Posted: 27 Nov 2017 12:21 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เป็นตัวแทนเครือข่ายนักกิจกรรมยื่นหนังสือขอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร "ภคพงศ์" ด้านอังคณารับจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการ


27 พ.ย. 2560 เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เครือข่ายนักกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, Anti Sotus, Chulalongkorn Community For the People, Law Long Beach และThird Way Thailand นำโดยนิธิ กัลชาญพิเศษ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ต.ค. หลังจากกลับเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้เพียง 1 วัน

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า การเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จากปีพ.ศ. 2545 ถึงปัจุบัน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 นาย ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดเหตุขึ้นในรัฐบาลทหาร โดยมีเพียงรายเดียวที่เสียชีวิตภายใต้สมัยรัฐบาลพลเรือนและมีกรณีเดียวเช่นกันที่เริ่มกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลภายใต้รัฐบาลพลเรือน ทว่าถึงที่สุดแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อชีวิตเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกพิพากษาความผิดตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักนิติรัฐ และหลักประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยถูกทำให้กระจ่างแจ้งหรือแก้ไขอย่างจริงจัง ด้วยวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เป็นอยู่ในระบอบเผด็จการทหาร เหตุการณ์เช่นนี้ วันหนึ่งอาจเกิดกับผู้คนอันเป็นที่รักของใครอีกหลายคน

การลงโทษที่เกินเลยนั้น หาใช่การกระทำเพื่อสร้างระเบียบวินัย แต่เป็นการลุแก่อำนาจของผู้กระทำ ซึ่งเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ ให้เป็นเพียงแค่วัตถุในการรองรับอารมณ์ ความเคียดเเค้นส่วนตัวที่ซึมซับปลูกฝังมาจากรุ่นสู่รุ่น และการแสดงออกถึงอำนาจของผู้กระทำเท่านั้น ดังนี้แล้วการลงโทษที่เกินเลยจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้ง สิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่จะไม่ถูกทำร้ายหรือทารุณ สิทธิในชีวิตที่จะอยู่รอด ซ้ำร้ายไปกว่านั้นสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ที่หลายครั้งถูกพรากไป

ความสูญเสียจากการถูกลงโทษที่เกินขอบเขตของการฝึกสรรถภาพร่างกายในหลายชื่อ ทั้งการ “แดก” “ซ่อม” หรือ “ธำรงวินัย” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับพลทหารที่ถูกบังคับเกณฑ์เข้ามา หรือนักเรียนเตรียมทหารซึ่งเป็นเยาวชนที่ยินยอมเข้ารับการฝึก ล้วนเป็นกรณีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่บุคคลทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาค

ดังนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นโดยมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 ในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ย่อมต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ได้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้เกิดผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพในการป้องกันปัญหาที่เกิดใน 7 ปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพขององค์กร เปรียบเสมือนเป็นองค์กรที่ตายไปแล้ว เป็นไม้ประดับอันคอยแก้ต่างสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, Anti Sotus, Chulalongkorn Community For the People, Law Long Beach และThird Way Thailand ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนทั่วไป จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเตรียมทหารและค่ายทหาร เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพโดยหาทางป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันจะเกิดขึ้นได้อีกในสถานที่เหล่านี้ และประศาสน์หลักนิติรัฐประชาธิปไตยการเคารพสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ทั้งนี้เราขอประณามรัฐบาลทหารที่ไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากแต่ยังสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้อีกด้วย สุดท้ายนี้ทางเราจึงประกาศ ณ ที่แห่งนี้ว่า ความถูกต้องและความยุติธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลต้องธำรงอยู่เหนือความสัมพันธ์พวกพ้องและสถาบันในทุกกรณี

ด้านอังคณา ได้รับหนังสือพร้อมกล่าวว่า เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร หรือโรงเรียนเตรียมทหารนั้น ที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบมาโดยตลอด ทั้งยังได้มีการจัดทำรายงานข้อเสนอแนะให้กับกองทัพไปแล้วหลายครั้ง สำหรับกรณีของภคพงศ์ นั้นแม้ว่าผู้ที่มายื่นจะไม่ใช่ญาติ หรือมีความเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตโดยตรง คณะกรรมการสิทธิก็สามารถหยิบเรื่องดังกล่าวมาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ โดยจะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งครอบครัว แพทย์ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งเอกสารข้อมูลผลการชันสูตรมาประกอบการพิจารณาได้ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบพอสมควร โดยในการประชุมครั้งต่อไป จะนำเรื่องนี้เข้าหารือ ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้หาข้อมูลเบื้องต้นไว้แล้ว

อังคณากล่าวต่อด้วยว่า กรณีที่เครือข่ายนักกิจกรรมกล่าวระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรที่ตายแล้ว และเป็นเพียงไม้ประดับที่คอยแก้ตัวให้กับรัฐบาลทหารนั้น ขอให้ทางกลุ่มได้อธิบายให้ชัดเจนว่ามีกรณีใดบ้างที่เป็นการกระทำในลักษณะดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายระบุไว้อย่างเต็มที่ หลายกรณีก็ได้เชิญทหารเข้ามาให้ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.