Posted: 23 Nov 2017 02:14 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


สาวตรี สุขศรี อาจารย์นิติศาสตร์ ระบุกฎหมายไทยมีช่องโหว่เอื้อให้แพทย์เก็บอวัยวะของศพไว้ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ญาติทราบ พร้อมตั้งข้อสังเกตกรณีน้องเมย เมื่อมีใบมรณบัตรระบุสาเหตุการตายแล้ว ทำไมจึงมีการเก็บอวัยวะไปชันสูตรอีกโดยไม่แจ้งให้ญาติทราบ ด้านผู้ทรงคุณวุฒินิติเวชฯ ระบุตามหลักปฏิบัติต้องแจ้งให้ญาติทราบก่อนหากมีการเก็บอวัยวะไปพิสูจน์

ดูจะเป็นคำถามที่ยังคงค้างคาใจสำหรับสังคมไทย ว่าที่สุดแล้วการที่แพทย์ผู้ชันสูตรศพได้เอาอวัยวะภายในออกจากร่างของศพนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องแจ้งให้กับญาติของผู้ชีวิตได้รับทราบ และจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องได้รับการอนุญาตจากญาติก่อน

คำถามดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของ เมย ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ซึ่งภายหลังจากเสียชีวิตทางโรงเรียนเตรียมทหารได้แจ้งให้ครอบครัวทราบว่าจะมีการนำศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ เพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิต

หลังจากนั้นทางโรงเรียนได้มอบใบมรณบัตรให้กับครอบครัวซึ่งมีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจาก “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” พร้อมกับได้รับแจ้งจากทางโรงเรียนว่าแพทย์ได้ตัดเก็บอวัยวะเล็กๆ น้อยๆ บางส่วนไปเพื่อทำการพิสูจน์เพื่อเติมซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน

แต่ทางครอบครัวกลับเลือกที่จะไม่เผาศพของเมย ในวันฌาปนกิจและได้นำศพไปส่งที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อขอให้มีการชันสูตรอีกครั้ง โดยเมื่อมีการผ่าชันสูตรกลับพบว่าอวัยวะภายในคือ หัวใจ สมอง และกระเพาะอาหารหายไป จึงทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยไว้ว่าเกิดจากสาเหตุใด แม้ว่าถึงวันนี้เรื่องราวดังกล่าวจะได้คลี่คลายลง เมื่อทางกองทัพได้ออกมาแถลงข่าวว่า แพทย์ผู้ชันสูตรนั้นได้เก็บอวัยวะทั้งหมดไว้เพื่อทำการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิต เพียงแต่ไม่ได้แจ้งให้ญาติได้ทราบก่อนเนื่องจากตั้งแต่ได้รับศพมาก็ไม่มีโอกาสที่จะติดต่อญาติได้เลย

บ่ายวันนี้ (23 พ.ย.) ญาติและพนักงานสอบสวนได้เดินทางไปรับอวัยวะทั้ง 3 ชิ้นกลับไปส่งชันสูตรอีกครั้งที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินสิ้นเดือนพฤศจิกายน จึงจะทราบว่าผลตรวจทั้งการตรวจดีเอ็นเอ และสาเหตุการเสียชีวิตนั้นออกมาตรงกันหรือไม่ ขณะที่ทั้งครอบครัวและสังคมไทยกำลังเฝ้ารอความกระจ่างกับเรื่องดังกล่าวอยู่ ก็ยังคงมีคำถามที่ค้างคาที่ตั้งไว้ในตอนต้นว่า สรุปแล้วการที่แพทย์ผู้ชันสูตรศพได้เอาอวัยวะภายในออกจากร่างของศพนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องแจ้งให้กับญาติของผู้ชีวิตได้รับทราบ และจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องได้รับการอนุญาตจากญาติก่อน
ราโชมอน’ ความจริงที่ต่างกันของกองทัพ หมอ และครอบครัว กรณี นตท.เสียชีวิต
ศพสุดท้ายอีกกี่ครั้ง?: รวมกรณีซ้อมทรมาน-ตายแปลกในค่าย คุก บ้านพักนายทหาร

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า โดยปกติ การชันสูตรนั้นมีสองลักษณะคือ การชันสูตรภายนอก กับการชันสูตรภายใน ซึ่งตามกฎหมายไทยกรณีของการชันสูตรภายนอก ในกรณีที่มีการเสียชีวิตผิดธรรมชาติ จะต้องมีการชันสูตรเสมอ โดยจะต้องมีแพทย์ และพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่พบศพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 โดยเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้ญาติทราบว่ามีการชันสูตร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 150

แต่ในกรณีพิเศษเช่นกรณีที่อาจจะเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือเกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม จะต้องมีการชันสูตรโดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 ฝ่าย คือ อัยการ พนักงานฝ่ายปกครองเทียบเท่าปลัดอำเภอ พนักงานสอบสวน และแพทย์นิติเวชฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้ญาติทราบเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 150 วรรคสาม

สาวตรี กล่าวต่อว่า หากแพทย์สามารถหาสาเหตุการตายได้จากการชันสูตรภายนอกก็ไม่จำเป็นต้องผ่าเพื่อชันสูตรภายใน แพทย์ก็จะมีรายงานการชันสูตรออกมาว่ามีการเสียชีวิตด้วยเหตุใด และหากไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เป็นการเสียชีวิตเองโดยที่ไม่มีผู้กระทำความผิด เรื่องก็จะสิ้นสุดตรงนั้น อัยการก็จะส่งเรื่องไปให้พนักงานฝ่ายปกครองให้มีการออกใบมรณบัตร แต่หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นก็จะเป็นเรื่องของการดำเนินคดีต่อไป และสำนวนการชันสูตรก็จะกลายเป็นสำนวนการสอบสวนด้วย

“หากการตรวจภายนอกไม่พอ ตรงนี้กฎหมายเขียนไว้ว่าให้อำนาจเจ้าหนักงานสอบสวนสั่งให้มีการผ่าศพ หรือแยกธาตุ ซึ่งในทางปฏิบัติการกระทำตรงนี้จะมาจากคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจเสนอว่าเคสนี้คงต้องผ่าเพื่อพิสูจน์ ทีนี้เมื่อถามว่าญาติจะเข้ามาตอนไหน ในกฎหมายไทยระบุว่าญาติจะต้องรับรู้ตั้งแต่แรกว่าจะมีการตายเกิดขึ้น และจะมีการชันสูตรพลิกศพ เพราะเป็นการตายที่ผิดปกติแล้วกฎหมายบังคับว่าจะต้องชันสูตร โดยตรงนี้จะต้องมีการแจ้งญาติอย่างเคร่งครัด” สาวตรี กล่าว

ต่อกรณีของเมย สาวตรีกล่าวว่า ทราบข้อมูลจากข่าวว่าได้มีการแจ้งให้ญาติทราบว่าจะมีการชันสูตรแล้ว แต่ในกรณีที่การตรวจชันสูตรภายนอกยังไม่ทำให้ทราบสาเหตุการเสียชีวิตได้ แพทย์จำเป็นต้องผ่าเพื่อชันสูตรภายใน ตามกฎหมายไทยไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีการแจ้งให้ญาติทราบ เพียงว่าหลังจากผ่าเสร็จแล้วชันสูตรเสร็จแล้วแพทย์จะต้องมีรายงานการชันสูตรออกมา

“เมื่อผ่าเสร็จ มีการรายงานผลออกมาเรียบร้อย มีการออกใบมรณบัตรมาแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ว่าเคสนี้จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่รู้เลยว่าเขามีการชันสูตรกันกี่ฝ่าย ส่วนกรณีที่แพทย์เก็บอวัยวะไว้ก่อนไม่ได้ส่งคืน ตรงนี้เราเห็นว่ามีแพทย์นิติเวชฯ เขียนในเฟสบุ๊คว่า ในทางปฏิบัติเวลาผ่าเสร็จ แพทย์จะมีการเก็บอวัยวะไว้ก่อนคืนยังไม่ส่งคืน และจะนำมาแช่ในฟอร์มาลีน เผื่อมีปัญหาในอนาคต และก็จะส่งเฉพาะศพคืนไป ทีนี้เมื่อมาเทียบกับกฎหมายดูก็พบว่าเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้บังคับอะไรไว้เลย แพทย์จะทำอะไรก็ได้ แต่ในกรณีทั่วไป หากจะให้เราตีความว่าเพราะอะไรแพทย์ถึงเก็บอวัยวะไว้อีก ก็คงเป็นลักษณะที่คาดการณ์ว่าอาจจะมีการฟ้องคดีกัน ศาลก็อาจจะมีข้อสงสัยแล้วขอให้แพทย์กลับไปชันสูตรอีกครั้ง” สาวตรี กล่าว

“แต่เมื่อกลับมาที่กรณีของน้องเมย เมื่ออ่านจากคำแถลงของแพทย์ที่ออกมาแถลงข่าว เราคิดว่ามันไม่ค่อยเมคเซนส์ เพราะว่า หนึ่ง คุณให้ใบมรณบัตรเรียบร้อย คุณแจ้งสรุปเคสไปแล้วว่า เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวเอง และส่งศพคืนเรียบร้อย อันนี้มันย่อมคาดหมายหรือเปล่าว่าไม่มีการฟ้องคดี เพราะเหมือนทุกอย่างมันเสร็จเรียบร้อย เพราะฉะนั้นแพทย์จะเก็บอวัยวะไว้ด้วยเหตุผลอะไร เพราะคุณสรุปทุกอย่างไปหมดแล้ว สอง ถ้าสังเกตหรืออ่านจากการแถลงข่าวของแพทย์ เขาไม่ได้ชี้แจงในกรณีที่ว่าจะต้องเก็บเอาไว้เผื่อคดีมีปัญหา แต่พูดในทำนองที่ว่าเก็บเอามาเพื่อตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตอีก และก็จะส่งให้ตรวจอีกครั้ง มันเลยดูขัดกับข้อเท็จจริง เพราะเขาพูดเหมือนกับว่ากระบวนการชันสูตรมันยังไม่เสร็จ” สาวตรี กล่าว

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ เปิดประเด็นต่อไปถึงเรื่องช่องโหว่ทางกฎหมายว่า การที่กฎหมายไม่ได้บอกอย่างละเอียดว่าแพทย์จะต้องแจ้งให้ญาติทราบว่าจะมีการเก็บอวัยวะของศพไว้ ก็ถือว่าการกระทำนี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันมา แต่เมื่อเกิดกรณีของเมยเกิด สังคมไทยก็อาจจะต้องมาทบทวนกันว่า กระบวนการที่เป็นอยู่นี้ควรมีการปรับแก้ไข ทบทวนอีกครั้งหรือไม่ ว่าควรจะต้องแจ้งญาติด้วย และควรจะให้อำนาจแพทย์วินิจฉัยว่าจะต้องเก็บอวัยวะไว้ก่อนเพราะอะไร และจะให้อำนาจในการตัดสินใจว่าจะให้เก็บไว้หรือไม่เก็บไว้เป็นอำนาจตัดสินใจของใคร

ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติเวชและกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการต่างคนต่างคิด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ว่า คำว่าชันสูตรพลิกศพ นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการผ่าทั้งหมด แต่กรณีที่จะมีการผ่านั้นเป็นไปเนื่องจากแพทย์ผู้ชันสูตรเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องหาสาเหตุของการเสียชีวิตก็จะมีการผ่าชันสูตร ซึ่งในการผ่านั้นเป็นการผ่าเพื่อจะดูว่าอวัยวะภายในต่างๆ นั้นมีพยาธิสภาพอะไร หากว่าดูแล้วไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุได้ แพทย์อาจจะทำการตัดชิ้นเนื้อนิดหน่อย เพื่อที่จะนำไปพิสูจน์ในกระบวนการทางการแพทย์ต่อไป

นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า โดยปกติการจะจัดเก็บอวัยวะของศพไว้ แพทย์จะต้องบันทึกไว้ในรายงานการชันสูตรซึ่งจะระบุว่าจะเก็บส่วนไหนไว้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีการเก็บอวัยวะทั้งชิ้น แต่จะเก็บเพียงชิ้นเล็กๆ ประมาณปลายนิ้วก้อย โดยจะเลือกเก็บเฉพาะส่วนที่มองเห็นว่ามีพยาธิสภาพเท่านั้น ส่วนกระเพาะอาหารอาจจะมีการเก็บไว้มากกว่าอวัยวะอื่นๆ เพื่อที่จะนำสารต่างๆ ในกระเพาะไปวิเคราะห์ว่ามีสารพิษหรือไม่

นพ.วิฑูรย์ ระบุต่อไปด้วยว่า กรณีที่มีการเก็บอวัยวะไว้ทั้งชิ้น หลายๆ ชิ้นนั้น อาจจะเกิดจากการวิเคราะห์ของแพทย์ว่าผู้เสียชีวิตอาจเสียชีวิตโดยมีสาเหตุมาจากยาพิษ หรือสารพิษต่างๆ เช่นอาจจะต้องนำตับไปสกัดเพื่อวิเคราะห์หาสารพิษต่อไป ส่วนสมองนั้นอาจจะมีการเก็บไว้ทั้งชิ้นได้ เพื่อที่จะนำไปฟิกฟอร์มาลีน เพื่อที่จะหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดว่าภายในสมองมีเลือดออกหรือไม่ ซึ่งเมื่อเสร็จกระบวนการทุกอย่าง แพทย์จะต้องส่งอวัยวะกลับคืนให้ญาติ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายวัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วญาติจะต้องรับรู้ว่ามีการเก็บอวัยวะใดไว้บ้าง

อย่างไรก็ตาม จากการแถลงข่าวของ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ วานนี้ (22 พ.ย.) พญ.ปานใจ กล่าวว่าตอนหนึ่งว่า สำหรับการเก็บชิ้นอวัยวะทางแพทย์สามารถเก็บได้โดยไม่ต้องแจ้งญาติ แต่จะดูความสำคัญในขณะนั้นเป็นอันดับแรกว่าแพทย์จะนำไปตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีแผนปฏิบัติว่าจะต้องแจ้งญาติทุกครั้ง แต่เพื่อให้สบายใจทุกฝ่ายก็ควรแจ้งให้ญาติทราบ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.