Posted: 23 Nov 2017 08:54 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หากนางผีเสื้อสมุทรคือ “อดีต” เราทุกคนต่างหนีนางผีเสื้อสมุทรของเรา เพื่อเอาชีวิตรอดเหมือนกันทั้งสิ้น

นางผีเสื้อฯ ในพระอภัยมณีนั้นเป็นตัวละครประหลาดนะครับ คือไม่มีที่มาที่ไป นางเงือกยังมีพ่อแม่เป็นตัวเป็นตน ซึ่งได้ช่วยให้พระอภัยและสินสมุทรหนีนางผีเสื้อในระยะแรก แต่นางผีเสื้อไม่มีพ่อมีแม่ หลังจากสิ้นชีวิตแล้ว ก็ไม่มีผีเสื้อตัวอื่นโผล่เข้ามาในท้องเรื่องอีกเลย นางเป็นตัวเดียวหรือคนเดียวในสปีชีส์ของนาง เกิดขึ้นหรือมีขึ้นเพื่อพระอภัย และเป็นของพระอภัยคนเดียวโดยแท้

นางผีเสื้อจึงเป็นอดีตของพระอภัยเพียงคนเดียว และไม่มีใครขจัดเธอออกไปได้นอกจากตัวพระอภัยเอง วิธีขจัดนางผีเสื้อของพระอภัยก็น่าสนใจ เพราะใช้การเป่าปี่จนเธอสิ้นชีวิตลง วิธีที่เราขจัดอดีตอันบาดใจของเรา ก็ใช้วิธีเดียวกันคือเป่าปี่ หรือฟังคนอื่นเป่าปี่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หันไปหาสิ่งสวยงามที่จรุงใจให้ลืมอดีตลงได้ อย่างน้อยก็ชั่วคราว

ปี่ของบางคนอาจเป็นศิลปะ บางคนอาจเป็นการทำงานหามรุ่งหามค่ำ บางคนอาจเป็นการสร้างชื่อเสียง บางคนอาจเป็นนางเงือกสาว นางสุวรรณมาลีและนางละเวง

และด้วยเหตุดังนั้น จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ปี่ของพระอภัยทำให้นางผีเสื้อตายลงจริงหรือ หากตายจริงเหตุใดพระอภัยจึงยังต้องหนีนางผีเสื้อต่อไปเกือบตลอดชีวิต ถึงไม่ได้หนีด้วยการว่ายน้ำ แต่ก็หนีด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งน่ากลัวพอๆ กัน คือเข้าทำสงครามนองเลือดกับรัฐโน้นรัฐนี้อย่างไม่หยุดหย่อน หรือต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อไปให้ถึง “เกาะแก้วพิสดาร” อันเป็นดินแดนที่พระอภัยเข้าใจว่าปลอดภัยจากนางผีเสื้อ อย่างจะหาความสงบในชีวิตสักชั่วขณะก็ไม่ได้เลย

“เกาะแก้วพิสดาร” ที่ไปได้ถึง อาจเป็นสถานที่ซึ่งนางผีเสื้อไม่อาจล่วงล้ำเข้าไปทำอันตรายได้ แต่นางก็ยืนสกัดอยู่ไม่ไกลในทะเล มองเห็นเงาทะมึนเบื้องหน้า แม้เสียงถอนใจคร่ำครวญยังได้ยิน และความคั่งแค้นน้อยใจก็สัมผัสได้จากสายลม

มหากาพย์การวิ่งหนีอดีตหรือนางผีเสื้อของพระอภัยมาสิ้นสุดลงในตอนจบ ไม่ใช่โดยการฆ่านางผีเสื้อใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่โดยการหยุดหนี และใช้ชีวิตร่วมกันไประหว่างอดีตและปัจจุบัน ประนีประนอมยอมรับให้นางผีเสื้อเข้ามาอยู่ร่วมกับนางสุวรรณมาลีและนางละเวง ด้วยเหตุดังนั้น จึงพากันเดินทางไปพบกับนางเงือกซึ่งพระอินทร์ได้ตัดหางให้แล้วที่เมืองลังกา อย่าลืมว่า หากไม่นับสินสมุทรแล้ว นางเงือกเป็นตัวละครตัวเดียวที่มีชีวิตและบทบาทร่วมกับนางผีเสื้อ หรือ “อดีต” ของพระอภัย

การกลับไปพบกับนางเงือกอีกครั้งหนึ่ง จึงเท่ากับกลับไปเผชิญหน้ากับนางผีเสื้อหรืออดีตได้อย่างสงบเป็นครั้งแรก และเรื่องก็ควรจบลงได้อย่างบริบูรณ์

พระอภัยโชคดีที่ในที่สุดก็สามารถอยู่ร่วมกับนางผีเสื้อได้ ในขณะที่คนอีกมากต้องหนีการไล่ล่าของนางผีเสื้อของตนเอง จนถึงวันสิ้นลม

การบำเพ็ญสมณธรรมของพระอภัยอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ได้กับการมีชีวิตร่วมกับอดีต แต่นั่นไม่ใช่วิธีเดียวเท่านั้น มีวิธีอื่นๆ อีกมากซึ่งเหมาะแก่แต่ละคน หากต้องเริ่มต้นที่อ่านแล้วทำให้สำนึกได้ว่า หยุดวิ่งหนีนางผีเสื้อของตนเสียที และจะอยู่ร่วมกับนางผีเสื้อของตนอย่างไร

ตัวใครตัวมัน อย่างที่พูดๆ กันแหละครับ

ใครอ่านถึงตรงนี้ คงมีความเห็นตรงกันว่า เฮ้ย ผมนโนเอาเองนี่หว่า สุนทรภู่ไม่ได้คิดอย่างนี้แน่ ผมก็เห็นด้วยเลยว่าสุนทรภู่ไม่น่าจะคิดอย่างนี้ แม้ผมจะเห็นว่าสุนทรภู่มีสำนึกปัจเจกสูงกว่ากวีร่วมสมัยและก่อนสมัยอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม แต่คงไม่ถึงกับวางท้องเรื่องเพื่อเผยชีวิตส่วนในของพระเอกดังที่ผมกล่าวมาแต่ต้น แม้แต่ที่ผมเรียกว่า “ชีวิตส่วนใน” ก็คงเป็นความหมายที่คนรุ่นสุนทรภู่ไม่รู้จัก

แต่เราจะอ่านสุนทรภู่เพื่อรู้ว่าสุนทรภู่คิดอะไรไปทำไมครับ เราอ่านวรรณคดีอะไรก็ตาม เพื่อจะรู้ว่าเราคิดอะไรต่างหาก และนี่คือจุดอ่อนของการเรียนการสอนวรรณคดี (ทั้งไทยและต่างชาติ) ในประเทศไทย คือไม่สนใจว่าอ่านแล้วเราคิดอะไร และทำไม

ผมเชื่อว่า หากเราสนับสนุนและยั่วยุให้เด็กนักเรียนให้ความหมายแก่วรรณกรรมที่ตัวอ่าน ความหมายที่สร้างขึ้นเอง จากความรู้และประสบการณ์ของตนเอง แต่อาจแบ่งปันกันในหมู่ผู้อ่านได้

การอ่านวรรณกรรม ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ ย่อมให้ความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจแก่นักเรียน อ่านใหม่ก็ได้ความหมายใหม่ เพราะความรู้และประสบการณ์เปลี่ยนไป การเรียนวรรณคดีจึงไม่ใช่เพียงแค่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับงานเขียนชั้นยอดเท่านั้น แต่ได้ปลดปล่อยจินตนาการสร้างสรรค์ในตัวผู้เรียนออกมา

การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยตนเอง เป็นความสุขตามธรรมชาติของมนุษย์ พูดอย่างนักจิตวิทยาพัฒนาการ คือความสุขอย่างเดียวกับที่ได้เล่นอึของตนเองเมื่อตอนเป็นทารก หากสัญชาตญาณสร้างสรรค์ไม่ถูกขัดขวาง คนก็จะเล่นอะไรที่จริงมากขึ้น งามมากขึ้น และดีมากขึ้นกว่าอึของตนเองไปตามพัฒนาการชีวิตและสังคมของตนเอง

เด็กไทยจะจืดอย่างที่เห็นในปัจจุบันละหรือ

ตรงกันข้ามกับที่กล่าวข้างต้น การเรียนการสอนวรรณกรรม-วรรณคดีในเมืองไทยกลับทำตรงกันข้าม คือสถาปนาความหมายเพียงอันเดียวที่ครูประกาศิตไว้ให้เป็นความหมายที่ถูกต้องและเป็นไปได้แก่วรรณกรรมแต่ละชิ้น จินตนาการสร้างสรรค์จึงหมดบทบาทหน้าที่ในการเรียนวรรณกรรมไปโดยสิ้นเชิง และแน่นอนว่าวรรณกรรมแต่ละชิ้นไร้ความหมายในชีวิตจริงของผู้เรียน ยิ่งเป็นวรรณกรรมเก่าเท่าไร ก็ยิ่งไร้ความหมายมากเท่านั้น

เราไม่ได้อ่านวรรณกรรมเพื่อการปลดปล่อย แต่อ่านเพื่อตกเป็นเชลยของกวีและครูผู้สถาปนาอำนาจเผด็จการขึ้นเหนือหัวใจของเรา

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ความหมายของวรรณกรรมแต่ละชิ้นที่ครูบังคับให้เรารับไว้อย่างดิ้นไม่ได้นั้น ไม่ใช่ความหมายที่ตื้นเขินหรือไม่ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงเสียเลย ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ความหมายเหล่านั้นล้วนเป็นผลจากการศึกษาสั่งสมของนักปราชญ์หลายยุคหลายสมัยสืบเนื่องกันมา นับตั้งแต่การตรวจตราต้นฉบับให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับของกวีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ความหมายตามตัวอักษร ซึ่งได้จากการเปรียบเทียบการใช้คำและสำนวนในยุคสมัยนั้นๆ หรือในภาษาถิ่นไทยอื่นๆ ไปจนถึงบริบททางสังคมที่ใช้วรรณกรรมนั้นๆ ในสมัยโบราณ ฯลฯ

นี่คือจารีตของการศึกษาวรรณกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของโลกตะวันตก โดยเฉพาะการศึกษา “ไพรัชวรรณกรรม” ทั้งหลาย ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาตามแนวนี้มีประโยชน์ อย่างขาดไม่ได้ในการศึกษาวรรณกรรมด้วย อีกทั้งเป็นความรู้ที่ต้องสั่งสมสร้างสรรค์กันต่อไปอีกมาก

บ้านเมืองไหนๆ ก็ต้องมีคนอย่างศาสตราจารย์ ดร.นิยดา เหล่าสุนทร ซึ่งสร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการอนุรักษ์มรดกด้านวรรณกรรมของบ้านเมือง ด้วยการสร้างสรรค์ความรู้ความเข้าใจวรรณกรรม-วรรณคดีให้ลุ่มลึก กว้างขวางยิ่งขึ้น

แต่เราจะทำให้นักเรียนมัธยม หรือแม้แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เรียนวรรณกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาทั่วไป กลายเป็นท่านอาจารย์นิยดาได้อย่างไร

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชาชนทั่วไปไม่มีภาระต้องสั่งสมสร้างสรรค์ความรู้ทางวรรณกรรมอย่างนักปราชญ์ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ควรมีโอกาสเรียนรู้ที่จะสนุกสนานกับวรรณกรรม และใช้วรรณกรรมเป็นประโยชน์ในชีวิตของตน นับตั้งแต่เลือกดูละครทีวีเป็น ไปจนถึงบางคนอาจสร้างละครสมัยใหม่ขึ้นจากสมุทโฆษคำฉันท์ ด้วยความหมายใหม่ที่ประทับใจคนดูละครในโลกปัจจุบัน อันเป็นโลกที่เทวดายัง “อุ้ม” ผู้คนไปสู่โชคชะตาที่แตกต่างกัน ฝืนหลักการและเหตุผลที่มนุษย์สร้างขึ้นไว้

จะเข้าใจเหตุผลของเทวดาว่าจะเลือก “อุ้ม” ใคร และไม่ “อุ้ม” ใครได้ ก็ต่อเมื่อเลิกคิดว่าเทวดาเป็น “คนนอก” ที่อยู่เหนือชะตากรรมของมนุษย์ แต่เทวดาก็มีผลประโยชน์อยู่ในโลกมนุษย์ที่ต้องรักษาเหมือนกัน

เพราะวรรณกรรมเป็นงานเขียนชนิดเดียวในโลกที่ฝึกผู้อ่านใช้จินตนาการให้พ้นตัวเองออกไป ไม่ใช่สู่อะไรที่เลื่อนลอยไร้ความเป็นจริงนะครับ แต่สู่สถานการณ์ของคนอื่น, ความรู้สึกของคนอื่น, ความคิดของคนอื่น, ความงามของคนอื่น, ลีลาการใช้ภาษาของคนอื่น ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรที่เป็นของ “คนอื่น”

ที่เรียกว่า “คนดี” ก็แค่นี้แหละครับ คือสามารถหลุดจากตัวเองไปสวมชีวิตคนอื่นได้อย่างคล่องแคล่ว, อย่างลึกซึ้ง และอย่างกว้างขวางไม่เลือกหน้า พูดภาษาชาวบ้านคือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียงสงสาร, เห็นใจ, เมตตากรุณา, อนุเคราะห์เกื้อกูล ฯลฯ เท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าก็คือความเข้าใจความเป็นผู้อื่นได้แทบไม่ต่างจากตัวเขาเอง จึงไม่มองโลกเป็นเพียงสองขั้วของดี-ชั่ว, ขาว-ดำ ซึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธว่าเป็นส่วนหนึ่งของความหมายเชิงสั่งสอน (didactic) ซึ่งปรากฏในวรรณกรรมเก่าของไทยอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีความหมายอื่นอีกมากมายที่มนุษย์แต่ละคน และแต่ละยุคสมัยอาจสร้างสรรค์ลงไปในเนื้องานวรรณกรรมเหล่านั้นได้ไม่สิ้นสุด

ปัญหาสำคัญเฉพาะหน้าของสังคมไทยเวลานี้ คือเราหมดความสามารถในด้านจินตนาการสร้างสรรค์ เรามองโลกจากมุมของชูชกไม่เป็น ใครที่ไม่เหมือนเราหรือไม่เหมือนมาตรฐานของเรา จึงสมควรท้องแตกตายนอกคุก หรือท้องแฟบตายในคุกให้หมดๆ ไป

เรากำลังต้องการคนที่อ่านวรรณกรรมเป็น คือสนุกสนานกับการสร้างความหมายใหม่ให้แก่สิ่งที่อ่าน อันเป็นความหมายที่มีนัยยะสำคัญแก่ตนเอง และอาจแก่คนอื่นร่วมสมัย เพราะโดยผ่านความเข้าใจคนอื่นอย่างลึกซึ้งเท่านั้น ที่เราอาจช่วยกันปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และวัฒนธรรม อันจะเป็นคุณและเป็นธรรมแก่ชีวิตของทุกคนในสังคม



ที่มา: www.matichonweekly.com

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.