Posted: 21 Nov 2017 08:28 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
กระทรวงกิจการภายในของกัมพูชาเผยต่อศาลว่าพวกเขากำลังจับตาดูองค์กรบางองค์กรโดยกล่าวหาว่าพวกเขา "วางแผนปฏิวัติ" ขณะที่ทุกองค์กรภาคประชาสังคมต่างให้การปฏิเสธว่าพวกเขาก็แค่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหรือเสรีภาพไม่ได้ต้องการโค่นล้มรัฐบาล และมองว่าการที่รัฐบาลกล่าวหาพวกเขาเช่นนี้เป็นวิธีการข่มขู่คุกคามอย่างหนึ่ง
21 พ.ย. 2560 ในการไต่สวนคดีของศาลสูงสุดกัมพูชาเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชาให้การว่าทางการได้ "จับตามอง" กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและสมาชิกบางส่วนหลังจากที่พวกเขาถูกกล่าวหาเรื่องมีแผนการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล
หลังจากที่มีการสั่งยุบพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (The Cambodia National Rescue Party หรือ CNRP) ในการไต่สวนอีกกรณีหนึ่งเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ทนายความของรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชากล่าวหาว่ามีกลุ่ม 4 กลุ่มกับบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่สมรู้ร่วมคิดกันในการพยายามก่อการปฏิวัติที่พวกเขาเรียกว่า "ปฏิวัติดอกบัว" ซึ่งทุกกลุ่มปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
ศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (CCHR) ถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับสหรัฐฯ ในแผนการจะโค่นล้มรัฐบาลซึ่งมีการตั้งเป้าข้อหาเดียวกันนี้กับเข็ม โสกา คนที่อาจจะได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค CNRP คนต่อไป แต่ในตอนนี้เขาถูกคุมขังก่อนการไต่สวนดำเนินคดีอีกข้อหาหนึ่งคือข้อหา "กบฏ"
อีกองค์กรหนึ่งที่ถูกกล่าวหาคือคณะกรรมการเพื่อการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรม หรือ Comfrel ถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านในการทำลายการเลือกตั้งในปี 2556 นักรณรงค์เพื่อสื่ออิสระ ปา งวน เทียง (Pa Nguon Teang) ถูกกล่าวหาเรื่องเป็นผู้ริเริ่มจัดการประท้วงที่เรียกว่า "วันจันทร์สีดำ" ที่เป็นการประท้วงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุมขัง
เขียว โสเพียก โฆษกกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชากล่าวว่าในตอนนี้ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นทางการแต่ก็มีการ "จับตามอง" กลุ่มคนเหล่านี้เพื่อดูว่าพวกเขาจะเลิกแผนการปฏิวัติหรือไม่ เขาบอกอีกว่าถ้าหากคนเหล่านี้ไม่ยอมยกเลิกแผนการหรือจุดยืนการปฏิวัติก็จะมีปฏิบัติการอะไรบางอย่างกับพวกเขา
นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่วิดีโอกรณีที่นักสหภาพแรงงาน วร โปฟ นำการประท้วงช่วงหลังการเลือกตั้ง 2556 อูนเซน นายกรัฐมนตรียังพูดถึงข่าวลือว่าโปฟหนีออกจากประเทศไปแล้ว อ้างว่าได้ใช้โปรแกรม WhatsApp พูดคุยกับโปฟบอกให้กลับมาโดยอ้างว่าจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับเขา ทางด้านโปฟโต้ตอบว่าเขาไม่ได้หนี แค่ไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้วยแถวชายแดนไทยกัมพูชา เขาบอกว่ายินดีถ้าหากฮุนเซนจะไม่เอาผิดเขา แต่ก็ยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่การพยายามปฏิวัติ แต่เป็นแค่การพยายามปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานนอกระบบเท่านั้น
ทางด้านจักร โสเพียบ ผู้อำนวยการ CCHR กล่าวว่าเขารู้สึกกังวลต่อการถูกกล่าวหาซึ่งไม่น่าแปลกใจนี้ แต่ก็ยืนยันว่าพวกเขาเป็นกลางจากพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งหมดและหวังว่า CCHR จะสามารถทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาต่อไปได้อย่างอิสระ
เยือง โสเทียรา เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายที่ Comfrel กล่าวว่าทางองค์กรของพวกเขาไม่ได้รับรู้เลยว่ามีการพูดถึงในชั้นศาลสูงสุดด้วย อีกทั้งยังกล่าวโต้ตอบว่าพวกเขาไม่ได้อคติทางการเมือง ข้อกล่าวหาถึงพวกเขาไม่มีมูลความจริง พวกเขาแค่ต้องการให้มีการเลือกตั้งอย่างอิสระและเป็นธรรมไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะก็ตาม
โสเทียรากล่าวอีกว่าการถูกกล่าวหาในครั้งนี้อาจจะเป็นวิธีการข่มขู่คุกคามจากรัฐบาลเนื่องจากพวกเขารู้ดีว่า Comfrel เป็นหนึ่งในเอ็นจีโอที่ยืนอยู่แถวหน้าในการวิจารณ์รัฐบาล
ศูนย์เพื่อสื่ออิสระกัมพูชา (CCIM) ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาวางแผนปฏิวัติเช่นกัน รักษาการผู้อำนวยการขององค์กรบอกว่าพวกเขาแค่ต้องการส่งเสริมเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยวิจารณ์รัฐบาลแต่พวกเขาก็ทำงานอย่างมืออาชีพ
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์สาขาเอเชียกล่าวว่า การคุกคามเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปิดกั้นปราบปรามคนต่อต้านรัฐบาล โดยที่เขายังเรียกร้องให้นักการทูตทั้งหลายออกตัวปกป้องกลุ่มหรือบุคคลที่ถูกรัฐบาลกัมพูชากล่าวหา
นาลี พิลอจ จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน Licadho กล่าวว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกมากที่การทำงานของภาคประชาสังคมกัมพูชาในประเด็นต่างๆ ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรรม
เรียบเรียงจาก
Government ‘monitoring’ civil society organisations named in CNRP hearing, Phnom Penh Post, 21-11-2017
http://www.phnompenhpost.com/national/government-monitoring-civil-society-organisations-named-cnrp-hearing
แสดงความคิดเห็น