Posted: 23 Nov 2017 08:56 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพิ่มอำนาจออกมาตรการชั่วคราวบังคับหน่วยงานดำเนินการได้ และไม่รีเชตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ iLaw ชี้วิจารณ์ศาลฯ อาจคุก 1 เดือน ปรับ 5 หมื่น


23 พ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ มีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 และ 3 โดยที่ประชุม สนช. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ด้วยคะแนน 188 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สำหรับขั้นตอนต่อไป ประธาน สนช. จะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ ไปให้ กรธ. และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีประเด็นใดขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนจะส่งความเห็นกลับมายัง สนช. เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย หรือหากทั้ง 2 หน่วยงาน เห็นว่าไม่มีประเด็นใดขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญประธาน สนช. ก็จะส่งร่างกฎหมายไปให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนการลงมติ รายงานข่าวระบุว่า สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น คือ การเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถออกมาตรการชั่วคราวได้ เพื่อป้องกันความเสียหายและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น โดยคำร้องของผู้ร้อง จะต้องมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะวินิจฉัย เพื่อออกคำสั่งไปยังหน่วยงานรัฐ ให้ปฏิบัติตามในกรอบเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ซึ่งมาตรการชั่วคราวนี้ จะต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบ และภายใน 30 วัน หาก ส.ส. มีการเสนอญัตติ และมีมติรับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ศาลดำเนินการตามมตินั้น และกมธ.ปรับแก้สถานะการคงอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ครบวาระให้ดำรงตำแหน่งต่อไป แม้ว่าจะมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะ ตุลาการฯปัจจุบัน เข้ามาทำหน้าที่และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2550 ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว แต่อยู่รักษาการตามคำสั่ง คสช. นั้น ให้อยู่รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีการสรรหาใหม่

อุดม รัฐอมฤติ กรธ. ซึ่งกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการ เพิ่มอำนาจให้ศาลฯออกมาตรการชั่วคราวได้ เพราะถือเป็นการให้อำนาจศาลเกินขอบเขต และเกรงจะเกิดวิกฤตทางการเมือง เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตุลาการที่ดูแลอำนาจหน่วยงานที่ใช้อำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศ หากให้อำนาจนี้อาจเกิดปัญหาตามมา และอาจถูกมองว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ทางการเมือง เช่น หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตดำเนินการสิ่งใด แต่ศาลออกมาตรการชั่วคราวให้ระงับ จะทำให้ศาลถูกครหาได้ อีกทั้งตามหลักสากล ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวางตัวเป็นกลาง

บรรเจิด สิงคเนติ กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ยังคงยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นจะต้องมีอำนาจการออกมาตรการชั่วคราว เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคำร้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้สิทธิประชาชน สามารถยื่นคำร้องฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้โดยตรง แต่หากศาลไม่มีอำนาจ หรือเครื่องมือไประงับยับยั้ง หรือออกมาตรการใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยประชาชนได้ จึงมีความจำเป็น และจะต้องมีมาตรการนี้ ขณะเดียวกัน หลังการออกมาตรการ ก็จะต้องส่งเรื่องไปให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบอยู่แล้ว จึงถือเป็นมาตรการทั่วไป สำหรับทั่วโลกที่มีศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กังวลว่า การส่งคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ มาให้ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ส.ส. ตรวจสอบ อาจเป็นการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายตุลาการ จึงเสนอให้ตัดขั้นตอนที่ต้องส่งมาให้ ส.ส. ตรวจสอบ เพราะในอนาคตหากรัฐบาลมีเสียง ส.ส. ข้างมากในสภา ส.ส. อาจโหวตคว่ำมาตรการชั่วคราวนั้น โดยเฉพาะกรณีที่ศาลวินิจฉัยไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และเห็นว่า การบัญญัติให้ ส.ส. ตรวจสอบการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่รับรองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันหน่วยงานรัฐ

ส่วนประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรธ.ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วย และยืนยันให้รีเซตตุลาการที่ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่ง เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด การทำหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการ จึงจะต้องมีความน่าเชื่อถือและมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ถูกโต้แย้งการทำหน้าที่ ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่รักษาการตามคำสั่ง คสช. ก็ควรให้ทำหน้าที่รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีการสรรหาใหม่

ด้านสมาชิก สนช.เสนอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 4 คน และที่อยู่รักษาการอีก 5 คน อยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ และเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ จนกว่าจะมีคณะกรรมการสรรหาครบองค์ประกอบ เพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ มีความสง่างาม และป้องกันประเด็นทางการเมือง จากนั้น กรรมาธิการฯ ยอมปรับแก้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ที่ทำหน้าที่รักษาการตามคำสั่ง คสช.นั้น จะเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ หลังการเลือกตั้ง ส.ส. – ส.ว. เพื่อให้มีคณะกรรมการสรรหาครบองค์ประกอบ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สนช. ก็มีมติเสียงข้างมากตามที่กรรมาธิการฯ แก้ไข โดยกระบวนการสรรหา การตรวจสอบคุณสมบัติ การลงมติของ สนช. และขั้นตอนทูลเกล้าฯ น่าจะใช้เวลาระยะเวลารวมประมาณ 200 วัน
iLaw ชี้วิจารณ์ศาลฯ อาจคุก 1 เดือน ปรับ 5 หมื่น

iLaw สาระสำคัญๆ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ “สิทธิประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” และ “การห้ามละเมิดอำนาจศาล”


“สิทธิประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” มาจากมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ”

iLaw อธิบายเพิ่มเติมว่า พ.ร.ป ฉบับนี้ได้กำหนดรายละเอียดเรื่องสิทธิประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้

การฟ้องให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหมวด 5


ประชาชนสามารถยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่รัฐไม่ปฏิบัติตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐ อำนาจนี้ปรากฎอยู่ในมาตรา 7 (3/1) ซึ่งเป็นมาตราที่กมธ.วิสามัญได้พิจารณาเพิ่มขึ้นมาจากร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

โดยวิธีการยื่นคำร้องตามหมวด 5 อยู่ในมาตรา 44/1 แต่ประชาชนจะฟ้องต้องยื่นร้องต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน หากหน่วยงานรัฐปฏิเสธ ไม่ดำเนินการภายใน 90 วัน ให้ประชาชนยื่นหนังสือโต้แย้งต่อหน่วยงานนั้นภายใน 30 วัน และให้ยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน หลังยื่นหนังสือโต้แย้งต่อหน่วยงานรัฐ และหากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไม่ครบถ้วน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอต่อคณะรัฐมนตรีสั่งการ เเต่ถ้าหากผู้ร้องเห็นว่าคณะรัฐมตรีปฏิบัติไม่ถูกต้อง จึงจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้

การฟ้องคดีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ


ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพสามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฎอยู่ในมาตรา 7 (10) ซึ่งกมธ.วิสามัญได้แก้ไขมาตรา 46 บัญญัติเพิ่มเติมว่า การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นต้องเป็นการละเมิดสิทธิอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจของรัฐ และจำกัดว่าต้องไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล

โดยวิธีการยื่นคำร้อง อยู่ในมาตรา 47 ให้ยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน โดยให้แจ้งผลให้ผู้ร้องทราบภายใน 10 วัน หลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น ผู้ร้องจะต้องทราบผลภายใน 70 วัน แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องหรือไม่ทำตามเวลาที่กำหนด ผู้ละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง

"การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” ปรากฏอยู่ในมาตรา 38-39 ของร่างฉบับนี้

โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว

นอกจากนั้น มาตรา 38 วรรคสาม กำหนดไม่ให้ "วิจารณ์คำสั่งและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย ซึ่งกมธ.วิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความจากร่างฉบับเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่กำหนดไม่ให้ “วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น

การละเมิดอำนาจศาลมีบทลงโทษตามมาตรา 39 ตั้งเเต่ การตักเตือน การไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ กมธ.วิสามัญฯ ยังได้แก้ไขมาตรา 39 ด้วยการเพิ่มเติมวิธีการตัดสินลงโทษการละเมิดอำนาจศาล โดยการสั่งลงโทษนั้นต้องมีมติสองในสามจากตุลาการฯ ซึ่งเท่ากับตุลาการฯ 6 คน จากทั้งหมด 9 คน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.