Posted: 22 Nov 2017 09:08 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือเรื่อง “การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” กำชับนายทะเบียนทุกจังหวัดซักซ้อมทำความเข้าใจเรื่องทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยสามารถขอมีบัตรได้ทุกกรณี ยกเว้นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตเข้ามาอาศัยในประเทศไทยที่มีหนังสือเดินทางหรือวีซ่า ไม่บังคับให้ต้องทำบัตร


เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน สำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือที่ มท. 03091/ว 74 เรื่อง การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เรียน นายทะเบียนจังหวัด ทุกจังหวัด และนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

ที่ มท 0309.1/ว 74
สำนักทะเบียนกลาง
ถนนลำลูกกา ปท. 12150



15 พฤศจิกายน 2560

เรื่อง การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

เรียน นายทะเบียนจังหวัด ทุกจังหวัด และนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดดังนี้
อ้างถึง หนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท 0309.1/ว 13 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2560

ตามที่สำนักทะเบียนกลาง ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เพื่อให้แจ้งสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นถือปฏิบัติไว้แล้วนั้น

ปัจจุบัน ปรากฏว่าสำนักทะเบียนกลางได้รับการสอบถามปัญหา หารือแนวทางปฏิบัติ และร้องเรียนขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยอ้างเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทำไม่ได้ ไม่มีระเบียบหรือหนังสือสั่งการหรือระบบคอมพิวเตอร์ไม่เปิดให้ดำเนินการ ดังเช่นกรณีของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยโดยขณะที่เกิดบิดาหรือมารดาเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ มีเลขประจำตัวเป็นบุคคลประเภท 00 ซึ่งปัจจุบันถูกจำหน่ายรายการทะเบียนแล้ว เป็นต้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อน กรณีดังกล่าว สำนักทะเบียนกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. 2551 โดยมีหนังสือสั่งการของสำนักทะเบียนกลางกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ชัดเจนแล้วได้แก่ หนังสือที่ มท 0309.1/ว 13 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2560 ตามที่อ้างถึง อย่างไรก็ดี เพื่อให้การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติอย่างถูกต้อง จึงขอให้สำนักทะเบียนจังหวัดและสำนักทะเบียนกรุงเทพมหานคร แจ้งสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการดังนี้

1. ให้ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นทุกคน โดยคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีหลักฐานการทะเบียนราษฎรและเลขประจำตัว 13 หลัก อายุตั้งแต่ 5 ปี จนถึง 70 ปีบริบูรณ์ สามารถขอมีบัตรประจำตัวได้ทุกกรณี ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยหรือเป็นผู้ที่เดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทยก็ตาม โดยยกเว้นเฉพาะคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (มีหนังสือเดินทางหรือวีซ่า) เท่านั้นที่ไม่บังคับให้ต้องมีบัตรปรจำตัว แต่หากบุคคลดังกล่าวประสงค์จะขอมีบัตร ก็ให้นายทะเบียนดำเนินการให้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน

2. ให้ประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมถึงการชี้แจงในการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน หรืออื่นๆ ในประเด็นต่อไปนี้

2.1 การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร อันมีสภาพบังคับให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดต้องปฏิบัติ การฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้มีความผิดและมีโทษตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

2.2 อัตราค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. 2551

3. ขอให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่น ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ ไม่สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระมัดระวังมิให้เกิดการเรียกรับหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือโดยทุจริตจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการรับคำขอ ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ จนถึงการมอบบัตรประจำตัวให้กับเจ้าของบัตร

จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

ร้อยตำรวจโท อาทิตย์ บุญญะโสภัต
ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง





หนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท 0309.1/ว 74 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560





หนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท 0309.1/ว 13 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2560

000

โดยสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ ประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรี (SAW) กล่าวถึงหนังสือของสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ว่า คนทุกคนต้องมีเอกสารแสดงตัวตน ต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคล โดยเป็นไปตามสถานะของเขา ที่ผ่านมารัฐมีการเก็บข้อมูลบุคคลไว้ในฐานข้อมูลทั้งคนสัญชาติไทย และคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย อย่างไรก็ตามปัญหาเกิดจากกรณีว่าคนบางคนซึ่งมีชื่อในระบบทะเบียน โดยเฉพาะคนที่ได้รับการแจ้งเกิดตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฉบับที่ 2 ที่กฎหมายกำหนดให้รับแจ้งเกิดทุกคนที่เกิดในประเทศไทย โดยรัฐจะออกเลขประจำตัว 13 หลัก มีการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนประวัติ และรัฐออกเลขประจำตัว 13 หลักให้ กรณีอายุถึงเกณฑ์ก็สามารถทำบัตรประจำตัวได้ตามสถานะของแต่ละบุคคล โดยเด็กสัญชาติไทยทำบัตรเมื่ออายุ 7 ปี ส่วนเด็กไร้สัญชาติหรือไม่มีสัญชาติไทยทำบัตรเมื่ออายุครบ 5 ปี

อย่างไรก็ตามมีกรณีที่เมื่อเด็กจำนวนหนึ่งเมื่ออายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัว เจ้าหน้าที่บางคนบางพื้นที่ไม่ยอมทำบัตรให้ จึงต้องมีการออกระเบียบยืนยันว่าทางราชการมีการเก็บข้อมูลบุคคลแล้ว เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่ก็ต้องออกเอกสารเพื่อการแสดงตัวสำหรับบุคคลนั้น

ส่วนกลุ่มที่ไม่ต้องทำบัตร ตามรายละเอียดของหนังสือของสำนักทะเบียนกลางฉบับนี้ ถือว่าคนที่ถือหนังสือเดินทางของรัฐอื่นไม่ต้องทำ เพราะมีรัฐรับรองอยู่แล้ว มีเอกสารแสดงตัวอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ไม่มีรัฐรับรอง แต่มีการลงบันทึกข้อมูลไว้แล้ว รัฐต้องออกเอกสารแสดงตัวให้กับบุคคลนั้น โดยการมีบัตรประจำตัวจะระบุวันเดือนปีเกิด สถานะทางสัญชาติของบุคคลนั้น รวมทั้งถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้จะช่วยเรื่องการแสดงตัวบุคคล ฐานข้อมูล ลายพิมพ์นิ้วมือ ใบหน้า เมื่อถูกปลอมแปลงตนก็จะสามารถช่วยตรวจสอบได้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.