Posted: 24 Nov 2017 08:45 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เนื่องในสัปดาห์รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพลังของนักกิจกรรมหญิงในกัมพูชาที่มุ่งสั่นคลอนระบอบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเหล่านี้เคลื่อนไหวทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และการเสริมพลังให้ผู้หญิง โดยมีผู้นำสตรีเหล่านี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่พยายามแผ้วถางไปสู่ทางใหม่
24 พ.ย. 2560 สื่อเซาธ์อีสต์เอเชียโกลบระบุว่า ในกัมพูชามีปัญหาการไล่ที่ประชาชนทำให้เกิดชนชั้นล่างผู้ไร้ทรัพย์สมบัติ ความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายแสนคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนเพื่อเซ่นสังเวยผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัท อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้ส่งผลบางอย่างที่ไม่ได้คาดหมายเอาไว้คือมันกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกระแสนักกิจกรรมหญิงชาวกัมพูชารุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้น
กลุ่มผู้หญิงจากทะเลสาบบึงกอกเดินทางไปประท้วงบนท้องถนนของกรุงพนมเปญหลายครั้ง ถูกจับกุมหลายครั้ง และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักมากที่สุดในฐานะผู้ประท้วงโครงการถมทะเลสาบและยึดที่ดินของคนในท้องถิ่น เรื่องนี้มีการนำเสนอออกไปทั่วโลก พวกเธอไม่ได้โดดเดี่ยว เนื่องจากในกัมพูชากลุ่มผู้หญิงจะเป็นหัวหอกในการประท้วงเพื่อสิทธิที่ดินทำกิน บางส่วนก็ได้เข้าไปมีส่วนในวงการเมืองด้วย
จักร โซเพียบ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (CCHR) เคยกล่าวไว้ว่าในกัมพูชามีความเชื่อฝังหัวทางวัฒนธรรมที่ว่าผู้หญิงต้องเป็นคนทำหน้าที่ดูแลและเป็นแม่บ้าน นั่นทำให้เวลาเกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินมันส่งผลกระทบต่อผู้หญิงกัมพูชาอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้เองจึงกลายเป็นแรงจูงใจให้พวกเธอเป็นตัวแทนดำเนินกิจกรรมแทนชุมชนของพวกเธอ
มีการยกตัวอย่างกรณีของลิม คิมซอร์ ผู้ใช้นามว่ากิกิ ในปี 2552 ชุมชนเธอในกรุงพนมเปญถูกไล่ที่ แม้ว่าครอบครัวเธอจะได้รับค่าชดเชยพอสมควร แต่พ่อของเธอก็บอกว่าไม่อยากทิ้งชุมชนไว้เบื้องหลังจึงคงอยู่และพยายามปกป้องเพื่อทุกคนในชุมชน การแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวนี้เป็นแรงบันดาลใจให้คิมซอร์กลายเป็นนักกิจกรรมที่เรียกร้องความเป็นธรรมในองค์กรเครือข่ายสิ่งแวดล้อมที่ชื่อ 'มาเธอร์เนเจอร์' ถึงแม้ว่ากลุ่มนี้จะสลายตัวไปหลังจากถูกรัฐบาลกดดันเมื่อไม่นานมานี้ แต่อดีตสมาชิกก็จะทำกิจกรรมต่อไปในลักษณะแนวร่วมแบบไม่เป็นทางการ
คิมซอร์มักจะเดินทางไปเยี่ยมผู้คนตามหมู่บ้านที่ห่างไกล เธอเล่าว่าเธอต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย และมีอยู่ครั้งหนึ่งก็ถูกจับขัง 17 ชั่วโมง ผู้ที่เข้ามาคุกคามเธอคือกลุ่มตำรวจนอกเครื่องแบบหรือยาม
ในกัมพูชา ผู้หญิงจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้และถูกผลักให้ไปเป็นแม่บ้านตามประเพณี ทำให้คิมซอร์รู้สึกอยากเป็นคนนำทางให้ผู้หญิงหลุดพ้นไปจากวงจรความคาดหวังในบทบาททางเพศและมีชีวิตที่อิสระ เธอเชื่อว่านี่คือวิธีการที่ทรงพลังในการช่วยกันโอบอุ้มกันและกัน
ในกัมพูชายังมีกฎทางศีลธรรมเคร่งๆ อีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Chbab Srey คอยกำกับบทบาททางเพศของหญิงและชาย มันบีบเค้นผู้หญิงด้วยการสร้างภาพผู้หญิงในอุดมคติว่าต้องเป็นคนอ่อนโยน เหนียมอาย และเชื่อฟังปรนนิบัติสามีตัวเอง คำสอนนี้ยังบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานานจนกระทั่งถึงปี 2550 ซึ่งหลังจากนั้นยังคงสอนเรื่องนี้อยู่โดยใช้ฉบับที่ตัดทอนบางส่วนออกไป
อย่างไรก็ตามในขณะที่กัมพูชากำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและผู้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนได้มากขึ้น ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบ้างแล้ว เช่นการใช้สื่อของ แคเธอรีน วี แฮร์รี นักจัดรายการวิดีโออายุ 23 ปี เธอเป็นที่รู้จักจากการที่รายการเธอเน้นพูดถึงสิทธิทางเพศวิถีและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อย่างตรงไปตรงมา เธอบอกว่าผู้หญิงวัยรุ่นเริ่มลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความหลากหลายอย่างพนมเปญ
แฮร์รีบอกว่าเรื่องนี้เป็นการแย่งชิงพื้นที่กันระหว่างคนต่างรุ่น คนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 30 ปี มักจะใช้โซเชียลมีเดีย ผู้คนต่างรุ่นกันยังได้พบเจอวัฒนธรรมต่างกัน เจอคนที่ต่างกัน และประเทศที่ต่างกัน อีกทั้งคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ข้อมูลมากขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูลจากพ่อแม่ จากเพื่อน หรือจากโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังได้ข้อมูลมาจากประเทศอื่นด้วย
วิดีโอของแฮร์รี่ที่พูดในเชิงสำรวจข้อห้ามศีลธรรมเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ได้รับความนิยมมีจำนวนรับชม 2 ล้านวิว ขณะที่ความคิดของเธอมีคนชมชอบจำนวนมาก แต่ก็มีกลุ่มคนที่โต้ตอบกลับในเชิงไม่พอใจ เธอบอกว่าส่วนใหญ่คนที่มีปฏิกิริยาทางลบต่อเธอมักจะเป็นผู้ชาย ผู้ชายเหล่านี้รู้สึกสั่นคลอนคิดว่าเธอจะทำลาย "วัฒนธรรม" ของพวกเขา แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นผู้หญิงที่อ้างว่าเธอ "ทำลายภาพลักษณ์ของผู้หญิงชาวกัมพูชา" ด้วย
ในกัมพูชายังมีนักสตรีนิยมเยาวชนที่ชื่อ นอย ชอวิน (Noy Chhorvin) เธอเป็นผู้ประสานงานระดับชาติขององค์กรเสริมพลังสตรีรุ่นเยาว์กัมพูชา (CYWEN) เป้าหมายของเธอคือการขจัดการสร้างภาพเหมารวมความเป็นผู้หญิงในสังคมกัมพูชา นอกจากนี้ยังเน้นประเด็นเรื่องความรุนแรงจากเหตุทางเพศสภาพ สิทธิแรงงานและการศึกษา ภายในช่วง 3 ปี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกุญแจสำคัญเพื่อความก้าวหน้าในประเด็นผู้หญิงกัมพูชา
ชอวินกล่าวว่าเธอต้องการให้ความรู้เรื่องแนวคิดสตรีนิยมเพื่อสร้างความเป็นผู้นำให้กับสมาชิก อีกทั้งยังต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้คนในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศโดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว และอยากให้แนวคิดสตรีนิยมฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมกัมพูชา แต่ทว่าเช่นเดียวกับผู้หญิงที่ลุกขึ้นสู้ทุกคน ชอวินเองก็ต้องเผชิญกับการถูกตัดสินจากสังคมหรือคนใกล้ตัว เธอดิ้นรนบนหนทางของตัวเองจนสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้เป็นคนแรกของครอบครัวแม้ก่อนหน้านี้ครอบครัวจะมีความเชื่อฝังหัวว่าพวกเธอไม่จำเป็นต้องเรียนสูงและอ้างว่ามหาวิทยาลัยที่อยู่ไกลบ้านไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง
ชอวินเล่าว่าก่อนหน้านี้ตัวเธอเองก็เคยมีความเชื่อผิดๆ หลายเรื่องแม้กระทั่งต่อผู้หญิงด้วยกัน เธอเคยรู้สึกเหยียดหยามคนทำงานบริการทางเพศและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาก่อน แต่เมื่อเธอพัฒนาความคิดของตัวเอง เธอก็ปลดปล่อยตัวเองจากอคติเหล่านี้ได้ เธอเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะบรรลุศักยภาพในตัวเอง
ในเรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ราจนา เจิง (Rachana Chhoeurng) ผู้เรียกตัวเองว่า "ทานา" หญิงรักหญิงอายุ 25 ปี บอกว่าในกัมพูชายังมีอคติและการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ปัจจุบันทานาทำงานเป็นนักกิจกรรมให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชน CamASEAN ในประเด็น LGBT เช่น เรื่องการถูกบังคับให้แต่งงาน การถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ
ทานาบอกว่าในขณะที่เธอต่อสู้เพื่อให้ LGBT แสดงออกถึงวิถีชีวิตพวกเขาในสังคมทั่วไปได้ เธอก็บอกว่าในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสภาพยังเป็นเรื่องของคนอื่นๆ ในสังคมที่ไม่ใช่ LGBT ด้วย พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะร่วมกันผลักดันความเท่าเทียมทางเพศสภาพด้วยกันทั้งหมด
ธิดา คุส ผู้อำนวยการบริหารของศิลาคา (Silaka) ที่เป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศสภาพในกัมพูชา ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรของเธอมาเธอเน้นเรื่องการให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นนับตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ในปัจจุบัน เธอเชื่อว่าความพยายามส่งเสริมสิทธิสตรีถูกส่งผ่านไปอยู่ในมือของนักกิจกรรมหญิงคนรุ่นใหม่แล้ว
"จุดที่เราอยู่ในตอนนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากสิ่งที่เราทำเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา มันเป็นผลมาจากการที่ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาพวกเราถูกละเลยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสภาพ ทำให้อะไรแบบนี้เกิดขึ้น มันเป็นการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง" คุสกล่าว "คนรุ่นต่อไปจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง"
เรียบเรียงจาก
A wave of young female activists from Cambodia aim to shake up the patriarchy. Here’s how, Southeast Asia Globe, 01-11-2017
http://sea-globe.com/taking-a-stand/
แสดงความคิดเห็น