาของเขาก็เป็นผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเลยยอมปล่อย
แม้จะเป็นอิสระจากกรงขังในที่สุด แต่หลังจากนั้น เจ้าของที่ดินก็ยื่นคำขาดกับคนที่เช่าปลูกบ้านในละแวกนี้ว่าขอให้ย้ายออกภายในเดือนกันยายน เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาอีกแล้ว หลังมีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเข้ามาในพื้นที่บ่อยมาก โดยหน่ายวินบอกว่าปกติทุกๆ เดือนก็มีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเข้ามาตรวจตราความเรียบร้อยในชุมชนอยู่แล้ว แต่เมื่อเจ้าของที่ดินต้องการให้ย้าย เดือนหน้าเขาคงย้ายเรือนไปปลูกในที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหม่ อย่างไรก็ตาม ชุมชนที่อยู่ละแวกนี้คงกระจัดกระจายเนื่องจากเจ้าของที่ดินใหม่รับให้คนมาเช่าอยู่เพียงแค่ 10 ครอบครัวเท่านั้น
ปัทมะจีบอกว่านั่งคิดกังวลอยู่ตลอดเวลาถึงเรื่องที่จะต้องย้ายออก และเนื่องจากอยู่ในช่วงที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้มงวดกวดขันต่อแรงงานข้ามชาติ หน่ายวินเองก็ไม่กล้าออกไปเก็บของเก่าไกลๆ ทำให้ครอบครัวของพวกเขาขาดรายได้ไปจากที่เคยได้ ดังนั้นพวกเขาจึงให้ลูกๆ ที่ไปโรงเรียนหยุดเรียนชั่วคราว อย่างไรก็ตาม พวกเขาตัดสินใจว่าจะไม่กลับพม่า เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนมุสลิมในพม่าไม่สู้ดีนัก และหากกลับพม่า ลูกๆ ก็คงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนอย่างที่อยู่ในเมืองไทย
ภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง: ประชากรย้ายถิ่นจากรัฐฉานและนโยบายสัญชาติ
หลังใช้ ม.44 ยังไม่ชัดเจนว่าจะหยุดการไหลกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่
เด็กเคลื่อนย้าย: ผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
กรณีที่ลูกๆ ของหน่ายวิน ต้องหยุดเรียนกลางคัน ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายกรณีของ ‘เด็กเคลื่อนย้าย’ หรือประชากรเด็กข้ามชาติและไร้สัญชาติใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ตัวเลขในเดือนสิงหาคม 2560 ของสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดตาก ระบุว่ามีประชากรเด็กข้ามชาติอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 18 ปี อยู่ที่ 71,690 คน และเมื่อรวมพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนของ จ.ตาก ได้แก่ อ.แม่ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง จะมีจำนวนเด็กข้ามชาติรวม 2.1 แสนคน
เครือข่ายคุ้มครองเด็กอำเภอแม่สอด (Child Protection Network Mae Sot-CPN) ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก แสดงข้อห่วงใยว่าหากไม่มีกลไกคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้าย ก็จะทำให้เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงต่อความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบต่างๆ ความเสี่ยงด้านสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค การตกอยู่ในสถานการณ์ที่เด็กถูกแสวงประโยชน์และการค้ามนุษย์
ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนย้ำสิทธิเด็กต้องไม่กักตัวเด็กและไม่ผลักดันกลับ
ต่อประเด็นการควบคุมตัวเด็กๆ ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า ต่อเรื่องนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายและนโยบายที่เอื้ออยู่แล้วที่น่าจะใช้เป็นแนวปฏิบัติคือ หนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก สอง พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดี
โดยทางเลือกจากกฎหมายนี้ก็คือ หนึ่ง ต้องไม่กักตัวเด็ก สอง ต้องไม่ผลักดันกลับ จนกว่าจะหาวิธีที่ดีกว่าได้อย่างชัดเจน สาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับช่วงด้วยกัน เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เอ็นจีโอที่เกี่ยวข้อง หรือเครือข่ายแรงงานที่เอื้อเฟื้อในเรื่องนี้ นี่คือลู่ทางที่น่าจะเป็นไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสวัสดิการ ไม่ใช่เรื่องคนเข้าเมือง
แต่ทั้งหมดนี้ถูกกระทบโดยพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ซึ่งมาแทน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ที่มีการชะลอไว้ก่อน ยังไม่บังคับใช้เต็มที่ก็เป็นแนวทางที่ดี แต่ตัวพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ เปลี่ยนโฉมของนโยบายและกฎหมายพอสมควรซึ่งก่อให้เกิดข้อท้าทาย ทั้งนี้กฎหมายฉบับใหม่ค่อนข้างจะเข้มงวดในการลงโทษฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้จัดการหางาน นายจ้าง นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีกรอบการลงโทษอย่างหนักหนา รวมทั้งลงโทษลูกจ้างด้วย
“เพราะฉะนั้นมีข้อฝากคิดว่าในเรื่องการบริหารจัดการต้องมีอะไรชั่วคราวทีละขั้นเสียก่อน ไม่อย่างนั้นทุกคนอาจจะเป็นคนผิดไปหมด กลายเป็นว่าอาจจะไปผลักดันกลับคนที่บริสุทธิ์ รวมทั้งตัวเด็กที่น่าจะได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษ” วิทิต ซึ่งเป็นอดีตผู้รายงานพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) กล่าว
วิทิตเสนอให้พิจารณานโยบายด้านการศึกษาของไทยที่เปิดกว้างและไม่ควรได้รับผลกระทบจากการตีความในการใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ว่า ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และมติคณะรัฐมนตรีปี 2548 ที่รับรองสิทธิให้ใครก็ตามไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไม่ ทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาได้อย่างไม่มีค่าใช้จ่าย และนโยบายนี้ไม่ได้เอื้อเฉพาะโรงเรียนของรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่ยังเปิดช่องให้โรงเรียนพิเศษ ที่อาจจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย ที่สอนภาษาอื่นด้วยรวมทั้งภาษาพม่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีในการเคารพวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจึงน่าจะเป็นช่องทางที่เราน่าจะใจกว้างและเปิดลู่ทางให้เอื้อต่อทั้งโรงเรียนที่เป็นทางการและโรงเรียนที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งไม่ควรได้รับผลกระทบโดยการตีความพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ทั้งนี้ต้องคำนึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก และยึดหลักการไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเด็ก และการคุ้มครองเด็กทุกคน โดยยึดเรื่องความจำเป็นพื้นฐานและสิทธิพื้นฐาน
“ที่เชิญชวนให้มองก็คือให้มองครบวงจร อย่ามองกฎหมายและนโยบายหนึ่งอย่างเท่านั้น เราก็เคารพนโยบายกฎหมายว่าด้วยแรงงาน แต่สิ่งนี้ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ต้องมองกฎหมายและนโยบายแรงงานในกรอบที่กว้างกว่านั้น จริงๆ เรามีพันธกรณีภายใต้ภาคีอนุสัญญาสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นข้อตกลงสากล คือต้องมองแบบรวมและกว้าง คือต้องมองกฎหมายและนโยบายว่าด้วยเด็กโดยทั่วไปด้วย รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง” ศาสตราจารย์กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนย้ำ
ทนายกฎหมายสัญชาติแนะแก้ไขพระราชกำหนดฯ ก่อนบังคับใช้ใหม่ปีหน้า
สุรพงษ์ กองจันทึก
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ ประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรี (SAW) กล่าวถึง กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร เข้าไปจับกุมชาวบ้านในชุมชนข้างมัสยิดบังกลาเทศหลังประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ว่า เท่าที่เข้าไปดูในชุมชน พบว่าชาวบ้านหลายคนอยู่มานานแล้ว เป็นชนกลุ่มน้อยหนีความยากลำบาก หนีความตายมา ที่สำคัญพบว่าเป็นชาวพม่าเชื้อสายมุสลิม ซึ่งที่ผ่านมามีการละเมิดโดยรัฐบาลพม่า ทำให้เขาหลบหนีมา จึงต้องถือว่าเขาหนีจากภัยสงครามมา ต้องมองว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย เมื่อเป็นผู้ลี้ภัยต้องให้เขาอยู่ชั่วคราวได้และดำเนินการดูแลแบบผู้ลี้ภัย
สุรพงษ์เสนอวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ว่าต้องมองตามความเป็นจริง จะมองผู้ลี้ภัยเป็นแรงงานข้ามชาติไม่ได้ เพราะที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน แรงงานข้ามชาติเข้ามาเมืองไทยเพื่อทำงาน และสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ แต่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาเพื่อทำงาน แต่หนีความตายมา
“งานมีหรือไม่ ไม่รู้ แต่หนีมาตายดาบหน้า และเพื่อที่เขาจะได้มีชีวิตรอดเขาจึงต้องไปทำงาน งานเป็นเรื่องทีหลัง งานไม่ใช่เป็นเรื่องแรก มูลเหตุจูงใจที่เข้ามาประเทศไทยไม่ได้มาเพื่อทำงาน”
สุรพงษ์เน้นย้ำว่า เพราะคนในชุมชนแห่งนี้มีที่มาคนละกลุ่ม ดังนั้นจึงต้องดำเนินการต่างออกไป การดำเนินการแบบผิดฝาผิดตัวจะทำให้เกิดปัญหา ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่จะเกิดกับพวกเขาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของสังคมไทยด้วย เพราะไปจับกุมแล้วส่งกลับ เขาอยู่ฝั่งพม่าไม่ได้ก็กลับมาประเทศไทยใหม่ เสียเวลาเจ้าหน้าที่ไล่จับ ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ส่วนปัญหาของพระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 นั้น สุรพงษ์เห็นว่ามีบทกำหนดโทษสูงเกินจริง ทั้งที่โทษตามกฎหมายต้องเขียนให้เหมาะสม ทั้งนี้การออกกฎหมาย หากกำหนดโทษน้อยเกินไปคนไม่เกรงกลัว โทษมากเกินไปคนแตกตื่น กรณีที่เกิดขึ้นคือโทษมากเกินไป การกำหนดโทษที่สมควรคือมีสัดส่วนที่พอดีกันระหว่างโทษจำคุกกับโทษปรับ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากฎหมายจำนวนมากจะเขียนเลยว่าโทษจำคุกไม่เกินกี่ปีหรือปรับไม่เกินกี่บาท จะกำหนดเคียงคู่กันได้สัดส่วน
ขณะที่โทษของนายจ้างกับลูกจ้างก็ต้องกำหนดให้เหมาะสม หลักการก็คือ นายจ้างเป็นผู้ควบคุมดูแลลูกจ้าง ถ้าเกิดการจ้างงานผิดกฎหมาย นายจ้างต้องรับผิดมากกว่าลูกจ้าง เหมือนกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขับรถ ผู้ควบคุมรถอาจคาดเข็มขัด แต่คนนั่งด้วยไม่คาดเข็มขัด ปรากฏว่าแทนที่จะปรับคนที่ไม่คาดเข็มขัด กฎหมายปรับคนขับรถมากกว่าเพราะถือเป็นผู้ควบคุมรถ
“เรื่องของการทำงานก็เช่นเดียวกัน นายจ้างต้องมีโทษมากกว่าลูกจ้าง ปรากฏว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ลูกจ้างมีโทษจำคุก แต่นายจ้างไม่มีโทษจำคุกเลย มีแต่โทษปรับ ซึ่งสิ่งนี้ผิดหลักการกฎหมายแล้ว หรือปัจจุบันนี้นายจ้างโดนปรับมหาศาล แต่ไม่มีโทษจำคุกเลย โทษปรับต้องลดลงมาให้เหมาะสม โทษจำคุกต้องปรับลงมาให้ได้สัดส่วน”
ข้อเสนอต่อพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ที่ชะลอการใช้นั้น สุรพงษ์เสนอว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องแก้ไขส่วนที่ใช้แล้วเกิดปัญหา ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ใช่ชะลอการใช้แต่พอถึงสิ้นปีก็ใช้กฎหมายเหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก จึงควรถือโอกาสในช่วงนี้พิจารณาแก้ไข เพื่อให้มีกฎหมายใช้บังคับที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและสามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่ออกกฎหมายมาแล้วสร้างปัญหา
แสดงความคิดเห็น