Posted: 22 Nov 2017 10:53 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นักเศรษฐศาสตร์ ถกงานวิจัย “ปฏิรูปภาษี” ชี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไทยมีศักยภาพ ที่เพิ่มได้อีกมาก เป็นภาษีที่ส่งเสริมความยุติธรรม แนะค่อยๆ เพิ่มจำนวนผู้ชำระและในอัตราก้าวหน้า ชี้ยกเลิกยื่นลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน LTF ช่วยรัฐประหยัด 9 พันล้าน


22 พ.ย.2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัด Policy Forum ประเด็น “แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : ผลงานจากโครงการวิจัย” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกว. และได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลจากกรมสรรพากร ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เวทีดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจและเป็นแนวทางในการ “ปฏิรูปภาษี” ที่สำคัญของไทย โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” (Personal Income Tax หรือ PIT) ไว้ว่า PIT ถือเป็นภาษีที่มีคุณูปการต่อการเงินของรัฐบาล คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 10 ของรายได้รวมของรัฐ PIT ของไทยมีศักยภาพ ที่เพิ่มได้อีกมาก เป็นภาษีที่ส่งเสริมความยุติธรรม เพราะเป็นภาษีที่ก้าวหน้าเล็กน้อยในกรณีรายได้ จากการทำงาน จะเป็นช่องทางให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เป็นธรรมมากขึ้นในอนาคตได้โดยค่อยๆ เพิ่มจำนวนผู้ชำระภาษีในแต่ละขั้นเงินได้ในอัตราก้าวหน้า ซึ่งภาษีนี้แสดงฉันทามติของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่จะมีส่วนร่วมในการเงินของประเทศแบบมีน้อยจ่ายน้อยมีมากจ่ายมาก

ผาสุก กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรประสบความสำเร็จสูงในการบริหารการเก็บภาษีจากเงินได้ประเภทเงินเดือนประจำ จำนวนลูกจ้างที่กรอกแบบ ภ.ง.ด.ที่ชำระภาษี เท่ากับจำนวนผู้มีเงินเดือนที่มีรายได้ ถึงเกณฑ์ที่จะต้องกรอกแบบ ภ.ง.ด.ในสถิติจากการสำรวจแรงงานทั้งประเทศแล้ว ทั้งนี้การขยายฐานภาษี ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นไปได้ยาก เว้นแต่จะมีการจ้างงานเพิ่มในกลุ่มผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น

การเก็บภาษีจากการลงทุนและทรัพย์สินนั้น ผาสุก กล่าววาา ยังเก็บได้น้อยกว่าที่ควร มูลค่าของรายได้จากทรัพย์สินที่รายงานใน PIT ที่ 420,000 ล้านบาท น้อยกว่ารายได้จากทรัพย์สินภาคครัวเรือน ในประมาณการของบัญชีรายได้ประชาชาติที่ 730,000 ล้านบาท การเก็บภาษีจากรายได้ประเภทอื่น เช่น รายได้จากธุรกิจทรัพย์สิน มีรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้ลดทอนหลักการความเป็นธรรมและรายรับภาษีที่จัดเก็บได้ ต่ำกว่าที่ควร

ผาสุก กล่าวด้วยว่า การบรรเทาภาระภาษีในรูปการลดหย่อน การยกเว้นต่างๆ เปรียบเสมือนการสร้างรายจ่าย ผ่านมาตรการภาษี (Tax Expenditure) ที่มีขนาดใหญ่ ช่วยลดรายรับภาษีที่จัดเก็บได้ ทั้งนี้สาเหตุที่จัดเก็บภาษีที่ PIT ต่ำกว่าที่วางไว้ ไทยควรมองจากกรอบเล็กของผู้เสียภาษีในระบบปัจจุบันในประเด็นดังนี้ 1. เก็บจากเงินเดือนได้ดีแล้ว แต่รายได้จากทรัพย์สินและธุรกิจยังเก็บได้ต่ำกว่าที่ควร 2. การเก็บภาษีรายได้ทรัพย์สินและธุรกิจแต่ละประเภท มีหลายรูปแบบ หลายอัตรา ไม่เป็นธรรมและส่งผลลดรายรับภาษี 3.การบรรเทาภาระภาษีในรูป การลดหย่อน การยกเว้นต่างๆเปรียบเสมือนเป็นการสร้างรายจ่ายผ่านมาตราการภาษี ที่มีขนาดใหญ่ ส่งผลร้ายให้กับภาษีลดต่ำลงไป และ 4.ในภาพใหญ่ของประเทศผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยกว่า 10 % ของประชากรวัยทำงาน

ศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ด้วยว่า มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือจุดอ่อนอันเกิดจากกฎหมายและระเบียบ เช่น การยกเว้นรายได้สำคัญบางประเภท รวมทั้งรายได้จากต่างประเทศ การเก็บภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราต่ำและการหักใช้จ่ายแบบเหมา คือ การหลีกเลี่ยงภาษีโดยการรายงานรายได้ต่ำกว่าจริงหรือไม่ครบถ้วน หรือการที่ผู้มีรายได้น้อยไม่กรอกแบบภาษีเลย คือ เป็นผู้ที่หลุดออกจากระบบโดยสิ้นเชิง อาจมีทั้งผู้มีฐานะดีและสมาชิกครอบครัวที่ได้รับรายได้จากการขายสินทรัพย์หรือค่าเช่าโดยปัจเจกบุคคล หรือ รายได้ที่ได้รับผ่านนอมินี และยังมีกลุ่มรายได้ระดับกลางๆที่ทำงานส่วนตัวและไม่กรอกแบบภาษีด้วย

ดวงมณี เลาวกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลประเด็นที่คณะนักวิจัยทีมดังกล่าวที่เห็นควรให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เนื่องมาจากมาตรการลดหย่อน LTF มุ่งเน้นเป้าหมายในการส่งเสริมตลาดทุน มากกว่าการสร้างความเป็นธรรม ดังนั้นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงจึงได้รับประโยชน์จากมาตรการมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ข้อเสนอยกเลิกการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อ LTF นอกจากจะทำให้ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรมมากขึ้นแล้ว ยังไม่ส่งผลกระทบตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

หากมีการยกเลิกการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน LTF จะทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่าย ได้เกือบ 9,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถนำรายได้จำนวนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ด้อยโอกาสและยากจนได้อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาถึงรายจ่ายผ่านมาตรการภาษี รวมทั้งวิเคราะห์ผลของมาตรการทางภาษีต่อผู้เสียภาษีในแต่ละขั้นเงินได้เพิ่มเติม

สำหรับประเด็นการลดหย่อนภาษี การซื้อกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF นั้น ดวงมณี กล่าวว่า แม้ว่ากลุ่มที่ประโยชน์จะเป็นกลุ่มรายได้สูงมากกว่ารายได้น้อย แต่นับได้ว่าเป็นการออมในระยะยาว เพื่อการสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมในอนาคต ประกอบกับหากยกเลิกการลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้ รัฐบาลประหยัดรายจ่ายภาษีได้เพียง ประมาณ 4,000 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลยังคงสามารถคงมาตรการลดหย่อนนี้ไว้ได้ ด้านมูลค่าเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการบริจาคทั่วไปมากกว่ารายจ่ายภาษทีที่รัฐสูญเสียไปจากการลดหย่อนการบริจาค ดังนั้นการให้หักลดหย่อนการบริจาคยังคงเป็นประโยชน์ต่อสังคม ในแง่ที่เงินบริจาคเหล่านี้ถูกส่งไปยังหน่วยที่ต้องการงบประมาณได้โดยตรง อย่างไรก็ดีควรมีมาตรการตวรจสอบว่าการบริจาคดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริง เพื่อมิให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น เพราจะทำให้ไม่เกิดประโยช์ที่แท้จริงกับสังคม

สำหรับมาตรการระยะปานกลาง นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้วา ยังมีผู้มีเงินได้ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้น เงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่หลากหลายสำหรับเงินได้แต่ละประเภท ควรมีการทำการศึกษาในเชิงลึกว่า อัตรการหักค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและมีมาตรฐานของดงอนได้แต่ละที่ประเภทควรจะเป็นเท่าใด และมุ่งไปสู่แนวทางการหักค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งสนับสนุนให้กำหนดรายการที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนว่า รายการได้บ้างที่สมควรเป็นรายการที่สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจกรรมนั้นๆได้

ในเวทีเดียวกัน อธิภัทร มุทิตาเจริญ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงประเด็น การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่นับเป็นรายจ่ายซ่อนเร้นของรัฐว่า โดยปกติเมื่อรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่าง ทางเลือกที่เราคุ้นเคย คือการจัดสรรงบประมาณลงไปในรูปของการใช้จ่าย หรือการให้เงินอุดหนุนต่างๆ แต่อีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลนิยมใช้ แต่เรามักไม่ได้ตั้งคำถามมากนัก คือการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านระบบภาษีตัวอย่างของการให้สิทธิประโยชน์ในกรณีของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น การอนุญาตให้นำเงินลงทุนใน LTF และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ค่าซื้อสินค้าและบริการในช่วงเวลาที่กำหนด มาหักลดหย่อนภาษีได้ การหักลดหย่อนเหล่านี้ส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้ลดลง แน่นอนว่าการให้สิทธิหักลดหย่อนแต่ละอย่างมีเหตุผลรองรับ เช่น มาตรการ LTF ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน และส่งเสริมธุรกิจกองทุนฯ หรือมาตรการที่ให้นำค่าที่พักในโรงแรมมาหักลดหย่อนภาษีก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่จุดอ่อนที่สำคัญของมาตรการเหล่านี้คือ การสร้างต้นทุนซ่อนเร้นให้แก่ภาคการคลังของประเทศ สาธารณชนแทบไม่ทราบว่าต้นทุนของการหักลดหย่อนเหล่านี้มีมากน้อยขนาดไหน และใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ทั้งที่ข้อมูลด้านต้นทุนเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการประเมินความเหมาะสมของมาตรการต่างๆ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.