Posted: 23 Nov 2017 11:09 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เลขาฯ กก.สุขภาพ ไม่เห็นด้วยกับกรมวิชาการเกษตร ต่ออายุการใช้ “พาราควอต” ทั้งที่รู้เป็นสารเคมีอันตราย ขัดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งทุกภาคส่วนร่วมกำหนดและขับเคลื่อน อนุฯขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ปลุกสังคมไทยลุกขึ้นต้าน

23 พ.ย. 2560 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า จากกรณีที่กรมวิชาการเกษตรต่ออายุการใช้ “พาราควอต” ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายต่อไปอีก 6 ปี แม้ว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เคยเสนอให้ยกเลิกการใช้และนำเข้าพาราควอตไปแล้ว เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคนั้น

พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การต่ออายุใบอนุญาตใช้สารเคมีเกษตร “พาราควอต” จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างมาก ซึ่งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่มีภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันผลักดันนโยบายเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในการปลูกพืช และพัฒนาแนวทางอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี จึงไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ใช้พาราควอตอีกต่อไป

“ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ต้องการเห็นมาตรการแก้ปัญหาสารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ประเทศไทยซึ่งเคยมีความอุดมสมบูรณ์ในอดีต ปัจจุบันกลับถูกมองว่าเป็นแผ่นดินอาบยาพิษ เพราะใช้สารเคมีการเกษตรกันมากมายและแพร่หลาย แม้รายการสารเคมีที่เป็นอันตรายจริงๆ อาจมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่หนึ่งในนั้นก็คือพาราควอต จึงมีมติให้หน่วยงานที่รับผิดชอบยกเลิกการนำเข้ามาใช้ ขึ้นทะเบียน และจำหน่ายพาราควอต เพื่อดูแลสุขภาวะของประชาชนและผู้บริโภค รวมถึงตลาดสินค้าเกษตรส่งออกด้วย”

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้มี มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้อง 3มติ ได้แก่ มติในปี 2551 เรื่อง เกษตรและอาหารในยุควิกฤต และมติในปี 2555 อีก 2 เรื่อง คือ ความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร หลังจากมีมติแล้ว คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้บูรณาการทำงานกับหลายหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนมติสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในการทำงานขับเคลื่อนก็มีทั้งผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน และกลุ่มประชาสังคมร่วมทำงานมาด้วยกันโดยตลอด จนถึงขั้นมีการจัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติควมคุมสารเคมีการเกษตร พ.ศ. .... เพื่อเสนอให้แยกการควบคุมวัตถุอันตรายประเภทสารเคมีการเกษตรออกจากวัตถุอันตรายทั่วไป และต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นความสำคัญของปัญหาความไม่ปลอดภัยของอาหารต่อสุขภาพผู้บริโภคอย่างมาก จึงให้กระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานด้วยตนเอง มีองค์ประกอบที่หลากหลาย และมีผู้แทนกรมวิชาการเกษตรร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วยเช่นกัน ในที่สุดคณะกรรมการฯ ได้มีมติเสนอให้ยกเลิกการใช้พาราควอต เมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา เพราะมีข้อมูลด้านที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

“สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะทำหนังสือยื่นคัดค้านเรื่องนี้อย่างเป็นทางการไปยังกรมวิชาการการเกษตร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เป็นผู้ต่ออายุพาราควอตต่อไป เพื่อยืนยันว่าการกำหนดนโยบายใดๆ ของรัฐต้องคำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นหลักสำคัญ” พลเดช กล่าวย้ำ

จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มประเด็นเกษตรและอาหาร กล่าวว่า การเสนอให้ยกเลิกการใช้พาราควอตเพราะมีข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และได้มีการหารือกันหลายครั้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนของกรมวิชาการเกษตรเองก็มีส่วนร่วมโดยตลอด จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงได้ประกาศให้ต่ออายุใบอนุญาตสารเคมีพาราควอตให้บริษัทเอกชนออกไปอีก ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับสุขภาพประชาชนทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างยิ่ง

“การตัดสินใจต่ออายุการใช้พาราควอต เป็นการส่งสัญญาณให้สังคมเห็นว่า การดำเนินนโยบายใหม่ๆ เพื่อสุขภาพของคนไทยเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะอุปสรรคที่เกิดจากหน่วยงานซึ่งมีอำนาจตัดสินใจ ได้กลายเป็นปัญหาที่สะสมต่อไปอีก ผลลัพธ์สุดท้ายคือสุขภาพและประโยชน์ที่ประชาชนสูญเสียไป” จิราพร กล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ธ.ค. นี้ คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มประเด็นเกษตรและอาหาร ก็จะรายงานผลการทำงานเพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้รับรู้ผ่านทางนิทรรศการและเวทีเสวนาต่างๆ ให้สังคมตื่นตัวและร่วมกันแสดงพลังต่อต้าน และหาทางออกต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.